แม้กระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV จะมาแรงจนยอดจดทะเบียนเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ถึงอย่างนั้นราคาค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับรถ EV เช่น ‘ประกัน’ กลับยังมีราคาแพงกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันอยู่มาก
ทำไมประกันรถ EV ถึงแพง แล้วมีโอกาสแค่ไหนที่ราคาจะถูกลงมาจนใกล้เคียงกับประกันรถน้ำมันใน 2 ปีนี้ TODAY Bizview สรุปบทวิเคราะห์จาก Priceza Money มาให้ฟังกัน
[ รถ EV ขายดี แต่ประกันแพง ]
อย่างที่เราเห็นว่ากระแสรถยนต์ EV ในไทยมาแรงมาก โดยในปี 2022 มียอดจดทะเบียนสะสม 30,843 คัน เติบโตถึง 170.98%
มากไปกว่านั้นคือ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2023 หรือแค่สามเดือน ยอดจดทะเบียนสะสมเพิ่มขึ้นมาเป็น 51,243 คันแล้ว จนมีการคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้น่าจะแตะที่ 132,843 คัน หรือเติบโตจากปีก่อนหน้า 330%
แม้จะขายดีแค่ไหน มีรุ่นใหม่เปิดตัวเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นบริการหลังการขายกลับวิ่งตามยอดขายไม่ทัน ซึ่งนี่ส่งผลต่อประกันรถยนต์โดยตรง เพราะประกันเป็นเรื่องของค่าซ่อมและอะไหล่นั่นเอง
ถามว่าประกันรถ EV แพงกว่ารถน้ำมันอยู่เท่าไหร่?
ถ้าเทียบกับรถรุ่นใกล้เคียงกัน ราคาไม่ต่างกันมากอย่าง Honda CR-V และ BYD Atto 3 ราคาประกันชั้น 1 (จากธนชาติประกันภัย) ของ Honda อยู่ที่ 18,000 บาท ส่วน BYD อยู่ที่ 31,500 บาท
แม้แต่ในรถรุ่นเดียวกันที่ราคาเท่ากันอย่าง Volvo XC 40 รุ่นระบบ PHEV ประกันชั้น 1 ราคา 51,044 บาท แต่รุ่น EV ราคาพุ่งไปถึง 64,786 บาทเลยทีเดียว
[ ทำไมประกันรถยนต์ EV ถึงแพง ]
Priceza Money วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ประกันรถ EV แพงกว่ารถน้ำมันออกมาเป็น 4 ข้อด้วยกัน ดังนี้
1.รถ EV ยังมีจำนวนน้อยมาก
แม้ว่าเราจะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของยอดจดทะเบียนสะสม คือมาอยู่ที่ราว 5 หมื่นคัน แต่ถ้าเทียบกับจำนวนรถทั้งหมดในประเทศที่มีอยู่ราว 43 ล้านคัน นั่นเท่ากับว่ารถ EV มีสัดส่วนอยู่เพียง 0.12% เท่านั้น
การมีจำนวนน้อย ทำให้ข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ มีจำนวนน้อยไปด้วย บริษัทประกันที่ปกติแล้วใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาคำนวณราคา เมื่อข้อมูลน้อยจึงทำให้ต้อง “ตั้งราคาเผื่อไว้”
ตัวอย่างคือ ‘กรุงเทพประกันภัย’ ที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่กล่าวในที่ประชุมว่า รถ EV ยังมีจำนวนน้อยอยู่ ทำให้ “ไม่สามารถสะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงได้ เลยต้องตั้งราคาสูงกว่าประกันทั่วไป 20%”
2.รถ EV มีค่าแรงและค่าซ่อมสูงกว่ารถทั่วไป
เนื่องจากปัจจุบันการซ่อมรถ EV ยังต้องซ่อมผ่านศูนย์หลักเท่านั้น ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ อู่ทั่วไปยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ เรียกได้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับรถ EV ต้องส่งเข้าศูนย์อย่างเดียว
