SHARE

คัดลอกแล้ว

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้คนทั้งโลกสามารถเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดน  โลกและสังคมในปัจจุบันจึงมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและก้าวกระโดด ส่งผลให้เด็กไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ และการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นในอนาคต ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ การเข้าถึงโอกาสต่างๆ รวมถึงการดำรงชีวิตโดยทั่วไป เด็กไทยจึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่างๆ เพื่อที่จะตามโลกได้ทัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะแห่งอนาคตอื่นๆ มากมาย

บริษัท เอ็ดดูเคชั่น อีซี่ ไทยแลนด์ จํากัด (“Edsy”) ร่วมกับ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (“TK Park”) และพันธมิตรภาคการศึกษาอื่นๆ เช่น โรงเรียนนานาชาติ VERSO และ theAsianparent เล็งเห็นถึงความสำคัญในการวางแผนการศึกษาและพัฒนาทักษะของนักเรียนสำหรับอนาคต ทำให้เกิดเป็นเวทีเสวนาในหัวข้อ “TK Park x Edsy เตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้ปกครอง ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญ ในการเตรียมเด็กไทยให้พร้อมสำหรับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป

“เตรียมพร้อมเด็กไทยให้เป็น Global Citizen”

เปิดมุมมองความสำคัญและกุญแจสำคัญในการที่จะเติบโตเป็นพลเมืองโลก หรือ Global Citizen โดยคุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และที่ปรึกษาอาวุโสของ Edsy  คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร Toshiba Thailand และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

จะเปลี่ยนเด็กไทยให้เป็น Global Citizen ต้องเปลี่ยน Mindset ก่อน ในการผลักดันให้เด็กไทยเติบโตเป็น Global Citizen หรือพลเมืองโลกได้นั้น คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ ให้ความเห็นว่าสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการเปลี่ยน Mindset ให้พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ  รับรู้ความเป็นไปของเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งการเปลี่ยน Mindset นั้นจะทำให้เรากลายเป็นคนที่พร้อมทำความเข้าใจ และยอมรับความแตกต่างที่หลากหลายของคนอื่นได้ พร้อมกันนั้นเองก็ได้ทำให้เราได้รู้จักข้อดีข้อด้อยของตนเองเหมือนได้ทั้งรู้เขาและรู้เรา และนำข้อดีของคนอื่นกลับมาพัฒนาตนเองหรือประเทศของตนได้

ภาษาคือกุญแจสำคัญที่จะพาไปสู่การเรียนรู้ที่กว้างขึ้น

คุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และที่ปรึกษาอาวุโส Edsy กล่าวว่าทักษะทางภาษาเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนต่างพื้นเพกันทำความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างกันได้มากขึ้น ซึ่งการเข้าใจวัฒนธรรมหรือความเป็นตัวตนของคนอื่นนั้น ไม่ได้อาศัยแค่การแปลภาษาโดยใช้เครื่องมือช่วยเหลือ แต่ต้องเรียนรู้ถึงบริบทต่างๆ ของการใช้ภาษานั้นๆ ซึ่งการรู้ภาษาด้วยตนเองก็มีส่วนให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรื่องราวต่างๆ ได้ลึกซึ้งมากขึ้น โดยคุณกรณ์ได้ย้ำว่า  ภาษาคือโอกาสในการเรียนรู้ หากว่าไม่สามารถเข้าใจหรือศึกษาเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษได้ ก็เท่ากับเป็นการลดโอกาสในการเรียนรู้ลงไป เทียบกับคนที่รู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะมีตัวเลือกในการค้นหาและเรียนรู้ที่มากกว่า สามารถเลือกได้ว่าจะสนใจหรือศึกษาสิ่งใด และตามมาด้วยโอกาสอื่นๆ ที่มากกว่า

“เปิดวิสัยทัศน์การเลี้ยงลูกยุคใหม่”

ร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ของผู้บริหารในการวางแผนการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กยุคศตวรรษที่ 21 โดยคุณพรทิพย์ กองชุน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LINE ประเทศไทย​ คุณสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานองค์กรฯ บริษัท Thai Samsung Electronics

