SHARE

คัดลอกแล้ว

“สวัสดีอนาคต ผมพร้อมแล้ว”  เป็นประโยคสั้นๆ ที่ทรงพลังและสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างยิ่งในแวดวงการเมือง เพียงไม่กี่นาทีหลังจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ได้โพสต์หวนคืนสนามการเมืองอย่างเป็นทางการ

ทุกครั้งที่มีการพูดถึงความเป็นไปได้ ของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ไม่เคยตกสำรวจ โดยเฉพาะศึกเลือกตั้ง 2562 ที่มีกระแสว่าชื่อนี้ ถูกจับวางให้เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตชิงนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคเพื่อไทย หวังเรียกคะแนนนิยมได้มากขึ้น

นี่คือบทสัมภาษณ์สุดท้าย ในฐานะ CEO ควอลิตี้เฮ้าส์ และอาจเป็นบทสัมภาษณ์แรก ณ วันที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ยืนยันกลับสู่สนามการเมือง ที่ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ เมื่อถามถึงคะแนนนิยม ที่ดูเหมือนว่า “ชัชชาติ” รัฐมนตรีที่อินเตอร์เน็ทให้ฉายาว่า “ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” จะมีสูงกว่า “คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่มากด้วยบารมี  เขาบอกว่าสิ่งสำคัญสำหรับพรรคเพื่อไทยตอนนี้คือการทำงานเป็นทีม ประเมินตนเองว่านอกเหนือจากกระแสออนไลน์ คนอาจจะรู้จักตนเองน้อยกว่า “คุณหญิงหน่อย” อีกหนึ่งแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ ซึ่งต้องทำงานเป็นทีม ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ไม่อยากให้มองว่าใครเก่งกว่าใคร การชูคนเดียวอาจมีปัญหาได้ “ไม่มีแล้วซูเปอร์แมนในอนาคต มันต้องช่วยกัน” ส่วนเรื่องคะแนนนิยมนั้น มีมากเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง โดยต่างจังหวัดยังไม่มีคนรู้จักเขาอีกมาก

 “ภาพรวมทั้งประเทศ คนไม่รู้จักผมก็เยอะนะ ต่างจังหวัดอะไรอย่างนี้ เพราะงั้นอย่าไปคิดว่าใครคะแนนนิยมมากกว่าใคร แต่ผมว่าอนาคตมันต้องไปเป็นทีม ต้องทีมเวิร์คและใครเก่งตรงไหน มีความรู้ตรงไหนก็เอามาช่วยกันมากกว่า แล้วมันก็จะค่อยๆไปได้ แต่ถ้าเกิดว่าไปชูคนเดียว เดี๋ยวก็มีปัญหาอีก ผมว่าก็ต้องเป็นทีม ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ไม่มีแล้วซูเปอร์แมนในอนาคต มันต้องช่วยกัน”

 

 

  • เลือกหวนคืนสนามการเมือง กับ “เพื่อไทย” เพราะหลักการตรงกัน

หากยังจำกันได้ ตลอดเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ของการเว้นวรรคทางการเมืองจากการรัฐประหาร และหันไปสู่เส้นทางนักบริหารอสังหาริมทรัพย์เต็มตัว ชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เคยถูกเสนอแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ร่างแผนประเทศด้านการแข่งขัน ร่วมกับรัฐบาล คสช. มีประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เซ็นลงนามแต่เขาก็ได้ปฏิเสธ แบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นได้

การกลับมาร่วมหัวจมท้ายกับพรรคเพื่อไทย ลุยศึกเลือกตั้ง 2562 จึงเป็นการแสดงจุดยืนชัดเจน และตอกย้ำว่าเป็นแรงผลักกับแม่เหล็ก คสช. เขาเผยว่าเหตุผลการไปต่อกับพรรคเพื่อไทย เพราะมีหลักการตรงกัน นั่นคือ “เน้นเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง” จากที่เคยร่วมทำงานกันมา เพื่อไทยมีหลักวิธีการคิด คุ้นเคยกับระบบและแนวคิดของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ส่วนที่เคยปฏิเสธร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ เพราะไม่ได้อยากได้ตำแหน่งอะไร อยู่ตรงไหนที่สบายใจดีที่สุด อยู่ตรงจุดไหนก็ช่วยได้ทั้งนั้น