ซึ่งรถทั่วไปราคาประกันซ่อมอู่กับซ่อมศูนย์ก็ต่างกัน 5,000-10,000 บาท เมื่อรถ EV ไม่มีซ่อมอู่ ทำให้ผู้ใช้รถ EV ไม่มีทางเลือกที่จะได้ประกันราคาถูกลงมา
3.งานซ่อมในไทยยังไม่เชี่ยวชาญมากพอ
ปัจจุบันความรู้ ความสามารถในการซ่อมรถ EV ในไทยยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง กรณี ORA Good Cat และ BYD Atto 3 ที่เกิดอุบัติเหตุ แบตเตอรี่มีรอยถลอก แต่ค่าซ่อมพุ่งสูงไปถึงหลักแสน-ล้าน ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศบอกว่าซ่อมได้
สาเหตุเพราะค่ายรถ EV ในไทยยังไม่ถ่ายโอนความรู้การซ่อมอย่างละเอียด ทำให้เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็เน้นเปลี่ยนอะไหล่มากกว่าที่จะซ่อม และการเปลี่ยนก็ย่อมมีราคาแพงกว่า
ซึ่งทำให้บริษัทประกันตั้งราคาประกันรถ EV แพงขึ้นมามากกว่าปกติ จากความเสี่ยงในการจ่ายเคลมที่มากขึ้นนั่นเอง
4.จำนวนอะไหล่ที่น้อยลงในรถ EV
ชิ้นส่วนภายในของรถยนต์ EV ในปัจจุบัน หลักๆ มีอยู่แค่ประมาณ 6-7 ชิ้น แต่ว่าแต่ละชิ้นมีราคาแพงมาก เมื่อเกิดอุบัติเหตุครั้งหนึ่ง ถ้าซ่อมไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยน ความเสียหายเลยมีมูลค่ามากกว่ารถยนต์น้ำมันที่มีอะไหล่ภายในหลายร้อยชิ้น
[ อีก 2 ปี ราคาประกันจะถูกลง ]
ถ้าลองดู BYD Atto 3 รถ EV ที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งในตอนนี้ ราคาประกันจากวิริยะประกันภัย มีดังนี้
-ปี 2022 (เปิดตัว) ราคาประกันอยู่ที่ 42,000 บาท
-ปี 2023 ราคาลดลงมาอยู่ที่ 34,900 บาท (จากการทำ MOU ร่วมกันระหว่างวิริยะฯกับ BYD)
-ปี 2024 (คาดการณ์) ราคาประกันน่าจะอยู่ที่ 28,618 บาท
-ปี 2025 (คาดการณ์) ราคาน่าจะมาอยู่ที่ 23,467 บาท ซึ่งจะใกล้เคียงกับรถยนต์น้ำมัน
สาเหตุที่ราคาถูกลง เป็นเพราะในปี 2024 เป็นปีแรกที่ค่ายรถ EV ที่นำเข้ารถมาขายในไทย จะต้องผลิตรถ EV ในปริมาณเดียวกันกับที่นำเข้ามาขายก่อนหน้า ตามเงื่อนไขการสนับสนุนมาตรการ EV ของรัฐ
ซึ่งเมื่อเกิดการตั้งโรงงานผลิต จนผลิตรถ EV ในประเทศได้ จะทำให้อะไหล่ต่างๆ จะมีราคาถูกลง ความรู้เรื่องการซ่อมถูกถ่ายโอนมาที่ไทยมากขึ้น ทางเลือกซ่อมอู่จะเกิดขึ้น และราคาประกันภัยรถยนต์ EV ก็จะถูกลงเรื่อยๆ นั่นเอง
และนอกจากถูกลงแล้ว ยังมีการประเมินอีกว่าเทรนด์ที่จะได้เห็นในอนาคต ประกันรถยนต์ไฟฟ้าจะมีรูปแบบไปสู่ Personalize หรือ Tailor Made จากการที่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถเก็บข้อมูลและเชื่อมต่อ IoT ได้ ทำให้จะมีการเก็บข้อมูลการขับขี่แล้วนำไปประเมินราคาประกัน ซึ่งตัวอย่างคือ Tesla Insurance ได้เริ่มทำแล้ว
อีกเทรนด์ที่จะเห็นคือ การแยกความคุ้มครองตามชิ้นส่วนอะไหล่ เช่น แยกประกันแบตเตอรี่ส่วนนึง และประกันตัวรถอีกส่วนนึง ทำให้คุ้มครองได้ครอบคลุมขึ้น และผู้ใช้รถยนต์ก็สามารถเลือกได้ว่าจะคุ้มครองแค่รถอย่างเดียวหรือคุ้มครองแบตเตอรี่เพิ่มด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: