SHARE

คัดลอกแล้ว

วงเสวนา ถอดรหัสรักสู่ฆาตกรรมในไทย พบแนวโน้มสูงขึ้น สาเหตุมาจาก หึงหวง ง้อไม่สำเร็จ ดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ถอดความคิดชายเป็นใหญ่ มองผู้หญิงหรือลูกเป็นสมบัติ จะทำอะไรก็ได้ แนะบังคับใช้กฎหมายเข็มข้น ป้องกันเหตุซ้ำซาก แยกคดีฆ่าในครอบครัวออกจากคดีอื่น ชงเปิดหลักสูตรสอน “ความสัมพันธ์” ตั้งแต่ประถม ด้านอดีตสามีที่เคยพลั้งมือฆ่าคนรักเพราะฤทธิ์สุราและศักดิ์ศรีปลอมๆ เผยแม้ออกมาจากคุกแล้วแต่ตราบาปติดอยู่ในใจไม่ลืม จึงอยากเอาเรื่องของตนเตือนใจผู้คน

วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กทม. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ “ถอดรหัสรัก…สู่ความรุนแรงและฆาตกรรม” พร้อมทำการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ชุด “สมบัติ…รัก” โดยเครือข่ายละครเฉพาะกิจเธียเตอร์

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม.ได้มีการดำเนินการในหลายมาตรการ ซึ่งในการประชุมคณะอนุกรรมการรณรงค์การสื่อสารความเท่าเทียมระหว่างเพศ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีการทำ MOU ระหว่างผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างมาตรการร่วมกัน รวมถึงรณรงค์สร้างความตระหนักต่อสังคมให้มีความเข้าใจในประเด็นนี้ มีความตื่นตัว ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมเป็นกลไกสำคัญที่เข้ามาทำงานด้วยกันพร้อมกับความตื่นตัวของ ประชาชนที่ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง และหวังว่าเวทีวันนี้จะสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งด้านรูปแบบความรุนแรง และข้อกฎหมาย ตลอดจนทัศนคติ เคารพให้เกียรติระหว่างเพศ ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจในการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และมีกลไกหน่วยงานในการช่วยเหลือ เยียวยา คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว สามารถโทรเข้ามาได้ที่ 1300 ซึ่งจากปัญหาข้างต้นได้สร้างความบอบช้ำต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก การกระทำความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในคู่รักถือเป็นภัยใกล้ตัวที่ลุกลามไปสู่ลูกหลาน ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำมายาคติโดยเฉพาะการมองปัญหาเป็นเรื่องครอบครัวหรือเป็นเรื่องส่วนตัว

น.ส.อังคณา อินทะสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวในหน้าหนังสือพิมพ์พบเหตุการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะข่าวฆ่ากันตายในคู่รัก สามี-ภรรยา สูงเป็นอันดับ 1 โดยปี 2563 มี 323 ข่าว หรือ 54.5% เป็นสามีกระทำต่อภรรยา 105 ข่าว หรือ 60 % คู่รักแบบแฟน 18 ข่าว หรือ 47.4 % ขณะที่ปี 2561 มี 384 ข่าว หรือ 61.6 % ปี 2559 มี 226 ข่าว หรือ 48.5 %ปี 2557 มี 230 ข่าว หรือ 62.5 % และปี 2555 มี 197 ข่าว หรือ 59.1 % เมื่อพิจารณาสาเหตุพบว่ามาจากหึงหวง ระแวงว่านอกใจ ตามง้อไม่สำเร็จ และจะพบว่าตอนก่อเหตุส่วนใหญ่เมาเหล้า เสพยา และความขัดแย้งเรื่องหนี้สิน ตามลำดับ และอาวุธที่ใช้ส่วนใหญ่คือปืน

