วันที่ 31 ธ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดเข้มงวดการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 คือ ทั้งเรื่องเวลาขาย, สถานที่ห้ามขาย, ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มีอาการเมาสุรา เพื่อลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ
หากเกิดอุบัติเหตุตำรวจจะส่งตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ทุกราย และหากทำให้มีผู้บาดเจ็บจะมีโทษตาม พ.ร.บ.จราจร โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี และปรับสูงสุด 2 แสนบาท กรณีผู้ขับขี่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะติดตามสืบหาร้านค้าที่ขายให้กับเด็ก มีโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ร้านค้าหรือผู้ปกครองจะมีโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่คุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายอนุทินกล่าวต่อว่า คืนนี้เป็นคืนที่มีการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการกินเลี้ยงสังสรรค์ หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขออย่าขับ และดูแลไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีดื่มอย่างเด็ดขาด เนื่องจากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่าสาเหตุของอุบัติเหตุเกือบครึ่งมาจากการดื่มสุรา โดยร้อยละ 15 ของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการดื่มสุราเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เกือบทุกรายเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์และไม่สวมหมวกนิรภัย
“ขอให้ประชาชนฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างมีความสุขกับครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูง ช่วยกันดูแล เตือน ยึดกุญแจรถ ไม่ให้ผู้ที่ดื่มสุราออกไปขับ สำหรับผู้ขับขี่ที่จะเดินทางกลับในวันพรุ่งนี้ ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ปฏิบัติตามกฎจราจร เดินทางกลับมาทำงานอย่างปลอดภัย” นายอนุทินกล่าว
ข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 27-30 ธันวาคม 2562 ตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ 1,075 ราย เป็นผู้ขับขี่อายุน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 193 ราย ทราบผล 70 ราย ตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือด 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 31.42 ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 mg% 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.14 ของกลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี
และตรวจในผู้ขับขี่อายุ 20 ปีขึ้นไป 882 ราย ทราบผล 282 ราย ตรวจพบเกิน 50 mg% 153 ราย คิดเป็นร้อยละ 54.26 ของกลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แก่บุคคล ดังต่อไปนี้ (1) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ (2) บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้
.
มาตรา 39 ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยฝ่าฝืนมาตรา 29 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