“พี่ดุนะ หนูไหวหรอ” เป็นวลีที่ฮิตทั่วอินเตอร์เน็ตเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยมีที่มาจากประโยคหนึ่งในนิยายเรื่อง “NCT [TAETEN] I’M TANYONG #อีตันหยง” ของผู้เขียน “Spectrum” ที่เผยแพร่ในแอปพลิเคชันยอดฮิต “จอยลดา (Joylada)” ก่อนจะกลายเป็นแฮชแท็กยอดฮิตในทวิตเตอร์ และก้าวข้ามแพลตฟอร์มสู่พรมแดนของเฟซบุ๊กในรูปแบบ “มีม”
ภายใต้ความสนุก ยังมีความจริงในสังคมที่มีคราบน้ำตาซ่อนอยู่ เพราะค่านิยมที่พ่วงมากับประโยค “พี่ดุนะหนูไหวหรอ” ก็สะท้อนว่ามีความรุนแรงในครัวเรือนเกิดขึ้น หลายครั้งความรุนแรงเหล่านี้ก็ทำให้เกิดภาวะ “พี่ดุนะ หนูไม่ไหวแล้ว”
“ถ้าดุแบบหยอกล้อก็เหมือนแฟนดุกันหยอกล้อกัน แต่ส่วนใหญ่น่าจะดุกันจริง ๆ ค่ะ การทำร้ายร่างกาย เริ่มแล้ว เริ่มตี ตบตีกัน พอเราทำร้ายร่างกาย ใช้มือไม่ได้ ต้องใช้อาวุธ ทำร้ายร่างกายธรรมดากลายเป็นทำร้ายร่างกายสาหัส” ร.ท.อ. หญิง วชิรา ธาวนพงษ์ รองสารวัตรสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามบอกกับผู้สื่อข่าว “ถ้าดูตามข่าวจริง ๆ นี่ ก็คือมันดุถึงขนาดฆ่ากันแหละ“
https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/352835842037498/
ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาใหญ่ที่เห็นแต่ยอดภูเขาน้ำแข็ง
ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม “1300” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า ในปี 2561 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 1,774 คน โดยเหยื่อในอันดับต้น ๆ คือเด็กและสตรี ส่วนข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งรวบรวมข่าวที่ลงหนังสือพิมพ์ตลอดเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2561 พบว่าในระยะเวลา 7 เดือนมีข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367 ข่าว คำนวณดูก็จะพบว่าในแต่ละวันมีกรณีคนถูกทำร้ายมากกว่า 1 ครั้งเสียอีก
แต่ทั้งนี้ตัวเลขทั้ง 2 ที่เก็บจากข้อมูลที่เข้าถึงได้ คือ จำนวนคนที่โทร 1300 และจำนวนหน้าข่าวในหนังสือพิมพ์เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์พยายามติดต่อกองกำกับการสวัสดิการเด็กและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น แต่เราไม่ได้ตัวเลขที่ต้องการ ไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีการเก็บสถิติไว้ แต่ให้เหตุผลคล้ายๆ กับปัญหาของตัวเลขชุดก่อนหน้า บอกว่าเขาเกรงว่าตัวเลขที่ได้จะไม่สะท้อนปัญหาที่แท้จริง
