SHARE

คัดลอกแล้ว

ทีมข่าวธุรกิจ workpointTODAY มีโอกาสได้พูดคุยกันยาว กับ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ และปัจจุบันเป็นประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการ Sea Ltd แพลตฟอร์มดิจิทัลเจ้าของ Garena (ให้บริการเกม RoV, Free Fire), Shopee และ SeaMoney 

ในชื่อชั้นที่ดร.สันติธารถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่คร่ำหวอดในการวิเคราะห์และคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่าง ในโลกโดยมองทั้งบริบทเพื่อให้ได้คำตอบของอนาคตที่ใกล้เคียงที่สุด ในการวางแผนรับมือได้ ดังจะเห็นได้จากหนังสือ 2 เล่มของเขา ที่ได้ทำหน้าที่เฝ้ามองโลก สังเกตการณ์ บอกเล่าอนาคต และหนทางที่ดีที่สุดในการเตรียมตัวรับมือ ทั้ง Futuration และ The Great Remake

วันที่ทั่วโลกค่อยๆเริ่มฟื้นจากโควิด-19 ประเทศไทยกำลังเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม จากพิษไข้โควิด แต่สถานการณ์รอบด้านดูจะทำให้คนไข้ที่ชื่อว่าไทยแลนด์ ยังมีอาการทรงๆ ต้องประคองอาการ ประคองตัวกันอยู่ มีหลายอย่างที่ทำให้เรา รู้สึกว่าเราเหมือนจะยังไม่หายป่วย มีอาการโรคแฝงอยู่ แล้วอะไรที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น คุยกับสันติธาร เสถียรไทย ถึงความท้าทายโจทย์เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยที่เขาบอกว่า ถึงเวลาที่เราต้องสร้าง Growth ใหม่ให้ประเทศแล้ว และช้าต่อไปไม่ได้ การระมัดระวังตัวเกินไป ข้อเสียทำให้เราเป็นคนที่วิ่งได้ไม่ไกล ไม่เร็วพอ

คำถามที่ 1 : อะไรเป็นความท้าทายของโจทย์เศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวตอนนี้ ?

มีคำหนึ่งที่เขาพูดว่าเราต้องระวังไม่มัวรบกับสงครามของเมื่อวาน แต่ต้องมองไปข้างหน้า มองเห็นถึงสงครามในอนาคต วันนี้ที่ผมเห็นคือถึงจุดเปลี่ยนสำคัญด้านเศรษฐกิจ สถานการณ์ตอนนี้ที่เรากำลังเผชิญอยู่ เป็นจุดที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก 

แม้ความท้าทายของปีนี้จะเป็นเรื่อง เงินเฟ้อ หรือ ดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ในช่วง 6-12เดือนข้างหน้าเราอาจต้องมองเรื่อง Growth ให้มากกว่าเรื่องเงินเฟ้อก็ได้ เพราะสิ่งที่เรากำลังเจอ คือ The Great Tightening หรือการที่ธนาคารกลางทั่วโลกออกมาเหยียบเบรคทาง
นโยบายการเงินพร้อมๆกัน ดึงดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนใหญ่คนจะโฟกัส ว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่ภาวะ Recession (เศรษฐกิจถดถอย) หรือไม่ แต่ต่อให้เศรษฐกิจอเมริกาไม่เข้าภาวะนั้น มันก็มีโอกาสชะลอตัว ส่งผลก่อให้เกิด Synchronized slowdown หรือการชะลอตัวพร้อมกันของเศรษฐกิจใหญ่ ทั้ง อเมริกา ยุโรป และจีน ได้

เมื่อแยกดูรายเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ จะพบภาพที่แตกต่างกันไป อเมริกา เศรษฐกิจเขาดึงเบรก การขึ้นดอกเบี้ยเริ่มเห็นผล เศรษฐกิจจากร้อนแรงก็จะชะลอตัว ส่วนในยุโรปหนักมาก ต้องดึงเบรก ขึ้นดอกเบี้ย ลดเงินเฟ้อ ทั้งที่เศรษฐกิจเขาไม่เข้มแข็งอยู่ใกล้วิกฤตยูเครนรัสเซียด้วย ส่วนจีนมีปัญหา อาจจะฟื้น โควิดดีขึ้นบ้าง แต่สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และภาคการเงิน ทำให้เศรษฐกิจอาจยังไม่ฟื้น และยังมีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์รอบใหม่ 

ดังนั้นต่อไปข้างหน้าโจทย์เศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนเร็วมากจากที่ผ่านมาในปีนี้ เงินเฟ้อเป็นประเด็นสำคัญ แต่ต่อไปอาจเป็นโจทย์เรื่อง Growth (การเติบโตทางเศรษฐกิจ) ที่ท้าทายนโยบายเศรษฐกิจประเทศต่าง และเรื่อง Growth เองก็เป็นยาที่ต้องใช้เวลาในการทำให้เศรษฐกิจเติบโตกว่าจะได้ผล อย่างใช้ยาตามอาการวันนี้กว่าจะได้ผลก็คืออีก 6 เดือน ถึงเวลานั้นโลกก็อาจจะเปลี่ยนอีก จึงเป็นโจทย์ยากท้าทาย ดังนั้นมองในด้านธุรกิจต้องกังวล Slowdown มากขึ้นในครึ่งปีหลัง

คำถามที่ 2 : คาดการณ์สถานการณ์ของประเทศไทย เราต้องกังวลอะไรบ้าง ?

ในระยะสั้น การชะลอตัวรอบนี้ จะเกิดผลกระทบชัดเจนมากขึ้นต่อภาคการส่งออก ซึ่งเป็นภาพสลับของสิ่งที่เราเห็นเมื่อช่วงในอดีต 6-12 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากตั้งแต่ปีที่แล้ว ภาคการผลิต และภาคการส่งออก ฟื้นตัวได้ดี แต่ภาคธุรกิจบริการกลับย่ำแย่มาก ซึ่งเรื่องการท่องเที่ยวที่แย่มาก จะมีภาพที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ในปีนี้ช่วงครึ่งปีหลังจะเจอภาพที่กลับกัน ท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมา ภาคธุรกิจบริการจะฟื้น คนเดินทางมาก แต่การผลิตจะมีปัญหา เพราะส่วนหนึ่งดีมานด์จะน้อยลง เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกันในเศรษฐกิจใหญ่ๆ อีกด้านหนึ่ง คือ Disruption ทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีอยู่จาก Trade War ฉะนั้นในแง่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจจะพลิกกลับกัน การท่องเที่ยวจะฟื้นต่อแต่การบริโภคในประเทศด้านอื่นๆอาจมีชะลอตัว เพราะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขึ้น ส่วนส่งออกสำคัญอาจจะมีถึงขั้นหดตัว ส่งผลให้ภาคการผลิตทรุดลง

