SHARE

คัดลอกแล้ว

20 จังหวัดสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา สำรวจพบตัวเด็กนอกระบบชุดแรกแล้ว 23,382 คน  กสศ.เผยมีเคสเร่งด่วนต้องช่วยทันที  13,263 คน  เร่งทำแผนช่วยรายคนยึดความต้องการเด็กเป็นตัวตั้ง ป้องกันหลุดนอกระบบซ้ำ  

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาของ 20 จังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี ยะลา ขอนแก่น อำนาจเจริญ มหาสารคาม นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี นครนายก ระยอง และกาญจนบุรี รวม  155 อำเภอ จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 พบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาชุดแรกจำนวน 23,382 คน จากการเก็บข้อมูลรายบุคคลพบเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน จำนวน 13,263 คน จากการสำรวจเราพบปัญหาหลักๆ 4 ด้าน ดังนี้ 1.ครอบครัว/สังคม 2.เศรษฐกิจ 3.พฤติกรรม และ4.สุขภาพ โดยแบ่งกลุ่มการช่วยเหลือเป็น 1.ความต้องการเตรียมความพร้อมหรือฟื้นฟูเยียวยาก่อนเข้าศึกษาต่อ/ฝึกอาชีพจำนวน 7,845 คน  2. ต้องการศึกษาต่อจำนวน 4,250  คน และ3.ต้องการฝึกอาชีพจำนวน 3,923 คน ขณะนี้ทั้ง 20 จังหวัดอยู่ระหว่างจัดทำแผนช่วยเหลือรายกรณีโดยทีมสหวิชาชีพ เพราะเด็กแต่ละคนมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ กสศ.จะสนับสนุนทุนการศึกษาและพัฒนาอาชีพเบื้องต้นกรณีละ 4,000 บาท รวมถึงมีระบบพี่เลี้ยงติดตามการช่วยเหลือรายคน เพื่อป้องกันการหลุดออกนอกระบบซ้ำ

สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ผู้จัดการ กสศ. คาดว่าทั้ง 20 จังหวัดจะสำรวจพบตัวเด็กนอกระบบทั้งหมดได้ภายในกลางปี 2563 การค้นหาและช่วยเหลือเด็กนอกระบบนั้นเป็นงานที่ยาก เพราะปัญหาของเด็กกลุ่มนี้มีความซ้ำซ้อน เด็กจำนวนมากไม่ได้อาศัยอยู่ตามทะเบียนบ้าน เร่ร่อน ไม่เป็นหลักแหล่ง  ต้องอาศัยกลไกพื้นที่ และทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเข้าใจในตัวเด็กสูง  โดยเป้าหมายในการดูแลเด็กนอกระบบของ   กสศ.และ 20 จังหวัดนำร่อง  แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ  1.เด็กปฐมวัย 2-6 ปีที่ยากจน สามารถเข้ารับการดูแลโดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือหรือโรงเรียนในพื้นที่  2.เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ให้เข้าศึกษาต่อในกศน. หรือ โรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น และมีระบบแนะแนวเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบซ้ำ  3. เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ประสงค์จะได้รับการฝึกอาชีพ ให้สามารถหารายได้ดูแลตนเองและครอบครัว ด้วยการฝึกทักษะอาชีพ  โดยกลไกจังหวัดจะประสานความร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษา พัฒนา ฝีมือแรงงาน วิทยาลัยการอาชีพ

นายประเสริฐ สุขจิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองลีง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า  เด็กนอกระบบหลาย คนมีศักยภาพ แต่อาจมีจุดพลิกผัน เช่นความยากจนทำให้ต้องออกจากระบบการศึกษา หรือบางคนไม่ถนัดการเรียนในห้องเรียนหรือทางวิชาการ เราต้องให้โอกาสและดึงพลังของเด็กกลุ่มนี้ออกมา ให้ได้ใช้  ความสามารถที่มีอย่างเต็มที่ แนวทางของเราคือการส่งเสริมความถนัดในทุก ๆ มิติของเด็ก ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือค้นหาความต้องการที่แท้จริงของเขาให้พบ ต้องเข้าไปในใจของเขาให้ได้ก่อน แล้วเมื่อเขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ  ก็จะอยู่ในระบบการศึกษาได้ ระหว่างนั้นเราก็ค่อยสอดแทรกความรู้ทางวิชาการให้ ซึ่งจะดีกว่าที่เราจะบังคับให้ทุกคนเรียนเหมือนกันหมด นั่นยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่อยากอยู่ในห้องเรียน และมีโอกาสหลุดนอกระบบระบบซ้ำอีก

นางจิรนันท์ เครือจันทร์ ครูผู้ดูแลเด็กนอกระบบและรับผิดชอบด้านพัฒนาทักษะ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่ค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยพื้นที่รับผิดชอบคือตำบลเมืองลีง ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ตำบลนำร่องของอำเภอจอมพระ และเป็น 1 ใน 25 พื้นที่ค้นหาเด็กนอกระบบของจังหวัดสุรินทร์ จากรายชื่อที่ได้รับแจ้งจำนวน 358 คน งานค้นหาเริ่มต้นที่ตรวจสอบสถานะเด็กกับผู้ใหญ่บ้าน เมื่อได้ข้อมูลว่าเด็กอยู่เราจะเข้าไปหาทันที เบื้องต้นมุ่งเป้าไปที่คนที่เขาสนใจอยากจะกลับมาเรียนต่อจริง ๆ เป็นหลักก่อน ขณะนี้ทางตำบลได้รับเด็กเข้ามาอยู่ในความดูแลได้แล้ว 30 คน และสามารถพาเด็กเข้าเรียนในระบบการศึกษานอกโรงเรียนได้ทันที 17 คน ซึ่งเป็นทางเลือกการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ เนื่องจากเด็กส่วนหนึ่งต้องทำงานและเรียนหนังสือไปด้วย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งได้เลยช่วงวัยที่จะกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนตามระดับชั้นที่หลุดจากการศึกษาได้จะมีกลไกการฟื้นฟูเพื่อให้เข้าเรียนได้ในเทอมหน้าหรือหาเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป  เช่น การฝึกอาชีพตามความถนัด

