SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ภาษาอังกฤษ’ กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารท่ามกลางมวลมนุษยชาติ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับชาวต่างชาติและยกให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง  แต่การจัดอันดับทักษะภาษาอังกฤษโดยเว็บไซต์ EF.com เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ไทยกลับอยู่อันดับที่ 97 รองจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์และกัมพูชา 

อย่างไรก็ดีคงไม่สายเกินไปที่จะตั้งคำถามตัวโต ๆ กับระบบการศึกษา การเรียนการสอน ว่ามีส่วนทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยลดด้อยถอยหลังหรือไม่? วันนี้ workpointTODAY จะพาทุกท่านมาพูดคุยกับ ครูจุ๊ย—กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า เริ่มตั้งแต่การจัดระบบการศึกษา มุมมองแบบไหนที่คู่ควรกับการเรียนรู้ รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาภาษาอังกฤษอย่างยั่งยืน

ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่อันดับที่ 97 รองจากเมียนมาร์ และกัมพูชา และดูเหมือนจะขยับเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ พอจะ ‘สะท้อน’ อะไรในประเทศไทย

ก็สะท้อนวิธีจัดการศึกษาของเรา โดยเฉพาะในเรื่อง ‘ภาษา’ มันก็ยังเป็นวิธีจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่สมัยจุ๊ยเด็ก ๆ มันเป็นยังไงมันก็ยังคงเป็นแบบนั้น เราเริ่มที่การท่องจำ ไม่ว่าจะเป็นการท่องจำตัวอักษร แกรมม่า ว่าโครงสร้างแบบนี้จะต้องพูดแบบไหน โดยใช้วิธี ฝึก ฝึก ฝึก ทำซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ มันมีแค่นี้มาตลอดเลยในการเรียนภาษาอังกฤษ คนไทยเราถือว่าภาษาอังกฤษมีสถานะเป็นภาษาต่างประเทศ แต่จะต้องอธิบายก่อนว่าภาษาอังกฤษมันมีหลายสถานะ หลายบริบท เช่นถ้าบอกว่าภาษาอังกฤษในฐานะ ‘ภาษาที่สอง’ ประเทศนั้นก็ต้องมีบริบทแวดล้อมที่คนใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลาย แต่ประเทศเราภาษาอังกฤษดันกลายเป็นภาษาต่างประเทศ จึงไม่มีการใช้ภาษาอังกฤษ พอไม่มีคนใช้ภาษาอังกฤษบวกกับการเรียนแบบ ‘ท่องจำ’ ที่ส่งต่อกันมายาวนานมันก็ยังไม่เปลี่ยนสักที เลยทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยโดนฉุดรั้งลงมาเรื่อย ๆ แล้วยิ่งเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เขาพัฒนาการเรียนการสอนไปไกล ก็ยิ่งทำให้ตัวอันดับภาษามันแย่ลง 

น่าสังเกตว่าเพื่อนบ้านของเราอย่างเมียนมาร์ กัมพูชา ก็มีโครงสร้างคล้าย ๆ กันกับไทย แต่เหตุใดถึงมีอันดับภาษาอังกฤษที่ดีกว่า

พูดว่าคล้ายไหม มันก็ไม่ได้คล้ายกันเสียทีเดียว ย้อนกลับไปในอดีตพม่าเคยมีประวัติศาสตร์ที่มีชาวต่างชาติอยู่ในสังคมเยอะประมาณนึงจากการถูกยึดเป็นอาณานิคม ดังนั้นในสังคมของคนพม่า แน่นอนว่ามีโอกาสได้ใกล้ชิดกับภาษาอังกฤษมากกว่าประเทศไทยเรา  

“ภาษาเป็นเรื่องของข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมที่คน ๆ นั้นอยู่ เราจะเห็นว่าพอเราไปอยู่ต่างประเทศที่ทุกอย่างมันเป็นภาษาอังกฤษ สักพักเราก็จะพูดภาษาอังกฤษได้”