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้โจทย์ของการดำเนินนโยบายยากขึ้น ทั้งนโยบายการเงิน การคลัง ต้องประสานงานกันดีๆ อย่าประสานงา! ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเป็นการ Normalize อัตราดอกเบี้ยให้กลับมาอยู่ในระดับสูงขึ้นกว่าช่วงโควิด และรับมือเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกับเงินบาทที่ผันผวนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากยังอ่อนแอ คนรายได้น้อยโดนกระทบจากเงินเฟ้อมาก ฝั่งนโยบายการคลังจึงควรจะต้องออกมาตราการช่วยเหลือที่อาจจะไซส์ไม่ใหญ่แต่ target ได้แม่นยำ 

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยจนถึงต้นปีหน้า ประเทศไทยไม่ได้มีโอกาสเสี่ยงที่ต้องกังวลขนาดประเทศอื่นๆที่เกิดวิกฤตเช่น ศรีลังกา ปากีสถาน อาร์เจนตินา 

หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย อาจจะเหมือนผู้ใหญ่อายุมากหน่อยและไม่หวือหวามากนัก ในช่วงที่โลกเติบโตได้ดีพุ่งไปข้างหน้า ไทยอาจไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่ เพราะเราเรียนรู้จากวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างค่อนข้างเจ็บปวด เลยระมัดระวังค่อนข้างเยอะ เหมือนขับรถค่อนข้างระวัง ออกรถระวัง ค่อนข้างมีเสถียรภาพเหมือนรถที่ขับช้า หรือคนที่วิ่งไม่เร็วมากนัก เวลาโลกล้มระเนระนาดเราจะไม่ค่อยล้มหนักแบบนั้น แต่ข้อเสีย คือ อาจระวังมากเกินไป ทำให้ถูกคนอื่นแซงง่าย ตอนนี้เวียดนาม อินโดนีเซียแซงเราแล้วหรือเปล่า แม้ไม่ทั้งหมด อย่างน้อยก็น่าจะมีความจริงอยู่บางด้าน ที่เราต้องเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค จากที่เมื่อก่อนเราเคยมองตัวเองว่าแข่งกับ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่เป็นเสือแห่งเอเชีย 

ดังนั้น ความเสี่ยงของไทยที่แท้จริงจึงไม่ใช่ล้มแบบวิกฤต แต่เป็นการถูกโลกมองข้าม ในเชิงที่ว่าไม่ใช่ไม่มีใครสนใจเราเลย เพียงแค่โลกอาจสนใจประเทศอื่นๆมากกว่าเรา หากเปรียบเทียบกับการขับรถคือ ไทยเรา “ขับช้า ปลอดภัย แต่ไปไม่ทัน”

คำถามที่ 3 : ทำไมถึงคิดว่าไทยไม่ค่อยเสี่ยงต่อวิกฤตแบบตลาดกำลังพัฒนาอื่นๆ ?

ถ้าไปดูอาการประเทศล้มหนัก เขาจะมีอาการคล้าย ๆกัน อาการหลายอย่างไม่ได้แตกต่างกันมากนักจากยุคต้มยำกุ้ง เช่น การกู้เป็นเงินต่างประเทศมากเกินไปเพื่อมาลงทุนต่างๆ เหมือนลงทุนในพวกสินทรัพย์บับเบิ้ลทั้งหลาย คือตอนดีทุกอย่างดูดีไปหมด ตอนไม่ดีลงทุนแล้วไม่ได้ผลตอบแทนดีพอต่าง พอต้องจ่ายเงินคืนก็จ่ายลำบาก ที่สำคัญกู้เป็นเงินต่างประเทศเวลาค่าเงินเราอ่อนลงเราต้องแลกเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้หน่ึงดอลลาร์กลับมา เลยทำให้หนี้แพงขึ้น นี่คือสูตรเจ๊งเลย ทุกประเทศที่เราเห็นจะมีปัญหาคล้ายกันตรงนี้ 

ไทยไม่ได้มีตรงนั้น สถานการณ์ตอนนี้ไทยกู้ต่างประเทศน้อย อาจจะเป็นข้อเสียปนข้อดี คือความสนใจนักลงทุนต่างชาติในไทยไม่ได้สูงมากนัก ที่ผ่านมาเงินต่างชาติที่อยู่ในไทยไม่ได้เยอะมากนัก บวกกับเรามีเงินสำรองระหว่างประเทศ (Foreign exchange reserves) ค่อนข้างเยอะมาก เพราะกลัวจากตอนต้มยำกุ้ง ประเทศไทยจึงเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นและมีความระวังตัวเยอะ 

ในขณะเดียวกันทางด้านฐานะการคลังของรัฐก็ไม่ต้องถึงกับกลัวรัฐบาลจะถังแตกเหมือนกับหลายรัฐบาลในประเทศอื่น เพราะหนี้สาธารณะไทยยังโอเค รัฐบาลไทยยังกู้ได้ค่อนข้างถูกและเป็นหนี้ในประเทศ แต่ก็ต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายเงิน เพราะบาซูก้าการคลังไม่มีแล้ว คงช่วยกันได้เป็นกลุ่มๆ ช่วยคนเปราะบาง เอสเอ็มอี แรงงานนอกระบบ ซึ่งการที่รัฐบาลยิงเฉพาะจุดอาจยังไม่ค่อยแม่นหรือเปล่า เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องคอยดูกัน

คำถามที่ 4 : อะไรคือความท้าทายระยะยาวของเศรษฐกิจไทยและโลกในยุคหลังโควิด

ถ้าต้องสรุปธีมความท้าทายต่อเศรษฐกิจในอนาคตด้วยหนึ่งประโยคคงต้องเรียกว่า “Revenge of the old economy” หรือการแก้แค้นของเศรษฐกิจเก่า 

หากเราคุยกันปีที่แล้ว เราพูดกันว่า โลกอนาคตคือ เศรษฐกิจสีเขียว ดิจิทัล การทำงานระยะไกล (Work Remote) และโลกจะร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสู้วิกฤตสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เราต่างเชื่อว่าธีมพวกนี้จะมา แต่อย่างไรก็ตาม ปีนี้ทุกเทรนด์ถูกท้าทายไปโดยสิ้นเชิง จนเราต้องตั้งคำถามกันว่า อนาคตจะเป็นอย่างที่เคยคิดไว้จริงๆหรือ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างสัก 5 ข้อใหญ่ๆ

  1. เทรนด์เศรษฐกิจสีเขียวอาจสะดุด ที่ผ่านมาคนให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดคาร์บอน เสริมพลังงานทางเลือก เป็นอย่างมาก แต่ปรากฎว่าความมั่นคงทางพลังงานกลับเป็นโจทย์ใหญ่ขึ้นมาในปีนี้ เพราะปัญหาขาดแคลนพลังงานที่เกิดขึ้นในยุโรปและทั่วโลก ราคาน้ำมันและพลังงาน ที่แพงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อคนรายได้น้อยเป็นพิเศษ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทำให้มีประเทศใหญ่ๆยืดเป้าหมายการลดใช้ถ่านหินออกไป บางประเทศหันกลับไปสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิลมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ท้าทายระดับโลกว่าเราจะบาลานซ์ระว่างความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร 

