SHARE

คัดลอกแล้ว

เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ชี้ ปัญหาเด็กเรียนไม่ทันเพิ่มความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา แนะโรงเรียนใช้ 5 มาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยรับเปิดเทอม เน้นประเมินและช่วยเด็กเป็นรายคน พร้อมชูนวัตกรรมกล่องการเรียนรู้  ช่วยลดช่องว่าง ส่งผลนักเรียนมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ 11 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ได้แก่  มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์ยวพัฒน์ มูลนิธิรัฐบุรุษฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิสยามกัมมาจล และ สพป.สุรินทร์ เขต 2 ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ จำนวน 659 แห่งทั่วประเทศ จัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง โรงเรียนเปลี่ยนใหม่  ปิด Gap ห้องเรียนยุคโควิด-19 ครั้งที่ 1

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ ประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวว่า Learning Loss ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Gap ช่องว่างการเรียนรู้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยมานานและมากกว่าที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 แต่หลายฝ่ายไม่รู้ตัว เป็นช่องว่างที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาโดยใช่เหตุ ไม่บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้เต็มศักยภาพนักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ถ้าไม่ระวังจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้และไม่ได้รับการดูแล เป็นช่องว่างที่ต้องปิดเพื่อทำให้อย่างน้อยนักเรียนทุกคนต้องบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นต่ำ   นี่เป็นเป้าหมายที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรง ประเทศที่คุณภาพการศึกษาดีทำได้ แต่ไม่ใช่ที่ประเทศไทยทำอยู่ในปัจจุบัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ความเชื่อและเปลี่ยนระบบ เรื่องนี้เป็นเป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่ กสศ. ร่วมกับ สพฐ. ตชด. อปท. สช. และ11เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง

“GAP หรือ ช่องว่าง มีมากกว่าและใหญ่กว่า COVID GAP เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของการศึกษาของไม่ใช่แค่ประเทศไทย อีกกว่าครึ่งโลกก็เป็น แต่หลายประเทศรู้ตัวและหาทางแก้ไข ประเทศฟินแลนด์ใช้เวลากว่า 30 ปี จัดระบบที่ให้นักเรียนไม่ว่าอยู่ห่างไกลแค่ไหน แต่ต้องได้รับการศึกษาที่คุณภาพเท่าเทียมกัน  เรื่องนี้สามารถทำได้ในประเทศไทย แต่ต้องเป็นนโยบาย ของไทยขณะนี้แม้ว่าต้องการให้เท่าเทียม แต่วิธีปฏิบัติสร้างความแตกต่าง สร้างความไม่เท่าเทียม สร้างความด้อยโอกาสให้แก่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล นี่คือปัญหา  เช่น ทุกโรงเรียนได้รับงบประมาณแบบเดียวกันเหมือนกันหมดทั้งประเทศ นโยบายนี้สร้างช่องว่างโดยไม่รู้ตัวในนามของความหวังดี แต่จริงๆ แล้วคือนโยบายที่ไม่ดี”  ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวอีกว่า การเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าครูไม่เรียนรู้จากการทำหน้าที่ของตน นี่คือหัวใจ ในโลกปัจจุบันการศึกษา การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมากทั้งมุมของเด็ก และครู ดังนั้นแม้ครูเรียนมาจากสถาบันที่เก่งเท่าไหร่ พอมาทำงาน ความรู้ประสบการณ์เหล่านั้นไม่พอ ต้องเรียนรู้เพิ่ม ต้องเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู ครูต้องเป็นนักเรียน เรียนจากการทำงานในหน้าที่ครู เรียนร่วมกัน  โรงเรียนต้องเป็นชุมชนการเรียนรู้ (learning community)  ทั้งของครูและของศิษย์ “ผมเชื่อว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไม่มีวันเต็ม100% เด็กแต่ละคนเต็มไม่เท่ากัน  ผมเข้าใจว่าขณะนี้โดยเฉลี่ยของเด็กไทย น่าจะไม่ถึง 30% เด็กเก่ง อาจไม่ถึง 80-90% แต่จะมีเด็กบางคนอาจได้แค่10-20%  ไม่ใช่พูดให้ท้อถอยหรือตำหนิใคร แต่ชี้ให้เห็นว่า ครู โรงเรียน มีโอกาสที่จะพัฒนาอีกมากมายช่วยกันหาทางเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้นที่สำคัญถ้าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนดี หลายครั้งนักเรียนที่หงอย ไร้แรงบันดาลใจ กลายเป็นคนมีชีวิตชีวา เท่ากับว่าครูได้ชุบชีวิตของนักเรียนขึ้นมา กรณีเด็กเกเรครูก็สามารถช่วยได้โดยการใช้เรื่องของปฏิสัมพันธ์เชิงบวก”

