SHARE

คัดลอกแล้ว

ต่อจากประวัติศาสตร์การเงินตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) ไปในบทความ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั่วโลกหันมาใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แทนที่ทองคำและเงินปอนด์ของสหราชอาณาจักร

จากปี 1944 (2487) จนถึงวันนี้ 2022 (2565) ก็เกือบ 80 ปีแล้ว ดอลลาร์สหรัฐยังทำหน้าที่สกุลเงินโลกได้ดี ทั้งในฐานะสินทรัพย์ที่หลายประเทศวางใจถือครองเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และในฐานะสกุลเงินกลางที่ทั่วโลกวางใจใช้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

ปัจจุบันนอกจากสหรัฐแล้ว ยังมีอีก 11 ประเทศที่ยอมรับให้ดอลลาร์สหรัฐเป็น ‘สกุลเงินทางการ’ (Official Currency) ได้แก่ เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ ซิมบับเว หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หมู่เกาะเติร์กและเคคอส ติมอร์และเลสเต โบแนร์ ไมโครนีเซีย ปาเลา หมู่เกาะมาร์แชลล์ และปานามา

สิ่งเหล่านี้ สะท้อนความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์ได้เป็นอย่างดี

แต่อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ทั่วโลกยังใช้เงินดอลลาร์ ในอนาคตจะมีสกุลเงินอื่นๆ เข้ามาแทนที่ได้หรือไม่ และแนวคิด ‘ระบบสกุลเงินเดียว’ (One-world Currency) เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน TODAY Bizview จะเล่าให้ฟัง

[ ทำไมหลายประเทศยังใช้เงินดอลลาร์ ]

แน่นอนว่าสาเหตุหลักที่ทำให้หลายประเทศยังคงยอมรับและใช้เงินดอลลาร์ คือ ซากอารยธรรมที่เหลือจากระบบเบรตตันวูดส์ ซึ่งทำให้ทุกวันนี้ ดอลลาร์ยังคงได้รับการยอมรับในฐานะ ‘สกุลเงินสำรอง’ (Reserve Currency)

ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ณ ไตรมาส 1 ของปี 2565 เกือบ 60% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกอยู่ในรูปของเงินดอลลาร์ แม้ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงจากไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา แต่เป็นการลดลงเพียงเล็กน้อยจากระดับ 59.4% เท่านั้น

นอกจากจะเป็นสกุลเงินที่หลายประเทศวางใจถือครองแล้ว เกือบ 40% ของหนี้ทั่วโลกก็ยังอยู่ในรูปของเงินดอลลาร์อีกด้วย

ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ และขนาดเศรษฐกิจที่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้มูลค่าของเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น

อีกสาเหตุที่ทำให้หลายประเทศยังใช้ดอลลาร์ คือ อิทธิพลต่อการค้าขายระหว่างประเทศที่สูง การเปลี่ยนไปใช้เงินสกุลอื่นในทันที อาจส่งผลกระทบให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง และอาจส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจโลก

เมื่อทุกคนยังพึ่งพาดอลลาร์ ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะใช้เงินสกุลอื่น ทำให้เป็นไปได้ยากมาก อย่างน้อยก็ตอนนี้ ที่จะมีสกุลเงินใหม่ๆ ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นสกุลเงินหลักของโลกแทนที่เงินดอลลาร์

[ ‘จีน-รัสเซีย’ เรียกร้องสกุลเงินใหม่ ]

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกประเทศจะเห็นด้วยกับการใช้เงินดอลลาร์ไปตลอด โดยในปี 2552 จีนและรัสเซียเคยเรียกร้องให้มีสกุลเงินใหม่ของโลก (New Global Currency) ในการประชุมผู้นำของกลุ่มประเทศ G8

ทั้ง 2 ประเทศอ้างว่า ไม่ต้องการให้ประเทศไหนได้ประโยชน์จากการเป็นสกุลเงินโลก แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกปฏิเสธทันที เพราะนานาประเทศมองว่าเป็นความต้องการของจีนที่กลัวดอลลาร์ด้อยค่าลงจากภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น

แต่ล่าสุดปีนี้ ในการประชุมกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) จีนและรัสเซียยังไม่ลดความพยายาม โดยทั้ง 2 ประเทศเสนอแนวคิดการใช้สกุลเงินท้องถิ่นแทนดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าเป็นการช่วยรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรจากระบบโอนเงินโลก (SWIFT) หลังเริ่มทำสงครามกับยูเครน

ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยเปิดตัวระบบชำระเงินของตัวเอง Sistema Peredachi Finansovykh Soobscheniy หรือ SPSF แต่การใช้งานค่อนข้างจำกัดในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ยุโรปบางประเทศ และอินเดียเท่านั้น

ขณะที่ค่าเงินหยวนของจีน ถือว่าน่าจับตามอง เพราะหลังจากที่รัฐบาลกระตุ้นการใช้เงินหยวนผ่านโครงการเศรษฐกิจต่างๆ เช่น โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (BRI) ส่งผลให้หยวนผงาดขึ้นเป็นสกุลเงินหลักอันดับ 4 ของโลกด้วยสัดส่วน 2.7% แต่ยังห่างจากเงินดอลลาร์ที่ครองแชมป์อันดับ 1 ที่ 40.51%

[ เงินจีนถูกใช้มากสุดเป็นประวัติการณ์ ]

ถึงสัดส่วนจะยังน้อย แต่เทรนด์การใช้เงินหยวนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค. 2565 สมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (The Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication: SWIFT) รายงานว่า

ปริมาณการใช้เงินหยวนของจีนจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นแตะ 3.2% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในฐานะสกุลเงินทางเลือกสำหรับการธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยคาดว่าเป็นผลจากที่จีนลดค่าเงินตัวเองเพื่อกระตุ้นการส่งออก