ซึ่งถูกผิดแกรมม่าไม่รู้แหละนะ แต่มันก็จะสื่อสารได้ตามธรรมชาติมนุษย์ ทีนี้พอมองกลับมาในประเทศไทย บรรยากาศแบบนั้นไม่ได้มีให้คนไทยได้สัมผัส จะบอกว่าทุกคนสามารถไปเปิดอินเตอร์เน็ตฟังมันก็อาจจะไม่ใช่วิถีชีวิตประจำวันจริง ๆ สักเท่าไหร่ เพราะถ้ามองในมุมของภาษาหากจะให้เราใช้การได้ ก็จะต้องเป็นภาษาที่มันมีจุดประสงค์เพื่อการใช้งาน อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง พอเราไม่มีการป้อนข้อมูลภาษาหรือไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการใช้ภาษาอังกฤษ เราก็จะไม่หยิบเอาภาษาอังกฤษมาใช้เพื่อจะสื่อสารกัน พอไม่เป็นแบบนั้นก็ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้และผลลัพธ์ที่มันควรจะเป็น

ไทยเราเคยมีประวัติศาสตร์การเรียนภาษาต่างประเทศบ้างไหม

ในประวัติศาสตร์ไทยยุคแรก ๆ การเรียนภาษาอังกฤษมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนพูดคุยกับชาวชาติตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในประเทศ แต่คนที่พูดได้ก็มีแต่เหล่าเจ้านายชนชั้นสูง ซึ่งคนพวกนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทยจนชำนาญมากขนาดนั้นก็ได้ เพราะต้องถูกส่งไปเรียนเมืองนอกอยู่แล้วในภายหลัง ดังนั้นเมืองไทยวางรากฐานการเรียนภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นอยู่ประมาณนึงเลยนะ 

 แล้วตอนที่เขาเรียนภาษาอังกฤษอยู่ในไทยก็ไม่จำเป็นจะต้องเรียนให้เก่งขนาดนั้นนะ  เพราะสุดท้ายเขาก็ได้ไปเรียนต่อเมืองนอกอยู่ดี เลยไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่ทีนี้หลักสูตรที่สอนคนยุคก่อนให้เรียนได้ประมาณหนึ่งมันก็ยังเหลืออยู่ในเมืองไทยเรื่อยมา คนไทยปัจจุบันก็เรียนภาษาอังกฤษประมาณนึงไปเรื่อย ๆ ถามว่าไม่พัฒนาบ้างเหรอ ก็คงพัฒนาบ้างแหละเป็นร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่การเรียนเพื่อให้เกิดการสื่อสารจริง ๆ จุ๊ยคิดว่า พอเราเห็นผลลัพธ์การวัดทักษะภาษาอังกฤษมันย้ำว่าเรากำลังตามหลังชาวบ้านเขาอยู่ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ก็คงตั้งคำถามกันหมดแล้วแหละว่าจะให้ฉันท่อง 25 Tenses ไปทำไม? จริง ๆ Tenses มันก็ต้องเรียนแหละ เพียงแต่ว่ามันจะเรียนยังไงเพื่อที่จะให้เราหยิบมันไปใช้เพื่อการสื่อสารได้ แก่นของมันอยู่ตรงนี้ อีกอย่างตัวครูผู้สอนก็สอนแบบซ้ำ ๆ มาตลอด มันก็เลยทำให้ตัวกระบวนการเรียนภาษาเพื่อการสื่อสารมันไม่เกิดขึ้น 

อะไรเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กไทยใช้ภาษาอังกฤษได้ในมุมมองครูจุ๊ย

เอาปัจจัยด้านแนวคิดก่อนละกัน สำหรับคนไทยภาษามันเป็นเครื่องมือบ่งบอกความเป็น ‘ชนชั้น’ หากคุณพูดภาษาอังกฤษได้คุณก็จะมีชนชั้นทางสังคมเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง ยังไม่พอนะ ในภาษาอังกฤษเราก็ยังจะไปโฟกัสสำเนียงกันอีก ว่าสำเนียงไหนที่เราจะยอมรับว่ามันเป็นสำเนียงภาษาอังกฤษที่ดี ฟังแล้วไพเราะ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ภาษาอังกฤษมันหลากหลายมากเลยนะ ไม่ได้มีสำเนียงเดียว เดี๋ยวนี้เขาเติม ‘es’ ให้คำว่า ‘English’ กันแล้ว หมายความว่ามันหลากหลายไม่ได้มีแบบนี้แบบเดียว พอเกิดการเปรียบเทียบ สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องขำขันเกิดการล้อเลียนสำเนียงกัน ทำให้คนที่พยายามจะเรียนภาษารู้สึก “ไม่กล้าพูด” เพราะพูดแล้วเดี๋ยวมันผิด ๆ ถูก ๆ คนจะไม่ยอมฟังเรา จุ๊ยขอเปรียบเทียบภาษาฟินแลนด์แล้วกัน ตัวจุ๊ยเองก็เรียนมาจากคนในบ้าน เพื่อนในโรงเรียน ซึ่งถามว่าหลักไวยากรณ์มันถูกต้อง 100% ไหม มันก็ไม่ถูกทั้งหมดหรอก แต่ว่าคนที่เขาพยายามฟังเรา เขาเข้าใจเรา แต่หากเขาไม่เข้าใจเรา เขาก็จะถาม “ไหนเมื่อกี้พูดว่าอะไรนะ? ไหน ๆ เธออธิบายใหม่สิ ฉันเข้าใจเธอถูกรึเปล่า?” พอมันไม่มีใครมาทำให้เรา ‘กลัว’ หรือเรารู้ว่าจะไม่มีใครมาดูถูกเราเมื่อเราพูดผิด หรือใช้เสียงที่ประหลาด เราก็สามารถฝึกฝนมันไปได้เรื่อย ๆ แต่ของไทยมันมีแนวคิดเหล่านี้เป็นอุปสรรคก้อนใหญ่ ซึ่งเรายังไม่สามารถก้าวข้ามมันไปได้ 