สุดท้ายในระยะยาวเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียวน่าจะยังคงมาแน่เพราะทั้งนักลงทุน ผู้บริโภครุ่นใหม่และรัฐบาลหลายประเทศยังผลักดัน แต่ทั้งรัฐและเอกชนคงต้องร่วมกันตอบโจทย์เรื่องการปรับตัวเปลี่ยนผ่านเข้าสู่พลังงานสะอาด (Energy transition) ให้ดีโดยไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานและส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนรายได้น้อยมากเกินไป ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและมีหลายมิติมาก

  1. Digital Transformation เทรนด์ถูกท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะคนใช้ดิจิทัลน้อยลงหลายด้าน เป็นภาพที่ค่อนข้างเห็นในทุกที่ว่าคนออกจากบ้านมากขึ้น อยากออกไปเจอคนไปเที่ยว ใช้เวลาออนไลน์น้อยลง แต่ที่เห็นความแตกต่าง ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว กระแสการใช้ดิจิทัลที่พุ่งไปเยอะมากมาจาก การที่คนใช้เวลายาวนานขึ้นกับการ ประชุม ดูวิดีโอ เล่นเกม ผ่านช่องทางดิจิตอล เป็นการเพิ่มขึ้นของระยะเวลาเป็นหลัก จึงทำให้เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ การใช้งานดิจิตอล จึงลดลง เพราะคนส่วนใหญ่เข้าถึงดิจิทัลอยู่แล้ว การเพิ่มด้วยเวลาที่เกิดขึ้นเลยไม่ยั่งยืนร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะไทย อาเซียน ละตินอเมริกา มีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะก่อนโควิดมีคนจำนวนมากในประเทศเหล่านี้ที่ไม่ได้ใช้ดิจิทัลมาก่อน ทั้งฝั่งผู้ซื้อและธุรกิจ พอโควิดมาทุกคนถูกบังคับให้ใช้ คนเลยเริ่มคุ้นเคย ใช้เป็น เห็นประโยชน์ จึงใช้ต่อเนื่องไป ดังนั้น ความยั่งยืนการใช้ดิจิทัลในประเทศกำลังพัฒนาจึงเห็นได้ชัดเจนกว่า แม้เทรนด์การใช้ดิจิทัลจะลดจากช่วงพีค แต่ก็ไม่ได้ลดต่ำลงไปจนเหมือนก่อนโควิด เปรียบเทียบเหมือนเราได้รับการขึ้นเงินเดือน ปรับฐานเงินเดือนใหม่แล้ว 

ดังนั้นเศรษฐกิจดิจิทัลน่าจะไปต่อได้โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาอย่างในภูมิภาคอาเซียนเพียงแต่ระยะสั้นอาจมีลมต้านบ้าง

  1. Work From Anywhere ก่อนนี้หลายบริษัทในหลายประเทศบอกไม่เป็นไรไม่ต้องทำงานในออฟฟิศแล้วที่ไหนก็ได้ มีคำถามว่าออฟฟิศต้องสร้างอยู่หรือไม่ เพราะรูปแบบพัฒนาเมืองเปลี่ยนไป แต่วันนี้มาเห็นทางกลับกัน บริษัทดังๆ บอกไม่ได้ต้องกลับมาออฟฟิศเจอหน้ากันทุกวัน เพราะหลายบริษัทเจอเทรนด์ลาออกครั้งใหญ่ Great Resignation ส่วนนึงมีเหตุมาจากการที่หลายคนไม่ได้เจอคนที่ทำงานด้วยกันองค์กรเดียวกัน มันเลยไม่มีความผูกพันกับคนและองค์กรหรือคอมมูนิตี้ บริษัทจึงพยายามแก้บอกให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งด้านหนึ่งก็ทำให้คนทำงานไม่พอใจอีก

ตอนนี้เทรนด์ของแต่ละบริษัทกำลังค้นหาตัวเองว่า เราจะบาลานซ์ยังไง ไฮบริดแบบที่ไม่ได้อยู่ออฟฟิศร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ทำข้างนอกทั้งหมด หาจุดตรงกลาง ที่จะทำให้เกิด Flexible Working ทำงานแบบยืดหยุ่น ที่แต่ละทีมอาจไม่เหมือนกัน

ที่น่าสนใจคือหลายประเทศเช่น สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร ก็เริ่มฉกฉวยโอกาสนี้ที่รูปแบบการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้นออกมาตราการดึงให้คนเก่งๆมาทำงานในประเทศตนเองแทน

  1. โลกแตกร้าวมากขึ้น เชื่อใจกันน้อยลง เป็นบริบทระเบียบโลกใหม่ที่เกิดขึ้น ก่อนนี้หลายคนเคยมีความหวังว่า หลังมนุษยชาติสู้ไวรัสโควิด-19 จะหันกลับมารักกันมากขึ้น แต่กลับไม่ใช่ การตีกันทะเลาะกันของมหาอำนาจนั้นหนักขึ้นและรุนแรงขึ้น วิธีที่ใช้เป็นสงครามเศรษฐกิจที่ทำต่อกันและกัน ทำให้เกิดแผลเป็นหลายอย่าง ในเรื่องระเบียบโลก เช่น สงครามการค้า Trade War และพัฒนามาสู่ Tech War มากขึ้น มหาอำนาจหาทางพัฒนาชิปเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง และพยายามจำกัดคนที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีผลิตชิป รวมทั้งแย่งกันเป็นเจ้าของวัคซีน กรณีสงครามรัสเซียยูเครนรูปแบบใหม่ที่แบนกันเรื่องการเงิน เกิดคำถามเราใช้เงินสกุลดอลลาร์น้อยลงได้ไหม ใช้เงินสกุลอื่นได้ไหม โลกเชื่อใจกันน้อยลง มันผันผวนขึ้น ไม่รู้ใครจะทะเลาะกับใครที่ไหนอีก Supply Chain ถูก Disrupt อย่างไร

พอมาดูความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับโลก มันเริ่มเปลี่ยนจากที่เดิมอยู่บนฐานของธุรกิจ เศรษฐกิจและการลดต้นทุน กลายเป็นว่าเราไม่ได้ซื้อของจากพลังงาน อาหาร ชิปอิเล็กทรอนิกส์จากที่ที่ถูกที่สุดแล้ว แต่เราต้อซื้อจากที่ที่ถูกและประเทศนี้เป็นเพื่อนเราแน่ ต้องทำธุรกิจโดยดูว่าประเทศไหนทะเลาะกันในอนาคตหรือไม่ มันท้าทายและมันจะเปลี่ยนเกมพอสมควร เพราะเหตุผลทางความมั่นคงจะมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าเก่ามาก 

  1. สุดท้ายและสำคัญที่สุดคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจนจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนระดับฐานรากจะถูกกระทบค่อนข้างเยอะ เป็นปัญหาท้าทายหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย

