SHARE

คัดลอกแล้ว

“มันน่าเศร้ามากที่เราบอกคนไข้ว่าให้พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย ในขณะที่เรายังไม่มีเวลาจะทำสิ่งเหล่านั้นเลยด้วยซ้ำ” 

ข้อความบางส่วนที่ workpointTODAY ได้รับฟังจากการสะท้อนปัญหาของบุคลากรทางการแพทย์จากคุณหมอแผนกอายุรกรรมท่านหนึ่ง ที่เดินทางเข้าร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหากำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ กับ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา 

คุณหมอท่านนี้ บอกว่า ตอนนี้เธอเป็นอายุรแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง และเป็นตัวแทนจากสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เล่าย้อนไปตั้งแต่เริ่มชีวิตการเป็นนักศึกษาแพทย์ ระหว่างเรียน 6 ปี เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากต้องเรียนอ่านหนังสือแล้ว ต้องเข้าเวรที่โรงพยาบาลด้วย 

“ปี 4 จะต้องอยู่เวรจนถึงเที่ยงคืน ก็คือเรียนวันธรรมดาด้วย แล้วหลังจากเลิกเรียน ตั้งแต่ 4 โมงจนถึงเที่ยงคืน ก็ต้องทำงานปฏิบัติงานต่อ เดือนหนึ่งก็จะอยู่ประมาณ 5 – 7 วัน แล้วแต่โรงเรียนแพทย์ จนกระทั่งเราเริ่มเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 6 ก็จะต้องเริ่มมีการอยู่เวรข้ามคืน อาทิตย์หนึ่งเราต้องมาทำงานทุกวัน จันทร์-อาทิตย์ แต่ว่าจะมีวันที่เราต้องอยู่เวรเพิ่ม หมายความว่าวันนั้นเราจะต้องอยู่เวรจนถึงเช้าวันต่อไป ก็คือ 24 บวก 8 ชั่วโมง แล้วค่อยพักผ่อน แล้ววันต่อมาเราก็ทำงานต่อ”

ก้าวสู่การเป็นแพทย์ใช้ทุน 3 ปี 

คุณหมอตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เล่าอีกว่า ตอนช่วงเป็นแพทย์ใช้ทุน ประจำในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ต้องตื่นมาเช้า 6 โมงครึ่ง เริ่มทำงานตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง เพราะต้องดูผู้ป่วยในก่อน รีบทำงานให้เร็วที่สุด เสร็จ 9 โมง ก็ไปตรวจผู้ป่วยนอกต่อ ตรวจถึงสักประมาณ บ่าย 3 ก็ต้องกลับมาดูผู้ป่วยใน อาจจะเสร็จสัก 5 โมง คือไม่ได้พักผ่อน ต้องอยู่เวรต่อจนถึงเช้าวันต่อมา ก็คือ 7 โมงครึ่งวันต่อไป แล้วก็ทำงานต่อแบบนี้ จนเสร็จงานของวันนั้นถึงจะได้พัก ก็ที่ทำงานก็จะอยู่ที่ 24 บวก 8 ประมาณ 32 ชั่วโมง ซึ่งการทำงานแบบนี้เป็นสิ่งที่แพทย์ทุกคนต้องเจอ

ส่วนการเข้าเวรก็จะมีลักษณะแตกต่างกัน เวรห้องฉุกเฉินก็อาจจะอยู่แค่ 8 ชั่วโมง คือทำงานตอนเช้าเสร็จ ก็อยู่ต่อจนถึงเที่ยงคืน แล้วตอนหลังเที่ยงคืนก็นอนได้ แล้วตอนเช้าก็กลับมาทำงานต่อ แต่ว่าเวรของห้องฉุกเฉินก็จะมีความหนักตรงที่ต้องรับผู้ป่วยที่มีความวิกฤติ อุบัติเหตุ ก็จะต้องใช้แรงกาย แรงใจ ต้องคิดหนักในการรักษา

ประจำโรงพยาบาล ต่างจังหวัดหมอน้อย คนไข้เยอะ กระทบประสิทธิภาพการรักษา

คุณหมออธิบายภาพโรงพยาบาลต่างจังหวัดให้เห็นว่า ในห้องที่แคบๆ เป็นวอร์ด สามารถยัดคนไข้ได้ 2 – 3 เท่า ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานของโรงพยาบาลเลย แต่ว่าหมอก็ต้องรับคนไข้ไว้รักษาให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้มีใครถูกทอดทิ้ง