โดยมีข้อเสนอว่าช่องว่าง หรือ GAP ระหว่างต้นสังกัดใหญ่โรงเรียนและครูต้องร่วมกันสร้างสัมพันธ์แนวราบในระบบการศึกษา เป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ เพื่อให้ทุกจุดของระบบมีพลังสร้างสรรค์ เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษาไทย เป็นระบบที่เรียนรู้และปรับตัว

ด้าน ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กล่าวว่า โควิด-19 เป็นวิกฤตที่เข้ามาซ้ำซ้อนวิกฤตช่องว่างการเรียนรู้เดิม จึงพยายามใช้มาตรการที่ลดช่องว่างการเรียนรู้ให้มากที่สุด  เพราะสิ่งที่กังวลคือการที่เด็กหลุดออกนอกระบบ การฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss จึงไม่ไช่เพียงด้านวิชาการเท่านั้น ต้องประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ด้านวิชาการ 2.ด้านพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ 3. ทักษะทางสังคม ดังนั้นการเปิดเทอมจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้

สำหรับมาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย มี 5 ด้าน สำคัญ ได้แก่

  1. การประเมินสภาพแวดล้อมเด็กและครอบครัวทั้งระบบ ผู้ปกครองและครูสามารถช่วยกันประเมินความพร้อมของเด็กเป็นรายคน เช่น งานวิชาการบางอย่างเด็กเคยทำได้แต่วันนี้กลับทำไม่ได้ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
  2. การวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อฟื้นฟูการเรียนถดถอย ต้องวางแผนระดับโรงเรียน ทั้งระบบงาน มีทีม ทรัพยากร และงบประมาณ
  3. สนับสนุนเครื่องมือและการพัฒนาครู เช่น พัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเครื่องมือเพื่อประเมินช่องว่างการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กรายคน และจัดการเรียนการสอนช่วยเด็กๆได้ รวมถึงการสร้างสื่อการเรียนรู้
  4. การช่วยเหลือนักเรียนรายบุคคล เพราะสถานการณ์ที่บ้านของเด็กมีความต่างกัน ต้องประเมินเพื่อจัดการเรียนการสอนเป็นรายบุคคล หรืออย่างน้อยที่สุดจัดการเรียนการสอนเป็นรายกลุ่มเพราะเราไม่สามารถใช้แผนเดียวทั้งห้องเรียนได้
  5. การติดตามและปรับปรุงต้องทำในระยะสั้น ทำไปปรับไป เพื่อให้ทันสถานการณ์

“เราไม่สามารถทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและกลับไปเปิดเทอมตามปกติได้ อยากให้มองเห็นว่ามีอะไรที่จะต้องเติมเต็มเด็กรายบุคคล หรือเติมเต็มสิ่งที่หายไป ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นที่ของเขา ถ้าเด็กดั้นด้นมาโรงเรียนได้แล้ว แต่โรงเรียนกลับไม่ตอบโจทย์ สอนตามแบบแผนปกติ เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง ยิ่งซ้ำเติมว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่ของเขา โอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาค่อนข้างมาก เพราะครอบครัวต้องการให้เด็กออกไปช่วยทำงานอยู่แล้ว การช่วยเหลือนั้นต้องยื่นมือไปถึงครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มยากลำบาก ถ้าครอบครัวยากลำบาก การที่เด็กมาโรงเรียนแล้วจะเรียนรู้อย่างมีความสุขคงเป็นไปได้ยาก” ดร.นรรธพร กล่าว