“ผมว่าเขาเข้าใจประชาชนน่ะ ผมว่าเหมือนที่ผมเคยพูดเรื่อง Design Thinking คือการออกแบบพวกนวัตกรรมอะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่เริ่มจากปัญหาหรืออะไร แต่มันต้องเริ่มจาก เข้าใจจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจจะเป็นประชาชน หรือถ้าเป็นบริษัทต้องเป็นลูกค้า และถ้าเราเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร ปัญหามันคืออะไร หลักจากนั้นเราค่อยมาหาทางออก มันจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ผมว่ามันก็เป็นเรื่องของประชาธิปไตยไง เหมือนมีตัวแทน ส.ส.อะไร ที่เขาเข้าใจประชาชน แล้วก็ประมวลปัญหามาแล้วก็แก้ไข”

 

  • “ไม่หวั่นข้อจำกัด” แม้โครงสร้างทางการเมืองยังไม่อิสระ จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“ชัชชาติ” มั่นใจว่าจะสามารถนำประสบการณ์ทางการเมืองในอดีต และบทบาทนักบริหาร มาแก้ปัญหาประเทศ แม้ว่าโครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบันจะไม่อิสระและเอื้อต่อการทำงานเหมือนในอดีตก็ตาม แต่สำหรับเขามองว่าทุกเรื่องมีข้อจำกัดเกือบทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ท้าทาย และหากมองว่าทุกเรื่องเป็นอุปสรรค ก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ โดยเวลานี้ทุกคนต้องช่วยกัน ใครมีบทบาทอะไร ช่วยในบทบาทของตัวเองให้ดีที่สุด

“ถ้าทุกคนคิดว่าไม่สนใจทำแต่หน้าที่ตัวเอง สุดท้ายมันก็ไม่มีใครทำให้มันดีขึ้น ส่วนเรื่องระบบไม่ดี ผมคิดว่ามันก็เป็นเหมือนข้อจำกัด ซึ่งเราก็ต้องยอมรับกับมัน ชีวิตมันมีข้อจำกัดอยู่แล้วทุกเรื่อง ผมว่าสมัยก่อนมันก็มีข้อจำกัด ถ้าเกิดเรามัวไปกังวลเรื่องข้อจำกัด อันนั้นมันก็ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง ผมว่าก็ทำให้ดีที่สุด ในข้อจำกัดที่มี ชี้แจงให้ประชาชนเห็นว่าปัญหามันคืออะไร อย่างเช่นยุทธศาสตร์ 20 ปี ปัญหามันคืออะไร เอาให้ชัดเลย ผมว่าหลายคนยังไม่เคยอ่านเลย ผมว่ามาคุยปัญหามีอะไรนะ ทำงานจะเป็นอย่างนี้ ถ้าทุกคนเห็นร่วมกันสุดท้ายมันแก้ได้”

  • เพื่อไทย ชูธงแก้เศรษฐกิจ ตั้ง “ชัชชาติ” ขุนพลหาเสียงเลือกตั้ง 62

ภาพชายชุดออกกำลังกาย ถือถุงแกงไปถวายพระ ยังคงแจ่มชัดในความทรงจำ วิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาประเทศของเขายังคงติดตรึงของผู้คนในสังคม การวางตัว “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หนึ่งในขุนพลเศรษฐกิจ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเตรียมใช้ปราศรัยพบปะประชาชนที่สนับสนุนพรรคทั่วประเทศ

“ชัชชาติ” มองว่า หัวใจหลัก 3 ด้านที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และปัญหายาเสพติด โดยสิ่งที่ต้องแก้เร่งด่วน คือ สร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง ลดค่าใช้จ่ายของประเทศที่ไม่จำเป็น จากข้อกังวลว่า เศรษฐกิจโลกปี 2562 มีแนวโน้มหดตัวลง ทั้งเรื่อง DE Globalization ต่างคนต่างคิดถึงตัวเองมากขึ้น เห็นได้จาก Brexit, America First ของ ประธานาธิบดี ทรัมป์ หากประเทศเป็นบริษัท สิ่งแรกที่ต้องทำ คือทำภายในให้เข้มแข็งขึ้น ต้องไปทบทวนว่าโครงการไหนที่ไม่เกี่ยวโยงกับประชาชน ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ประชาชนจริงๆ ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายลง พร้อมกับคืนกลับให้ประชาชนได้ เช่น ภาษีน้ำมัน ที่เก็บในอัตราสูง