จริงๆ ต้องบอกว่าโรงพยาบาลศูนย์ต่างจังหวัดหนักทุกที่ แต่ภาคที่หนักที่สุดคือภาคอีสาน เพราะประชากรเยอะ แต่ว่าจำนวนโรงพยาบาลและหมอต่อประชากรน้อย และด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ทำให้คนไข้ในภาคอีสานเยอะกว่าภาคอื่นด้วย

“ปัญหาจำนวนหมอ พยาบาล ไม่เพียงพอต่อคนไข้ ส่งผลกับประสิทธิภาพการรักษาด้วย อย่างพยาบาลก็หนักมากเลย จริงๆ เขาอาจจะต้องมีกำลังคนเยอะกว่านั้น จริงๆ ผู้ป่วย 4-5 คนเขาควรจะมีพยาบาลสักคนหนึ่ง กลายเป็นว่าทั้งวอร์ดคนไข้เกือบจะร้อยคน มีพยาบาล 3-4 คน การดูแลก็หนักไปด้วย แล้วบางทีการได้รับยาอาจจะช้ากว่าที่ควรจะเป็น หรือว่าการสังเกตอาการอะไรอย่างนี้ กว่าที่เราจะรู้ว่าคนไข้มีอาการเปลี่ยนแปลง แบบระดับกลางอาการหนักขึ้น เราก็อาจจะสังเกตไม่ทัน เพราะว่าแพทย์กับพยาบาลเรามีไม่เพียงพอ” คุณหมอ กล่าว

หมอทำงานหนัก พักผ่อนน้อย กระทบสุขภาพ เสี่ยงอุบัติเหตุ

คุณหมอเล่าเหตุการณ์ที่เจอตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ที่เพื่อนหมอไม่สบาย อ้วก ไข้ขึ้น ต้องลากสายน้ำเกลือไปทำงาน เพราะว่าไม่มีคน ไม่กล้าลา เพราะมีคนไข้ตัวเองที่ต้องดูแล ส่วนหมอคนอื่นก็มีคนไข้เยอะอยู่แล้ว 

รวมไปถึงอุบัติเหตุของแพทย์ที่ลงเวรเกิดขึ้นสูงมาก หรืออาจจะเป็นวิกฤติช่วงที่หมอต้องสั่งยา หมอเคยนึกชื่อยาไม่ออก นึกวิธีการใช้ไม่ได้ หรือนึกสาเหตุอาการเจ็บป่วยของคนไข้ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้นอน และนอกจากสุขภาพกายคือสุขภาพจิตที่พบว่าหมอป่วยซึมเศร้าเยอะมาก

การลาออกไม่ใช่ทางออก แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องเพิ่มการผลิตแพทย์ เพื่อคุณภาพการรักษา

“เมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษที่มีประชากรใกล้เคียงกับไทย พบว่ามีหมอ 3 แสนคน ทำงานอยู่ที่ประมาณ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเขายังเรียกร้องลดชั่วโมงการทำงาน ไทยเราอาจจะจำเป็นต้องมีหมอปริมาณใกล้เคียงกับเขาเพื่อให้คนไข้ทุกคนได้เข้ารับบริการที่เข้าถึงง่าย แล้วก็มีคุณภาพเท่ากับเขา จริงๆ ของเราตอนนี้มีอยู่ประมาณ 38,000 คน ซึ่งนับรวมหมอเอกชน จริงๆ หมอเอกชนก็ช่วยแบ่งเบาภาระของหมอโรงพยาบาลรัฐเหมือนกัน ไม่อยากมองว่าเป็นศัตรูกัน เราอาจจะต้องการผลิตหมอเพิ่ม เพราะว่าหมอในระบบเราน้อย แล้วพอภาระงานกับชั่วโมงการทำงานมันไม่เป็นธรรม มันก็ทำให้เราร่วง การลาออก ภาวะสมองไหลเพิ่มขึ้นทุกปี”

