SHARE

คัดลอกแล้ว

 เมื่อ M-Flow ไม่ Flow สมกับชื่อ หนึ่งในดราม่าที่ทำคนไทยปวดหัวนอกจากตัวระบบเก็บเงิน ก็คือ ‘ป้ายจราจร’ ของ M-Flow ที่ไม่ชัดเจน ยืดยาว ทำเอาหลายคนเข้าใจผิด งุนงง และเกิดปัญหาตามมามากมาย

TODAY Bizview ชวนคุณอำนาจ สุริยะวงศ์กุล นักออกแบบสาย Environmental Graphic Design ลองทำป้าย M-Flow ขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า เราสามารถออกแบบป้ายจราจรที่ผู้คนอ่านง่ายขึ้น และสื่อสารชัดเจนขึ้น ได้หรือไม่? ไปดูกัน..

ก่อนอื่น ทำความรู้จักกฎของป้ายจราจรบ้านเรากันก่อน 

กฎเกณฑ์เกี่ยวกับป้ายจราจรของไทยอย่างคร่าวๆ อ้างอิงจากกรมทางหลวง บอกเอาไว้ว่าป้ายจราจรมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ 1) ป้ายบังคับ 2) ป้ายเตือน และ 3) ป้ายแนะนำ โดยป้ายแต่ละประเภทจะใช้งานในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

สิ่งที่แยกแยะประเภทป้ายได้ง่ายที่สุดคือ ‘สี’ แต่ก็มีรายละเอียดแยกย่อยอีกมาก โดยป้ายประเภทนึงอาจใช้สีหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น

– ป้ายบังคับ มีทั้งพื้นสีขาว แดง และน้ำเงิน ให้ผู้ใช้ทางต้องปฏิบัติหรืองดเว้นตามคำสั่ง ซึ่งมีผลบังคับตามกฎหมาย

– ป้ายเตือน โดยทั่วไปพื้นจะเป็นสีเหลือง ใช้เตือนให้ผู้ขับขี่ทราบถึงสิ่งที่จะเกิดข้างหน้า จำเป็นต้องเตรียมตัว เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น 

– ป้ายแนะนำ ใช้บอกข้อมูลทั่วไป ในกรณีบนทางพิเศษมักใช้เป็นพื้นสีน้ำเงิน ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์เป็นสีขาว มีทั้งแบบติดตั้งข้างทาง และคร่อมบนผิวจราจร 

ป้ายที่กำลังเป็นประเด็นอย่างป้าย M-Flow ระบุช่องเก็บเงินอัตโนมัติ ก็มีป้ายทั้ง 3 ประเภทติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ในแต่ละช่วงถนนใกล้ด่านจ่ายเงิน เพื่อแจ้งข้อมูลให้ทราบ เตือนเตรียมตัวให้พร้อม และบังคับให้เข้าช่องจราจร เลือกทางการจ่ายเงินที่ถูกต้อง 

ส่วนมาตรฐานในการออกแบบป้ายจราจร ในคู่มือมีท่อนหนึ่งที่บอกอย่างชัดเจนว่า “ป้ายต้องมีรูปร่าง สี ขนาด เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ตัวอักษร ตัวเลข เพื่อให้ผู้ขับขี่บนทางหลวงมองเห็นได้อย่างชัดเจน สามารถอ่านได้ง่าย ทำความเข้าใจได้รวดเร็ว และมีเวลาในการปฏิบัติตามอย่างเพียงพอ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องนำไปใช้อย่างถูกต้องและให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ”

และมีข้อกำหนดอื่นๆ ด้วย เช่น การใช้วัสดุบนป้ายจราจรต้องสะท้อนแสงความเข้มสูง เพื่อให้เวลากลางคืนเห็นได้ชัด,  ตัวอักษรและตัวเลขที่ใช้บนแผ่นป้ายบนทางพิเศษ จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าป้ายแนะนำทั่วไป รองรับการจราจรที่ไหลอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วสูง เป็นต้น

แม้ว่ากรมทางหลวงจะเขียนกำกับไว้แบบนั้น แต่ปัญหาหลักที่พบในป้าย M-Flow กลับสร้างเซอร์ไพร์สให้ประชาชนไม่น้อย เช่น มีข้อความที่อ่านยากด้วยขนาดยาวเหยียด อัดแน่นอยู่บนแผ่นป้ายเดียว และยิ่งมีข้อความภาษาอังกฤษด้วย ยิ่งบีบตัวหนังสือให้แคบลงไปอีก 

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่ามันจำเป็นต้องยาวขนาดนี้เลยหรือ บางป้ายเรียงรูปประโยคเข้าใจยาก ทำให้การสื่อสารความหมายก็มีความกำกวม ไม่กระชับ ทั้งๆ ที่มันสามารถลดทอนคำได้ นอกจากนี้ยังพบปัญหาการเลือกใช้สีป้าย ไม่ได้เตือนให้รู้ว่ามีช่องจราจร M-Flow อยู่ข้างหน้า และสีตัวโลโก้ M-Flow ที่อาจมองไม่ชัดในเวลากลางคืน ฯลฯ