“เราถูกสั่งสอนหรือว่าการทำร้ายร่างกายทั่วไปคือใครไม่รู้แหละ ไม่รู้จักกันมาตีกันมาต่อยกัน ฉันไปแจ้งความทำร้ายร่างกาย” พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ ผู้กำกับการสวัสดิการเด็กและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาลเล่าให้เราฟัง “แต่การทำร้ายร่างกายในครอบครัว พ่อตีลูกเกินกว่าเหตุ บังคับลูก ขังลูก หรือผัวตีเมีย เมียตีผัว (คนคิดว่า)มันเป็นเรื่องในบ้านหรือเปล่า มันก็เลยเป็นเหตุว่า ไม่สุดจริง ไม่ถึงโรงพัก”
นอกจากปัญหาเรื่องผู้พบเห็นหรือเหยื่อเองไม่แจ้งความแล้ว พ.ต.อ.จิรกฤต ยังยอมรับว่าปัญหาอีกส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเจ้าหน้าที่เอง เนื่องจากความเข้าใจของเจ้าพนักงานแต่ละท้องที่ยังน้อยอยู่ หากมีการขึ้นโรงพัก เจ้าหน้าที่ก็มีแนวโน้มที่จะเกลี้ยกล่อมให้พูดคุยกันก่อน ส่วนหนึ่งเพราะหลายครั้งเมื่อมีการแจ้งความแล้วคู่ขัดแย้งกลับคืนดีกันแล้วมาร้องขอให้ถอนการแจ้งความบ่อย
เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ยืนยันว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจริง เมื่อเดือนธันวาคม 2561 เธอขึ้นพูดบนเวที “Equality talks and Thai Consent Exhibition” นิทรรศการที่บอกเล่าเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ เล่าถึงประสบการณ์ร้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจของตนเอง
“ฉันเดินทางไปที่สถานีตำรวจเพื่อที่จะแจ้งความกรณีถูกทำร้ายร่างกายจากแฟนเก่า และมันทำให้ฉันผิดหวัง…เพราะตำรวจพูดกับฉันว่า ‘เธอดูไม่ได้เป็นไรนะ ทำไมถึงต้องมาโรงพัก’
ฉันบอกกลับไปว่า ‘ฉันต้องการความช่วยเหลือ’ เขาบอกว่า ‘ฉันยังเด็ก บางทีฉันอาจจะกลับไปคืนดีกับแฟนก็ได้’ ทำไมต้องมาทำให้เขาเสียเวลา ฉันแค่ร้องไห้และเดินออกมาจากสถานีตำรวจ ซ่อนรอยแผลฟกช้ำไว้ใต้เสื้อผ้า ตอนนั้นมันทำให้ฉันสับสน ใจสลาย และไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงไม่มีความพยายามจะเข้าใจฉันเลย”
พ.ต.อ.จิรกฤต แนะนำให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างหนักแน่น “ ถ้าตำรวจไม่ทำก็พูดเลยว่า เราขออนุญาตให้ใช้พ.ร.บ.(ที่เกี่ยวข้อง)นี้มาดูแลเราหน่อย”
ทั้งนี้ ในวงการตำรวจเองก็มีการพยายามสร้างเสริมความเข้าใจเรื่องนี้อย่างหนักผ่านหลักสูตรอบรมต่าง ๆ “ปัจจุบันผมรู้สึกว่า พนักงานสอบสวนน่าจะรู้เรื่องนี้พอสมควรแล้ว” ผู้กำกับการสวัสดิการเด็กและสตรีบอก
บุษยาภาบอกว่าการที่ผู้หญิงหนึ่งคนกล้าพูดออกมาหรือกล้าไปแจ้งความคดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องยากแล้ว แต่ประสบการณ์การการแจ้งความกลับไม่น่าพิสมัยยิ่งกว่า ด้านหนึ่งเธอวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่อีกด้านหนึ่งก็ชวนให้เราตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิงที่ไม่มีความกล้าเหล่านั้น?