ถ้าไปดูชีวิตของคนบางคน ธุรกิจบางกลุ่มมันมีวิกฤต เพราะความเหลื่อมล้ำค่อนข้างรุนแรงพอสมคร จากโควิด-19 กระทบคนตัวเล็กค่อนข้างเยอะ รวมทั้งกลุ่ม SMEs ซึ่งปัญหาก็ท้าทายขึ้นไปอีกเพราะในตอนที่เรากำลังเริ่มฟื้นจากโควิด แต่ดันเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นมา เงินเฟ้อกระทบคนรายได้น้อยมากกว่ารายได้สูง บางคนเรียกเงินเฟ้อว่าเป็น “ภาษีของคนรายได้น้อย” โดยเฉพาะเวลาที่เงินเฟ้อมาจาก ราคาพลังงาน ราคาอาหารที่สูงขึ้น มันเป็นภาษีของคนรายได้น้อยเต็มๆ คนรายได้น้อยมีสัดส่วนต้องใช้ส่วนนี้เยอะเพื่อประทังชีวิต เปรียบเสมือนคนที่ร่างกายยังไม่แข็งแรงจากโควิด-19เลย และยังโดนกระทบอีกระลอก ทำให้เงินในกระเป๋าน้อยลงอย่างชัดเจน ถ้ามีหนี้อยู่ ก็อาจจะต้องกู้มาอีก ดอกเบี้ยขึ้นอีก จะซ้ำไปหลายอันมาก โจทย์หนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่แล้ว โจทย์เงินเฟ้อโจทย์ใหญ่มาก คนรายได้น้อยถูกกระทบ ความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะไม่สามารถมีได้มากเท่ากับยุคโควิด เพราะรัฐบาลหมดกระสุนไปเยอะมากเหมือนกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

คำถามที่ 5 : ในทุก 5 ธีมโลก ที่เล่ามาก็ท้าทายแล้ว แถมประเทศไทยเรายังเจอสังคมสูงอายุแลพกับดักรายได้ปานกลางอีกใช่ไหม?

ผมเคยเขียนรายงาน สมัยทำงานภาคการเงิน 7 ปีมาแล้ว เคยบอกว่าผมกลัวว่าประเทศไทยอัตราเฉลี่ยเจริญเติบโตระยะยาวจะช้าลงมา เหลือ 3% นิดๆ จากสมัยนั้นเป็นยุคที่ทุกคนคิดว่าไทยโตได้เกิน 4% โดยเฉลี่ยก็ถกเถียงกันพอควร เสียดายว่า 7 ปีต่อมาภาพนี้มันชัดขึ้นจนคนค่อนข้างยอมรับว่านี่คือ growth ปกติของเรา

ปัญหาของไทยอาจไม่ใช่ “แก่ก่อนรวย”สักทีเดียวแล้ว แต่อาจจะบอกได้ว่าเพราะแก่จึงไม่รวย” หรือแก่จึงเสี่ยงไม่รวย แปลว่า ความท้าทายต่อการจะก้าวขึ้นไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว มันมาจากที่เราเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างมีนัยยะสำคัญ 

เพราะการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตระยะยาวได้ มาจาก 3 ส่วน คือ 1.การเพิ่มคน ประเทศที่มีประชากรเด็กจะได้เปรียบมาก และประเทศที่มีประชากรเติบโตสูงก็ได้เปรียบมากเช่นกัน เพราะมีคนทำงานมากขึ้นเรื่อย เปรียบเหมือนบริษัทมีงานเพิ่มขึ้น ธุรกิจใหม่ ลูกค้าใหม่ก็จ้างคนเพิ่ม ทำให้เพิ่มยอดขายได้เรื่อยๆ ซึ่งนี่เป็นโมเดลที่ประเทศไทยไม่สามารถทำได้แล้ว ประชากรเราเกิดค่อนข้างต่ำ เรามีปัญหากลับกัน เปรียบเหมือนบริษัทที่มีคนรีไทร์ คนสูงอายุ 

2.เมื่อเพิ่มคนไม่ได้ก็เพิ่มเครื่องจักรออโตเมชั่นเข้าไป โดยมองว่าลงทุนในเครื่องจักรมีสเกลขายของได้เยอะ แต่ต้องคิดไปอีกว่า เศรษฐกิจสังคมสูงอายุมีความท้าทายอีกอันคือ ในสังคมสูงอายุ ประชากรโตไม่เร็ว ทำให้ตลาดไม่น่าสนใจมากขนาดนั้น และจำนวนประชากรเราไม่ถึงกับมากแค่ระดับปานกลาง หากสวมหมวกธุรกิจที่ยังไม่ได้อยู่ที่นี่จะลงทุน เราไปลงทุนประเทศที่ประชากรมากกว่าและโตเร็วกว่าดีไหม เช่น ในอินโดนีเซีย อินเดีย จีน อเมริกา กลุ่มนี้คือตลาดที่ประชากรเยอะหรือยังโตเร็วอยู่ หรือเวียดนามที่ประชากรเยอะพอควรและยังมีAccessเข้าตลาดใหญ่ๆอื่นๆจาก FTA ทั้งหลาย ประเด็นนี้ดูได้จากเทรนด์ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไทยเทียบอาเซียนน้อยลงอย่างชัดเจน 

แต่ขอย้ำว่าไม่ใช่ประเทศไทยไม่น่าสนใจเลยเพราะเราก็ยังดึงการลงทุน FDI ได้อยู่โดยเฉพาะในบางอุตสาหกรรมเพียงแต่มันอาจจะไม่พอสำหรับที่ต้องชดเชยกับแรงงานเราที่จะหดลง

3.Productivity เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ กรณีที่บริษัทเพิ่มคนไม่ได้ ลงทุนเครื่องจักรได้เพียงระดับหนึ่ง ดังนั้น แต่ละคนที่ทำงานอยู่จะต้อง Productive มาก การผสมผสาน คน เครื่องจักร ออกมาต้องได้ 1+1 มากกว่า 2  แต่อันนี้เป็นโจทย์ยากที่หลายประเทศก็ทำได้ไม่สำเร็จเท่าไร

คำถามที่ 6 : คำแนะนำสำหรับประเทศไทยในการเพิ่ม Productivity คือ ?