เราลองมาออกแบบป้ายจราจรกันใหม่ โดยใช้หลักการ Environmental Graphic Design ออกแบบให้อ่านง่าย สื่อสารชัดเจน เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และมองคนใช้งานเป็นศูนย์กลาง

ทดลองออกแบบป้ายจราจร M-Flow ใหม่ ปรับตรงไหนบ้างดี 

ก่อนหน้านี้ ช่องจ่ายเงินบนทางพิเศษมีแยกเพียง 2 ฟังก์ชัน คือเงินสดและบัตรอัตโนมัติ (Easy Pass)  ซึ่งคนทั่วไปคุ้นเคยดีอยู่แล้ว แต่เมื่อช่องจ่ายเงินได้เพิ่มฟังก์ชันแบบที่ 3 เข้ามาอย่าง M-Flow การสื่อสารให้ผู้ขับขี่รับรู้โดยทันทีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางคนไม่ทราบมาก่อน

เราได้ลองออกแบบป้ายใหม่จำนวน 3 ป้ายด้วยกัน โดยอ้างอิงจากป้ายจริงที่ใช้งานบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 โดยสิ่งที่ปรับเปลี่ยน มีรายละเอียดดังนี้

1.)   ปรับข้อความให้กระชับขึ้น เปลี่ยนประโยคให้สั้นลง แต่ยังคงความหมายชัดเจน เพื่อให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องตีความมากเมื่อขับรถผ่านป้าย สามารถสร้างความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น 

– ข้อความ “ห้ามรถไม่ลงทะเบียนผ่าน” เปลี่ยนใหม่เป็น “ลงทะเบียนแล้วเท่านั้น”

– ป้าย “รถที่ผ่านช่องทาง M-FLOW แต่ไม่ได้ลงทะเบียน มีความผิดตามกฏหมาย สมัครใช้บริการ ติดต่อสอบถามได้ที่ www.mflowthai .com หรือโทร 1586 กด 1” เปลี่ยนเป็นโลโก้ M-Flow แทน แล้วเพิ่มเว็บไซต์ติดต่อสั้นลงเป็น mflowthai .com / โทร 1586 พร้อมข้อความ “ใช้ช่องทางโดยไม่ลงทะเบียน มีความผิดตามกฏหมาย”

2.)   ทำให้ป้าย M-Flow สะดุดตามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเวลากลางคืน โดยปรับตัวโลโก้ M-Flow ให้โดดเด่นด้วยการใช้สีขาว สีเดียวไปเลย เพราะจะช่วยให้สะท้อนแสงไฟได้ดี และได้เปลี่ยนสีพื้นหลังของป้ายจากสีขาวเป็นสีอื่น เพื่อไม่ให้สะท้อนแสงแข่งกับตัวโลโก้

3.) เพิ่มส่วนของป้ายเตือนสีเหลืองให้โดดเด่นขึ้น เพื่อทำให้ผู้ขับขี่มองเห็นชัดเจน และเตรียมตัวให้พร้อม

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มตัวเลือก สำหรับป้ายเงินสดและบัตรอัตโนมัติ ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่คนคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ปรับให้เป็นข้อความบนสีพื้นของป้ายไปเลย เน้นให้อ่านง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้กรอบสีขาวเพิ่มเติม ช่วยลดความสับสน

ข้อเสนออื่นๆ คือ ควรสร้างความสม่ำเสมอด้วยการติดตั้งป้ายจราจรตามระยะทางต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อที่ผู้ขับขี่จะสามารถเตรียมตัวเปลี่ยนเลนได้ถูกต้องและปลอดภัย แก้ปัญหารถติดในรัศมีใกล้ด่านเก็บเงิน รวมถึงใช้สีทาพื้นผิวถนนที่สอดคล้องไปกับสีของป้ายในแต่ละช่องจราจรด้วย

รวมแบบนำเสนอ 5 แบบ

ภาพนำเสนอ 1 : 

1.) ปรับข้อความให้กระชับและได้ใจความ จาก “ห้ามรถไม่ลงทะเบียนผ่าน” เปลี่ยนใหม่เป็น “ลงทะเบียนแล้วเท่านั้น” ส่วนภาษาอังกฤษ จาก “M-FLOW Registered Vehicles Only” เปลี่ยนใหม่เป็น “Registered Only” พร้อมใช้พื้นหลังเป็นสีเหลือง เป็นป้ายเตือนให้ผู้ขับขี่เตรียมตัวให้พร้อม