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึง หลายประเทศให้ความสำคัญกับการวัดและประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Formative Assessment) เพราะเด็กกลับมาด้วยพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน ครูต้องสามารถประเมินรายคนได้  ควรได้รับการติดตามและเยียวยาเป็นรายบุคคลจนพัฒนาการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  มีตัวอย่างนโยบายในระดับชาติที่น่าสนใจจำนวนมากเพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ เช่น โครงการ Teach at the Right Level (TRL) ขององค์กร Pratham ในอินเดีย ประเมินความรู้ของเด็กว่าอยู่ที่ระดับไหนเพื่อสอนให้เด็กคนนั้นฟื้นฟูความรู้กลับมา  และสร้างอาสาสมัครชุมชน ช่วยสอนเสริมให้เด็กที่เรียนตามไม่ทัน  ขณะที่ในเอเชียใต้ แอฟริกา ก็ใช้อาสาสมัคร ช่วยสอน เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง ติดตามเพื่อนกลับเข้าห้องเรียน  องค์กร BRAC ในบังคลาเทศ มีโครงการ Pashe Achhi หรืออยู่ข้างคุณ  ช่วยเหลือสนับสนุนดูแลสุขภาพจิต (Psychosocial)  โดยการโทรศัพท์ไปคุยเพื่อสำรวจให้กำลังใจ ผู้ดูแลและพ่อแม่เด็กทุกสัปดาห์   สำหรับประเทศที่มีงบประมาณจำนวนมาก เช่น อังกฤษ รัฐบาลตั้งกองทุนงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ ชื่อ educational catch-up initiatives เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปใช้ให้มั่นใจว่านักเรียนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้

นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดให้มีโครงการ National Tutoring Programme โดยโรงเรียนสามารถจ้างติวเตอร์เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีช่องว่างการเรียนรู้ มีการจัด in-house mentor ให้กับกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ยากลำบาก ซึ่งผู้มาเป็น mentor จะต้องผ่านการอบรมเป็นการเฉพาะ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ขณะที่เวลส์ มีการรับสมัครครู และผู้ช่วยสอนเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักเรียน และกลุ่มด้อยโอกาส เปราะบางในทุกกลุ่มอายุ

น.ส.มินตรา กะลินตา หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล) จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า แม้เด็กนักเรียนจะไม่สามารถมาโรงเรียนได้ แต่การเรียนรู้ไม่มีวันหยุดคุณครูสำรวจความพร้อมของนักเรียนทุกคน ว่ามีความสามารถเรียนในรูปแบบใดได้บ้าง ต้องยอมรับว่าแต่ละครอบครัวมีความหลากหลาย โรงเรียนจัดการเรียนการสอนตามความพร้อมรายบุคคล ไม่อัดแน่นเนื้อหาในออนไลน์มากเกินไป ต้องทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน หากตึงเครียดมากเราพบว่า ชั่วโมงถัดมานักเรียนจะเริ่มหายไป

นอกจากนี้ยังมีคลิปการเรียนการสอนดูย้อนหลังได้ สำหรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ผู้ปกครองต้องออกไปทำงาน 1 บ้าน มีโทรศัพท์เพียง 1 เครื่องเท่านั้น ซึ่งการจัดทำใบงานเพียงอย่างเดียวนานวันเข้าก็ขาดการส่งงาน เพราะนักเรียนไม่เข้าใจ จึงนำนวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ หรือ Learning box  เข้ามาปรับใช้ในแต่ละรายวิชา นักเรียนได้ลงมือทำ ประดิษฐ์ ทดลองจากอุปกรณ์ในกล่องการเรียนรู้แทนการนั่งเขียนแต่ใบงาน

“แม้โรงเรียนปิดแต่การทดสอบระดับชาติยังดำเนินต่อไป  ทั้ง RT ป.1  NT ป.3 และ O-NET ป.6  ซึ่งเราพบว่า จากการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของโรงเรียน นวัตกรรม learning box ได้ผลจริงๆ เห็นได้จาก ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ทุกรายวิชา คณิตศาสตร์  ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทั้งหมด” น.ส.มินตรา กล่าว

นายชำนาญ สังข์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิลามูล จ.นครปฐม  กล่าวว่า  ผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงเนื่องจากนครปฐมเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม จากการสำรวจมีเด็กที่ขาดความพร้อมในการเรียนออนไลน์ถึง 70% แม้จะได้รับการสนับสนุน ซิมการ์ดโทรศัพท์ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมนักเรียนทุกคน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเด็กเกิดความรู้ถดถอยจำนวนมาก โดยเฉพาะ ป.1 มีปัญหาหนักที่สุดเพราะยังมีทักษะการอ่านน้อย  การเรียนรู้ด้วยตัวเองจึงทำได้ยาก โรงเรียนได้ใช้นวัตกรรม learning box หรือกล่องการเรียนรู้ แทนการเรียนออนไลน์  โดยครูจะวิเคราะห์หน่วยการเรียนรู้ทั้ง 8 หน่วยสาระ เจาะลึกไปยังหน่วยที่จำเป็นคือหน่วย ต้องรู้ ก่อน และเสริมหน่วยที่ ควรรู้ เพิ่มเข้าไป ครูจะทำงานเป็นทีมออกแบบ Booklet ใบความรู้ ใบงาน ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า