ผมเปรียบเทียบกับ ทีมฟุตบอล มันต้องจัดการทั้งกองหน้า กองกลางและกองหลัง จนไปถึงโค้ช กองหน้าคนยิงประตูต้องหา Growth Engine ใหม่ แต่อันนี้มีการพูดกันพอสมควรแล้ว เรื่องเราเป็นฐานการผลิตยานยนต์ดั้งเดิมก็ต้องเขยิบไปยานยนต์อีวี การเพิ่มมูลค่าต่อยอดจากเกษตร เช่น อาหารสุขภาพ โปรตีนทางเลือก ยาสมุนไพร ไปถึงเรื่องภาคบริการ การท่องเที่ยวที่มูลค่าสูง เช่น Healthcare Health Tourism หรือกลุ่มเอนเตอร์เทนเม้นท์อย่าง Soft Power เหล่านี้เป็นกองหน้าของไทยได้ แต่โดยส่วนตัวที่คิดว่าสำคัญไม่แพ้กว่ากองหน้าหรืออาจจะยิ่งกว่าเสียอีก คือ กองกลาง 

เราต้องอย่าไปยึดติดกับความฝันในอดีตมากเกินไปที่เห็นรัฐบาลเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง เค้าเลือกอุตสาหกรรม “กองหน้า” ให้ประเทศได้เก่งแล้วก็ผลักดันได้จนประสบความสำเร็จ ในอนาคตที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก อาจไม่แน่ว่ารัฐบาลจะเป็นคนที่เหมาะสมที่จะเป็นคนเลือกว่าอุตสาหกรรมไหนที่เราจะไป สิ่งที่เราควรเน้นมากกว่าคือเสริมกองกลางให้แข็ง 

ยกตัวอย่างเช่น 1. ภาคการเงินที่ทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนถูก 2. ภาคการศึกษาที่ผลิตคนผลิต Talent เข้าไปทำงานและสร้างงานวิจัย หรือ 3.ภาคเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมาเสริมธุรกิจ เช่น Agritech เสริมเกษตร อีคอมเมิร์ซเสริมค้าปลีก ฟินเทคเสริมการเงิน 

ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเสมือนกองกลางคอยโยนบอลส่งบอลไปเยอะ อย่างแม่นยำต่อให้กองหน้าไม่เก่งมาก ก็จะมีคนยิงได้ ในมุมนี้ของประเทศไทย คือเราอาจให้ความสำคัญไม่พอ การปั้นกองหน้าเราจึงไปได้ไม่เต็มที่ด้วย เช่น อยากสร้างมูลค่าจากเกษตรเพื่อส่งออกแต่หาก ภาคการศึกษาอ่อนแอไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขายอ่อนขาดการเชื่อมตลาดดิจิทัล การเงินแพงเข้าไม่ถึงเงินทุน ก็ไปต่อยาก

สุดท้ายกองหลังก็เป็นส่วนที่สำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์ที่วันนี้เราโตช้าลง ไม่เร็วเท่าเก่า เราจึงต้องคิดว่า ทำอย่างไรที่จะให้ทุกเปอร์เซ็นต์ที่ประเทศเราเติบโตมันไปสู่คนตัวเล็ก ไปทั่วถึงมากขึ้น  เราอาจจะโตได้ 3% กว่า แต่ถ้าการเจริญเติบโตมันกระจายทั่วถึงไปถึงเอสเอ็มอี และคนตัวเล็ก แบบนี้มันอาจพอไปได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นกองหลังคือหน้าที่ตรงนี้ ทำอย่างไรให้การเจริญเติบโตของประเทศที่อาจจะไม่ได้โตแรงมากอีกแล้ว แต่กระจายไปถึงคนจำนวนมากที่สุด จึงต้องกลับมาดูว่าระบบเครือข่ายรองรับทางสังคมของเราได้ดูแลคนตัวเล็กของเราดีพอหรือยัง มีข้อมูลที่รู้ว่า painpoint แต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันมีอย่างไร

 ที่สำคัญคือโลกใหม่บทบาทของรัฐมันต้องเปลี่ยน เมื่อก่อนยุคพัฒนาอุตสาหกรรม หลายคนจะคุ้นกับโมเดลที่รัฐลงไปมีบทบาทมากในการเลือกและพัฒนาอุตสาหกรรม ตัวอย่างในเกาหลีใต้ ไต้หวัน รัฐลงไปเลือกเองว่าอุตสาหกรรมไหนจะเป็นอนาคตและมีส่วนช่วยพัฒนาอย่างมาก แต่ปัจจุบันที่เศรษฐกิจผันผวนสูง เปลี่ยนแปลงสูง เทคโนโลยีไปเร็วมาก แม้แต่ภาคเอกชนเองยังตามไม่ค่อยจะไหว ดังนั้นการจะให้รัฐนำหน้าให้ทุกอย่างก็ลำบาก รัฐต้องปรับบทบาทเป็นโค้ช ผู้จัดการ ซึ่งจะเป็นบทบาทที่อยู่ข้างหลัง โดยมีหน้าที่ 4 อย่าง คือ รับฟัง listen, ประสานงาน co-ordinate, อำนวยความสะดวก facilitate, ประเมินผล Evaluate 

ต้องรู้ก่อนว่า รัฐไม่ใช่คนที่รู้ดีที่สุดแล้ว คนที่เขาทำอยู่ใกล้ชิดปัญหา ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน เค้ารู้ดีกว่า ไปเร็วกว่าเรา เพราะเขาอยู่ใกล้ปัญหา อยู่ใกล้เทคโนโลยีและไปข้างหน้า เราฟังเสียงเขาแล้วมานั่งพิจารณา แล้วก็ต้องประสานงานหน่วยงานรัฐกันเอง อำนวยความสะดวกปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ คอยช่วยดูว่าติดกฎกติกาข้อไหน ขาดการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานตรงไหนก็พยายามเสริมสร้างตรงนั้นขึ้นมา 

และสุดท้ายสำคัญมาก คือต้องมานั่งประเมินว่าที่ทำมาถูกทางหรือยัง หรือโลกมันเปลี่ยนอีกก็ต้องมานั่งดูใหม่ รวมทั้ง Cycle การวางยุทธศาสตร์มันต้องสั้นลง แผน 5 ปี ที่มีก็อาจต้องกลับมาทบทวน ประเมินบ่อยกว่านั้น ทุก 2 ปี ว่ามันยังไปทางน้ันอยู่หรือไม่ เสมือนโค้ชที่พอทีมแข่งไปแล้วต้องมานั่งดูคลิปว่าแผนที่วางไว้มันเวิร์คหรือเปล่าหรือต้องปรับตรงไหน ถ้าไม่มีตรงนี้ต่อให้ยุทธศาสตร์ดีแค่ไหนก็ลงใทอทำไม่สำเร็จหรือไปผิดทางด้วยซ้ำ

คำถามที่ 7 : ไทยมีความหวังในการพัฒนา เศรษฐกิจดิจิทัลหนึ่งในกองกลางที่ว่าเพื่อช่วยเสริม productivityให้ประเทศ หรือไม่ ?