นอกจากนี้ ผลจากภาวะสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้ ‘แก๊ซพรอม เนฟต์’ (Gazprom Neft) บริษัทน้ำมันอันดับ 3 ของรัสเซีย ประกาศใช้เงินหยวนแทนดอลลาร์ในการเติมน้ำมันให้สายการบินรัสเซียในสนามบินของจีน เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐ

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า หยวนเป็นค่าเงินที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากเทรนด์การค้าระหว่างประเทศในเอเชียและจีนที่เติบโตขึ้น เพราะธุรกรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ถูกกำหนดให้ใช้เงินหยวนชำระเงิน

แม้ปริมาณการใช้หยวนวันนี้ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แต่แนวโน้มการใช้เงินหยวนระหว่างทางมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากระดับ 0.028% ในปี 2553 มาสู่จุดพีกแรกที่ 2.79% ในปี 2558 และล่าสุดที่ 3.2% ในเดือน ม.ค.ของปีนี้

[ ‘หยวนดิจิทัล’ จะมาแทนที่เงินดอลลาร์ ]

นอกจากระบบการเงินแบบเดิมแล้ว ทางการจีนยังออกออกหยวนดิจิทัลเพื่อรองรับระบบการเงินแบบใหม่ แทนที่การใช้ธนบัตรและเหรียญอีกด้วย

‘ริชาร์ด เทอร์ริน’ (Richard Turrin) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน และผู้เขียนหนังสือ ‘Cashless: China’s Digital Currency Revolution’ มองว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า เงินหยวนดิจิทัลมีโอกาสจะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์ ในฐานะสกุลเงินทางเลือกในการทำการค้าระหว่างประเทศ

จากที่จีนเป็นประเทศที่มีขนาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงคาดว่าจะเกิดการใช้เงินหยวนดิจิทัลมากขึ้นเมื่อต้องซื้อของจากจีน และคาดว่าในอีก 5-10 ปีต่อจากนี้ หยวนดิจิทัลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายประเทศลดใช้เงินดอลลาร์ในการทำการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ จีนได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน Digital Yuan บน iOS และแอนดรอยด์ไปเมื่อต้นเดือน เม.ย. 2565 ปัจจุบันแอปฯ Digital Yuan มีผู้ใช้งานมากกว่า 750 ล้านคนแล้วในแต่ละวัน จากที่รัฐบาลเข้าไปประชาสัมพันธ์ รวมถึงมอบเงินหลายสิบล้านหยวนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการสมัคร

อย่างไรก็ตาม หยวนดิจิทัลยังอยู่ในช่วงทดลองเท่านั้น ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และยังไม่มีการทดสอบในระดับประเทศอีกด้วย

แต่เชื่อท้ายที่สุด จีนจะทำให้หยวนดิจิทัลกลายเป็นสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง และเป็นเครื่องมือในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจประเทศต่างๆ แม้ในวันนี้จะยังทำแบบนั้นไม่ได้ก็ตาม

[ แนวคิด 1 โลก 1 สกุลเงิน เป็นไปได้แค่ไหน ]

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว จีนกับรัสเซียพยายามเรียกร้องให้มีสกุลเงินใหม่ โดยเรียกร้องให้นานาประเทศสร้างสกุลเงินสำรองโลก (Global Reserve Currency) ที่ยืดหยุ่น และเป็นอิสระจากผลประโยชน์ของทุกประเทศ

แต่แนวคิดสกุลเงินโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 1969 (2512) หรือเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว สิทธิถอนเงิน SDRs ของ IMF ที่เป็นแหล่งเงินทุนให้กับประเทศสมาชิก

ด้วยวิธีการถัวเฉลี่ย 5 สกุลเงินในตะกร้าเงิน ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ เยน ยูโร ปอนด์ และหยวน ก็เปรียบเสมือนว่าสิทธิ SDRs เป็นสกุลเงินหนึ่งที่ออกโดย IMF จะถือกว่าเป็นสกุลเงินโลกสกุลเงินหนึ่งก็ได้

ส่วนแนวคิดสุดโต่งที่จะเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินเดียวกันทั่วโลกนั้น แม้จะมีข้อดี เช่น กำจัดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และลดต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินของธุรกิจ

อีกทั้งประเทศกำลังพัฒนาก็จะได้ประโยชน์จากการใช้สกุลเงินที่มีเสถียรภาพ และอุปสรรคด้านค่าเงินที่ลดลง เหล่านี้ น่าจะนำไปสู่การค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ฯลฯ

แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องระวัง เช่น การสูญเสียอำนาจในการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างอิสระของแต่ละประเทศ ในการควบคุมเศรษฐกิจภายในของตัวเอง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะไม่สามารถลดหรือเพิ่มเงินในระบบเพื่อจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจได้อีกต่อไป

ในทางกลับกัน การดำเนินนโยบายทางการเงินจะต้องทำกันในระดับโลก ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศก็อยากผลักดันนโยบายทางการเงินที่เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง แต่ประเทศอื่นๆ เสียประเทศทั้งนั้น

นอกจากนี้ การใช้เงินสกุลเดียวกันเป็นผลเสียกับประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ตัวอย่างจากวิกฤตทางการเงินของกรีซ ที่ทำให้เยอรมนี เพื่อนร่วมสหภาพยุโรป ต้องใช้เงินหลายพันล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือ

ยังไม่รวมข้อกังวลยิบย่อย เช่น ความโปร่งใสในการผลิตสกุลเงินโลก หน่วยงานกำกับดูแลที่จะมาตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างเหมาะสม ฯลฯ

ที่มา:

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า