รัฐบาลยืนยันไม่เคยทอดทิ้งชาวสวนทุเรียน กางแผนเจรจาส่งออกผลไม้ไปจีน 4 ประเด็น พร้อมขยายตลาดสู่ตะวันออกกลาง
วันที่ 14 มี.ค. 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงประเด็นการส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบาย Zero-Covid ของจีน ที่มีการตรวจตราอย่างเข้มงวด ณ ด่านโหย่วอี้กวาน ผิงเสียง ตงซิง และโมฮ่าน ทำให้การจราจรติดขัด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลได้บูรณาการการทำงานหลายกระทรวง พร้อมทั้งหารือฝ่ายจีนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขนส่งสินค้าไทยมีความคล่องตัว ไม่เกิดความเสียหาย และเร่งขยายตลาดสู่ประเทศตะวันออกกลางมากขึ้น มั่นใจปีนี้ส่งออกสินค้าเกษตรโตแน่นอน
รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจต่อการแก้ปัญหาการส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปจีน นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ได้บูรณาการการทำงาน ประสานกับทางการจีนมาอย่างต่อเนื่อง และได้แก้ปัญหาข้อติดขัดที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ จนทำให้การส่งออกผลไม้ในปี 2563 มีมูลค่า 91,000 ล้านบาท และปี 2564 เพิ่มเป็น 160,000 ล้านบาท เฉพาะทุเรียนกว่าหนึ่งแสนล้านบาท
รัฐบาลได้หารือกับทางจีนในหลายประเด็น กล่าวคือ
1) ขอให้ล้งไทยที่ผ่านกระบวนการอบรมหลักสูตร “ล้งปลอดโควิด-19” มี GMP Plus รับรอง ซึ่งอบรมไปแล้วกว่า 400 แห่ง สามารถผ่านด่านจีนได้โดยไม่ต้องเปิดทุกตู้
2) การขนส่งบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวโดยการปิดตู้ที่ประเทศลาว และส่งไปคุนหมิงโดยไม่ต้องแวะตรวจที่ด่านโมฮ่านเพื่อให้สามารถส่งทุเรียนและผลไม้เศรษฐกิจอื่น ๆทางรางได้ตั้งแต่เดือน มีนาคมปีนี้
3) เสนอให้มีการประชุมหารือกับประเทศจีน ลาวและเวียดนามเพื่อตกลงมาตรการร่วมกันเรื่อง protocol ในการเปิด-ปิดด่านชายแดนต่าง ๆ
4) เสนอให้ด่านมี Green Lane สำหรับผลไม้ไทยเป็นการเฉพาะ
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้มีมาตรการรองรับปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบปี 2565 ประกอบด้วย
1) การรองรับเหตุการณ์ไม่ปกติ
2) การช่วยเหลือในการกระจายสินค้า ควบคุมคุณภาพ และกระตุ้นการบริโภคผลไม้
3) การช่วยเหลือสนับสนุนการส่งออกผลไม้ไทย
4) การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ และ
5) การช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่ปกติ
สำหรับตลาดใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เร่งทำการตลาดอยู่คือตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งที่ผ่านมามีความต้องการผลไม้สดจากไทยจำนวนมากขึ้นและหลากหลายชนิด เช่น เงาะ มังคุด ลำใย มะม่วง ทุเรียน เป็นต้น
นอกจากการไปเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ที่จะนำไปสู่โอกาสทองการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรของไทยแล้ว ล่าสุด การเจรจาหารือระหว่างรัฐมนตรีเฉลิมชัยฯ กับรัฐมนตรีด้านการค้าระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ณ เมืองดูไบ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะนำไปสู่การส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหารอย่างแน่นอน ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ หมื่นกว่าล้านบาท/ปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.6