มองลึกลงไปในฟินแลนด์ อะไรที่ทำให้คนฟินแลนด์พูดภาษาอังกฤษได้

บอกก่อนว่าฟินแลนด์มีภาษาราชการสองภาษา เด็กที่เกิดมาก็ต้องเรียนฟินนิชกับสวีดิชอยู่แล้ว แต่คุณจะเรียนภาษาที่สามที่สี่ก็ได้ ภาษาอังกฤษเป็นอีกภาษายอดฮิตของฟินแลนด์ในฐานะภาษาเบอร์สาม แล้วถามว่าฟินแลนด์บริบทใกล้ไทยมั้ย? ก็ใกล้ในแง่หนึ่งที่ว่าชีวิตประจำวันของคนฟินแลนด์ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะเขาก็ใช้อยู่สองภาษา คือฟินดิชกับสวีดิช แล้วทำไมคะแนนภาษาอังกฤษของนักเรียนฟินแลนด์ถึงดีขนาดนั้น เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้สองส่วน ส่วนแรกคือการป้อนข้อมูลภาษาอังกฤษเข้าไปในสังคมทำให้คนฟินแลนด์ได้ยินภาษาอังกฤษตลอดเวลา เช่นสื่อที่อยู่ในโทรทัศน์ของฟินแลนด์เขาก็จะไม่มีการพากย์ภาษาฟินแลนด์ทับมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะถ้าหากมีการพากย์ทับคุณก็จะได้ยินแต่ภาษาฟินแลนด์ ถ้าไม่พากย์ทับ คุณก็จะได้ยินภาษาอังกฤษ อย่างภาพยนต์ สารคดีหรืออะไรก็จะไม่มีการพากย์ทับ มันทำให้คนฟินแลนด์ได้ใกล้ชิดภาษาอังกฤษมากขึ้น 