สำหรับเหตุผลที่ทำให้หลายคนยังอยู่ต่อ ไม่ลาออก เพราะว่า มองว่ายังเหลือช่องทางให้แก้ไขได้อยู่ ถ้าลาออก หมออาจจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ว่าคนที่ยังรออยู่ในระบบ คนที่ยังสู้ก็ต้องหนักต่อไป จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้หมอมีน้อย และกระจุกตัว

ตัวแทนแพทย์ บอกว่า ที่หมอไทยมีจำนวนน้อย มาจากการเปิดรับนักศึกษาน้อย เพราะว่าคนที่ทำหน้าที่สอนก็คือหมอในโรงพยาบาล (ที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว) ทำให้ต้องแบกรับภาระ 2 ทาง

อย่างไรก็ตามก็มีความพยายามเปิดแพทย์ชนบทเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะรับแพทย์ที่สามารถบรรจุอยู่ในพื้นที่ชนบท ห่างไกลได้ เพราะเป็นบ้านเกิด แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็ทำให้เด็กต่างจังหวัดไม่สามารถที่จะมีศักยภาพมากพอที่จะแข่งขันกับเด็กในเมืองได้ ทั้งการเรียนพิเศษ โรงเรียน ครู มันทำให้ได้แต่หมอที่เป็นคนในเมือง

กระทรวงสาธารณสุข ตอบรับ 3 เดือนเร่งเก็บข้อมูลการทำงานหมอ พยาบาล

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังเข้ารับฟังข้อเรียกร้อง ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีทีมศึกษาอยู่ ทั้งเรื่องจำนวนและปริมาณงาน ทั้งแพทย์และพยาบาล ซึ่งปัญหาไม่ได้เพิ่งเกิด โดยในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มจำนวนแพทย์และบุคลากรชุดใหญ่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เมื่อลงไปดูในหน่วยย่อยของการทำงาน ประเทศไทยเราแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก เรามีแพทย์อยู่ประมาณ 38,000 คน ขณะที่ประเทศอื่นที่ประชากรใกล้เคียงเรามีแพทย์เป็นแสนคน ซึ่งเราจะต้องทำงานร่วมกับหลายส่วน ทั้งผู้ที่ดูแลเรื่องกำลังคนในภาครัฐ สำนักงาน กพ. สำนักงบประมาณ รวมไปถึงกำลังการผลิตแพทย์ซึ่งก็คือ แพทยสภา 

“ต้องยอมรับว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ผลิตกันได้ง่ายๆ ก็เป็นปัญหาสะสม อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกข้อมูลของท่านประธานกรรมาธิการฯ ได้นำมาเสนอในที่ประชุม ก็เป็นชุดข้อมูลที่เราได้ศึกษาเทียบคู่กันไปด้วย ก็ทำให้เราได้เห็นหลากหลายมุมของข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนแก้ปัญหา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป โดยระยะสั้นจะแก้ปัญหาเรื่องการทำงานของแพทย์จบใหม่ ที่พบว่าตอนนี้มีปัญหาการทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็จะให้ผู้ตรวจราชการลงไปดูเรื่องการกระจุก หรือกระจายตัวของบุคลากรในสถานพยาบาล นี่คือระยะสั้น ส่วนระยะกลาง ระยะยาว เราจะทำการเก็บข้อมูลโดยละเอียดด้านกำลังคน รายชั่วโมงการทำงาน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ เสนอทางออกเป็นนโยบาย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวว่า จากการหารือกัน ก็ได้รับคำชี้แจงว่าจะดำเนินการแก้ไขให้กับแพทย์ พยาบาล กรรมาธิการแรงงาน มีแผนวางไว้ว่าให้ สธ. ดำเนินการ โดยให้เวลา 3 เดือน หลังจากนี้จะกลับมาขอติดตามความคืบหน้า การแก้ปัญหาโครงสร้าง ระบบต่างๆ เพื่อให้พี่น้องหมอ พยาบาล มีขวัญกำลังใจในการทำงาน เพื่อให้พวกเขาได้มีสุขภาพดี สุขภาพครอบครัวดี ก็จะส่งผลดีต่อการรักษาดูแลประชาชนได้

ดูคลิปเพิ่มเติม

https://youtu.be/q4LH8EdM_k8

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า