SHARE

คัดลอกแล้ว

อย่างแรกต้องขอแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนที่เป็นที่แน่นอนแล้วว่าเราจะได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอล ‘ยูโร 2020’ พร้อมกันทั่วทั้งประเทศไทยผ่าน ‘สถานีโทรทัศน์ NBT’ โดยจะเริ่มถ่ายทอดสดคู่แรกคู่เปิดสนามอย่าง ‘ตุรกี’ พบ ‘อิตาลี’ เวลา 02.00 น. ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราคิดว่าบอลยูโรปีนี้จะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปีที่คนไทยอดดูฟุตบอลยูโร นับตั้งแต่เริ่มถ่ายทอดสดในประเทศเมื่อปี 1988 เพราะหลังจาก ‘ยูฟ่า’ ประกาศรายชื่อชาติที่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดบอลยูโรก่อนหน้านี้ไม่มี ‘ไทยแลนด์’ เป็นหนึ่งในนั้น

คำถามคือ ทำไมเอกชนถึงได้ถอดใจและปล่อยให้คนไทยหลงคิดว่าจะต้องอดดูบอลยูโรอยู่นาน รวมถึงเหตุใด NBT ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐถึงกลายเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ในช่วงก่อนการแข่งขันแทนที่สถานีโทรทัศน์เอกชนที่เคยทำธุรกิจนี้มาโดยตลอด

ก่อนที่จะเข้าสู่ส่วนของเหตุผลว่า “ทำไมเอกชนถึงถอดใจ” ขอเริ่มต้นจากการย้อนไปดูประวัติการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 5 ครั้งหลังสุดในไทยกันก่อนว่า ‘ใคร’ เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรอย่างถูกกฎหมายมาแล้วบ้าง

ยูโร 2000 ช่อง 3
ยูโร 2004 ช่อง 3 และ ช่อง 7
ยูโร 2008 อาร์เอส (ถ่ายทอดทางช่อง 7 และช่อง 9)
ยูโร 2012 แกรมมี่ (ถ่ายทอดช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 9 และดีทีวี)
ยูโร 2016 แกรมมี่ (ถ่ายทอดช่อง 3)

เท่ากับว่าในฟุตบอลยูโร 5 ครั้งที่ผ่านมา ล้วนแต่มีผู้ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดภายในประเทศไทยอย่างถูกต้องมาโดยตลอด
แต่ครั้งนี้กลับไม่มีผู้ถือครองลิขสิทธิ์จากยูฟ่าและข่าวคราวยังคงเงียบหาย แม้กำลังจะเริ่มเตะในวันที่ 12 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ ก่อน NBT เข้ามาแสดงตัว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญ คือ ‘ค่าลิขสิทธิ์’ ที่สวนทางอย่างชัดเจนกับเศรษฐกิจไทย

ค่าลิขสิทธิ์ขาขึ้น แต่เศรษฐกิจขาลง

ต้องยอมรับว่าในช่วงขวบปีหลัง ค่าลิขสิทธิ์ของบอลยูโรนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มในจำนวนทีละมากๆ อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลยูโร 2012 และ 2016 อย่าง ‘ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม’ CEO จาก ‘จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่’ ที่เคยเปิดเผยไว้ เมื่อครั้งที่ได้ลิขสิทธิ์รอบล่าสุดในปี 2016

“การประมูลยูโร 2016 ถือเป็นการแข่งขันชิงลิขสิทธิ์ที่รุนแรงอีกรายการ ค่าลิขสิทธิ์ครั้งนี้เพิ่มขึ้นจากครั้งยูโร 2012 กว่าเท่าตัว”
ในขณะที่ยูโร 2020 เองก็มีรายงานว่า ผู้ให้บริการช่องโทรทัศน์แบบมีค่าใช้จ่ายในกาตาร์อย่าง ‘BeIN Sports’ ปิดดีลลิขสิทธิ์ฉายบอลยูโรไปด้วยค่าตอบแทน 35 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,328 ล้านบาท

ดีลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 นี้จึงมีมูลค่าหลักพันล้านบาทตั้งแต่ต้น

เมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศนั้นจะเห็นว่า อดีตผู้ถือครองลิขสิทธิ์ยูโรแต่ละเจ้าล้วนไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่สดใสนัก โดยหลายบริษัทมีผลประกอบการในปี 2563 ที่ถดถอยลงจากปีก่อนและมีแนวโน้มถดถอยลงอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด-19

ช่อง 3 รายได้ 5,908 ล้านบาท ขาดทุน 214 ล้านบาท (+43%)
ช่อง 7 รายได้ 4,168 ล้านบาท กำไร 972 ล้านบาท (-30%)
อาร์เอส รายได้ 3,790 ล้านบาท กำไร 528 ล้านบาท (+45%)
แกรมมี่ รายได้ 5,035 ล้านบาท ขาดทุน 175 ล้านบาท (-151%)

โดยจากภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่าจากทั้งหมด 4 บริษัทมี 2 บริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุน อีก 1 บริษัทมีกำไรลดลง และมีเพียงบริษัท อาร์เอสฯ เพียงรายเดียวเท่านั้นที่ยังคงมีกำไรเติบโตในปี 2563