ส่วนรูปแบบหรือวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของฟินแลนด์มีชื่อว่า ‘Content and Language Intergrated Learning’ เขาเชื่อว่าหากคุณเรียนภาษา คุณจะไม่สามารถเอาเนื้อหาออกจากภาษาได้แต่จะต้องพามันไปด้วยกัน หากเราเรียนภาษาอยู่แล้วจู่ ๆ ครูก็พูดว่า “This is Nancy.” โดยไม่ให้บริบทอะไรเลยเด็กจะไปเข้าใจได้ยังไง เพราะเขาไม่รู้ว่าเราจะพูด “This is Nancy”  ไปทำไม ซึ่งฟินแลนด์มันเชื่อมาก ๆ ว่า หากเราเรียนภาษาอังกฤษด้วยหลักการนี้คุณครูจะต้องไม่ใช้ภาษาฟินแลนด์ในการสอนเลย จะใช้ภาษาอังกฤษอย่างเดียวเท่านั้น ถามว่า “คุณครูแล้วแบบนี้เด็กมันจะรอดหรอ?” ครูก็จะตอบว่า “ ถ้าเด็ก ๆ รู้ว่าครูจะไม่พูดภาษาฟินแลนด์กับเขา เขาจะพยายามใช้ภาษาอังกฤษ และตั้งใจฟังภาษาอังกฤษมากขึ้น เพราะเขาไม่ต้องรอให้ใครแปล เพราะไม่มีใครมาแปลให้ เขาก็จะพยายามมากขึ้น” ดังนั้นมันก็วนกลับมาที่เดิมว่าภาษาอังกฤษมันต้องใช้เพื่อการสื่อสารจริง ๆ  ถ้าสมมติมันเป็นการรับเอาภาษาอังกฤษเข้ามาจากการอ่าน การฟัง แล้วมันมีจุดประสงค์เพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่าง เมื่อเรียนไปสักพักแล้วเราสามารถพูดหรือเขียนได้แล้ว เราก็จะเข้าใจว่าเราพูดหรือเขียนไปเพื่ออะไร ตอนจุ๊ยกลับไปไล่ดูหนังสือเรียนภาษาอังกฤษของฟินแลนด์จุ๊ยเห็นเลยว่า หนังสือเรียนในระดับมัธยมปลาย ทุก ๆ เรื่องราวที่เขาออกแบบมาให้เป็นบทเรียนคือสิ่งที่เด็กฟินแลนด์สามารถเอามาเชื่อมโยงกับตัวเขาได้ แม้จะไม่ได้เป็นบริบทที่เห็นได้ในทุก ๆ วัน แต่มันเชื่อมโยงบางอย่างในชีวิตเขา ส่วนคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ยาก ๆ ครูจะทำหน้าที่แปลเป็นภาษาฟินแลนด์ให้กับเด็ก แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าครูจะจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการอย่างไร พอเขามีเนื้อหาการเรียนภาษาที่มันเชื่อมโยงกับชีวิตของเด็กมาก ๆ เข้า เขาก็จะรู้สึกว่า “เวลาฉันพูดเรื่องนี้ มันก็เหมือนฉันพูดภาษาฟินแลนด์นั่นแหละ” เป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กฟินแลนด์ถึงพูดภาษาอังกฤษได้ดี 

ความเป็น ‘ชาตินิยม’ ของไทย มีส่วนมากน้อยขนาดไหนกับทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ 

จุ๊ยคิดว่าชาตินิยมไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับ ‘สถานะทางสังคม’ ของคนที่ใช้ภาษาอังกฤษในประเทศไทย 

“การที่คนไทยมีการเปรียบเทียบว่าสำเนียงนั้นดีกว่า สำเนียงนี้ดีกว่า อันนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในใจกับเด็ก ๆ หลายคน เด็กก็จะเข้าใจผิดว่าพอเราพูดภาษาอังกฤษแล้ว เราจะ โดนล้อ”

ย้อนกลับไปตอนที่จุ๊ยยังเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ จุ๊ยจะมีการสอบพูดหน้าชั้นเรียนทั้งแบบกลุ่ม กับสอบพูดแบบตัวต่อตัวกับครู โดยจะบอกหัวข้อที่จะออกสอบกับเขาเพื่อให้เขาไปเตรียมตัว พอสอบพูดเสร็จเราก็จะชอบถามเขาว่า “แล้วทำไมตอนยืนอยู่หน้าห้องกับเพื่อนเธอถึงไม่ค่อยพูด แต่พออยู่กับครูแล้ว เธอพูดเอา ๆ”  เขาบอกจุ๊ยว่า “ผมเคยโดนล้อ เวลาพูดอยู่หน้าห้องเรียนมันทำให้ผมอายมาก แต่พอมีครูกับผมสองคนผมก็เลยตอบแบบที่ผมอยากตอบ สรุปก็คือพูดได้ แต่ว่าไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ แล้วเรื่องนี้ถามว่ามันเป็นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ทางภาษาอย่างเดียวหรือเปล่า? ก็ไม่นะ! มันเป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ของสังคม โดยที่ “คุณครูต้องจัดการสถานะการณ์แบบนี้ให้ได้” และจะต้องไม่กลายเป็นคนที่ไปล้อนักเรียนเสียเอง

จริง ๆ จุ๊ยเองก็เคยโดนแซะว่า “อี๋ แกพูดอะไรอะ” ไม่ก็หาว่าเรา “กระแดะ” ซึ่งดีที่เราเป็นคนไม่ใส่ใจกับคำพูดพวกนี้ แต่ถึงอย่างนั้นถ้ามันเกิดการล้อเลียนคุณครูจะต้องเป็นคนจัดการ และพยายามบอกกับพวกเขาว่า “มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ” ปกติเราก็จะไม่ค่อยเห็นคุณครูจัดการกับสถานการณ์แบบนี้แล้วปล่อยผ่านไปจนมันเกิดแผลในใจกับเด็ก ๆ ที่พยายามฝึกภาษาอังกฤษ  ดังนั้นเรื่องนี้สำคัญมาก ๆ อาจมากกว่าชาตินิยมเสียด้วยซ้ำ 

