รถ EV ประเภท BEV (รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วน) นำเข้าจากจีนอาจโดนสหภาพยุโรป (EU) เก็บภาษีเพิ่ม อาจเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกทดแทน ทำให้ปี 2567 ไทยอาจส่งออก BEV จากไทยไปยุโรปเพิ่มขึ้นราว 10,000 คัน
ปัจจุบัน ‘จีน’ ขึ้นแท่นเป็นประเทศผู้ส่งออกรถยนต์สูงที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออก BEV สูงถึงเกือบ 1 ใน 4 และมีกลุ่มประเทศ ‘สหภาพยุโรป’ เป็นตลาดส่งออกหลัก หรือคิดเป็นส่วนแบ่งกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของมูลค่าการส่งออก BEV ของจีน
[ BEV จีนขยับกินส่วนแบ่ง อียูประกาศสอบ ]
ในปี 2565 การนำเข้า BEV จากจีนในสหภาพยุโรปเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้คณะกรรมธิการยุโรปเกิดความกังวล เพราะมองว่า BEV จีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้อาจกระทบอุตสาหกรรมการผลิต BEV ในอียูได้
เนื่องจาก BEV นำเข้าจากจีนกินส่วนแบ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอียู จาก 8% ในปีนี้ อาจขยับเป็น 15% ในอีก 2 ปีข้างหน้า
อีกทั้งถ้าเทียบกับประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ ที่เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากจีน 27.5% อินเดียเก็บจากจีนที่ 70% แล้ว อียูที่เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากจีนแค่ 10% ถือว่าน้อยมาก
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.66 คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้เปิดประกาศสอบสวนอย่างเป็นทางการกับ BEV นำเข้าจากจีนทุกค่ายไม่จำกัดสัญชาติ เรื่องที่อาจมีการรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งอาจนำมาสู่มาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนอย่างเร็วที่สุดคือเดือนกรกฎาคม 2567
[ โอกาสไทยส่งออก EV แทน แม้ยังไม่มาก แต่เป็นก้าวแรก ]
สำหรับโอกาสของประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) มองว่า จากกรณีนี้ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ โดยค่าย EV จีนที่ได้รับผลกระทบแล้วมีการลงทุนในไทยด้วย อาจส่งออก BEV รุ่นเดียวกันที่ผลิตในไทยไปยังตลาดยุโรปทดแทน
แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตในไทยอาจสูงกว่าผลิตในจีน เพราะค่ายรถจีนเพิ่งจะเริ่มเดินสายการผลิตในไทยปีหน้า ทำให้ยังไม่ถึงจุดที่ได้ Economies of scale จึงอาจทำให้ไทยได้โอกาสส่งออกทดแทนไปยุโรปแค่บางส่วน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในจำนวนกำลังการผลิต BEV ปี 2567 ของค่ายจีนในไทยที่น่าจะทำได้ไม่น้อยกว่า 70,000 คัน นั้น มีโอกาสที่จะส่งออกไปตลาดยุโรปราว 10,000 คัน
ซึ่งแม้จะยังน้อยหรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 8% ของยอดขาย BEV ค่ายจีนทั้งหมดในยุโรปที่อาจขายได้ไม่ต่ำกว่า 130,000 คันในปีหน้า แต่ก็จะนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการส่งออก BEV จากไทยไปยุโรป
อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกมีโอกาสต่ำกว่าที่คาดได้ หากคำตัดสินออกมาล่าช้าซึ่งอาจทำให้กว่าจะเริ่มเก็บภาษี BEV นำเข้าจากจีนได้เป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 67 ไปแล้ว
แต่หากมีประเด็นที่ส่งผลต่อทิศทางการตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรปที่เปลี่ยนไป อาทิ แนวทางการเก็บภาษีมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในกลุ่มประเทศอียูหรือจีนอาจมีมาตรการตอบโต้กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต BEV ในยุโรปที่จีนเป็นเจ้าตลาดในการผลิตแบตเตอรี่นั่นเอง