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถอยกลับมาดูผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในตลาดทีวีดิจิทัลหรือตลาดบันเทิงไทยก็ดูเหมือนสถานการณ์ของแต่ละบริษัทฯ จะไม่ได้ดีกว่ากันมากนัก ทำให้โอกาสในการเข้าซื้อลิขสิทธิ์จากผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ลดน้อยลงไปด้วย

ผนวกกับเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดต่ำลง การแลกเงินหลักพันล้านบาทไปกับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด โดยที่ยังไม่มีโมเดลใหม่ๆ ในการหารายได้เพิ่มเติมที่นอกเหนือจากสปอนเซอร์ก็อาจเป็นความเสี่ยงเกินจะรับในยุคนี้

เหมือนกับที่ ‘ฟุตบอลไทย’ เองก็พึ่งประสบปัญหาในกรณีลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด หลังจาก Zense Entertainment ประมูลได้สัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยยาว 8 ปี แต่มาถูกยกเลิกสัญญาในภายหลัง เนื่องจากไม่สามารถจ่ายเงินงวดแรกให้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลได้ เพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจจากจำนวนสปอนเซอร์ที่ไม่เป็นไปตามคาด

ดูบอลเถื่อน เกลื่อนออนไลน์

อีกปัจจัยหนึ่งที่เชื่อว่ามีผลอย่างแน่นอนต่อการตัดสินใจของกลุ่มธุรกิจคือ ปัจจุบันปริมาณเว็บไซต์ดูบอลออนไลน์ หรือ ‘ดูบอลเถื่อน’ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีให้เลือกหลายร้อยเว็บไซต์ ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต จะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ททีวีก็สามารถเข้าถึงฟุตบอลได้ทุกลีกส์ ทุกถ้วย

แค่ค้นหาคำว่า ‘ดูบอลออนไลน์’ ในกูเกิ้ลก็ปรากฏผลการค้นหาประมาณ 64,700,000 รายการแล้ว และดูเหมือนว่าที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะประกาศเอาจริงเอาจังกับการต่อสู้กับเว็บไซต์ดูหนังเถื่อน ดูบอลเถื่อน รวมไปถึงเว็บพนันบอลแค่ไหน จำนวนเว็บไซต์เหล่านี้ก็ไม่ได้ลดจำนวนลงเลย

ภาครัฐเพิ่มเงื่อนไขออกระเบียบ

นอกจากนั้น ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าเอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์ยังต้องแบกรับความตึงเครียดที่อาจจะเกิดจากการเข้าแทรกแซงและออกกฎระเบียบของภาครัฐ ทำให้หลายๆ ครั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สามารถทำกำไรได้อย่างเต็มที่ และกลายเป็นที่ระแวดระวังในการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะลีกส์ขนาดใหญ่

จากปัจจัยทั้งหมดตั้งแต่สภาพเศรษฐกิจ ค่าลิขสิทธิ์ เว็บไซต์ดูบอลเถื่อน มาจนถึงการแทรกแซงของรัฐล้วนมีผลให้เอกชนตัดใจไม่สู้ดีลหลักพันล้านนี้และทำให้เราหลงเชื่อกันไปแล้วว่าคนไทยอาจจะไม่ได้ดูฟุตบอลยูโรในปีนี้เป็นที่แน่นอนแล้ว

แม้เหตุการณ์ในลักษณะนี้จะเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับลิขสิทธิ์ของ ‘ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกส์’ ที่ไม่ได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาถ่ายทอดสดภายในประเทศไทยมา 2-3 ปีแล้ว แต่หลายๆ คนก็ไม่คาดคิดว่าจะยังผลมาถึงยูโร 2020 ด้วย

แต่ในท้ายที่สุดรัฐบาลไทยก็ปรากฏตัวขึ้นในช่วงโค้งสุดท้าย ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จับมือกับสถานีโทรทัศน์ NBT เข้ามารับช่วงในดีลนี้ในฐานะ ‘ของขวัญ’ ให้กับประชาชนคนไทย โดยมี ‘อนุชา นาคาศัย’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดดมาให้ข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเร่งด่วนให้ดีลบอลยูโร 2020 มาให้คนไทยได้รับชมให้ได้

พร้อมเผยเพิ่มเติมว่า “ขณะนี้เร่งประสานอยู่ทั้งส่วนภาครัฐและเอกชน เพราะต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ที่อยู่ระหว่างการตกลงกัน เพราะช่วงเริ่มต้นใช้งบประมาณ 10 ล้านยูโร” หรือคิดเป็นเงินไทยราว 380 ล้านบาทเท่านั้น โดยไม่แน่ว่าจะเป็นราคาสำหรับการปิดดีลทั้งหมดหรือไม่ หรือจะได้รับส่วนลด หรือกลายเป็นมีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมอีก แต่ก็ถือว่าถูกกว่าราคาที่ BeIN Sports ดีลไปในปีก่อนหลายเท่า

ด้าน ‘กำไร’ ที่จะได้รับจากยูโร 2020 อาจจะไม่ได้อยู่ในความคาดหวังของรัฐบาลอยู่แล้ว แตกต่างกับเอกชนที่ไม่สามารถจ่ายเงินโดยไม่หวังผลกำไร อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดคนไทยก็ได้ดู ‘ยูโร 2020’ แม้จะยื้อกันจนวันสุดท้าย เพราะไม่มีเอกชนเจ้าไหนกล้าลงทุนในยุคนี้

ที่มา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า