พูดได้ไหมว่า ‘สิ่งแรก’ ที่ครูจุ๊ยอยากจะเปลี่ยนแปลงในการระบบศึกษาภาษาอังกฤษของไทยคืออะไร

อันดับแรกต้องทำให้ภาษาแม่อย่าง ‘ภาษาไทย’ เป็นภาษาที่ถูกใช้เพื่อการสื่อสารจริง ๆ ก่อน ย้อนกลับไปที่เรื่องชาตินิยม จุ๊ยจะบอกว่าชาตินิยมไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับ ‘‘อำนาจนิยม’ หรอก นั่นเพราะเราอยู่ในประเทศที่มีความเป็นเผด็จการสูงมาก ซึ่งเผด็จการไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องการให้คุณสื่อสารกัน ไม่แปลกใจเลยไม่ว่าจะภาษาอะไรก็ตามมันเลยเสื่อมถอยลงไป เราเองก็ไม่ได้เรียนภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร จำได้ไหมว่ามันมีส่วนไหนที่เรียนเพื่อการสื่อสารบ้าง จุ๊ยจำได้แค่การเขียนจดหมายราชการ เราเองก็ชะงักงันคิดในใจว่าทำไมเราไม่ได้เรียนการเขียนบทความที่มันออกมาจากตัวเราจริง ๆ 

“เอาภาษาแม่ก่อนนะ ขนาดภาษาแม่ยังไม่ก้าวหน้า จะไปเอาภาษาต่างประเทศ”

มันเป็นรากฐานที่สำคัญมาก ๆ ต่อการไปเรียนภาษาที่สองหรือภาษาอังกฤษ จุ๊ยมองว่าภาษาไทยมีปัญหา เรามักจะเห็นการสะกดผิด หรือพอเขียนแล้วดูงง ๆ  ในความหมาย  นั่นเพราะหลักการใช้ภาษาและการเรียนภาษาของเรากำลังแย่ลงเรื่อย ๆ เห็นได้จากภาษาไทย 

เหตุใดภาษาแม่จึงเป็นสิ่งแรกที่เราควรโฟกัส

เพราะภาษาแม่มีกลไกบางอย่างที่เราสามารถเอาไปปรับใช้กับภาษาที่สองได้ ถ้าเครื่องมือของเราไม่แข็งแรงตั้งแต่แรกในภาษาแม่  มันก็จะไม่แข็งแรงในภาษาที่สองด้วย หากเราจะเรียนภาษาอังกฤษเราจะต้องมั่นใจก่อนว่าภาษาไทยของเรามีไว้เพื่อการสื่อสารหรือใช้งาน 

ส่วนภาษาอังกฤษ “ยาแรงและยาเร็ว” คือการเปลี่ยนแนวข้อสอบ ซึ่งเป็นวิธีการในระยะสั้นแต่อาจจะส่งผลตามมาค่อนข้างรุนแรงเหมือนกัน นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนเกณฑ์การวัดผล ถ้าหากคุณวัดประเมินด้วยทักษะจริง ๆ เหมือนกับการสอบไอเอล ห้องเรียนก็จะเปลี่ยนไป ยอมรับกันตรง ๆ ว่าเด็กไทยยังคงต้องสอบอยู่ แต่หากวิธีการสอบมันเปลี่ยนเป็นการสอบที่ให้ทักษะด้านการสื่อสารมากขึ้น และทดสอบว่าคุณสื่อสารภาษาอังกฤษได้ บรรยากาศการเรียนในห้องมันก็จะเปลี่ยน แต่ก็คงไม่ได้เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดมากเท่าไหร่ การเรียนภาษาอังกฤษในไทยก็ยังคงเป็นการเรียนเพื่อเอาไปสอบนั่นแหละ ยังไม่ได้เป็นการเรียนเพื่อเอาภาษาไปใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างที่บอกมันเป็นเพียงยาระยะสั้น เป็นยาเร่งด่วน ถ้าจะเอาระยะยาวกว่านั้นคงจะต้องมานั่งคุยกันเรื่องการป้อนข้อมูลของภาษาเข้าไปในสภาพแวดล้อมหรือสังคม 

