กกต.เปิดรายละเอียด ที่ 67 พรรคการเมือง รายงานเกี่ยวกับนโยบายหาเสียง เลือกตั้ง 2566 ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับรู้ก่อนตัดสินใจ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เปิดเผย นโยบายของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งหมด 67 พรรคการเมือง คลิกที่นี่
โดย นโยบายที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ซึ่งถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์มากก่อนหน้านี้คือ กรณีที่พรรคเพื่อไทย ที่เสนอจะให้ ‘เงินดิจิทัล’ กับคนไทยที่อายุตั้งแต่ 16 ขึ้นไป นั้น ใช้ชื่อนโยบายว่า ‘นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล’ วงเงินที่ต้องใช้ คือ 560,000 ล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินว่า จากการบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษี
1. ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 : 260,000 ล้านบาท
2. ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท
3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท
4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท
[เปิดศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง]
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และนายแสวง บุญมี ร่วมกันเปิดศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. – 17 พ.ค. 66 รวม 28 วัน ตามแผนรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พิทักษ์เลือกตั้ง/66)
เพื่อสนับสนุนภารกิจการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ในการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2566 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ภารกิจในห้วงแรกที่ดำเนินการไปแล้ว คือ การรักษาความปลอดภัยสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ สถานที่พิมพ์บัตรเลือกตั้ง และการขนส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ในห้วงต่อไป จะเป็นภารกิจการขนส่งบัตรเลือกตั้งไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ การรักษาความปลอดภัยการเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. 66 ซึ่งลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า รวม 2,153,450 ราย (นอกเขต/ในเขต 2,042,381 ราย นอกราชอาณาจักร 111,069 ราย) และเลือกตั้งทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 66
โดย ตร. ได้จัดกำลังตำรวจดูแลหน่วยเลือกตั้ง 94,913 หน่วย หน่วยละอย่างน้อย 1 นาย รวมถึงภารกิจอื่นๆ เช่น การจัดชุดสืบสวนหาข่าว ชุดรักษาความสงบเรียบร้อย ชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าระงับเหตุ ชุดป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกการจราจร จัดกำลังตำรวจดูแลความปลอดภัยทุกขั้นตอนการปฏิบัติ ตั้งแต่ก่อนเปิดหีบเลือกตั้ง จนถึงการนับคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งแล้วเสร็จ
ตลอดจนนำส่งหีบบัตรเลือกตั้งไปยังที่เก็บรักษาบัตร มีการใช้กำลังตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1 – 9 ตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจสันติบาล ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และตำรวจทุกหน่วยในสังกัด คาดว่าจะใช้กำลังตำรวจในการสนับสนุนภารกิจการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ มากกว่า 130,000 นาย
ทั้งนี้ ตร. ได้ระดมกวาดล้างอาชญากรรม (29 มี.ค. 66 – 10 เม.ย. 66) จับกุมคดีอาชญากรรมประเภทต่างๆ รวม 50,455 ราย จับกุมผู้ต้องหา 53,525 คน และจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวม 4,391 ราย จับกุมผู้ต้องหา 4,320 คน และตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 66 เป็นต้นมา พบว่ามีการกระทำความผิดทำลายป้ายหาเสียง จำนวน 639 ป้าย ในพื้นที่ 21 จังหวัด ดำเนินคดีอาญา 54 คดี โดยอยู่ในพื้นที่ กทม. ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน
การเปิดศูนย์ฯ วันนี้ฯ ผบ.ตร. เน้นย้ำในเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดปฏิบัติ ดังนี้
1. กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามกฎหมายหากพบการกระทำความผิด ให้วางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัด และขอให้หน่วยที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกร้องเรียนว่าวางตัวไม่เป็นกลาง ให้หน่วยเร่งรัดสืบสวนและสรุปข้อเท็จจริง แล้วรายงานมายัง ตร. ทราบ (ผ่าน ศปก.ตร.)
2. ให้ทุกหน่วยจัดฝึกอบรมข้าราชการตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่สำหรับภารกิจการสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามระเบียบ กฎหมาย และเตรียมความพร้อมการปฏิบัติ รวมถึง การจัดทำแผนการปฏิบัติ แผนเผชิญเหตุ
3. วางมาตรการในการป้องกันเหตุความไม่สงบเรียบร้อย การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง หรือการจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองทุกพรรคในพื้นที่รับผิดชอบ
4. กำหนดการระดมกวาดล้างอาชญากรรม ในระหว่างวันที่ 4 – 10 พ.ค. 66 รวม 7 วัน ให้เน้นกลุ่มผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง อาวุธสงคราม ตลอดจนการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับเลือกตั้ง
5. วางแผนการบริหารจัดการกำลังพลสนับสนุนการปฏิบัติตามที่ กกต. ร้องขอ
พร้อมขอความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ พรรคการเมือง และประชาชน ขอให้พึงระมัดระวังอย่ากระทำการใดที่ผิดต่อกฎหมายทางอาญา หรือกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และขอความร่วมมือประชาชน แจ้งข้อมูล เบาะแส สอดส่องพฤติกรรม หรือการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ได้ที่สถานีตำรวจในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หรือ โทร. 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชม. หรือแจ้ง กกต. ในพื้นที่ทราบ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม ตามกฎหมาย