เศรษฐกิจ – วัฒนธรรม สาเหตุหลักให้เหยื่อทนเจ็บซ้ำ ๆ
ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลชี้ว่าปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหยื่อไม่กล้าแยกออกจากผู้ใช้ความรุนแรง โดยผู้หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงมีรายได้จากงานประจำน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่ตกเป็นเหยื่อถึงร้อยละ 60
งานวิจัยของโรสแมร์รี การ์เนอร์ นักสตรีศึกษาชาวอเมริกันที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2542 อธิบายเรื่องน้ีไว้ว่า ยิ่งสถานะทางการเงินของภรรยาผูกโยงกับรายได้ของสามีมากเท่าไหร่ ฝ่ายสามีก็จะมีแนวโน้มว่าจะเกรงใจกันน้อยลง ในขณะเดียวกัน หากภรรยามีรายได้เพิ่มขึ้นเธอก็จะยิ่งกล้าที่จะก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เองก็ขานรับแนวคิดนี้ และสะท้อนออกมาเป็นโครงการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวที่เข้าไปฝึกอาชีพสตรีให้มีช่องทางหารายได้เพิ่มขึ้นโดย เชื่อว่าหากผู้หญิงสามารถยืนหยัดทางเศรษฐกิจด้วยตนเองได้แล้วความรุนแรงในครอบครัวจะลดน้อยลง
นอกจากประเด็นเศรษฐกิจแล้ว การลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวที่ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย จ.กรุงเทพฯ ยังทำให้เราพบอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานของสาเหตุความรุนแรง
ชุมชนโพธิ์เรียงมีลักษณะเหมือนหลายชุมชนที่พบได้ในกรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนแออัด ผู้อยู่อาศัยเป็นกลุ่มประชากรรายยได้ต่ำ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาการติดสุรา ยาเสพติด และที่ขาดไม่ได้คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่สิ่งที่โพธิ์เรียงต่างจากชุมชนอื่น ๆ ในกรุงเทพคือ สมาชิกในชุมชนแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จริง
“โบ๊ต” ผู้นำชุมชนโพธิ์เรียงเชื่อว่าพฤติกรรมก่อความรุนแรงในครอบครัวในอดีตของเขามีสาเหตุมาจากสุราและยาเสพติด
เขาเล่าให้เราฟังว่าเมื่อหลายสิบปีที่แล้วพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สีแดง เขาเองก็ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดมาก่อนจนต้องเข้าเรือนจำบางบอน จนกระทั่งมีการประกาศสงครามมาเสพติด คนในชุมชนจึงหันมาดื่มสุราแทน จากวงสุราขยายมาเป็นการไป “เที่ยวผู้หญิง” สุดท้ายจึงตบตีกับภรรยา นอกจากเขาแล้วคนในชุมชนอีก 2-3 คนก็เล่าถึง “วีรกรรม” ของตนในอดีตที่มีเรื่องราวคล้าย ๆ กัน
“แต่ก่อนเราก็คิดว่าเขาเป็นสมบัติของเรา” เขากล่าวถึงแนวคิดในตอนนั้น
โบ๊ตเป็นคนหนึ่งในชุมชนที่เชื่อว่าจุดเปลี่ยนของชีวิตคือการเข้าโครงการเลิกเหล้า เขาเล่าว่าเมื่อเริ่มได้สติก็เริ่มมองภรรยาเปลี่ยนไป เห็นถึงความทุ่มเทและเสียสละของเธอในการรักษาครอบครัวไว้ แม้จะถูกตบตีอย่างไรก็ไม่เคยปริปากบ่น ในยามเช้าก็ลุกขึ้นมาทำอาหารให้ลูกและสามีก่อนไปทำงานไม่เคยขาด นี่เองที่ทำให้เขาเริ่มกลับมาเห็นใจภรรยาและเริ่มทำงานบ้านเอง “พอเราไม่กินเหล้าเราก็มีสติ ก็เลยเห็นเรื่องพวกนี้ชัดขึ้น”
