SHARE

คัดลอกแล้ว
https://youtu.be/2G93jbQrLTw
หากพูดถึงปัญหาใน กทม. คุณจะนึกถึงอะไร รถติด ฟุตปาธไม่เรียบ มลพิษ หรือปัญหาขนส่งสาธารณะ?
 
กรุงเทพฯ ก็เหมือนเมืองหลวงในหลายประเทศที่ยังไม่หลุดพ้นจากปัญหาพื้นฐานที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้คน แต่ประชาชนก็ยังไม่หมดหวังที่จะวาดฝันให้เมืองหลวงของประเทศ กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตร และเอื้อต่อการใช้ชีวิตของประชาชน
 
ซึ่งหนึ่งในความหวังที่ดีที่สุดที่จำไปถึงจุดนั้นได้ก็คือ ‘พ่อเมืองที่ดี’ ถ้าเรามีผู้ว่าฯ ที่ดี ผู้ว่าฯ ที่เข้าใจปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนชั้นรากหญ้า เขาจะไม่แก้ปัญหาจากมุมของผู้นำ แต่จะแก้ปัญหาจากมุมของประชาชน และคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็จะไม่พ้นประชาชนด้วยกันเอง
 
ว่าแต่การมีผู้ว่าฯ ที่ดีจะเปลี่ยนเมืองได้ขนาดนั้นเลยจริงหรือ?
 
ชวนดูกรณีศึกษาเส้นทางการทำงานของ Enrique Penalosa อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ที่ใช้เวลาราว 3 ปี พลิกโฉมเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาจราจร การใช้ที่ดิน และพื้นที่สาธารณะ ให้กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คน
 
⚫️ นิยามของคำว่าเมืองที่ดี
 
ถ้าจะพูดถึง ‘เมืองที่ดี’ Jan Gehl นักผังเมืองชาวเดนมาร์ก ผู้วางผังเมืองโคเปนเฮเกน เคยให้คำนิยามไว้ว่า “เมืองที่ดีเป็นเมืองที่คนอยากออกจากบ้าน มีพื้นที่สาธารณะแสนวิเศษที่ไม่เคยหยุดมอบความสุขให้กับผู้คน… และเป็นเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่รู้สึกโดนกีดกัน”
 
แต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 โบโกตาเป็นเกือบทุกอย่างที่ตรงข้ามกับนิยามความเป็น ‘เมืองที่ดี’ ในความหมายของ Jan Gehl
 
โบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย ก็เหมือนอีกหลายพื้นที่ในโลก ที่ในเวลานั้นต้องเผชิญกับการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพจำนวนมากที่เป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และนำมาสู่ปัญหาทรัพยากรขาดแคลน ทรัพย์สินสาธารณะถูกเปลี่ยนเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ พ่วงด้วยปัญหายาเสพติด อาชญากรรม
 
ในเวลานั้น โบโกตากลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในปี 1990 รวมถึงเป็นเมืองที่ต้องสูญเสียประชากรเด็กไปจากปัญหาระบบทางเดินหายใจ และระบบย่อยอาหารเนื่องจากอากาศ และคุณภาพน้ำไม่ดี แต่แล้ว โบโกตาก็เริ่มเปลี่ยนไป ด้วยฝีมือของผู้นำที่ชื่อว่า Enrique Penalosa
 
⚫️ ผู้นำดีเปลี่ยนเมือง
 
ในช่วงปี 2541-2544 ที่ Penalosa รับตำแหน่ง เดิมทีเขามีแผนจะย้ายเมืองหลวง แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่าการย้ายเมืองเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และเป็นการทอดทิ้งประชาชนคนตัวเล็กให้ต้องอาศัยในเมืองที่กำลังค่อยๆ เฉาตายไปทีละนิด เพราะมีแต่คนที่มีกำลังทรัพย์เพียงนั้นที่จะเดินตามนโยบายนี้ได้
 
ดังนั้น Penalosa จึงตัดสินใจเปลี่ยนจากนโยบายย้ายเมือง มาเป็นนโยบายเปลี่ยนเมือง ด้วยการประกาศสงครามกับรถส่วนตัว ที่เพิ่มขึ้นหลังประเทศเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของยานพาหนะส่วนตัว ทำให้เมืองต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการขยายตัว และมาเบียดเบียนพื้นที่สาธารณะ และทรัพยากรที่ควรเป็นของคนส่วนรวม
 