2.) แยกป้ายโลโก้ M-Flow มาอยู่ด้านล่างอีกป้าย โดยปรับสีโลโก้ให้เป็นสีขาวล้วน เวลากลางคืนจะสะท้อนแสงได้ชัดเจนกว่าเดิม และได้ปรับสีพื้นหลังของป้าย จากสีขาวไปใช้สีอื่นแทน (กรณีนี้ผู้ออกแบบ ยกตัวอย่างเป็นสีแดง) เพื่อทำให้สีของโลโก้ M-Flow โดดเด่นยิ่งขึ้น

3.) ตัดป้ายเตือนสีเหลือง “รถทุกประเภท” ออก เนื่องจากอาจสร้างความสับสนใจผู้ขับขี่ได้ 

4.) ส่วนป้ายสีน้ำเงิน ได้ลบกรอบสี่เหลี่ยมสีขาวบริเวณข้อความ เงินสดและบัตรอัตโนมัติ ออกไป เพราะเป็นฟังก์ชันที่คนรู้อยู่แล้ว จึงไม่ต้องการเน้นมาก แต่อยากให้ฟังก์ชันช่อง M-Flow ด้านขวา เห็นโดดเด่นมากที่สุด 

ภาพนำเสนอ 2 :

ภาพนี้ใกล้เคียงกับ ภาพนำเสนอ 1 มีข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อย โดยยังคงรูปแบบป้ายสีน้ำเงินเช่นเดิม ไม่ได้ตัดกรอบสีขาวบริเวณข้อความ เงินสดและบัตรอัตโนมัติ ออกไป

1.) ปรับข้อความให้กระชับและได้ใจความ จาก “ห้ามรถไม่ลงทะเบียนผ่าน” เปลี่ยนใหม่เป็น “ลงทะเบียนแล้วเท่านั้น” ส่วนภาษาอังกฤษ จาก “M-FLOW Registered Vehicles Only” เปลี่ยนใหม่เป็น “Registered Only” พร้อมใช้พื้นหลังเป็นสีเหลือง เป็นป้ายเตือนให้ผู้ขับขี่เตรียมตัวให้พร้อม

2.) แยกป้ายโลโก้ M-Flow มาอยู่ด้านล่างอีกป้าย โดยปรับสีโลโก้ให้เป็นสีขาวล้วน เวลากลางคืนจะสะท้อนแสงได้ชัดเจนกว่าเดิม และได้ปรับสีพื้นหลังของป้าย จากสีขาวไปใช้สีอื่นแทน (กรณีนี้ผู้ออกแบบ ยกตัวอย่างเป็นสีแดง) เพื่อทำให้สีของโลโก้ M-Flow โดดเด่นยิ่งขึ้น

3.) ตัดป้ายเตือนสีเหลือง “รถทุกประเภท” ออก เนื่องจากอาจสร้างความสับสนใจผู้ขับขี่ได้ 

ภาพนำเสนอ 3 :

1.) ปรับข้อความบนป้ายเตือนนี้ ให้สั้นลง ข้อความภาษาไทยจาก “รถที่ผ่านช่องทาง M-FLOW แต่ไม่ได้ลงทะเบียน มีความผิดตามกฏหมาย สมัครใช้บริการ ติดต่อสอบถามได้ที่ www.mflowthai .com หรือโทร 1586 กด 1” เปลี่ยนเป็นโลโก้ M-Flow แทน แล้วเพิ่มเว็บไซต์ติดต่อสั้นลงเป็น mflowthai .com / โทร 1586 พร้อมข้อความ “ใช้ช่องทางโดยไม่ลงทะเบียน มีความผิดตามกฏหมาย” 

2.) จากข้อความภาษาอังกฤษด้านล่าง “Non M-Flow Registered Vehicles is illegal. Registered & Contact www.mflowthai.com / 1586 Ext.1” เปลี่ยนเป็น “Non Registered id illegal”

3.) เปลี่ยน Icon รูปโทรศัพท์ให้เป็นสีเข้ม เพิ่มความชัดเจนยิ่งขึ้น

4.) เปลี่ยนโลโก้ M-Flow ที่อยู่ในประโยค แยกออกมาวางไว้ส่วนบนสุดของป้ายเพื่อให้โดดเด่น พร้อมทั้งปรับสีโลโก้ให้เป็นสีขาวล้วนช่วยสะท้อนแสงได้ดีเวลากลางคืน และได้ปรับสีพื้นหลังของโลโก้เป็นสีอื่นแทน (กรณีนี้ผู้ออกแบบ ยกตัวอย่างเป็นสีแดง) 

ภาพนำเสนอ 4 :

1.) เปลี่ยนสีโลโก้ M-Flow ให้เป็นสีขาวล้วนช่วยสะท้อนแสงให้อ่านได้ง่ายและชัดเจนในเวลากลางคืน และได้ปรับสีพื้นหลังของโลโก้เป็นสีอื่นแทน (กรณีนี้ผู้ออกแบบ ยกตัวอย่างเป็นสีแดง) 