“เราควรตั้งคำถามว่าจะทำยังไงให้สิ่งแวดล้อมในสังคมมันเกิดการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ให้เด็กได้ฝึกมากขึ้น รวมแนวคิดบูลลี่ต่าง ๆ ด้วย เราจะต้องไม่มานั่งบูลลี่กันนะเวลาคนเขาพูดภาษาอังกฤษ มันไม่ใช่เรื่องที่คุณจะต้องมาบูลลี่ใส่กันเลย”

มิติเสริมอื่น ๆ ยังมีอีกไหมสำหรับการเติมทักษะการเรียนภาษาที่สองให้กับคนไทยในปัจจุบัน

อีกอันนึงที่อยากเสริม คือ ‘เทคโนโลยี’ ต่าง ๆ ในยุคนี้มันมีมากกว่ายุคของจุ๊ยมาก สมัยก่อนเราอยากอ่านหนังสือภาษาอังกฤษสักเล่มก็ต้องอดออมไปหยอดกระปุกซื้อหนังสือที่ร้านเอเวียบุ๊ก เพราะตอนนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ มันยังน้อย ในยุคนี้มันมีเทคโนโลยีมากมาย ตรงนี้รัฐจะต้องสนับสนุนให้ประชาชนหาความรู้จากสิ่งเหล่านี้ให้มากที่สุด อย่างการอุดหนุนพวกคูปองให้ไปเรียนเสริม โดยให้เด็กเลือกสิ่งที่อยากเรียนเอง สมมติว่าเราสนใจจะเรียนภาษาอังกฤษ รัฐก็ต้องอุดหนุนให้เรามีโอกาสเรียนเสริมภาษาอังกฤษ ซึ่งการเรียนเสริมภาษาอังกฤษในปัจจุบันก็มีหลากหลายนะ ทั้งที่เป็นเกม พอเล่นเกมไปได้สักพักอาจจะคูปองคุยกับชาวต่างชาติ มันทำให้เราได้ฝึกฝนตัวเอง แต่วิธีการที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ‘รัฐ’ ก็ต้องสนับสนุนกระบวนการนี้ด้วย เพราะงั้นเราจะไม่มองการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวแล้ว จุ๊ยเองก็เคยเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงการสอบไปแล้ว ซึ่งมันจะทำให้ตัวกระบวนการเรียนรู้มันเปลี่ยนไปด้วย แน่นอนว่าไกลกว่านั้นคือคุณต้องมีการอบรมครูผู้สอนใหม่เพื่อที่จะทำให้ครูมีทักษะในการสอนภาษาอังกฤษให้เกิดการสื่อสารได้จริง แต่คุณต้องไม่ลืมด้วยว่ากระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน มันจะทำให้เราสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างรวดเร็ว เป็นแต้มต่อในความก้าวหน้าทางอาชีพหรือว่าชีวิตของเราด้วย จุ๊ยยกตัวอย่างหนังสือชื่อ ‘Sapiens’  ที่กว่ามันจะเดินทางมาเป็นหนังสือฉบับภาษาไทยเราต้องรอนานหลายปีมาก แต่หากคุณอ่านภาษาอังกฤษออก คุณก็จะรู้ก่อนชาวบ้านชาวช่องเช่นเดียวกัน 

ภาษาอังกฤษถือเป็นประตูที่จะทำให้เราเดินตรงไปหาความรู้ที่มันหลากหลายมากขึ้น แน่นอนว่าในอินเตอร์เน็ตปัจจุบันแค่คุณกดปุ่มแปลภาษามันทำให้เราสามารถอ่านข้อมูลต่าง ๆ ได้ก็จริง แต่ก็อาจจะมีความลำบากอยู่บ้าง บางทีเว็บแปลภาษามันก็ไม่ได้เสถียรอะไรมากนัก แต่อย่างน้อย ๆ คุณก็อาจจะได้เห็นแล้วแหละว่าการที่คุณสามารถเข้าถึงภาษาอังกฤษได้ เพียงแค่คุณใช้แอพแปลภาษามันอาจจะเป็นความรู้คนละชุดกับที่คุณมีอยู่ในตอนนั้นก็ได้ ดังนั้นมันจะดีกว่าไหมถ้าคุณเสพมันด้วยต้นทางของภาษาจริง ๆ เราต้องอย่าลืมว่าภาษาอังกฤษไม่ได้ให้แค่ทักษะภาษาหรือเครื่องมือกับคุณแค่นั้นหรอก จริง ๆ แล้วอีกสิ่งนึงที่มันให้ก็คือ “ระบบระเบียบวิธีคิด” 