ชาวเมืองอาจจะไม่รู้ตัว แต่พวกเขากำลังสูญเสียสิทธิการมีชีวิตที่ดีในบ้านของพวกเอง ทั้งการเดินบนถนนอย่างปลอดภัย การนั่งบนสวนสาธารณะที่มีคุณภาพ และการมีอากาศบริสุทธิ์ ดังนั้นเพื่อทวงคืนสิ่งเหล่านี้กลับมา Penalosa ตัดสินใจยกเลิกแผนขยายถนนทางหลวง และนำงบประมาณส่วนนั้นมาลงกับนโยบายและสาธารณูปโภคที่เป็นประโยชน์กันประชาชน
 
⚫️ นโยบายของ Penalosa นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่
 
ไม่ว่าจะเป็น
– จำกัดการใช้รถส่วนตัวในชั่วโมงเร่งด่วน
– ผลักดันให้สภาเทศบาลเมืองขึ้นภาษีน้ำมัน และนำส่วนต่างนี้ไปลงทุนกับระบบสาธารณะ
– วางระบบขนส่งสาธารณะแบบใหม่ที่ชื่อว่า TransMilenio สร้างทางพิเศษให้รถสาธารณะโดยเฉพาะ
– ปรับปรุงทางเท้าระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร
– สร้างเส้นทางจักรยานยาว 300 กิโลเมตร
– เพิ่มถนนคนเดิน ทางสีเขียว และสวนสาธารณะกว่า 1,200 แห่ง
 
แม้ปัจจุบัน โบโกตาจะยังไม่ใช่เมืองเกรด A ในแง่การอยู่อาศัย จากการจัดอันดับของ Globalization and World Cities Research Network เมื่อปี 2020 ยกให้โบโกตาเป็นเมืองเกรด B+ แต่หากมองย้อนกลับที่ที่จุดเริ่มต้นก่อนการพัฒนา จะพบว่าโบโกตาเดินทางมาไกลมาก จากเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรม มลพิษ ปัญหาการใช้ที่ดี ซึ่งหนึ่งในนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์
 
แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้น ต้องแลกมาด้วยอะไรมากมาย Penalosa เล่าใน Ted Talk ว่าระหว่างที่เขาพยายามผลักดันนโยบายอย่างยากลำบาก เขาเกือบถูกขับออกจากตำแหน่ง เคยเกือบถูกฟ้องร้อง จากนโยบายติดตั้งเสาตามถนนเส้นสำคัญ เพื่อป้องกันการจอดรถยนต์ขวางทางเท้า อีกทั้งยังเจอเสียงวิจารณ์จากประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะเหล่ามหาเศรษฐี เพราะนโยบายเปลี่ยนคลับกอล์ฟ และสถานบันเทิงเป็นสวนสาธารณะ
 
การพัฒนาของ Penalosa แลกมาด้วยคะแนนนิยมที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในฐานะนักการเมือง การสูญเสียสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมได้ง่ายๆ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยอมเสี่ยง และผลลัพธ์ก็ไม่ได้ต่างจากที่คิดไว้ แนวคิดสุดโต่งในเวลานั้น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เขาไม่ได้รับชัยชนะเลือกตั้งตำแหน่งผู้นำเมืองในครั้งต่อมา
 
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียว และปัญหามลพิษ Penalosa กลับมาคว้าชัยชนะตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตาอีกครั้งในปี 2558 ชัยชนะที่มาพร้อมความหวังของผู้คนว่าเขาจะพลิกฟื้นพื้นที่ที่ยังมีปัญหาให้กลับมาเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับผู้คนอีกครั้ง
 
Penalosa ยังคงได้รับการชื่นชมว่าจนถึงปัจจุบันว่าในฐานะผู้นำที่พลิกโฉมเมืองที่เคยเต็มไปด้วยสารพัดปัญหา ให้เป็นเมืองที่ผู้คนสามารถเดินบนท้องถนนได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ซึ่งเครดิตส่วนนี้ก็ต้องยกให้เขา แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตต่อไปคือ Penalosa ไม่ได้ทำสำเร็จแค่เพราะความมุ่งมั่น แต่ระบบยังเปิดช่องว่างให้เขาได้ทำด้วย
 
⚫️ ระบบเปิดทางให้ผู้นำได้โชว์ความสามารถ
 
ระบบบริหารท้องถิ่นของโบโกตา ซึ่งเป็นเมืองหลวง มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในโคลอมเบีย เช่นเดียวกับ กทม. สภาเทศบาลเมืองโบโกตามีอำนาจปกครองสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองเพียงสภาระดับชาติ
 