สำหรับสาเหตุที่ผู้หญิงถูกคนรักฆาตกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี มาจากปัจจัยโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม และค่านิยมที่คาดหวัง หล่อหลอมให้ผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว ผู้หญิงมีบทบาทด้อยกว่า ความไม่เสมอภาค, ทัศนคติมองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว, นิสัยส่วนตัว, ครอบครัวเคยมีการใช้ความรุนแรง และสุรา ยาเสพติดเป็นปัจจัยกระตุ้น เพราะทำให้ขาดสติ นิสัยและพฤติกรรมเปลี่ยนไป สอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบคดีฆ่าหั่นศพตั้งแต่ปี 2534 ถึงปัจจุบัน (เฉพาะทราบชื่อ) จำนวน 10 ราย ผู้ก่อเหตุเป็นเพศชาย 7 ราย เพศหญิง 3 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้ป่วยโรคทางจิตเวช แต่กระทำเพื่อทำลายหลักฐานอำพรางคดี ส่วนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชมี 3 รายทำเพราะอาการกำเริบ ไม่ได้รับประทานยาจิตเวชต่อเนื่อง ไม่ได้รักษา หรือมีการใช้สารเสพติด ดื่มสุรา

“การแก้ปัญหาต้องบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ลดการกระทำซ้ำ และมีมาตรการการแก้ไขเข้าถึง และครอบครองอาวุธปืนได้ยากขึ้น ควรให้ต่ออายุทุกๆสองหรือสามปีเพื่อการตรวจสอบบุคคลที่ครอบครอง ส่วนครอบครัว ชุมชน สังคมต้องสอดส่องให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ไม่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว การจับสัญญาณอันตรายเหล่านี้ให้ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสื่อสารขอความช่วยเหลือ ระงับเหตุ” น.ส.อังคณา กล่าว

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาการทำร้าย หรือฆาตกรรมในครอบครัว ที่มีสามีหรือผู้ชายเป็นผู้ก่อเหตุ เกิดขึ้นในสังคมปิตาธิปไตย ที่ผู้ชายจะมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า เป็นสมบัติ เป็นตุ๊กตา หรือของสะสมที่จะเก็บ หรือจัดการอย่างไรก็ได้ เช่นกรณีชายฆ่าหั่นศพแฟนสาวที่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อฟังจากการให้สัมภาษณ์ที่ระบุว่าตัวเองเป็นคนเลี้ยงดูผู้หญิงคนนี้มาตลอด แต่กลับไม่ยอมเปิดเผยสถานะให้สังคมรู้ เลยลงมือฆ่า ซึ่งทั้งที่จริงตัวผู้ชายคนนี้ก็มีคนรักอยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะสะท้อนว่ามองผู้หญิงเป็นเหมือนตุ๊กตา เป็นของสะสม ทั้งนี้แนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาคือ 1. แยกคดีฆาตกรรมในครอบครัวออกจากคดีฆาตกรรมอื่น ถอดบทเรียนวิเคราะห์จะได้เห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่และแก้ไขปัญหา 2.เพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องความสัมพันธ์ชาย หญิง การเข้าสู่ความสัมพันธ์ ที่ต้องเคารพความเสมอภาค เคารพสิทธิเนื้อตัวของผู้อื่น และรู้จักการถอยออกจากความสัมพันธ์ด้วยความเคารพต่อกันและกัน ทั้งนี้หากทำตรงนี้ได้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ เมื่อเติบโตขึ้น สามารถแยกแยะความสัมพันธ์ และสามารถกลั่นกรองสื่อต่างๆ ที่อยู่ในยุคหาสื่อดีๆ ได้ยาก

