Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว
ตอนนี้ นักศึกษาส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีความสุขจากการเรียนออนไลน์ จนถึงขั้นเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต ผู้สอนก็ไม่พร้อม ผู้เรียนก็ไม่พร้อม คุณภาพการศึกษาตกต่ำ จนมีนักศึกษาเคยทำร้ายตัวเองมาแล้วเพราะเครียดสะสม
ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาได้ workpointTODAY ได้พูดคุยปัญหานี้กับนักวิชาการและจิตแพทย์ถึงทางออกที่พอเป็นไปได้
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงปัญหาที่เจอในการเรียนออนไลน์ 3 เทอมที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องดังนี้
1) ความสามารถในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะมีความพร้อมในการเข้าถึง ทั้งอุปกรณ์ และอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่การเรียนออนไลน์ได้อย่างทันที บางคนเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่ความเร็วมากพอไม่ได้ หรือสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการฟังที่บ้าน ก็เป็นเรื่องที่ผลักให้เด็กจำนวนหนึ่งหลุดออกจากการเรียนออนไลน์ไปเลย อินเทอร์เน็ตกระตุกก็ทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง แล้วยิ่งหากต้องมีการโต้ตอบ ก็จะทำให้การเรียนสะดุด ดังนั้นเมื่อมีเด็กที่เข้าไม่ถึงก็ทำให้บางคนต้องไปหาฟังคลิปทีหลัง
2) วิธีการสอน ถือว่าสำคัญ หากอาจารย์ยังคงเป็นการบรรยายเหมือนเดิม บทบาทของผู้เรียนกลายเป็น Passive Learner หรือ นั่งฟังอาจารย์อย่างเดียว 3 ชั่วโมง หรือบางคนอัดคลิปมาบรรยาย แล้วแขวนใน Google Classroom ให้เด็กไปฟัง ภาระก็ไปตกอยู่ที่เด็ก ยิ่งอาจารย์หลายคนเข้าใจผิดและมัวไปโฟกัสที่เรื่องอุปกรณ์ว่าจะใช้แพลตฟอร์มอะไร กล้องแบบไหน ไมโครโฟนแบบไหน หรือไปคาดหวังบรรยากาศการเรียนที่จะเหมือนเดิมที่สุด คือให้เด็กทุกคนเปิดกล้อง เพื่อหวังให้มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งฝืนธรรมชาติการเรียนออนไลน์
ผศ.อรรถพล ระบุอีกว่าหัวใจของการเรียนออนไลน์คือต้องมี การเรียนด้วยตัวเอง แล้วก็มี Interaction เป็นช่วงๆ เพื่อให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งการปฏิสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะของการ Zoom meeting พร้อมกัน เวลาเดียวกัน อาจจะเป็นลักษณะของ Facebook Group ให้มีลักษณะเหลือบเวลาที่ให้เด็กสามารถแลกเปลี่ยนประเด็นที่อาจารย์ตั้งคำถามไว้ ซึ่งสามารถผสมผสานได้
“แต่หากอาจารย์ไม่รู้ หรือ ออกแบบการสอนไม่เป็น เขาก็จะไปใช้วิธีที่เหมือนกับการสอนในห้องไปเป็นออนไลน์ แต่ใช้วิธีการเดิม คือเด็กก็จะนั่งฟังคลิปไปเรื่อยๆ อาจารย์บางท่านอาจจะไม่ได้ถ่ายคลิป แต่อัดเสียงเลย ก็จะเหมือนกับนั่งเรียนกับวิทยุไป ซึ่งก็มีผลต่อตัวเด็ก”
ขณะที่ประเด็นของข่าวที่นิสิตทำร้ายตัวเองเพราะเครียดเรื่องการเรียนออนไลน์ ผศ.อรรถพล กล่าวว่า “เข้าใจว่าน่าจะเพราะความเครียด เพราะเรียนปี 1 มาได้แค่ 1 เทอม แล้วก็เข้าสู่การเรียนออนไลน์ทันที พอขึ้นปี 2 มาก็เรียนออนไลน์ทั้งหมด เพราะปกติปี 1 ปี 2 จะเป็นการเรียนวิชาพื้นฐาน สำหรับบางคณะเป็นวิชาเพื่อทำเกรดเข้าเอก ซึ่งหากไม่สามารถเข้าเอกที่ต้องการได้ก็จะเกิดความเครียดขึ้นมาอีก ก็กลายเป็นโดมิโน่ ดังนั้นจึงควรมีเรื่องการดูแลสภาพจิตใจของผู้เรียนให้มากขึ้น”
“มหาวิทยาลัยไม่ได้มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาที่เข้มแข็งต่างกับโรงเรียน ซึ่งเด็กระดับมัธยมครูจะดูแลเด็กประจำชั้น แต่พอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเรามองเด็กเป็นผู้ใหญ่หมด แต่จริงๆ แล้วช่วงนี้มันเป็นเวลาที่เขาเพิ่งก้าวผ่านการเป็นนักเรียน เป็นช่วงปรับตัว อาจารย์อาจจะต้องคุยด้วยเป็นช่วงๆ มีการนัดเจอบ้าง หรือคุยผ่าน ZOOM นัดทานข้าวนอกมหาวิทยาลัยบ้าง ก็จะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ได้ แต่ถ้าอาจารย์ไม่มีบทบาทตรงนั้นเลย ก็กลายเป็นว่าเด็กโดดเดี่ยว”
ผศ.อรรถพลระบุต่อไปว่า ถ้าเป็นห้องเรียนใหญ่ๆ มีนักศึกษาหลักร้อยคน อาจารย์อาจไม่ได้สนิท และสอบถามเป็นรายบุคคลได้ ดังนั้นควรจะมีมาตรการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย เช่น มีระบบผู้ช่วยอาจารย์ประกบเป็นพี่เลี้ยงในรายวิชา เช่น ในระหว่างที่เรียนให้ดูว่ามีเด็กคนไหนหลุดจากระบบไปแล้ว ให้ทักไปถามไถ่ดูหน่อย
ไม่ใช่แค่การเรียน แต่การสอบก็กดดัน
ผศ.อรรถพล ระบุว่าปัญหาที่ผ่านมา คือการให้คะแนนในแต่ละวิชา จะแบ่งคะแนนเป็นเช็กชื่อเข้าห้อง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำงานส่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นการสอบ ซึ่งด้วยคะแนนที่เยอะระดับ 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การสอบกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของเด็กมหาวิทยาลัย แล้วเมื่อสอบออนไลน์ อาจารย์ส่วนใหญ่ ก็ต้องการให้เด็กเปิดกล้อง 2 ตัว ตั้งด้านหน้า ด้านหลัง เพื่อป้องกันการทุจริต ซึ่งส่งผลให้เด็กกดดันกว่าเดิม และมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่พร้อมเรื่องทรัพยากรก็ต้องไปวิ่งหากล้องกันวุ่นวาย บางคณะยิ่งหนักใหญ่ คือบังคับให้เขียนด้วยลายมือ แล้วให้ถ่ายรูปส่งเป็น PDF ใน 3 ชั่วโมง ซึ่งมันผิดหลักการเรียนรู้แบบออนไลน์ คืออาจารย์หลายท่านไม่เข้าใจธรรมชาติของการสอนออนไลน์ แต่จะพยายามทุกอย่างให้คล้ายกับห้องเรียนมากที่สุด ก็เลยเป็นปัญหา
ในภาคเรียนใหม่นี้ ที่ยังคงมีการสอนออนไลน์ ผศ.อรรถพล มีข้อเสนอสำหรับสถาบันการศึกษาว่า
– มหาวิทยาลัยควรทำคู่มือ หรือทำ Trending cross ในการเรียนแบบออนไลน์
– เปิดช่องทางให้ผู้เรียนได้เข้ามาแจ้ง ว่าพบปัญหาอะไรบ้างจากการเรียนออนไลน์ ที่ไม่ใช่การประเมินผู้สอน แต่เป็นพื้นที่สำหรับให้ทุกคนได้แชร์ว่ามีงานที่มอบหมายกี่ชิ้น ในกี่วิชา หรือวิชาไหนที่มีงานเยอะมาก โดยไม่ต้องรอจนจบเทอม เพื่อให้เกิดการปรับปรุงทันที ซึ่งหากสามารถเชื่อมให้ทุกวิชาจะดีมาก โดยเฉพาะวิชาเลือก วิชาพื้นฐานที่เด็กต้องเรียนให้ผ่าน
– มหาวิทยาลัยเอง ต้องให้คำปรึกษากับอาจารย์ด้วย เพราะบางคนสอนออนไลน์มา 3 เทอมแล้ว แต่ไม่มีการปรับ หรือพัฒนาการสอนให้ดีขึ้น
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สายด่วนกรมสุขภาพจิต มีคนเข้ามาปรึกษาปัญหาทั้งเรื่องการทำงานและเรียนออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก สาเหตุเพราะมันคือเรื่องใหม่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการเรียนนี้ “ถ้าถามว่าไปเรียนออนไลน์ต่างกันอย่างไร นั่นก็เพราะการทำความเข้าใจจะยากกว่าการเรียนในชั้น เพราะในห้องเรียน เราสามารถถามอาจารย์ได้ การเรียนออนไลน์ตั้งสมาธิให้จดจ่อก็ยาก เพราะเป็นหน้าจอสี่เหลี่ยม บรรยากาศไม่กระตุ้นให้เกิดการเรียนเลย ทำให้เรารู้สึกเครียดจากการที่เรียนไม่รู้เรื่องอยู่แล้วในบางวิชา ก็จะทำให้เครียดมากขึ้น” นพ.วรตม์ กล่าว