“ดีเซลเกือบ 6 บาท และอย่างดีเซลนี่ถือว่าเป็นภาษีหลักเลยของเกษตรกร อย่างชาวนา ผมเชื่อว่าต้นทุนในการทำนานี่ 15% มาจากน้ำมัน ค่าสูบน้ำเข้านา ค่าเกี่ยวข้าว หรือ เอสเอ็มอี อะไรก็ตาม ถ้าเกิดเราลดงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายของรัฐบางส่วนได้ เราอาจจะไปหาตรงไหนที่เราจะคืนกลับให้ประชาชน เช่นลดภาษีอะไรแบบนี้ให้มันเข้ากัน ก็จะช่วยบรรเทาอนาคตอันใกล้นี้ได้ก่อน ผมคิดว่าประชาชนใช้เงินได้ฉลาดกว่ารัฐน่ะ ผมว่าถ้าเกิดเงินเท่ากัน ผมว่าถ้าประชาชน นักธุรกิจเอสเอ็มอี เขาใช้แล้วมันจะหมุนในระบบได้มากกว่า รัฐเองบางทีบางติดระเบียบติดอะไร ผมว่ามีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพเยอะ ผมว่าถ้าเราลดตรงนี้ได้แล้วไปคืนให้ประชาชนมันจะช่วยเศรษฐกิจได้ระดับนึง

ต่อมาต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ หาตลาดรองรับสินค้าเกษตร โดยมองว่า “ตลาดเป็นหัวใจของสินค้าเกษตรกร” เพราะปัญหาหลักคือเรื่อง สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ต้องรีบเจรจากับ FTA และ EU ที่ยังค้างอยู่ กรณีที่ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลต้องเร่งเจรจา เจาะหาตลาดใหม่ พร้อมกับศึกษาความต้องการของตลาดให้ชัด เรื่องตลาดและดีมานไซส์ให้ละเอียดเพื่อรู้ว่าควรปลูกอะไรตอบสนองความต้องการของตลาด

เช่นเดียวกับ ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนสะท้อน คือ การทุจริต คอรัปชั่น เป็นระดับรายย่อยๆ แทบทุกหย่อมหญ้าเลย ที่ชาวบ้านต้องจ่าย ซึ่งเป็นต้นทุนของประชาชนทุกคน  ส่วนปัญหาที่ต้องจริงจังคือเรื่องยาเสพติด ที่คงต้องเร่งแก้ไข

  • เศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำสูง หัวใจหลักที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของไทย คือ การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ

นายชัชชาติ ระบุว่า ประเทศไทยติดกับ Middle Income Trap หรือ การติดกับดักรายได้ปานกลาง เผลอๆ จะอยู่อีกนานเหมือนเป็นคำสาป ขณะที่ มาเลเซีย จีน เวียดนาม แซงไทยไปหมดแล้ว ถามว่าทำอย่างไรจะพ้น Middle Income Trap ที่ผ่านมา เราใช้ต่างชาติลงทุน แต่ตนมองว่า โมเดลนี้ล่าสมัยแล้ว เพราะอนาคตไม่ได้ใช้คนงานมากขึ้น ตนเชื่อว่าไม่มีประเทศไหนที่หลุดพ้นจาก Middle Income Trap ด้วยการให้ต่างชาติมาทำโรงงานในประเทศได้ ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นจากประชาชนในประเทศ เราต้องสร้างเกษตรกร เอสเอ็มอี สร้างอุตสาหกรรมในประเทศให้เข้มแข็ง

“จริงๆแล้วผมก็ชอบ อย่างของประเทศจีน อย่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ท่านให้นโยบาย เราลองดูศึกษาที่บอกว่าให้เป็นเมดอินไชน่า 2025 เขาพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในประเทศ ความแข่งขัน R&D ให้เยอะขึ้น ผมว่าอนาคตไทยก็ต้องเป็นอย่างนี้นะ อาจจะต้องย้อนกลับมาถึงสมัยก่อนที่เราพูดเมดอินไทยแลนด์ คือเมดอินไทยแลนด์ของเรา ต้องให้ความสำคัญเยอะขึ้น ตั้งแต่เอสเอ็มอี ซึ่งมันฟังแล้วมันดูเชยน่ะ แต่ผมว่าความหมายมันลึกกว่านั้น ผมว่าเมดอินไทยแลนด์ มันต้องให้รู้สึกภูมิใจเลยว่าเราทำของที่ดีได้ ข้าวที่มาจากเมดอินไทยแลนด์ต้องมาจากข้าวที่มีคุณภาพ สินค้าเกษตรดีมีคุณภาพ แหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ R&D มันต้องสร้างจากภายในให้เข้มแข็งขึ้นด้วย”