นายเอ (นามสมมุติ) ผู้ที่เคยผิดพลาด และต้องชดใช้ด้วยการจองจำ กล่าวว่า ตนเกิดมาในครอบครัวคนมีสีพ่อแม่ทะเลาะ ทำร้ายร่างกายกันบ้าง แม้ไม่บ่อย แต่สุดท้ายก็แยกทางกัน ส่วนตัวรักสนุก เกเร คบเพื่อนที่มาจากครอบครัวบ้านแตกแยก ขี้โมโห อารมณ์ร้อน มีเรื่องชกต่อย พอมีแฟนก็คิดว่าเราต้องเป็นผู้นำ แฟนต้องยอม และเดินตามหลัง เมื่ออายุ 26 ปี ตนทำงานขายซีดีรายได้ประมาณเดือนละแสนบาท มีอำนาจมากในครอบครัว มีการทำร้ายร่างกาย จิตใจ นอกใจและคิดว่าแฟนต้องยอมรับเรื่องแบบนี้ให้ได้ จนกระทั่งคืนเกิดเหตุ ขณะที่นั่งกินเหล้าอยู่ที่บ้านเพื่อน แล้วแฟนก็โทรมาหลายครั้งให้กลับบ้านเพราะมีคนมาเก็บเงินค่าเก็บขยะ และเดินมาตามถึงวงเหล้า จึงรู้สึกเสียหน้า เพื่อนก็แซว พอกลับถึงบ้านจึงทะเลาะกัน ตนทำร้ายจนแฟนแน่นิ่งไป ไม่มีใครกล้าเข้ามาช่วย จนกระทั่งตนได้สติ รีบนำเธอส่งรพ.แต่สุดท้ายแฟนก็เสียชีวิต ถูกตัดสินให้ติดคุก 10 ปี ซึ่งผมสารภาพและยอมรับผิดทุกอย่างไม่มีการต่อสู้คดีแต่อย่างใด ยอมรับกรรมจากสิ่งที่ตัวเองทำ สิ่งที่เกิดขึ้นตนเสียใจมากที่กินเหล้าแล้วโมโหร้าย ทำเกินกว่าเหตุ แม้ติดคุกก็ไม่สาสม จึงอยากให้ความผิดพลาดของตนเป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อลดปัญหาลง ตอนนี้แม้สภาพจิตใจจะดีขึ้น แต่ตราบาปในใจไม่เคยหายไปไหน

ขณะที่ น.ส.บี (นามสมมติ) ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากคนรัก กล่าวว่าตอนวัยรุ่นเรียนพาณิชย์ปี 1 มีแฟนที่ค่อนข้างเกเร พอคบได้ประมาณ 1 ปี เริ่มหึงหวง ไปไหนก็จะคอยตามตลอดเวลาจนรู้สึกอึดอัด พยายามบอกเลิก แต่ฝ่ายชายก็พยายามตามมาเจอ มาเฝ้าหน้าโรงเรียน ตนรำคาญจึงบอกว่ามีแฟนใหม่แล้ว คาดว่าสร้างแค้นเคืองไว้จึงสะกดรอยตามตนเองกว่า 3 เดือน กระทั่งวันหนึ่ง ตนกับเพื่อนไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ระหว่างเดินกลับบ้านผู้ชายคนนี้ก็มาดัก และสาดน้ำกรดใส่ ต้องเข้ารักษาตัวที่รพ.หลายเดือน โดยมีพี่สาวและแม่ คอยดูแลให้กำลังใจ ส่วนผู้ก่อเหตุหลบหนีไปจนคดีสิ้นสุด 20 ปี ไม่รู้ข่าวเขาอีกเลย ในขณะที่ตนต้องอยู่กับความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ เก็บตัว และทำร้ายตัวเอง โชคดีที่มีแม่ และพี่ น้องคอยประคับประคอง ได้คุยกับเพื่อนที่ประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ กับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จนเริ่มเปิดใจ และเริ่มทำงาน จนถึงวันนี้ผ่านมา 49 ปีตนเข้มแข็งและสามารถให้การช่วยเหลือ และบอกเล่าประสบการณ์ของตนเองได้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ถูกกระทำความรุนแรงคนอื่นๆ ให้ลุกขึ้นจัดการปัญหาของตนเอง

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า