ภาคดิจิทัลเป็นกองกลางที่ช่วยทรานสฟอร์มและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆให้เพิ่ม productivityได้ เราเห็นตัวอย่างประเทศจีนพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น อีคอมเมิร์ซช่วยกระจายความเจริญไปถึงหัวเมืองเล็ก ชนบท ให้ทุกคนเข้าถึงสินค้า ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงตลาดฟินเทคที่ทำให้คนตัวเล็ก เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งการเงินง่ายขึ้นมาก 

และไม่ใช่แค่ในจีน เราจะเห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมา มีประเทศที่ใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนจนเห็นชัด อย่างอินโดนีเซีย ที่เศรษฐกิจเขาเปลี่ยนไปพอสมควร สตาร์ทอัพของอินโดนีเซียมียูนิคอร์นหลายตัว เติบโตหลายด้าน อาทิ Fintech, Traveltech, E-Commerce, Edutech เปลี่ยนแปลงทั้งการเงิน การท่องเที่ยว การค้าส่ง-ปลีก การศึกษา ตามลำดับ

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าดิจิทัลเป็น Game Changer ได้จริง ๆ

แต่การพัฒนาดิจิทัล ทรัพยากรสำคัญที่สุด คือ คนที่มีความสามารถ (Talent) ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ในโลกตอนนี้ ว่าจะแย่ง Talent กันอย่างไร เราอยากสร้างให้มีในประเทศ แต่ไม่ว่าประเทศไหนก็สร้างไม่ทันความต้องการ ไม่ใช่แค่ไทย แม้แต่ในประเทศอย่างจีน อินเดีย ที่มี Talent มากแต่ก็ยังผลิตไม่ทัน

การผลิตหรือสร้างคนที่เป็น Talent มันอาจมีรูปแบบเปรียบเสมือนกับแม่เหล็กคือ คนเก่งจะดึงดูดคนเก่ง ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ในสิงคโปร์ตั้งแต่ยุคยังไม่มีสตาร์ทอัพ ระยะแรกสิงคโปร์พยายามสร้างระบบนิเวศ Ecosystem ที่ตั้งโจทย์แรกว่า สิงคโปร์ไม่มีอะไรดึงดูดคนได้มากนัก และเป็นตลาดเล็ก ทั้งTech talent ทั้งผู้ประกอบการ ยังไม่ค่อยมีคนสิงคโปร์เท่าไหร่ ช่วงแรกสิงคโปร์จึงใช้การอิมพอร์ตคนจากทั่วโลกเข้ามาที่ประเทศ ขอให้โค้ชด้านธุรกิจเก่งๆมาที่ประเทศเขา ให้กองทุน Venture มาตั้ง สนับสนุนให้ผู้ประกอบการหลายชาติไม่ต้องแค่คนสิงคโปร์มาเซ็ทอัพที่นี่ วางตำแหน่งให้สิงคโปร์เป็นพื้นที่ที่ดึงดูดคนให้มาทำธุรกิจ มาทำสตาร์ทอัพที่นี่ นั่นคือเฟสแรกของเขา และสิ่งที่ได้เห็นคือคนเก่งดูดคนเก่งเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดให้คนอื่นอยากมา คนเก่งจึงอยู่ในสิงคโปร์มาก จากนั้นสิงคโปร์ก็เริ่มจัดงานใหญ่ เช่น Fintech Festival เป็นงานประจำปีที่เป็นที่รู้จักว่างานฟินเทคใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่รู้จักในโลก ผู้คนแวดวงเทคโนโลยีทั้งหลายก็เริ่มสนใจ และก็อยากมาอยู่ที่นี่ 

เฟสต่อไปสิงคโปร์ก็จะสร้าง Talent ใหม่ๆไปด้วย เพราะพอคนเก่งๆมาอยู่ทำงานที่สิงคโปร์ ก็ถ่ายทอดวิชา สอนงานกับคนอื่นๆที่อาจจะยังเป็นรุ่นใหม่ และสุดท้ายคนเก่งก็ช่วยสร้างคนเก่งรุ่นใหม่ เหมือนแม่เหล็กขัดเหล็กจนกลายเป็นแม่เหล็กไปด้วย เราเริ่มเห็นว่าต่อมา ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพหลายคนยุคหลังเป็นคนสิงคโปร์ที่ขึ้นอันดับยูนิคอร์น ซึ่งถ้าไปดูประวัติหลายคนเคยทำงานในบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ในสิงคโปร์ แล้วสปินออกมาทำเอง นี่จึงเป็นตัวอย่างการสร้างคน สร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ

ที่ยุคนี้ทำแบบนี้ได้เพราะยุคของเทคโนโลยีไม่เหมือนยุคอุตสาหกรรม ในยุคอุตสาหกรรมเราทำงานในโรงงานใหญ่ ๆยาวนานหลายปี หากไม่ได้ทำในส่วนที่เพิ่มมูลค่านักเช่นการประกอบชิ้นส่วนเราอาจไม่ได้ส่งต่อเรียนรู้อะไรมากนัก

แต่ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลปัจจุบันมันเป็นธุรกิจที่ใช้ความรู้เป็นหลัก ถ้าเราได้เข้าไปทำงานในบริษัทเหล่านี้ ส่วนใหญ่เราจะได้ Explosure เราจะได้เห็นว่าการทำงานมันเป็นอย่างไร และมันจะมีการถ่ายทอดความรู้พอสมควรโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ มันได้สร้าง Generation ใหม่ของคนเก่งออกมา และคนเหล่านี้จำนวนหนึ่งก็ออกมาตั้งบริษัทของตัวเองต่อไป เกิดเป็น Ecosystem 

จะเห็นว่าสงครามดึงดูด talent นี่กำลังเข้มข้นมาก ในปัจจุบัน ไม่ใช่แต่สิงคโปร์ยกตัวอย่างอินโดนีเซียที่มี Digital Nomad มาอยู่ที่บาหลีเยอะ อินโดนีเซียก็ทำให้ถูกกฎหมาย โดยส่งเสริมกลุ่มนี้เลยอย่างภาษี ถ้ารายได้ไม่ได้มาจากอินโดนีเซียฯก็ไม่ต้องจ่ายภาษี หรือในอังกฤษที่เพิ่งออกวีซ่าพิเศษสามารถเข้าไปหางานได้ 2 ปี โดยที่ยังไม่มีงาน เพื่อดึงดูดคนเก่ง แต่ต้องเป็นคนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยท็อปที่ระบุไว้ในลิสต์เท่านั้น เพราะเขาอยากได้คนเก่งไปอยู่ที่ประเทศเขา

11

คำถามที่ 8 : แล้วประเทศไทยจะดึงดูดคนเก่งได้อย่างไร

ประเทศไทยมีความพยายามอยู่ ทั้งเรื่องสมาร์ทวีซ่าที่พยายามทำให้ง่ายขึ้น พยายามจะปรับปรุงกฎหมาย ดึงกองทุนสตาร์ทอัพมาเซ็ทอัพได้ง่ายขึ้นในไทย พยายามแก้ปัญหาอุปสรรคเทคนิคต่างๆ กฎกติกา ซึ่งใช้เวลาและยังมีอุปสรรค ซึ่งโดยรวมผมว่ามันทำได้มากกว่านี้ 

ถ้ามองในเรื่องบวก จุดแข็งไทยมีอยู่แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่คน 40 กว่าล้านคน อยากมาเที่ยวอยู่แล้ว มีกระแส Digital Nomad ที่อยากมาไทย คำถามคือจะทำไงให้คนเก่งๆอยากมาอยู่ทำงานที่ไทยไม่ใช่แค่มาเที่ยว 

