SHARE

คัดลอกแล้ว

ในช่วงโควิด – 19 ตลอดสองปีที่ผ่านมา นอกจากจะเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจแล้ว ด้านการศึกษาก็ต้องเจอกับปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือเยาวชนจำนวนไม่น้อยต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาจากสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ด้วยเหตุนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และจังหวัดสมุทรสาคร จัดการประชุมสานพลังความร่วมมือหน่วยงานด้านการศึกษา “ก้าวไปด้วยกัน สู่สมุทรสาครโมเดล จังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” เดินหน้าพันธกิจฟื้นฟูการศึกษาไทย เปิดตัวโครงการวิจัยนำร่องฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดนอกระบบ ครอบคลุมทุกมิติ

นำร่องสมุทรสาครที่แรก

ในเรื่องที่มาของโครงการและการเลือกพื้นที่นำร่องในครั้งนี้ นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการกสศ. ให้เหตุผลว่า โควิด-19 ส่งผลให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างกว้างขึ้น แม้มีความพยายามในการนำความรู้ไปถึงเด็กทุกช่องทาง แต่การเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนหรือสภาวะครอบครัวที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ก็ยังเป็นอุปสรรคและทำให้เด็กเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย และมีบางส่วนที่หลุดออกจากระบบ กสศ. ยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และนำมาสู่การออกแบบโครงการเพื่อฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ และส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพให้เด็ก

โดยโครงการนี้เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Research and Development) นำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ปิดเรียนยาวนาน เพื่อหาตัวแบบก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ โดยมีงบประมาณส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานจะเชิญชวนสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้ง สพฐ. อปท. และ สช. เข้าร่วม ด้วยรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับทักษะด้านคณิตศาสตร์และทักษะการอ่าน ซึ่งพบว่าเป็นทักษะที่มีภาวะถดถอยมากที่สุดในช่วงการปิดโรงเรียน และเป็นสองทักษะที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาอื่น ๆ รวมถึงภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทักษะสังคม อารมณ์ สุขภาพกายสุขภาพใจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเติมเต็มและส่งเสริมพัฒนาการไปพร้อมกันด้วย

สำหรับข้อมูลสำคัญที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ของ กสศ. คือ จังหวัดสมุทรสาครมีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษมากถึง 3,189 คน และในจำนวนนี้เป็นนักเรียนยากจนพิเศษที่อยู่ในครัวเรือนฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยสมาชิกในครัวเรือนต่อคนต่อเดือน 1,077 บาท หรือราว 36 บาทต่อวัน หรือ 12,924 บาท ต่อปีเท่านั้น โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าจับตาเป็นพิเศษคือ เด็กในวัยเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษามีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นในปี 2564 – 2565  และเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาตามแต่ละช่วงวัย จำนวน 10,551 คน

“เรามีทีมวิชาการที่เข้มแข็งอย่างมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ที่ทำงานด้านนวัตกรรมการศึกษาระดับสากล มาเป็นโค้ชในการทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด และสถานศึกษา และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เป็นเครือข่ายด้านงานวิจัย มาช่วยถอดบทเรียนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะนำไปใช้ขยายผลในอนาคต โครงการนี้จึงจะไม่ได้ก่อประโยชน์เพียงกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่สมุทรสาครเท่านั้น แต่จะเป็นตัวแบบสำคัญที่จะขยายผลไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ด้วย”

เริ่มพัฒนาระดับจังหวัดคือรากฐานที่สำคัญ

นางสาวธันว์ธิดากล่าวเพิ่มเติมถึงการนำร่องที่สมุทรสาครโมเดลในครั้งนี้ว่า จากประสบการณ์ทำงานด้านการจัดการศึกษาของ กสศ. มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การทำงานระดับจังหวัดถือเป็นการย่อส่วนการทำงานให้แคบลง เป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศตามจุดอ่อนจุดแข็งของพื้นที่นั้น เพราะทุกจังหวัดต่างมีอุปสรรคปัญหาที่จะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่ต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ที่มีความร่วมมือในระดับจังหวัดที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ทาง กสศ. ยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษาธิการ จึงจะเข้ามาช่วยในมิติของการค้นหานวัตกรรมเพื่อเสริมการทำงานให้ไปสู่ผลลัพธ์ได้ดียิ่งขึ้น

ใช้หลักการเดียวกับนานาชาติ

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่การศึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการวิจัยที่กำลังร่วมมือกันทำอยู่นี้เป็นทิศทางเดียวกับที่ทั่วโลกกำลังทำ ซึ่งเน้นที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ ผ่าน 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้เรียนหนังสือที่โรงเรียน และได้รับการสนับสนุนที่ปรับให้เหมาะสมเพื่อสอดคล้องกับความต้องการทางการเรียนรู้ การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี รวมถึงความต้องการด้านอื่น ๆ 2. เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้รับความช่วยเหลือในการเรียน เพื่อชดเชยการเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการปิดโรงเรียน และ 3. ครูทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมและการสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาความรู้ถดถอยของนักเรียน สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่าง ๆ มาผสมผสานในการสอน ซึ่งผลที่ได้รับจากความร่วมมือในการทำงานครั้งนี้ ยูนิเซฟจะนำมาขยายผลสู่พื้นที่อื่น รวมถึงแสดงสู่สายตานานาประเทศ ในฐานะโมเดลต้นแบบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน

