SHARE

คัดลอกแล้ว

การได้เรียนหนังสือ กินอิ่ม นอนหลับ ได้เล่นเพลิดเพลินตามช่วงวัย มีอ้อมกอดอบอุ่นจากครอบครัว… ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งพื้นฐานในชีวิตที่เด็กและเยาวชนหลายคนได้รับ แต่กลับไม่ใช่กับเด็กและเยาวชนอีกนับแสนคนในสถานพินิจฯ

เช่นเดียวกับ ‘จิรัฎฐ์ ชยบัณฑิต’ ที่ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15 ปี เพื่อทำงานเลี้ยงตัวเอง เพราะครอบครัวไม่มีเงินส่งให้เรียนต่อหลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 และถูกนำตัวเข้าสถานพินิจฯ ในวัย 17 ปี 11 เดือน เขาเล่าว่า การกระทำความผิดของเขา ร้ายแรงและคงไม่มีใครคิดว่าเยาวชนคนหนึ่งจะทำได้ขนาดนั้น เขาถูกจับ ข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษ เป็นยาบ้าจำนวน 218,000 เม็ด และ เฮโรอีน 58 กิโลกรัม

“ตอนนั้นผมอายุ 15 – 16 ปี อยากเรียนต่อมากๆ แต่ที่บ้านไม่มีเงิน พ่อแม่ก็แยกทางกัน ทำให้ ความหวัง ความฝัน ความคิดที่จะเรียนของผมถูกหยุดไว้แค่ตรงนั้น มันจึงทำให้ผมเป็นเด็กและเยาวชนที่ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานเร็วกว่าคนอื่น และด้วยความที่เรายังเด็ก มีเพื่อนร่วมงานอายุเยอะกว่า จะทำอะไรก็ต้องเกรงใจพี่ๆ เขาพูดอะไรเราก็ต้องเชื่อฟัง สุดท้ายด้วยความเคารพความเกรงใจหลอมรวมให้เราไม่สามารถที่จะปฏิเสธอะไรจากพวกเขาได้เลย รวมทั้งฐานะทางบ้านที่ทำให้เราไม่ได้เรียนต่อ ไม่มีเงิน พวกเรารู้จุดอ่อนตรงนั้นว่าเราอยากได้ อยากมี โลภ ทุกอย่างผลักดันให้ผมก้าวสู่การกระทำความผิดตั้งแต่ยังเด็ก และทุกอย่างก็มืดมนลง หลังศาลมีคำสั่งให้ผมฝึกอบรมจนกว่าอายุจะครบ 24 ปีบริบูรณ์ จากนั้นให้เข้าไปอยู่เรือนจำจังหวัดพะเยาอีก 5 ปี เพราะโทษของคดีแรงมาก รวมอยู่ที่ 12 ปี 6 เดือน”

โอกาสทางการศึกษา จุดเปลี่ยน มอบเส้นทางชีวิตใหม่

10 ปีผ่านไป ‘จิรัฎฐ์’ หรือ ‘ร.ต.จิรัฎฐ์ ชยบัณฑิต’ นายทหารปฏิบัติการจิตวิทยา กองร้อย ปฏิบัติการจิตวิทยา กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ในวัย 27 ปี ได้กลับมาแบ่งปันเรื่องราวชีวิตตัวเองอีกครั้งด้วยความภาคภูมิใจ บนเวที Wayfinder: เส้นทาง-โอกาส-จุดเปลี่ยน ในงาน ‘โอกาส Open House สร้างโอกาสการศึกษา เปิดทางชีวิตใหม่’ โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กรมพินิจกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเครือข่ายกว่า 20 องค์กรจัดขึ้น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องราวของคนที่เคยก้าวพลาด และได้รับโอกาส มาแสดงศักยภาพของตัวเองต่อสังคม

“ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณที่ทำให้ผมได้มายืนจุดนี้ หลายท่านคงได้ทราบกันอยู่แล้วว่า ผมเคยเป็นเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด ต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม เข้าทั้งสถานพินิจฯและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ย้อนกลับไปช่วงนั้นในระหว่างกระทำความผิด เยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี ไม่ต้องเข้าไปเรือนจำ เป็นกฎหมายข้อเดียวที่ผมรู้ และเป็นกฎหมายข้อเดียวที่ทำให้ผมได้มาอยู่ตรงนี้ ผมไม่ได้แนะนำให้น้องๆ เข้าสถานพินิจฯ นะครับ แต่กำลังจะบอกว่า ในครั้งนั้นที่ผมทำผิดพลาดมันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมได้พัก ได้หยุดคิด ได้วางแผนอนาคต แล้วกลับตัวเป็นคนดี” ร.ต.จิรัฎฐ์ กล่าว