ถ้าเรามองตรงนี้เป็นโอกาสมหาศาล ปรับด้านนี้ไม่ให้น้อยหน้าประเทศอื่น ก็สามารถดึงดูดคนเก่ง มาทำงานในไทยได้ โดยขี่เทรนด์รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นหรือ Flexible working format ที่เราเพิ่งคุยกันไปได้เลย ยกตัวอย่างถ้าเราจะทำ เช่น โปรโมทธีม Workation ให้คนเที่ยวทำงานและอยู่นาน ในไทย 1 เดือน ที่ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย ทำงานบ้าง พักบ้าง เที่ยวบ้าง พาครอบครัวไปบ้าง เราจะเริ่มจากการโปรโมท Workation in Thailand ก่อน และเมื่อผู้คนลองมาสัมผัสแล้วติดใจเปลี่ยนจาก Work from Thailand มาเป็นอยู่ในประเทศไทยเลย ก็ดึงดูด Talent เข้ามาได้ เราต้องเสริมตรงนี้ 

หรืออาจจะปักธงชัดๆ คิดเล่นๆยกตัวอย่าง เราอาจอยากจะปักธงเป็นศูนย์กลาง Travel Tech ทั่วโลก เพราะเรื่องท่องเที่ยวเราดังระดับโลกอยู่แล้ว เราอาจเปิดภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้คนเข้ามาง่ายขึ้น มาทำงาน และถ้าคุณทำงานด้าน Travel Tech ให้มาที่ภูเก็ตเลยจะได้สิทธิพิเศษต่าง หรือเราจะจัดงาน Travel Tech Conference ระดับโลกที่ภูเก็ตทุกปีเพื่อสร้างจุดแข็งตรงนี้ เรื่องนี้ก็ถือเป็น Soft Power ให้ไทยได้ ซึ่งผมมองว่าจุดแข็งเรื่องท่องเที่ยวของเราเยอะมาก มีศักยภาพที่จะทำได้ ถ้าแก้กฎกติกา ทำแบรนดดิ้งให้ชัดเจนดึงดูดคนเข้ามา นอกจากนี้ก็ยังมีจุดแข็งเรื่อง Healthcare ที่มาเสริมกันได้อีก ทั้งหมดนี้ถ้าเราสร้าง ecosystem ขึ้นมาได้ แรก อาจยังไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าทำได้ดีและขยายไปเรื่อย ก็จะเห็นความชัดเจนขึ้นมาได้  

คำถามที่ 9 : แนวคิดดึงคนเก่ง Talent เป็นเทรนด์ทั่วโลก แล้ว เราจะทำอย่างไรให้คนไทยรุ่นใหม่เก่งๆอยู่ในประเทศและให้รุ่นใหม่กับรุ่นใหญ่ทำงานกันได้

ต้องเปิดให้คนรุ่นใหม่ได้มีบทบาทมากขึ้น ได้ยินเสียงได้รับการรับฟังมากขึ้น

ผมเคยทำโปรเจ็กต์คอร์สให้สถาบันความยุติธรรมเพื่อประเทศไทย ทำโจทย์เรื่องช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่น สิ่งที่เราค้นพบในวันนั้น เอามาใช้ได้ค่อนข้างเยอะ 1. เราพบว่าช่องว่างระหว่างเจนฯ ไม่ได้มีแค่เรื่องการเมืองเท่านั้น แต่มีมากกว่านั้น ซึ่งถ้าไปดูหลายองค์กรธุรกิจก็มีช่องว่างระหว่างกันโดยไม่เกี่ยวกับการเมืองด้วยซ้ำไป 2. เราพบว่ามีอคติหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างรุ่นอยู่เยอะ ทำให้ช่องว่างระหว่างรุ่นในหัวเราบางทีมันอาจจะกว้างกว่าความเป็นจริง ในคอร์สนั้นเรามีการทำเกมทายใจขึ้นมาให้สองรุ่นทายใจซึ่งกันและกัน เราจะตอบยังไงเมื่อมีสถานการณ์อย่างนี้และคิดว่ารุ่นพ่อเรา รุ่นพี่เรา รุ่นปู่ จะตอบยังไง เราทำสองด้าน สิ่งที่ค้นพบคือ หลายครั้งเลยที่ปรากฎว่าคำตอบหลายคนที่ต่างเจนฯตอบใกล้เคียงกันมากกว่าที่คิด ดังนั้นการไปคิดว่าต่างเจนฯจะต้องแตกต่างความคิดกันมาก จึงไม่จริงเสมอไป 

  1. แม้ความแตกต่างจะมีอยู่จริงความเห็นต่างพวกนี้ไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดปัญหาปัญหา ความแตกต่างเป็นสิ่งที่สวยงามและยิ่งกว่านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะทำให้เกิดนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้พัฒนา สำคัญอยู่ที่วิธีการสื่อสารต่อกันและกัน คือการมี empathy การเข้าใจว่าอีกคนอาจจะไม่เหมือนเรา ยกตัวอย่างเวลาเปิดรับฟังคนข้ามรุ่น คนรุ่นใหม่ คนรุ่นโตหน่อย ต้องมีการเปิดใจว่า คนรุ่นเด็ก คนรุ่นใหม่ เขาเกิดมาในประเทศไทยที่แตกต่างจากในประเทศเวอร์ชั่นที่เรารู้จักมาก เพราะเขาเกิดมาในบริบทสังคม เศรษฐกิจที่แตกต่างกับเรา เราควร respect ในความแตกต่างกับคนรุ่นใหม่ เพราะเขาเกิดมาในบริบทที่แตกต่างกันมาก

ผมไม่ได้พูดลอย ในการวิเคราะห์เราเปรียบเทียบเลยว่า แต่ละยุคคนเกิดแต่ละปี รุ่นเจน X Y Z Baby Boom เขาทำงาน เขาเรียนในบริบทอะไร เขาทำงานที่แรก หางานทำในตอนที่ประเทศไทยเป็นอย่างไร ขึ้นเป็นหัวหน้าในยุคไหน และจะเห็นว่ามันแตกต่างกันมาก คนที่เติบโตในยุคอุตสาหกรรม อาจจะชินกับการที่ยิ่งทำงานหนักมันได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะถึงเวลาทำงานหนักสู้ลำบากกัดฟันมันได้ผลตอบแทนที่ดี อันนี้ยุคที่เมืองไทยเติบโตเกือบจะได้เป็นเสือตัวที่ห้า โตเฉลี่ยปีละ 7% อุตสาหกรรมมาชัดเจนแน่ๆ เรียนดีๆมามีงานรองรับ 