 

  • ยกเครื่องนโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

เมื่อถามว่าจะสานต่อนโยบายสไตล์ประชานิยม อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ของรัฐบาล คสช.หรือไม่ เพราะเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา “ชัชชาติ” กลับยืนยันว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะไม่ยกเลิกนโยบายนี้ เพราะมีข้อมูลที่ดี แต่จะยกเครื่องวิธีการให้เงิน โดยจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมที่ยุติธรรม ทั้งผู้เสียภาษีและผู้มีรายได้น้อย ที่ต้องหาจุดที่สมดุลกัน เป็นระบบเบ็ดเสร็จทุกอย่างจบที่บัตรประชาชนใบเดียว ผู้มีรายได้น้อยไม่จำเป็นต้องถือบัตรคนจนอีกต่อไป เพราะมองว่าสุดท้ายบัตรคนจน กลายเป็นการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

“ผมว่าก็เป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้ขัดข้อง ตอนสมัยที่ผมอยู่คมนาคม ก็ยังคิดเลยว่าจะทำได้ไหม เพราะว่าตอนนั้น เราขึ้นรถเมล์ เราก็ให้ขึ้นรถเมล์ฟรีทั้งคัน รถไฟฟรี ตอนนั้นเราก็มองว่ามันก็ไม่ได้ทำได้ง่ายหรอก เพราะว่าการวัดความไม่มีวัดยาก วัดความมีนี่วัดง่าย มีอะไรนี่วัดได้ แต่ถ้าวัดความไม่มีบางทีมันวัดได้ยาก ผมว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราก็ไม่ได้ขัดข้อง ผมว่าก็เป็นเรื่องที่ดีที่สามารถช่วยเหลือคนได้ตรงจุด น่าจะเป็นสิ่งที่ทำไปต่อเนื่องได้ แต่ในระยะยาวผมเรื่องว่าบัตรนี้ น่าจะเป็นบัตรเดียวกับบัตรประชาชนได้”

  • ชำแหละ “รถไฟความเร็วสูง” คสช. เชื่อมสนามบิน ไม่เชื่อมเมือง ไม่กระจายความเจริญ

เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่ง โลจิสติกส์ โดยเฉพาะรถไฟ เป็นอันต้องสะเทือนกันทุกครั้ง ที่ “ชัชชาติ” ออกความเห็นถึงเรื่องนี้ เช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่เขาบอกกับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ว่า ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูง เน้นการเชื่อมต่อระหว่าง 3 สนามบินหลัก นั่นคือ ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, และอู่ตะเภา แทนที่จะเป็นการเชื่อมต่อเมือง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องแปลก มีคนบอกว่า ให้ทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมอู่ตะเภามาสุวรรณภูมิ เพราะสุวรรณภูมิเต็มแล้ว ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ ถ้าสุวรรณภูมิเต็ม ต้องเร่งขยาย เพราะเป็นหัวใจของประเทศ ไม่ใช่อู่ตะเภา ความไม่เข้าใจในดำเนินการเรื่องพวกนี้ส่งผลในระยะยาว เพราะเป็นโครงการใหญ่