อีกประเด็นที่จิตแพทย์มองว่าเป็นปัจจัยเพิ่มความเครียด คือ คนเรามักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เช่น ถ้าเราไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเราเรียนไม่เข้าใจก็จะหันไปถามเพื่อน บางทีเพื่อนก็อาจจะบอกว่าไม่เข้าใจเหมือนกัน หรือเพื่อนบอกเข้าใจก็จะมีการอธิบายให้กันฟัง แต่การเรียนออนไลน์ทำให้การสื่อสารกับเพื่อนน้อยลง บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าเราเรียนไม่รู้เรื่องอยู่คนเดียวหรือเปล่า ก็ทำให้เกิดความกังวลใจ ความรู้สึกด้อยค่าว่าตัวเองไม่รู้เรื่องอยู่คนเดียว เนื่องจากไม่ได้พูดคุยกับเพื่อนว่าเพื่อนรู้เรื่องหรือไม่ นี่ก็เป็นข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ ทำให้เครียดมากขึ้นด้วย
อีกเรื่องที่สำคัญที่อาจไม่เกี่ยวกับการเรียน แต่สำหรับวัยรุ่นต้องการเจอเพื่อน เพื่อให้ได้ระบายความรู้สึก ความอัดอั้นตันใจ ความกังวลใจ ความเครียด หรือไม่ได้ระบาย แต่ถ้าไปมหาวิทยาลัยเพื่อนอาจสังเกตเห็นว่าดูเครียดก็จะเกิดการถามไถ่ ซึ่งการเรียนออนไลน์ที่บ้านทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป เราไม่สามารถระบายความเครียดกับคนที่เราไว้ใจได้ เพราะเด็กวัยรุ่นมักจะเลือกเพื่อนเป็นที่ปรึกษามากกว่าพ่อแม่
ที่สำคัญปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ไม่ใช่กระทบแค่การศึกษาอย่างเดียว แต่กระทบกับเศรษฐกิจ พ่อแม่เครียดเรื่องงาน เด็กเครียดเรื่องเรียน และเมื่ออยู่ในบ้านก็มีหลายคนที่อาจเครียดรวมกัน จนกลายเป็นทวีคูณ เป็นวังวนส่งกันไปมาทำให้คนที่เครียดอยู่แล้วเครียดหนักขึ้นไปอีก
“เพราะฉะนั้น ในการช่วยเหลือ ควรเป็นเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะรู้ว่าตัวเองมีปัญหาแล้วเดินเข้าไปขอคำปรึกษา มีสถิติการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น พบว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่เด็กเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต เขารู้ว่ามีปัญหาแต่เขาไม่อยากไปปรึกษา เพราะฉะนั้นการทำงานเชิงรุก การพูดคุย ติดต่อสื่อสารกับเด็กไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา เป็นหัวใจสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดจนนำไปสู่การทำร้ายตัวเองในอนาคต” โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าว
ล่าสุดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีแผนเยียวยาที่เรียกว่า “แผนวัคซีนใจ” ที่จะดูแลครอบครัว และกลุ่มเปราะบาง หากมีการร้องขอจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษา สามารถเข้ามาขอความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตได้ ขณะเดียวกันเราก็มีมาตรการเชิงรุกในการช่วยเหลืออยู่แล้ว คือมีการเช็กอินตัวเอง ผ่านระบบ Mental health checked-in เพื่อตรวจสอบสภาพจิตใจตัวเองเป็นระยะๆ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า