SHARE

คัดลอกแล้ว

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ‘ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รักษาการนายกรัฐมนตรี กำชับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประคองค่าเงินบาทไว้ที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

จากปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ไปแล้ว และล่าสุดอ่อนค่าแตะระดับ 37.205 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ทำให้รัฐบาลกังวลว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าหนักแตะ 54 บาทต่อ 1 ดอลลาร์เหมือนกับในอดีต

แต่หลังมีรายงานข่าวออกไป ประชาชนส่วนหนึ่งกลับมองว่า การตรึงค่าเงินต่างหากที่จะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดวิกฤตการเงินซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

เพราะในปีดังกล่าว ค่าเงินบาทเคยถูกตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ก่อนที่แบงก์ชาติจะปล่อยลอยตัวขึ้นไปในระดับ 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

[ บาทอ่อนต้องแก้ที่ปัจจัยพื้นฐาน ]

เพื่อให้ได้ข้อมูลและมุมมองที่ถูกต้องที่สุด TODAY Bizview สอบถามไปยังนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนัก เริ่มที่ ‘ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

โดย ดร.พิพัฒน์ ให้มุมมองว่า ข้อเสนอดังกล่าว ไม่ค่อยสมเหตุสมผล เป็นข้อเสนอที่ไม่เข้าใจ และไม่รับผิดชอบ เพราะปี 2540 ประเทศไทยเจอปัญหาที่หนักกว่านี้มาก ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศที่หัวตัว หนี้ต่างประเทศเยอะ ส่งออกแย่ และฟองสบู่

นอกจากนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ค่าเงินบาท’ เป็น Shock Absorber หรือตัวรับผลกระทบทางเศรษฐกิจตัวแรกๆ ไม่ว่าจะดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ยต่ำ เกินดุล ขาดดุล เหล่านี้ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาททั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้าจะเข้าไปดูแลค่าเงิน ก็ต้องปรับกันที่ปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินก่อน เช่น หากในช่วงที่ดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าต่างประเทศมากเกินไป ก็ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกัน เป็นต้น

[ ตรึงค่าเงิน = แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ]

ดร.พิพัฒน์ อธิบายอีกว่า การที่ ‘ค่าเงินอ่อนค่า’ เป็นเพราะมีคน ‘อยากขาย’ มากกว่าคน ‘อยากซื้อ’ ค่าเงินบาทของเรา ดังนั้น การไปตรึงค่าเงินโดยที่ไม่แก้ปัจจัยพื้นฐาน เท่านี้ก็เป็นแนวคิดที่มีปัญหาแล้ว เพราะคนก็ยังอยากขายเงินบาทเพื่อขนเงินออกอยู่ดี

และหากต้องการตรึงราคาไว้ที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์จริงๆ ท้ายที่สุดก็ต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศมาตั้งโต๊ะซื้อค่าเงินบาทในราคาที่สูงกว่าตลาด

ซึ่งหากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วเงินบาทยังไม่แข็งค่าขึ้น ท้ายที่สุด ทุนสำรองของประเทศก็จะลดลง และผลักให้เกิดวิกฤตแบบปี 2540

[ 3 เรื่องตอนนี้ที่ทำให้บาทอ่อนค่า ]

ส่วนปัญหาค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบัน มาจาก 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. นักท่องเที่ยวลดลง น้ำมันแพงขึ้น และการขาดดุล ทั้งดุลการค้าและดุลบริการ ส่งผลให้มีเงินออกนอกประเทศมากกว่าเงินที่เข้ามาในประเทศ

2. ดอลลาร์แข็งค่าและส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐที่กว้างขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% แต่ไทยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% เท่านั้น ซึ่งทำให้กระแสเงินทุน (Fund Flow) ไหลออกไปยังสกุลเงินที่มีมูลค่ามากกว่า และที่ๆ ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า