แม้อนาคตจะคาดเดาไม่ได้แต่สามารถวางแผนได้ด้วยหลัก VUCA World การเป็นพ่อแม่ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณพรทิพย์ กองชุน ประธานเจ้าหน้าที่ผ่านปฏิบัติการ และผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta กล่าวว่าเราอยู่ในยุคที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันคลุมเครือ ไม่ชัดเจน แต่ภาพไกลๆ เราพอวางแผนได้ โดยใช้หลักการ VUCA World (V=Volatility ความผันผวน U=Uncertainty ความไม่แน่นอน C=Complexity ความซับซ้อน และ A=Ambiguity ความคลุมเครือ) เป็นสิ่งนำทาง ทำให้การวางแผนอนาคตลูกของเธอนั้น จะไม่ใช่การตีกรอบแบบตายตัว ว่าโตไปลูกควรจะทำอาชีพอะไร แต่จะวางแผนการเรียนรู้การศึกษา ให้ลูกได้มีโอกาสทดลองและเรียนรู้ พัฒนาทักษะต่างๆ ที่จะสอดคล้องกับความต้องการของในอนาคต เพื่อให้ลูกเอาตัวรอดและประสบความสำเร็จได้

ในระยะสั้น คุณพรทิพย์ให้ความสำคัญกับการติดตามดูลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยสังเกตว่าเขาสนใจอยากเรียนรู้เรื่องอะไร อยากไปโรงเรียนแบบไหน อยากทำกิจกรรมอะไร คอยสังเกตและวางแผนเพื่อช่วยวางแผนเพื่อที่จะตอบโจทย์เขา โดยพยายามรักษาความยืดหยุ่นไว้

“เทคโนโลยี” ทำให้รูปแบบการเรียนรู้และการวางแผนการเรียนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ด้านดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LINE ประเทศไทย​ มองว่าการมาถึงของเทคโนโลยีทำให้การเรียนแบบเก่าๆ ที่เน้นการท่องจำไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หลักสูตรหลายอย่างก็อาจจะล้าสมัยไปในเวลาอันใกล้ ใบปริญญาเองก็เช่นกัน ดังนั้นการวางแผนการศึกษาให้ลูกแบบชัดเจนอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่การช่วยให้ลูกค้นพบความชอบของตนเอง และเสริมสร้างพัฒนาทักษะอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เช่น ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการใช้เทคโนโลยีและรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างเหมาะสม รู้แหล่งในการสืบค้นข้อมูลสามารถแยกแยะข้อมูลที่เชื่อถือได้และไม่ได้ รวมถึงทักษะการเอาตัวรอดอื่นๆ เช่น ความสามารถที่จะรู้ว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็นต่อชีวิต จะได้หาจุดสมดุลในชีวิตได้

เน้นสร้างทักษะจำเป็นสำหรับโลกอนาคต

คุณสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานองค์กรฯ บริษัท Thai Samsung Electronics เห็นตรงกันกับวิทยากรท่านอื่นว่า การทำนายอนาคตว่าควรปูทางให้ลูกเรียนอะไร-ทำอาชีพไหนเป็นเรื่องที่ยากและคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นเราควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะแห่งอนาคตจะดีกว่า และได้ยกกรณีที่บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company ได้ศึกษาเรื่องทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต ซึ่งมี4 หัวข้อหลักๆ ได้แก่1) Cognitive skill หรือองค์ความรู้ การคิดวิเคราะห์ 2) Digital skill สำหรับเทคโนโลยี 3) Self-leadership การเป็นผู้นำได้ด้วยตัวเอง และ 4) Interpersonal Skills หรือทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล โดยคุณสิทธิโชคได้ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญคือการเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ถนัด รวมถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต เช่น ทักษะการแก้ปัญหาเพื่อเป็น “Serial problem-solver” และทักษะการปฏิสัมพันธ์หรือสื่อสารกับผู้อื่น

“ได้ทำในสิ่งที่รัก” คือความหวังสูงสุดของพ่อแม่

เมื่อพูดถึงอนาคตของลูกในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้าอยากให้ลูก ๆ กลับมาขอบคุณพ่อแม่เรื่องอะไรบ้าง วิทยากรทั้งสามท่านคาดหวังให้ลูก ๆ มีความกล้าและอิสระในการออกไปเรียนรู้ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ค้นพบตัวเอง ไม่กลัวความผิดพลาด และพร้อมพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยมีพ่อแม่เป็น safe zone ที่คอยสนับสนุนและผลักดันไปสู่จุดหมายที่ลูกต้องการ