วิจัยชี้ปิดเทอมนาน การเรียนถดถอย

ตลอดระยะเวลาที่การศึกษาทั่วประเทศไทยต้องปรับการเรียนจากในห้องเรียน (On-site) ไปเป็นออนไลน์ เรามักจะได้ยินเสียงพร่ำบ่นจากผู้เรียนอยู่เรื่อย ๆ ว่าเรียนไม่รู้เรื่องเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยจากทั้งในไทยและต่างประเทศที่ออกมายืนยันแล้วว่าการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิดทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยได้จริง

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED)มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในส่วนของงานวิจัยในประเทศไทย ทางสถาบันได้ร่วมกับ กสศ. ในการทำงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากเด็กจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่าระดับการเรียนรู้ที่เด็กได้รับในแต่ละวันที่มาโรงเรียนนั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการปิดเรียนยาวนาน

“ความถดถอยของการเรียนรู้หมายถึงการเปรียบเทียบทักษะของเด็กในช่วงเวลาการไปเรียนปกติกับการปิดเรียน สามารถวัดได้จากเครื่องมือทางสถิติ โดยผลการวิจัยที่น่าสนใจคือ การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนส่งผลกระทบเชิงลบกับทักษะคณิตศาสตร์ และ Working Memory ซึ่งหมายถึงความสามารถของเด็กในการจดจำข้อมูล และนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อนำกลับมาใช้ อันเป็นทักษะที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง โดยนัยยะสำคัญอยู่ที่การปิดโรงเรียนที่ยาวนานยิ่งสัมพันธ์กับทักษะที่สูญหายไปเพิ่มขึ้น บางกลุ่มตัวอย่างมีภาวะสูญหายของทักษะมากถึง 90% ข้อมูลเหล่านี้ย้ำเตือนว่าทุกหน่วยงานมีหน้าที่ร่วมกันในการฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย และสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19”

พาเด็กกลับเข้าระบบต้องใช้โปรแกรมที่ครอบคลุม

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีการศึกษา 2/2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนทั้งทางตรงและอ้อม หลายครัวเรือนยากจนลง ทำให้จำนวนเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามีเพิ่มขึ้น หลายคนต้องออกไปประกอบอาชีพและหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก หรือหากยังคงอยู่ในระบบการศึกษา แต่สถานศึกษาหรือครูอาจไม่ได้มีความพร้อมกับการจัดการสอนในสถานการณ์ที่วิกฤต ดังนั้นจังหวัดสมุทรสาครจะพยายามช่วยให้เยาวชนทุกคนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และมีโอกาสที่เสมอภาคในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล

“การพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในสถานการณ์อันไม่ปกติ จำเป็นต้องอาศัยมาตรการโปรแกรมฟื้นฟูที่ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางจังหวัดสมุทรสาคร กสศ. และภาคีเครือข่ายจะเข้ามาช่วยกันดำเนินงาน นอกจากนี้ ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือครอบครัวของนักเรียน ที่ต้องช่วยกันทำให้การศึกษาเรียนรู้ของเด็กมีทางเลือกมากขึ้น เพื่อก้าวไปสู่สมุทรสาครโมเดล จังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน”

การทำงานของสมุทรสาครโมเดล

ในด้านการดำเนินงาน ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าโควิด – 19 คืออุปสรรค แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการค้นหาโมเดลต่าง ๆ มาพัฒนาการศึกษาให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการศึกษา เป้าหมายของโครงการจึงมุ่งไปสู่การสร้างนวัตกรรมในการบริหารจัดการสถานศึกษา และนวัตกรรมในการบริหารระดับจังหวัด

โมเดลที่ดำเนินงานจะเริ่มต้นจากสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถประเมินภาวะการณ์เรียนรู้ถดถอยที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับสำรวจความพร้อมและความต้องการของครูและนักเรียน การส่งเสริมขีดความสามารถของครูและโรงเรียน ทั้งด้านเนื้อหา ศาสตร์การสอนและเทคโนโลยี ด้วยวิธี Micro – Learning การเรียนรู้แบบผสมผสาน และสั้น กระชับ ในรูปแบบบทเรียนออนไลน์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษา และยังสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงเครื่องมือที่จำเป็น จนสามารถพัฒนานวัตกรรมและออกแบบการเรียนรู้เพื่อลดภาวะความรู้ถดถอยให้แก่ผู้เรียนได้

ส่วนนักเรียนนั้น จะเน้นการฟื้นฟูพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน ผ่านการเรียนการสอนทางไกล การพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ ผ่านกล่องการเรียนรู้หรือ Learning Box การพัฒนาทักษะสุขภาวะกายและจิต ใจ ผ่านการเรียนการสอนรายบุคคล ครอบคลุมทั้งผู้เรียนปกติและผู้เรียนที่ต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำงานร่วมกับ ครู ผู้ปกครอง และกลไกอาสาสมัครชุมชนร่วมด้วย

ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของกสศ. และภาคีเครือข่าย ที่ต้องการร่วมกันเดินหน้าฟื้นฟูการศึกษาไทย และช่วยเหลือเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบในช่วงวิกฤตโควิด – 19 ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอนาคตที่สดใสมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม โปรแกรมฟื้นฟูเรียนรู้ถดถอยจะไม่สิ้นสุดอยู่แค่ที่จังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น เพราะได้เตรียมขยายขอบเขตไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า