บุษยาภาไม่ได้เชื่อว่าเศรษฐกิจหรือสุราเป็นสาเหตุหลักของความรุนแรงในครอบครัวหากแต่เป็นปัจจัยเสริม คนที่เลือกจะใช้เครื่องมือความรุนแรง คือคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือคนอื่นและต้องการจะควบคุมอีกคนโดยการแสดงอำนาจนั้นออกมาโดยไม่ชอบ
“ผู้กระทำกล้าทำคนอื่น เพราะต้องการควบคุมอีกคน และสำนึกว่าตัวเองมีอำนาจหนือกว่า ในคู่รักเพศหลากหลายแม้จะเพศเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่คนกระทำ(ความรุนแรง)จะเป็นฝ่ายที่ถือกุมอำนาจมากกว่า” บุษยาภาอธิบาย “พอตัวเองไม่ได้ตามที่ต้องการจะพยายามแสดงอำนาจนั้น ด้วยการใช้กำลัง อารมณ์โกรธ เพื่อให้ตัวเองเป็นฝ่ายควบคุมหรือชนะ”
เธอบอกว่าเรื่องแบบนี้มาจากการเลี้ยงดูและการหล่อหลอมของสังคม ยิ่งสังคมมองว่าเป็นปกติ เรื่องนี้ก็จะทำให้เกิดวัฏจักรความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ
“ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้เกิดจากที่บ่อยครั้งเหยื่อมักจะยอม ไม่อยากเลิกรากัน บ้างก็เพราะรักลูก อยากให้ครอบครัวยังอยู่ด้วยกันต่อ” ร.ท.อ. หญิงวชิราก็เชื่อแบบเดียวกัน “คนที่ถูกกระทำ เขาก็เหมือนกับว่าไม่เป็นไรครั้งนี้เขาก็น่าจะคิดได้”
ทั้งนี้เธอได้เสริมให้เราด้วยว่า ในทางอาชญวิทยาแล้วการยอมไปเรื่อย ๆ ไม่ทำให้ความรุนแรงหยุดลงแต่อย่างใด “ การยอมให้เขาทำร้ายครั้งหนึ่ง เหมือนทำให้เขาได้ใจ เขาคิดว่าเขาอยู่เหนือกว่าอีกคนหนึ่ง สามารถทำอะไรกับอีกคนหนึ่งก็ได้ โดยที่อีกคนหนึ่งจะต้องยอมเขา”
แนวคิดเชิงอาชญวิทยาของสารวัตรหญิงสอดคล้องกับข้อมูลที่นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เคยพูดบนเวทีเสวนา “จับสัญญาณอันตรายความตายความรุนแรงในครอบครัว 2018” เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 โดยระบุว่าผู้กระทำความผิดมักจะมีมีวิธีคิดและทัศนคติแบบ “ชายเป็นใหญ่” โดยแสดงออกผ่านพฤติกรรมความหึงหวง บันดาลโทสะ
ความคิดแบบ “ชายเป็นใหญ่” เป็นคำที่ใช้ในแวดวงสังคมศาสตร์ ใช้เรียกความเชื่อเรื่องเพศแทบทุกอย่างที่ฝังหัวกันมาตามธรรมเนียมปฏิบัติ เช่นว่า “ผู้ชายก็ต้องโมโหแรงเป็นธรรมดา” หรือ “เกียรติและศักดิ์ศรีของผู้ชายใครหยามไม่ได้” ทั้งที่จริงแล้วก็ไม่มีใครกำหนดว่าต้องเป็นเช่นนั้น
อังคณาบอกว่าสังคมทำให้ความคิดที่ไม่ปกติเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้เมื่อเกิดปัญหา สังคมก็ชินชาไปแล้ว ไม่มีใครยื่นมือช่วย
“คนไทยมักถือการพูดเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นข้อห้ามทางสังคม แม้จำนวนของเหยื่อจะค่อยๆเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม” บุษยาภากล่าวถึงสาเหตุที่เธอลุกขึ้นมาสร้างโครงการ “ SHero” ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวที่เริ่มตั้งแต่รับฟัง ให้ความช่วยเหลือด้านคดีความ และพยายามเปลี่ยนแนวคิดของสังคมที่มีต่อการกระทำความรุนแรงในครอบครัวในวงกว้าง
#พี่ดุนะหนูไหวหรอ ขำขันหรือผลิตซ้ำ
ย้อนกลับมาดูกระแส #พี่ดุนะหนูไหวหรอ ในโลกออนไลน์ หากไม่นับการใช้แฮชแท็กนี้ในการเสียดสีนักการเมือง เราจะพบได้ว่ามีการใช้แฮชแท็กนี้ชื่นชมดาราศิลปิน หรือบุคคลที่ตนชอบ หรือใช้โฆษณาเชื้อเชิญให้ผู้คนมาทำความรู้จัก
https://www.facebook.com/deetoorjai/posts/853935454965422
เพจดีต่อใจ เป็นหนึ่งเพจที่เผยแพร่รูปภาพชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งพร้อมข้อความบรรยายภาพว่า “พี่ดุนะ หนูไหวหรอ” ผลปรากฎว่ามีผู้แชร์กว่า 5,000 ครั้ง และมีคอมเมนต์ตอบรับในด้านบวก ชื่นชม นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งจากหลากหลายเพจที่อาจทำให้เราสรุปได้ว่า สังคมออนไลน์ฉายภาพทัศนะคติต่อภาพลักษณ์ “ดุ” ในด้านบวก
บทสนทนาในโลกออนไลน์ไม่ได้จบเท่านั้น มีการแบ่งโลกออนไลน์ออกเป็น 2 ฝ่ายถกเถียงว่าภาพลักษณ์ “ดุ” หมายถึงการนิยมความรุนแรงจริงหรือไม่
เฟซบุ๊กของกองปราบเผยแพร่แนวทางการป้องกันตนเอง หากพบกรณี “พี่ดุนะหนูไหวหรอ” โดยกล่าวว่าหากสามีหรือภริยา ทำร้าย หรือทรมาน ร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยาม อีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ระบุว่าวลีดังกล่าวเป็นเพียงการใช้โวหารเกินจริง (Hyperbole) ที่ใช้บรรยายภาพฝันที่แยกขาดจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายความว่า แม้จะมีการถวิลหาลักษณะ “ความดุ” ในจินตนาการ แต่ในความจริงก็ไม่ได้ต้องการเช่นนั้น
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งเปิดเผยว่า สำหรับเธอแล้ว ความดุไม่ได้หมายถึงความรุนแรงซึ่งเป็นความหมายด้านลบ แต่หมายถึงการเอาใจใส่ที่อีกฝ่ายหนึ่งมีต่อกัน
ไม่ว่าทัศนะด้านบวกที่มีต่อวลีนี้ จะมีความเข้าใจต่อภาพลักษณ์ “ดุ” ในระดับไหน แต่ภาพลักษณ์นี้ถูกขยายให้เกิดความนิยมในวงกว้าง เห็นได้จากการที่บัญชีของแอปพลิเคชัน Mello Thailand ผู้ให้บริการชมรายการโทรทัศน์ออนไลน์ตอบรับกระแสด้วยการรวบรวมรายการละครที่ตัวละครนำมีลักษณะ “ดุ” อย่างที่สังคมชอบใจ
ที่ผ่านมายังมีการถกเถียงว่าละครมีส่วนสร้างพฤติกรรมเลียนแบบ หรือมีผลต่อการสร้างโลกทัศน์ในสังคมมากน้อยแค่ไหน แต่หากแนวคิดของอังคณา อินทสา และบุษยาภา ศรีสมพงษ์ เชื่อว่าส่วนหนึ่งแล้วความรุนแรงในบ้านมาจากการสร้างแนวคิดชายเป็นใหญ่แล้วฝังรากลึกกลายเป็นวัฒนธรรม ก็น่าคิดว่าสื่อทวิตเตอร์และละครที่ขานรับกระแสนี้ มีส่วนผลิตซ้ำแนวคิดของความรุนแรงด้วยหรือไม่
กฎหมายควรปกป้อง “เหยื่อ” หรือ “ครอบครัว”