3. ความผันผวนของเงินทุนที่ไหลเข้าออกประเทศ ซึ่งยอมรับว่าข้อนี้ เป็นปัจจัยที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดในครั้งนี้ คือ ประเทศไทยต้องกลับมาเกินดุล โดยสิ่งที่ทำได้ เช่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับเข้ามาท่องเที่ยว หรือขายของ (ส่งออก) ให้มากขึ้นกว่าซื้อของ (นำเข้า) เข้ามา และสุดท้าย คือ อัตราดอกเบี้ย ที่ต้องปรับให้ใกล้เคียงกับชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอลลาร์ เช่น ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น หรือค่าเงินยูโรปของสหภาพยุโรป (EU) ค่าเงินบาทยังแข็งค่ากว่าสกุลเงินเหล่านี้

[ ‘กสิกร’ มองเงินบาทอ่อนค่าชั่วคราว ] 

ด้าน ‘ดร.เชาว์ เก่งชน’ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อธิบายว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากๆ ในรอบนี้ มาจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากที่ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าคาดการณ์

โดยศูนย์วิจัยฯ คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะปรับขึ้นทะลุ 4% และจะยังทรงตัวสูงต่อเนื่องในปี 2566 แต่คาดว่าไม่เกินไตรมาส 1 ของปี 2566 ก็จะเห็นทิศทางแล้วว่า Fed จะดำเนินนโยบายการเงินยังไงต่อ

ดังนั้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตอนนี้ เป็นผลกระทบชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐเท่านั้น ไม่ได้มาจากพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย จึงยากที่ค่าเงินจะอ่อนค่าลงไปแรงจนถึงระดับ 54 บาทต่อ 1 ดอลลาร์เหมือนกับในอดีต

[ ไม่จำเป็นต้องตรึงค่าเงินบาท ]

ดร.เชาว์ ยังบอกอีกว่า ผู้ดำเนินนโยบาย ไม่จำเป็นต้องตรึงค่าเงินบาทตอนนี้ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนมีการปรับขึ้นลงเป็นปกติอยู่แล้ว และตามที่กล่าวไปข้างต้น คาดว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะลากยาวถึงไตรมาส 1 ปีหน้าเท่านั้น

‘ไม่ควรรีบแทรกแซงในเวลานี้ เพราะนอกจากทุนสำรองจะลดลงเร็วแล้ว การแทรกแซงมักไม่ค่อยได้ผลด้วย พยุงได้ แต่อย่าเสียเงินมาก เพราะยังไม่แน่ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะจบเมื่อไหร่ จึงอยากแนะนำให้เก็บกระสุนไว้ดีกว่า’

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของศูนย์วิจัยฯ เป็นมุมมองจากบุคคลภายนอกเท่านั้น จำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องแทรกแซงอย่างไร ธปท.เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนด

[ ‘ไทยพาณิชย์’ ไม่แนะนำสวนตลาด ]

ส่วน ‘ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ’ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า การที่รัฐบาลกล่าวถึงปัญหาค่าเงินบาท ถือเป็นเรื่องดีที่ผู้กำหนดนโยบายรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม การจะกำหนดให้ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในระดับที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ตามที่คาดหวังเอาไว้นั้น เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีการซื้อขายในระดับล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 37 ล้านล้านบาท) ต่อวัน จึงอยากที่จะไปสวนทางตลา

แต่สิ่งที่ทำได้คือ การลดความผันผวน หากค่าเงินอ่อนเร็วจนเกินไป ก็อาจเข้าไปพยุงเพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบและเตรียมตัวได้ แต่คงไม่สามารถเข้าไปสวนกระแสตลาดเงินได้

และนี่คือผลสรุปที่ได้จากการสอบถามนักเศรษฐศาสตร์จากทั้ง 3 สำนัก ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับทราบถึงข้อเสนอดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องค่าเงินบาทได้ในขณะนี้ เพราะอยู่ในช่วง Silent Period หรือ 7 วันก่อนหน้าวันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า