เขาเล่าอีกว่า ถ้าเป็นคนอื่นกว่าจะได้ออกมาคงอายุเยอะมากแล้ว ส่วนเขาอยู่ในนั้นประมาณ 3 ปีกว่า เพราะคำว่า ‘โอกาส’ จากการที่เข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ ทำให้ได้เห็นโอกาสมากมายที่มอบให้เด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิด ตอนแรกยอมรับว่าวางแผนชีวิตอะไรไม่ได้เลย แต่ช่วงที่เข้าไปทำให้เขาได้มีเวลาทบทวนตัวเอง แล้วลุกขึ้นมาตั้งเป้าหมายว่าจะทำอะไรต่อจากนี้ จากข้างในสถานพินิจฯ

“การศึกษา คือสิ่งแรกที่ผมต้องการ ผมอยากเรียนมากๆ ทางบ้านให้เราไม่ได้ จึงสมัครเรียน กศน. พอถูกส่งตัวมาศูนย์ฝึกฯ ก็เทียบโอนมาเรียนต่อจนจบ ผมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เรียน และเจ้าหน้าที่แนะนำว่าหากเราปฏิบัติตัวดี ก็สามารถขอศาลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้ผมมีแรง ผมร่วมกิจกรรมทุกอย่าง ดนตรี ทักษะวิชาการ ผมทำทั้งหมด จนเรียนจบมัธยมปลาย ระยะของโทษยังยาวนาน จึงได้ปรึกษาอาจารย์ ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมพินิจฯและเครือข่าย และได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่มอบทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี

ผมนั่งรถไปเรียนช่วงเช้า เย็นก็กลับมาพักในศูนย์ฝึกฯ เป็นอย่างนั้นประมาณ 1 ปี เป็นสิ่งเตือนใจว่าสิ่งที่ผมพยายามให้ทุกคนเห็นว่าผมกลับตัวกลับใจได้แล้ว และอยากที่จะกลับออกไปเป็นคนดีของสังคม ผมเรียนคณะวิทยาการจัดการ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.71 เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งสำคัญในชีวิต เพราะสามารถนำผลการเรียนไปทำรายงานส่งศาล และศาลท่านปรับโทษที่ต้องไปต่อเรือนจำออก และผมอยู่ในศูนย์ฝึกฯ ไม่ถึง 4 ปี” ร.ต.จิรัฎฐ์ กล่าว

โอกาสและสิ่งที่ ร.ต.จิรัฎฐ์ ได้รับนั้น เขามองว่า เป็นทั้ง ‘โอกาสจากทุกคนที่มอบให้’ และเป็น ‘โอกาสที่เรามอบให้ตัวเอง’ ได้เห็นความผิดพลาดในตัวเองและก้าวผ่านจุดนั้นมาได้ และเขายังทำให้ทุกคนที่ให้โอกาสภาคภูมิใจ ด้วยการหน้าที่การงานคือ เข้ารับราชการทหารชั้นสัญญาบัตร

“สิ่งที่ผมทำอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่สำหรับใครหลายคน แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นตัวอย่างให้ทุกคนได้เห็นว่า ไม่ว่าใครที่เคยพลาด หรือไม่เคยพลาด ทุกคนควรได้รับโอกาสเหมือนกัน อยากให้ทุกคนมองเห็นโอกาส ทั้งในตัวเองและจากคนอื่นที่มอบให้” เขากล่าว

‘ครู’ คือ ‘โค้ชชีวิต’ ช่วยปรับวิธีคิด เรียกความเชื่อมั่น

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรมพินิจฯ มีนโยบายให้ศูนย์ฝึกฯ ทุกแห่ง สามารถจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบท ตัวตน และความสามารถของเยาวชน โดยเป็นการศึกษาตามแนวทางของการจัดการศึกษาทางเลือก การจัดการศึกษาบนฐานของกิจกรรมหรือกลุ่มประสบการณ์ คู่ขนานไปกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมกับเปลี่ยนศูนย์ฝึกฯ เป็น Community of Learning พื้นที่ฝึกกระบวนการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีตัดสินใจแบบใหม่ โดยบุคลากรเปลี่ยนบทบาทจาก ‘ครู’ เป็น ‘ไลฟ์โค้ช’ คอยมอบความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ องค์ความรู้ ให้เด็กและเยาวชน ให้เขาได้แสดงศักยภาพตามความถนัด เรียกได้เป็นทั้ง ครูต่อยอด ครูเสริมพลัง ครูนักจัดการเรียนรู้

“ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ได้โอกาสกลับเข้าสู่การศึกษาทางเลือกในรูปแบบศูนย์การเรียน ที่ทำงานร่วมกับ กสศ. 1,958 คน และจบการศึกษาไปแล้ว 685 คน ซึ่งการมอบโอกาสทางการศึกษานี้ สะท้อนให้เห็นผ่านสถิติการกระทำผิดซ้ำในปีแรกของเด็กและเยาวชน ลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 22.33 ในปี 2563 ลงลงเหลือร้อยละ 19.66 ในปี 2564 และเหลือร้อยละ 15.78 ในปี 2565 ซึ่งการศึกษาที่มอบให้ได้หล่อหลอมพวกเขาให้มีทางเลือกใหม่ในชีวิต โดยไม่ต้องกลับมากระทำผิดซ้ำ” พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าว

Education For All การศึกษาที่ไม่ทิ้งเด็กและเยาวชนคนใดไว้ข้างหลัง

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าปี 2561-2565 เด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปี กระทำความผิดรวม 134,747 คดี โดยในปี 2565 มีเด็กและเยาวชนทำผิด 12,192 คดี เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมากที่สุดร้อยละ 40.07 และนับการกระทำความผิดที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการกระทำผิดอื่นๆ ตามมา ที่สำคัญคือเกินกว่าครึ่งของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดร้อยละ 68.67 พวกเขาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่แยกทางกัน และส่วนร้อยละ 66.89 ก็พบว่าเป็นเด็กยากจนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และเมื่อพวกเขาออกจากสถานพินิจฯ ไปก็ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อม ครอบครัว ชุมชน ที่ผลักไส ตีตรา ไม่สามารถกลับไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิม จนกลับมากระทำผิดซ้ำ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไม? เราต้อง ‘สร้างโอกาส’ ให้เขาแทน ‘การตัดสิน’

ด้วยความเชื่อว่า ‘เด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพ’ ไม่ว่าพวกเขาจะกำลังเผชิญกับปัญหาใดก็ตาม ระบบการศึกษาต้องสร้างโอกาสและไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลัง กสศ. จึงริเริ่ม โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ร่วมกับกรมพินิจฯ มูลนิธิปัญญากัลป์ และเครือข่ายศูนย์การเรียน 6 แห่ง ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อใช้การศึกษาเป็น ‘เกราะป้องกัน’ และเป็น ‘โอกาส’ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างสมดุลและมีความสุขในสังคมต่อไป สำหรับ 1.เด็กที่สนใจเข้าศึกษาตามแนวทางการศึกษาทางเลือก 2.เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษามาเป็นระยะเวลาที่ไม่เหมาะสมกับการเลือกเรียนหลักสูตร กศน. 3.เด็กที่ไม่มีความพร้อมในการศึกษาต่อด้วยระบบโรงเรียน เพื่อใช้ฐานการฝึกอาชีพ เป็นการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้เพื่อการศึกษาต่อสายอาชีพหรือมีงานทำ 4.เด็กที่กลับไปประกอบอาชีพร่วมกับครอบครัว

โดยประสานกับเครือข่ายศูนย์การเรียนของสถาบันสังคม 6 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ 2.ศูนย์การเรียนเซนต์ยอนห์ บอสโก  3.ศูนย์การเรียนเซนต์ยอนห์ บอสโก ปทุมธานี 4.ศูนย์การเรียนเซนต์ยอนห์ บอสโก กบินทร์บุรี 5.ศูนย์การเรียนเซนต์ เทเรซา 6.ศูนย์การเรียนเซนต์เทเรซา เซ้าท์เทิร์น 7.ศูนย์การเรียนเดวิดคอลลิน 8.ศูนย์การเรียนสยามวิชชาลัย  เพื่อส่งต่อเด็กและเยาวชนระหว่างการฝึกและอบรมภายในศูนย์ฝึก/สถานพินิจ และภายหลังที่ได้รับการปล่อยตัวเพื่อศึกษาต่อ

“ขอใช้คำว่า ‘โอกาส เท่ากับ ชีวิต’ จากการที่เขาเคยถูกกระทำ ถูกตีตรา ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงตัวตน แสดงศักยภาพ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เขาได้เห็นคุณค่าของตัวเอง จากเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่เคยบอบช้ำให้กลับมามีที่ยืนในสังคม เราให้โอกาสให้การเรียนรู้ที่เหมาะสม เขาจะเกิดตัวตนเกิดคุณค่าในตัวเอง กสศ.เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้เด็กที่เคยสูญสิ้นโอกาส ได้กลับมามีโอกาสทางการศึกษา คืนชีวิตให้เขา

เรากำลังสร้างการยอมรับในสังคม เรากำลังคืนเด็กสู่สังคมด้วยความตั้งใจและประณีต เชื่อว่าจะส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ทำให้เด็กที่ผ่านเรื่องราวผ่านเส้นทางชีวิตที่หักเหมาได้ สุดท้ายแล้วงานของกรมพินิจฯ อาจจะกลายเป็นศูนย์ เพราะเราจะไม่มีเด็กที่หวนคืนการกระทำความผิดอีกเลยในอนาคต” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า