กฎหมายที่ใช้เป็นกรอบบังคับเรื่องความรุนแรงในครัวเรือนตลอดระยะเวลา 10 ปีมานี้คือ พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ครอบคลุมทุกคนที่อยู่ในบ้าน ทั้งคู่สามีภรรยา ลูก แฟนเก่า คนงานในบ้าน จุดเด่นคืออนุญาตให้ผู้พบเห็นแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ได้ และมุ่งให้เกิดการฟื้นฟูแก้ไขเพื่อให้ครอบครัวคืนสู่ภาวะปกติ แต่ก็มีได้มีการกำหนดโทษอาญาในกรณีที่เหยื่อยืนยันจะดำเนินคดีต่อด้วย
“กฎหมายอันนี้ จุดประสงค์หลักคือมองเรื่องของการฟื้นฟูและการป้องกัน เหมือนเข้าไปคุยกันนะ” พ.ต.อ.จิรกฤตให้ข้อมูลเรา “ไปดูว่าจิตใจของผู้ถูกกระทำเป็นอย่างไร และมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ไปดูว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ผู้ชายติดเหล้าหรือเครียดทางอื่น เรามีคนเข้าไปดูแล แต่สุดท้ายคุณจะเลิกกันหรือจะดำเนินคดี ก็จะอยู่ที่ผู้ถูกกระทำ”
แม้จะมีกฎหมายเฉพาะด้านแล้ว แต่สถิติการเกิดความรุนแรงในครอบครัวของไทยไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วิเคราะห์ไว้ในปี 2558 ว่ามาจาก 3 สาเหตุหลัก ๆ คือพ.ร.บ.นี้ให้น้ำหนักไปที่การรักษาสถาบันครอบครัวมากกว่าป้องกันโอกาสการเกิดความรุนแรงซ้ำ เช่น ส่งเสริมการไกล่เกลี่ยมากกว่ายุติความขัดแย้ง หลีกเลี่ยงการลงโทษผู้กระทำผิด และพนักงานเจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติราวกับปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว
ต่อมาเมื่อต้นปี 2562 มีการริเริ่มร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ขึ้นมาคือ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562” ขึ้นมา โดยสภานิติบัญญัติ ระบุเหตุผลว่าต้องการปรับปรุงระบบการคุ้มครองสวัสดิภาพครอบครัวให้มีประสิทธิผลมากขึ้น และต้องการยกเลิกโทษอาญา เพราะขัดกับเจตจำนงของกฎหมายความรุนแรงในครอบครัวที่มุ่งให้ผู้กระทำได้มีโอกาสกลับตัว
แม้พ.ร.บ.นี้จะทำให้มีการโอนย้ายอำนาจส่วนใหญ่ออกจากตำรวจ และเพิ่มกระบวนการฟื้นฟูบำบัดเพิ่มขึ้น แต่หลายภาคส่วนออกมาบอกว่าแนวคิดเช่นนี้อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง
ในงานเสวนาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 นัยนา สภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ชี้ว่าร่างพ.ร.บ.ใหม่ให้เหยื่อความรุนแรงแจ้งเหตุได้ที่ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวที่จะถูกจัดตั้งขึ้น จากเดิมให้แจ้งตำรวจ ทำให้น่าเป็นห่วงเรื่องการดูแลอย่างทั่วถึง
แต่ประเด็นใหญ่ที่สุดที่มีการตั้งคำถามต่อร่างพ.ร.บ.นี้ คือคำถามของอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ถามว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าเหยื่ออยากกลับไปอยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้เคยกระทำความรุนแรงกับตน กฎหมายออกแบบมาเพื่อรักษาสถาบันครอบครัวมากกว่ารักษาความปลอดภัยของเหยื่อหรือไม่?