ขณะที่คนที่เกิดมาตอนนี้อายุ 20 กว่าต้นๆ เขาเกิดมาในยุคที่เริ่มหางาน ประเทศไทยอัตรการเติบโตเฉลี่ย 3% กว่าๆ เป็นยุคที่เกิด Disruption เรียนการเงิน ไฟแนนซ์จบมา แต่ถึงเวลาอาชีพที่คนต้องการคือ Data Science, Digital, Tech มันพลิกมุม คนเรียนท่องเที่ยวจบมาดันเจอโควิดเข้าไป ดังนั้นเขาจึงชินกับยุคที่บอกว่า เราพยายามไปเต็มที่แต่ถ้ามาผิดทางมันผิดเลยนะ ไม่ใช่แค่ว่าคุณพยายามแล้วมันพอ หรือเพราะถ้ามันไม่ถูกทางเราเปลี่ยนดีไหม คนรุ่นใหญ่มองว่าทำไมคนรุ่นใหม่ไม่สู้งาน ส่วนหน่ึงอาจจะจริงบางคนอาจจะไม่สู้จริงๆ แต่บางคนต้องเข้าใจบริบทที่เขาเกิดมาว่าเขาเป็นบริบทที่เขาเลี้ยวผิดชีวิตเปลี่ยน ดังนั้นเขาคิดเรื่องเลี้ยวเยอะมาก ขณะที่คนรุ่นใหญ่อาจจะไม่คิดอย่างนั้น

ดังนั้นการเปิดใจมี empathy จึงสำคัญมาก หากทุกองค์กรเราเปิดตรงนี้รับฟังสุดท้ายจะเกิด respect  และ trust และคนรุ่นใหม่จะอยากเข้ามามีส่วนร่วม ผมว่าทุกคนรักประเทศ คนที่ไปใช้ชีวิตทำงานนอกประเทศ จำนวนไม่น้อยมีความอยากจะกลับมาระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ออกไปหาข้างนอกคือโอกาส ถ้ามันไม่มีโอกาสในประเทศ มันก็ต้องหาข้างนอก ถ้ามันมีโอกาสให้เขาเป็นโอกาสจริง ก็เชื่อว่าจะดึงคนกลับมาได้ 

คำถามที่ 10 : แนะนำคนรุ่นใหม่ควรเตรียมตัวอย่างไรกับอนาคต ?

คิดว่ามี5กลุ่มทักษะที่จำเป็น แต่อันนี้ไม่ใช่แค่รุ่นใหม่ จะรุ่นไหนก็ควรมี คือ 1.ทักษะดิจิทัลทั้งหลาย คนรุ่นใหม่มีระดับหนึ่ง แต่ต้องไปให้ถึงขั้นระดับสูงให้ได้ คือมีความเข้าใจ Data Science , Data Analytic ทั้งหลาย และประยุกต์ปรับใช้ธุรกิจในบริบทของจริงได้ ซึ่งจะเป็นทักษะที่ทำให้เราอยู่ร่วมกับเทคโนโลยี อยู่ร่วมกัAIได้ดี

2.ในโลกที่เทคโนโลยีและหุ่นยนต์แทนที่เราทุกเมื่อ เราต้องหาทักษะเฉพาะสำหรับมนุษย์ที่เทคโนโลยีมาแทนไม่ได้ จึงต้องพัฒนาทักษะการมี Creativity และ Innovation วิธีทำ Creativity ที่ดีสุด คือ การออกไปอยู่ที่ที่ตัวเองไม่คุ้น เจอคนที่แตกต่างกับเรา ถ้าเราเรียน เราจะเรียนหลายด้านหลายอย่างเพื่อออกนอกกรอบ และมายด์เซ็ทเดิมๆให้มากที่สุด สร้างให้ตัวเองมี Global Mindset ไปเจอผู้คนชาติต่างๆที่แตกต่างกับเรา จะช่วยสร้าง Creativity ได้มาก การทำงานกับคนต่างรุ่นก็ช่วยได้มาก ถึงได้ให้ความสำคัญประเด็นนี้อย่างที่คุยกัน

3.ทักษะ Risk Management สำคัญมาก เพราะชีวิตคนเราเต็มไปด้วยความเสี่ยง การตัดสินในทุกอย่างในชีวิตมันเป็นการลงทุน เราอาจจะไม่รู้ตัวมันคือการลงทุน เราเลือกเรียนวิชาอะไร เรียนมหาวิทยาลัยไหนเราแต่งงานกับใครก็คือการลงทุน เราต้องคิดถึงปัจจัยความเสี่ยงทั้งหลายในชีวิต เพื่อกระจายและลดความเสี่ยง การเข้าใจทักษะกลุ่มนี้จึงจำเป็นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิต

4.ทักษะการมี Growth Mindset อันนี้สำคัญที่สุด นิยามคือการที่เราคิดว่าวันพรุ่งนี้เราสามารถดีได้กว่าตัวเราในวันนี้ เป็นความลับสำคัญ ในการมี resilience (ล้มเหลว เรียนรู้ สู้ต่อ) เราจะล้มลงผิดพลาดล้มเหลว เราจะไม่ยึดติดกับมันมากเกินไป เพราะเราคิดว่าพรุ่งนี้เราจะดีได้กว่าวันนี้ 

ต้องมีหัวใจการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นนำ้ครึ่งแก้ว วันนี้เราอาจรู้สึกว่าเราเก่งแล้ว แต่พรุ่งนี้เราสามารถทำได้ดีกว่า มีอะไรที่เรายังไม่รู้พัฒนาอีก 

Growth Mindset เป็นสิ่งที่ต้องคอยสร้างไว้ไม่งั้นหายได้ เพราะบางทีคนเรายิ่งสำเร็จมาก Growth Mindset จะน้อยลง เพราะเราจะเร่ิมอยากอยู่ใน Comfort Zone เราเป็นผู้ชนะแล้วไม่อยากเป็นผู้ท้าชิงแล้ว ซึ่งอันตรายเพราะความรู้ในอนาคตมันเหมือนนมนอกตู้เย็นที่บูดเร็วมาก ดังนั้นต้องคอยท้าทายตัวเองให้เป็นผู้ท้าชิงคอยขวนขวายโนฮาวใหม่เรื่อยๆ

  1. Leadership ทุกคนคิดว่าไม่ต้องมีก็ได้รอเป็นผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าก่อน แต่ทักษะการเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่เรื่องของอำนาจหน้าที่ที่อยู่ในตำแหน่งสั่งคนได้ มีลูกน้อง แต่ Leadership คือความสามารถในการโน้มน้าวคนรอบตัวให้มาช่วยทำอะไรบางอย่าง แก้ปัญหาบางอย่างด้วยกัน โจทย์หลายอย่างทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องดึงคนอื่นมาช่วยกันทำให้ได้ แต่เราจะโน้มน้าวคนอื่นอย่างไรให้ผู้ใหญ่เพื่อนรุ่นน้องทุกคนเห็นคล้อยตามเรา มาทำด้วยกันอย่างเต็มใจไม่ใช่โดนสั่ง สุดท้ายแล้วองค์กร ทีม จะมีพลังได้มันต้องขับเคลื่อนได้ด้วยหลายคน

ทั้งหมดนี้เป็นทักษะที่พยายามจะสร้างให้ตัวเอง แล้วก็สร้างให้คนในทีม แม้แต่กับลูกผมก็บ่มให้เขาเหมือนกันแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า