2.) ปรับข้อความให้กระชับและได้ใจความ จาก “ห้ามรถไม่ลงทะเบียนผ่าน” เปลี่ยนใหม่เป็น “ลงทะเบียนแล้วเท่านั้น” ส่วนภาษาอังกฤษ จาก “M-FLOW Registered Vehicles Only” เปลี่ยนใหม่เป็น “Registered Only” พร้อมใช้พื้นหลังเป็นสีเหลือง เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่เตรียมตัวให้พร้อม

3.) ลบกรอบสี่เหลี่ยมสีขาวบริเวณข้อความ เงินสดและบัตรอัตโนมัติ ออกไป เพราะเป็นฟังก์ชันที่คนรู้อยู่แล้ว จึงไม่ต้องการเน้นมาก และช่วยให้ทั้งป้ายไม่มีกรอบเยอะจนเกินไป อ่านได้ง่ายขึ้น

ภาพนำเสนอ 5 :

ภาพนี้ใกล้เคียงกับ ภาพนำเสนอ 4 มีข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อย โดยยังคงรูปแบบข้อความ เงินสดและบัตรอัตโนมัติ พร้อมใส่กรอบสีขาวเช่นเดิม ไม่ได้ตัดกรอบออกไป

1.) เปลี่ยนสีโลโก้ M-Flow ให้เป็นสีขาวล้วนช่วยสะท้อนแสงให้อ่านได้ง่ายและชัดเจนในเวลากลางคืน และได้ปรับสีพื้นหลังของโลโก้เป็นสีอื่นแทน (กรณีนี้ผู้ออกแบบ ยกตัวอย่างเป็นสีแดง) 

2.) ปรับข้อความให้กระชับและได้ใจความ จาก “ห้ามรถไม่ลงทะเบียนผ่าน” เปลี่ยนใหม่เป็น “ลงทะเบียนแล้วเท่านั้น” ส่วนภาษาอังกฤษ จาก “M-FLOW Registered Vehicles Only” เปลี่ยนใหม่เป็น “Registered Only” พร้อมใช้พื้นหลังเป็นสีเหลือง เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่เตรียมตัวให้พร้อม

ถอดบทเรียนการออกแบบช่องจราจร ควรมองผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง

จากกรณีป้าย M-Flow เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าหน่วยงานรัฐยังขาดความเข้าใจในมุมของผู้ใช้งานจริง แม้มีความพยายามสื่อสารผ่านป้ายจราจรต่างๆ แต่คำถามคือ มันดีพอแล้วหรือยัง? 

สำหรับการออกแบบป้ายจราจร รายละเอียดของการติดตั้ง และระยะต่างๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่บัญญัติไว้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามใจชอบ ดังนั้นการสื่อสารด้วยข้อความบนป้ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะส่งผลต่อขนาดตัวอักษรและทัศนวิสัยในการมองเห็น

 แต่คำถามในอีกมุมหนึ่งคือ ข้อกำหนดที่ว่านั้นสอดคล้องไปกับการใช้งานจริงมากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน เพราะหากปฏิบัติยึดไปตามกฎ แต่ในความเป็นจริงกลับใช้ได้ไม่เหมาะสม ก็ควรปรับยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ พร้อมทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย 

หากทางหน่วยงานไม่อยากแก้ไขไล่หลัง เพราะมันทั้งเสียเวลาและงบประมาณที่เพิ่มขึ้น จะดีกว่าไหม ถ้ากระบวนการแรกเริ่มนั้นเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ทำการวิจัยผู้ใช้งาน สอบถามความคิดเห็น หรือทดลองให้ถี่ถ้วนก่อนจะให้บริการจริง

นอกจากนี้ควรเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพอื่นๆ เช่น นักออกแบบด้าน Visual Communication หรือ Environmental Graphic ได้เข้ามามีส่วนร่วม ร่วมกับทีมวิศวกรซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหลัก เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลายมากขึ้น

การออกแบบโดยมองคนเป็นศูนย์กลาง ใช้การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อสร้าง User Empathy ให้เกิดขึ้น นี่คือสิ่งสากลที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว และน่าจะช่วยลดความงุนงงหรือความเข้าใจผิด ได้มากเลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่เรื่องการออกแบบป้ายจราจรเท่านั้นที่ M-FLow ยังไม่ Flow เพราะยังรวมไปถึงเรื่องๆ อื่นด้วย เช่น การประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น สร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับบริการนี้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งทำระบบเทคโนโลยีหลังบ้านให้เสถียรกว่านี้ ก็คงจะช่วยแก้ปัญหาได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 

 

ที่มา : 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า