“เตรียมพร้อมเด็กไทยสำหรับศตวรรษที่ 21: บทบาทของครอบครัวและโรงเรียน”

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดและแนวทางปฏิบัติร่วมกันของสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของเด็กไทย โดย ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ (คุณหมอวิน) เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล (คุณหมออร) เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ คุณอมฤต เจริญพันธ์ ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม รร. นานาชาติ VERSO

เสริมสร้างสุภาพจิตที่ดีให้พร้อมที่จะเรียนรู้

ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือ คุณหมอวิน เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ มองว่าสิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานสำหรับเด็ก ๆ ในการเผชิญโลกแห่งอนาคตที่ไม่แน่นอนก็คือ Mental Health หรือสุขภาพจิตที่ดี เพราะเด็กที่มีสุขภาพจิตที่ดีจะพร้อมเรียนรู้ และรู้จักอารมณ์ของตนเอง สามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมและสามารถจัดการอารมณ์ด้านบวกและด้านลบของตนเองได้ หากวันใดที่เจออุปสรรคหรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของโลก ก็จะสามารถจัดการและก้าวผ่านมันไปได้

หมอวินยังเสริมอีกว่า นอกจากเรื่องสุขภาพจิตที่ดีแล้ว เรื่องของการปรับสมดุลของ Self -esteem หรือการเห็นคุณค่าของตนเองที่พอดี ไม่สูงหรือต่ำเกินไปก็สำคัญเช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มี “High self-esteem” คือมีความมั่นใจในตัวเองมาก ปัญหาที่จะตามมาคือเมื่อล้มหรือเจอสิ่งที่ทำไม่ได้ ก็จะเกิดกลไกลการป้องกันตัวเองด้วยการไม่ทำ ใช้การโกง หรือปิดปัง ในขณะที่การมี “Low self-esteem” หรือความภาคภูมิใจในตัวเองที่ต่ำ จะทำให้มองตนเองในภาพลบเสมอ พ่อแม่มีหน้าที่ส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่าความภาคภูมิใจในตัวเองที่เหมาะสม ดีพอและพอดีสำหรับลูกไปด้วยเช่นกัน

บทบาทของพ่อแม่และโรงเรียนคือการ “ผลักดัน” ไม่ใช่ “ชี้ทาง”

พ่อแม่ควรเป็นผู้ผลักดันให้ลูกได้ลองทำอะไรที่เหมาะสมกับช่วงวัย ดังเช่น ที่พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล หรือ คุณหมออร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ได้ย้ำว่าอายุ 2-7 ปีเป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ภาษาได้ดีที่สุด พ่อแม่จึงควรสนับสนุนให้ลูกเริ่มเรียนภาษาที่สอง เพื่อที่จะได้พัฒนาเป็นทักษะติดตัวและเติบโตขึ้นเป็น Global Citizen

ในส่วนของสถาบันการศึกษา นอกจากการมอบความรู้พื้นฐานแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการปลูกฝังด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่สนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคุณอมฤต เจริญพันธ์ ในฐานะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมโรงเรียนนานาชาติ VERSO มองว่าความสามารถในการเข้าใจกับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ ตั้งแต่ตอนเด็กจะทำให้ได้เปรียบเป็นอย่างผู้อื่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นสถาบันการศึกษาต้องทำงานเป็นทีมร่วมกับครอบครัว และเมื่อต้องเลือกโรงเรียน พ่อแม่ควรพิจารณาว่าโรงเรียนไหนจะสามารถช่วยขับเคลื่อนให้เด็กๆสามารถเดินทางไปในทิศทางที่พ่อแม่ต้องการสนับสนุนได้ดีที่สุด

คุณหมอวินได้ทิ้งท้ายว่า พ่อแม่ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกสนใจ เพื่อให้ลูกเห็นคุณค่าของตนเอง ส่งเสริมการพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น ภาษา หรือนวัตกรรม รวมถึงความรู้ใหม่ๆ สิ่งสำคัญคือเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว ในการสนับสนุนให้ลูกเกิดความกล้าที่จะลงมือทำ จากนั้นให้สถาบันการศึกษาต่อยอดในสิ่งที่ลูกอยากจะเป็น

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า