“ผู้ใช้ความรุนแรง ถ้าเขาไม่อยากเปลี่ยน ต่อให้กฎหมายบังคับให้เจอจิตแพทย์ เขาก็เหมือนเดิม” บุษยาภาแสดงความคิดเห็น “การทำให้ครอบครัวกลับมาเหมือนเดิม กับการคุ้มครองเหยื่อมันควรวางตัวบทออกจากกันให้ชัดเจน ไม่งั้นในทางปฏิบัติ คนใช้กฎหมายก็จะโน้มน้าวให้ผู้เสียหายคืนดีกับคนรักที่ทำร้าย”
อังคณา นีละไพจิตร ยังเปิดเผยว่า ในการร่างกฎหมายนี้ไม่มีกรรมการสตรีไปเป็นคณะกรรมการวิสามัญ มีเพียงไปนั่งเป็นกรรมการคุณวุฒิที่ไม่สามารถออกเสียงได้
เสียงต่อต้านจากภาคสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงไม่ได้รับการขานรับเท่าที่ควร เดือนกุมภาพันธ์นั้นเอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีสมาชิกเป็นชายมากถึง 95% จากเก้าอี้ทั้งหมด 250 ที่นั่ง ก็ได้ให้กำเนิดกฎหมาย “พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ 2562” ที่ส่งผลต่อชีวิตของหญิงไทยจำนวนมาก โดยกำลังจะมีกำหนดบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2562 ที่จะถึงนี้
ปัญหาครอบครัว = ปัญหาสังคม
“ไม่อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องของครอบครัวอื่น อยากให้คิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องของเราด้วย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นพื้นฐานของการก่ออาชญากรรมในสังคม” ร.ท.อ. หญิง วชิรา ธาวนพงษ์ ให้ข้อมูลใหม่กับเรา
เธอบอกว่าความรุนแรงในครอบครัวทำให้บ้านไม่ใช่บ้านอีกต่อไป เมื่อเด็กขาดความรักความอบอุ่น ก็นำมาสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด หรือท้องไม่พร้อมได้
นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังชี้ว่าเด็กที่ต้องเจอกับความรุนแรงในครอบครัว จะมีวุฒิภาวะทางอารมณ์น้อย เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต และในบางครั้งก็มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นผู้กระทำ หรือจำยอมต่อการถูกกระทำความรุนแรงเพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่มากกว่าเด็กที่โตมาจากครอบครัวที่ไม่มีความรุนแรง
“เขาจะรู้สึกว่าสมัยก่อนฉันก็โดนมาแบบนี้ เราไม่อยากให้สังคมเราอยู่ในสังคมความรุนแรง เราไม่อยากให้(เด็ก)โตมาแล้วใช้อารมณ์ ปรี้ดง่าย หัวร้อนง่าย ไม่มีคุณภาพ สุดท้ายมันก็จะกลับมาเป็นวงจรเดิม วงจรการถูกทำร้าย วงจรการใช้กำลังตัดสิน” พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ อธิบาย
หมายความว่าความรุนแรงในครอบครัวอาจไม่ใช่แค่เรื่องในครอบครัวอีกต่อไป เพราะส่งผลกับทั้งสังคม และส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนความรุนแรงในอนาคตขึ้นอีก
พี่ดุนะ หนูไม่ต้องทน!
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาเรื้อรังก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ได้เลยเสียทีเดียว
บุษยาภาบอกเราว่า สังคมมีกระแสต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงขึ้นมามากขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งเป็นกระแสที่ดีและควรเป็นต่อไป แต่ควรมีการนำเรื่องคุณค่าเหล่านี้มาพูดในทางปฏิบัติ เช่น ในการร่างกฎหมาย เป็นต้น
หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จำนวนผู้หญิงที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีถึง 76 คนจาก 500 ที่นั่ง คิดเป็น 15.2%
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ยังไม่มีการร่างกฎหมายอะไรใหม่ และกฎหมายเดิมอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังนัก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็บอกเราว่า การออกมาส่งเสียงด้วยตัวเองนั้นดีกว่าไม่มีอะไรเลย เพราะการนำเรื่องส่วนตัวออกจากบ้านมาสู่ระบบราชการ จะทำให้เราแลเห็นตัวเลขของปัญหาที่เพิ่มขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้น
ที่สำคัญ อยากคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องพบในชีวิตคู่ และต้องหนักแน่นกับตนเอง “เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เริ่มไม่ใช่แล้วเราสามารถที่จะปลีกตัวออกมาได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทนต่อไป” ร.ท.อ. หญิง วชิรา ธาวนพงษ์ย้ำ