ขณะที่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีที่ทำงานภายใต้กลไกสภาเทศบาลเมือง ก็มีอำนาจปกครองเป็นรองเพียงประธานาธิบดี และในฐานะผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดและหัวหน้ารัฐบาลบริหารส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลงานสาธารณะทั้งหมด รวมไปถึงการให้บริการสาธารณะ ขณะที่สภามีอำนาจออกระเบียบส่งเสริมการพัฒนาเมือง และผู้อยู่อาศัยอย่างครบวงจร
 
นอกจากนี้ ในฐานะตัวแทนฝ่ายตุลาการของเมือง ยังมีบทบาทในการทำสัญญาหรือข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับเมืองเอง ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ให้อิสระกับ ‘เมือง’ ในการพัฒนา ‘เมือง’ มากทีเดียว
 
⚫️ เปรียบเทียบกับไทย
 
ส่วนเมืองหลวงของไทย อย่าง กทม.หากจะพูดกันตามตรง ผู้ว่าฯ ไม่ได้มีอำนาจที่จะเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองต่อให้อยากทำมากแค่ไหนก็ตาม เพราะ กทม.มีปัญหาการทับซ้อนกันของอำนาจมาอย่างยาวนาน
 
แม้ผู้ว่าจะมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย วางระเบียบการทำงานของ กทม. และบริหารราชการตามคำมอบหมายของคณะรัฐมนตรี แต่ปัญหาพื้นฐานหลายอย่าง กทม.กลับไม่มีอำนาจโดยตรงเข้าไปแก้ไข เพราะมีหน่วยงานที่ดูแลโดยเฉพาะอยู่แล้ว
 
อย่างเช่น กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ดูแลการขนส่งทางน้ำ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดูแลรถเมล์ (รวมถึงรถเมล์ร้อนที่ยังใช้ในปัจจุบัน) ส่วนสายไฟระโยงระยางตามตรอกซอกซอยต่างๆ ก็เป็นสายสื่อสารของบริษัทเอกชน
 
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้มีสิทธิก้าวล่วงอำนาจ หากจะแก้ปัญหาผู้ว่าฯ ก็ต้องทำผ่านการเจรจา และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เป็นรายหน่วยงานไป ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า และไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโจทก์ใหญ่ที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องเข้ามาแก้ไข เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาด้านอื่นๆ
 
การเลือกตั้งที่จะมาถึงในปลายเดือนพฤษภาคม เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 9 ปีของชาว กทม. ก่อนหน้านี้ณัฐพล แย้มฉิม ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล บอกว่าผลสำรวจเมื่อปลายปี 2564 พบว่า สิ่งที่คน กทม.อยากได้จากผู้ว่าฯ มากที่สุด 85% คือ การแก้ปัญหาจราจร ตามมาด้วยการดูแลคุณภาพชีวิต 70% และดูแลเรื่องรายได้-ค่าครองชีพ 64% ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่ที่ 60%
 
Enrique Penalosa เคยพูดถึงเมืองโบโกตาไว้ว่า “เราอาจไม่มีมหาวิหารนอร์เทอดามหรือพาร์เธนอน แต่เราสามารถมีถนนที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขตร้อนแบบที่ปารีสและเอเธนส์ไม่มีวันมีได้เช่นกัน”
 
จากนี้อาจถึงเวลาที่ กทม.ต้องเลือกว่า เราจะเป็นเมืองที่มีมหาวิหารอันโอ่โถง มีต้นไม้อันร่มรื่น หรือมีทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน
อ้างอิงจาก
https://www.resite.org/stories/enrique-penalosa-on-the-democracy-of-sidewalks-and-bike-lanes
https://www.ted.com/talks/enrique_penalosa_why_buses_represent_democracy_in_action
https://www.theguardian.com/cities/2016/oct/17/enrique-penalosa-mayor-bogota-colombia-bus-traffic-un-habitat
https://www.theguardian.com/world/2015/oct/26/colombia-bogota-mayor-enrique-penalosa-re-elected
https://www.lboro.ac.uk/microsites/geography/gawc/
https://www.matichon.co.th/article/news_3123363
https://mgronline.com/specialscoop/detail/9650000008269
https://www.banrep.gov.co/sites/default/files/eventos/archivos/LOZANO_air_quality.pdf
 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า