สุดท้ายนี้ ‘รัฐ’ ควรรับมือยังไงกับปัญหาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย

สิ่งที่จุ๊ยจะขอคือขอให้รัฐรับมือตั้งแต่ทักษะภาษาไทยที่แย่ลงเป็นต้นไปเลย โดยบูรณะปฏิสังขรการเรียนภาษาไทยให้มันมีประสิทธิภาพและเป็นไปเพื่อการสื่อสาร ส่วนภาษาอังกฤษยังไงแล้วก็จำเป็นจะต้องเทรนครูชุดใหญ่ รัฐจะต้องวางแผนระยะยาว เช่น แผนสามปี ห้าปี หรือสิบปี ตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าในแต่ละช่วงแต่ละปีคุณจะทำอะไรบ้างให้มันมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษนะ ภาษาไทยก็ด้วย พร้อมทั้งศึกษาปัญหาให้ชัดเลยว่า “เด็กมีปัญหาอะไรบ้าง” แล้วเราขอร้องเลยว่าโปรดทำความเข้าใจบริบทของผู้เรียนในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยที่มีภาษาแม่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นสิ่งแรกคุณจะต้องจัดการคือการเรียนภาษาไทยให้กับเด็กที่มีพื้นหลังไม่เหมือนกันให้มีประสิทธิภาพเสียก่อน ถ้าเปลี่ยนตรงนี้ได้เด็กก็จะมีเครื่องมือที่พร้อมพัฒนาไปสู่ภาษาอังกฤษได้เร็ว หน้าที่ต่อไปของรัฐคือการสนับสนุนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เป็นการเรียนรู้เพื่อการสื่อสารจริง ๆ และต้องมีการป้อนข้อมูลภาษาอังกฤษเข้าไปในชีวิตประจำวันของคนไทย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียน จุ๊ยอาจจะพูดเรื่องห้องสมุดแถมอีกข้อหนึ่ง ห้องสมุดของไทยหนังสือภาษาไทยก็ดูไม่ค่อยได้แล้วนะ เพราะมันมแต่หนังสือของแถมซึ่งไม่ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ แล้วเราจะคาดหวังให้เด็ก ๆ เขาไปหาเอาความรู้ที่มันไม่มีค่าใช้จ่ายจากที่ไหนกันในเมื่อมันไม่มีคุณภาพ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้มันต้องเป็นหน้าที่ของรัฐในการทำให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด และโปรดจงเป็นรัฐที่ใจกว้างและเปิดกว้าง โปรดจงเป็นรัฐที่อย่าชี้นิ้วว่าจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่จุ๊ยกลัวมาก เพราะล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการบอกจะให้เด็กเรียนประวัติศาสตร์ที่ทำให้เรารักและหวงแหนวัฒนธรรมความเป็นไทย ดิฉันก็งงว่า เราจะหวงแหนอยู่อย่างเดียวแบบนี้เหรอ การเชื่อมตัวเองกับพลเมืองโลกก็คือการเรียนภาษามันเปิดทางให้เราได้คุยกับคนอื่น ๆ นอกจากคนไทย 

ระบบการศึกษาของไทยยังคงเดินหน้าด้วยนโยบายเดิมมากว่า 14 ปีแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลของนายกหญิงยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร โดยใช้แผนการเรียนการสอน และประเมินผลการเรียนการสอนในทุก ๆ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของวิชาต่าง ๆ รวมทั้งภาษาต่างประเทศถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปี 2551 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในแต่ละระดับชั้น ตัวชี้วัดของผู้เรียน และการประเมินผลการเรียนเอาไว้อย่างชัดเจน 

อย่างไรก็ตามแม้การจัดอันดับทักษะภาษาอังกฤษที่มีการเผยแพร่จะทำให้สังคมไทยตื่นตัวกับสิ่งที่เห็นอยู่บ้าง แต่หากเป็นการตื่นตัวแค่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไร้วี่แววการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่ว่าในปีหน้าเมื่อมีการจัดอันดับอีกครั้งหนึ่ง เราอาจจะไม่ได้อยู่ในลำดับที่ 97 เหมือนเดิมก็ได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า