กรมอนามัย เตือนประชาชนไม่แนะนำให้กินไส้เดือน หวั่นได้รับเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เมื่อสะสมอยู่ในร่างกายจนเจริญเติบโตมีปริมาณที่มากขึ้น อาจจะทำให้เกิดโรคติดเชื้อต่อระบบทางเดินอาหารได้
วันที่ 30 ส.ค. 2564 นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีเพจหมอแล็บแพนด้า ได้นำเสนอภาพชายรายหนึ่งกินไส้เดือนดิบ เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเลียนแบบ เนื่องจากไส้เดือนอยู่ในดิน จึงกินสิ่งปฏิกูล ทุกอย่าง เช่น วัชพืช เศษอาหาร และซากสัตว์เป็นอาหาร ทำให้ระบบทางเดินอาหารของไส้เดือนมีทั้งจุลินทรีย์ แบคทีเรีย และอาจปนเปื้อนไข่พยาธิต่างๆ จึงไม่แนะนำให้กินเป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกินแบบเปิบพิสดารแล้ว ยิ่งน่ากลัว เพราะวิธีในการปรุงอาหารจะไม่ค่อยเน้นการปรุงสุกมากนัก ทำให้เสี่ยงอาหารเป็นพิษ และยังเสี่ยงที่จะทำให้แบคทีเรียหรือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
เมื่อสะสมอยู่ในร่างกายจนเจริญเติบโตมีปริมาณที่มากขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดโรคติดเชื้อต่อระบบทางเดินอาหารได้ เช่น ท้องเสีย อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น อีกทั้งยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์หรือโทษจากการกินไส้เดือน ดังนั้น ไส้เดือนจึงไม่ใช่สัตว์ที่จัดอยู่ในประเภทที่นำมาใช้เป็นอาหารสำหรับคน เพื่อความปลอดภัยจึงไม่แนะนำให้กินเป็นอาหาร ซึ่งต่างจากเนื้อสัตว์สำหรับบริโภคอย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ที่ได้รับการดูแลจากกรมปศุสัตว์ในการควบคุมมาตรฐาน และคุณภาพของเนื้อสัตว์ มั่นใจด้านความปลอดภัย
“คนที่ยังชอบกินอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ แนะนำว่าให้เปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อหรือรสนิยมการกินอาหารของตัวเองดีกว่า เนื่องจากการกินอาหารดิบนั้นมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค และอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่ผ่านการปรุงสุก เพราะถ้าเรามีอาการป่วยจากการกินของดิบ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังเกิดผลเสียที่ตามมา และโรคบางอย่างก็ไม่สามารถรักษาได้ จึงไม่คุ้มกับการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การกินอาหารจำเป็นต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะการปรุงสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป และควรเป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายด้วย” นพ.ดนัย กล่าว