นางสุวภัทร สุขจิต ครู กศน. ตำบลเมืองลีง กล่าวว่า สำหรับเด็กนอกระบบที่เพิ่งกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาชุดแรกของจังหวดสุรินทร์ อยู่ระหว่างช่วงเวลาปรับตัว เป็นเวลาของการทำความรู้จักระหว่างครูกับเด็ก และการค้นหาว่าจะส่งเสริมเขาต่อไปในด้านไหน เบื้องต้นเด็กทุกคนจะเรียนรู้ในวิชาพื้นฐานตามระดับชั้น แต่จะเน้นให้ตระหนักในด้านทักษะอาชีพ จะส่งเสริมในสิ่งที่เขาสนใจหรือทำอยู่แล้ว หน้าที่หลัก ๆ ของครู กศน. คือจะดูแลและแนะแนวทางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในพื้นที่เรามีปราชญ์ชาวบ้านมากมาย หรือเรื่องที่ต้องการความรู้ขั้นสูงเราจะดึงวิทยากรที่เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำอีกทางหนึ่งด้วย

นายยรรยง นิโรรัมย์ พ่อของ ‘อ๋า’ 1 ใน เด็กนอกระบบจากจังหวัดสุรินทร์ที่ได้กลับมาเรียน กล่าวว่า  ลูกชายของตนต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อให้น้องได้เรียน และต้องไปทำงานรับจ้างขนเครื่องเสียงเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว ตนดีใจที่ได้เห็นลูกกลับไปเรียนอีกครั้ง  อยากให้เขามีเส้นทางเดินที่ถูกต้อง ก่อนหน้านี้ต้องออกจากโรงเรียนมา 2-3 ปีไปทำงาน ส่วนตนก็ต้องไปทำงานไม่ค่อยมีเวลาได้ดูแลลูก ตอนนี้เขาได้กลับมาเรียน ก็อยากให้เลือกเรียนตามที่สนใจ เลือกอาชีพที่ชอบ ที่เขาจะก้าวหน้าไปได้

‘อั๋น’  1 ในเด็กนอกระบบที่ได้กลับเข้าเรียน กล่าวว่า ต้องหยุดเรียนไปหลังจบชั้น ม.3 เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนต่อ ทั้งที่เรียนจบมัธยมต้นด้วยเกรดเฉลี่ย 3.2 หลังจากที่ต้องหยุดเรียนไป 3 ปี ไปทำงานในโรงปูนบ้าง ทำพวงหรีดบ้าง ทั้งยังต้องช่วยแม่เลี้ยงน้องและช่วยดูแลตาที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง  วันที่ครูลงมาสำรวจพื้นที่ ตนยังไม่มีเงินไปรับวุฒิการศึกษา ม.3 ที่โรงเรียนด้วยซ้ำ หลังทราบเรื่องครูจึงพาไป และตอนนี้ได้เข้าเรียน กศน. ก็ดีใจ ตั้งใจว่าจบแล้วอยากเรียนต่อเกี่ยวกับการออกแบบเสื้อผ้า เพราะมีความฝันอยากทำงานในสายงานนั้น วันนี้แม้จะรู้ว่าเป็นเรื่องที่ยังห่างไกล แต่การได้กลับมาเรียนอีกครั้งก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตนกล้าที่จะฝันและพยายามต่อไป

‘บิ๊ก’ 1 ใน เด็กนอกระบบที่ได้กลับเข้าเรียน กล่าวว่า ตนออกจากโรงเรียนมาแล้ว 5 ปี ด้วยเหตุผลว่าไม่ชอบเรียนหนังสือในห้องเรียน ห้าปีที่ผ่านมาตนช่วยงานที่บ้าน ดูแลแม่กับยาย แบ่งเบาภาระแม่จากการทำนา และมีความสนใจส่วนตัวในด้านการเลี้ยงไก่ จนสามารถขายทำรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ครั้งแรกที่ครูลงพื้นที่มาตามกลับไปเรียน ตนปฏิเสธเพราะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ แต่เมื่อครูกลับมาที่บ้านอีกครั้งเพื่อสอบถามยืนยันให้แน่ใจ ตนก็เปลี่ยนใจบอกครูว่าจะกลับไปเรียน กศน. ให้ได้วุฒิการศึกษา

“ตอนที่ครูกลับมาที่บ้านอีกครั้ง ผมคิดว่าการได้วุฒิการศึกษาที่สูงกว่าชั้นประถม จะช่วยให้ผมต่อยอดการเรียนรู้ในเรื่องที่ผมสนใจได้ ผมชอบเลี้ยงไก่ ชอบงานด้านทำเกษตร เลยคิดว่าในอนาคตอยากเรียนต่อด้านการเกษตร เพื่อนำความรู้มาพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้น”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า