“ถ้าความเห็นส่วนตัวนะ ถ้าสุวรรณภูมิเต็ม ต้องขยายสุวรรณภูมิเลย เพราะสุวรรณภูมิคือเส้นเลือดใหญ่ของประเทศเลย ทั้ง Tourist ต่างๆ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่บอกว่าไปลงอู่ตะเภา แล้วนั่งรถไฟความเร็วสูงเข้ามากรุงเทพฯ แบบนี้ผมว่าอันนี้ต้องดูให้ดี ถ้าจะทำอู่ตะเภาเผ็นศูนย์กลางทางด้าน cargo อะไรแบบนี้ cargo คือ ขนสินค้า อันนี้ก็ไม่ง่าย เพราะสินค้าส่วนใหญ่ขนไปกับเครื่องบินโดยสาร ไม่ใช่เครื่องบิน cargo เพราะงั้นมันต้องอาศัยสนามบินที่มีเครื่องบินโดยสารที่มาจากทั่วโลกไง เพราะฉะนั้นการจะเอาอู่ตะเภาเป็น hub ของ cargo ไม่ง่าย เพราะมันไม่มีเครื่องบินโดยสารทั่วโลกมาลงไง ผมว่าอันนี้ต้องให้เข้าใจ เข้าใจเทคนิคด้วย ผมกลัวว่าจะไปผิดทางเหมือนกัน”

 เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เน้นเชื่อมต่อสนามบิน ส่วนตัวมองว่าควรจะเชื่อมเมืองมากกว่า เพราะรถไฟความเร็วสูงคือ Growth engine มันคือสร้างความเจริญ  เพราะฉะนั้นสร้างความเจริญไปสนามบินจึงยาก และไม่สามารถก่อสร้างรอบสนามบินได้ แต่สนามบินเป็นแค่ transportation หรือการขนส่ง เช่นเดียวกับหลายๆประเทศ อย่างฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ก็เหมือนกัน ซึ่งแทบไม่เห็นว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน

นอกจากนี้ ตัวเลขความต้องการใช้จากสนามบินที่ได้ศึกษามา มีแค่ 10% ที่เดินทางจากอู่ตะเภามาสุวรรณภูมิ ดังนั้นน่าจะเชื่อมตัวเมืองมากกว่า อีกทั้ง schedule ของเครื่องบิน กับ schedule ของรถไฟ ก็ไม่ได้สอดคล้องกันนัก โดยมองว่าประเด็นนี้ ยังต้องถกเถียงกันอีกที ว่าควรพัฒนาเมืองเพื่อกระจายความเจริญ

รวมทั้งรถไฟในกรุงเทพฯ มี 10 สาย หัวใจไม่ใช่การก่อสร้าง แต่หัวใจคือประชาชนใช้สะดวก ราคาถูก ควรเป็นเจ้าของเดียวกัน ปัจจุบันกลายเป็นท่อนๆ เช่น สีเขียว รัฐบาลยกให้เป็นของ กทม. แต่ สีเหลือง, สีชมพู สัมปทานเอกชน คนจนจะเข้ามาในเมืองต้องเสียค่าโดยสารหลายต่อ

 

  • ไม่เสียดาย ที่ไม่ได้สร้างรถไฟความเร็วสูง ชี้ชีวิตต้องมองไปข้างหน้า

“ไม่เสียดายหรอกครับ ชีวิตต้องมองไปข้างหน้า” เป็นคำตอบที่อดีต รมว.คมนาคม เผยความรู้สึกจากคำถามรู้สึกเสียดาย และมองว่าประเทศเสียโอกาสหรือไม่ที่ไม่ได้สร้างรถไฟความเร็วสูง โดยเขากล่าวว่าหากขับรถถ้ามองแต่กระจกหลัง ก็ไปไม่ถึงไหน ต้องมองไปข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องตามเหตุการณ์ ที่ต้องมองไปข้างหน้า และหลายโครงการที่ได้คิดไว้ก็ถูกผลักดันทำไปแล้ว แต่ประเด็นคือรัฐบาลต้องคิดว่า จะเชื่อมโยงเส้นทางและสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร

  • “ประเทศต้องทันสมัย” เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลต้องเก่งและก้าวให้ทัน

ภาพลักษณ์ วิสัยทัศน์ และประสบการณ์จากบทบาทนักบริหาร ของ “ชัชชาติ” หากมีโอกาสกำหนดทิศทางประเทศได้สักครั้ง เขาตอบอย่างมั่นใจว่า ต้องนิยามคำว่า “ประเทศ” ก่อนว่าคืออะไร ประเทศคือเขตแดนหรืออะไร ซึ่งส่วนตัวมองว่า “ประเทศคือประชาชน” หัวใจของนโยบายมันต้องลงไปที่ประชาชน

ซึ่งประเทศจะดี หาก GDP ดี แต่ประชาชนในประเทศรวยอยู่กลุ่มเดียว นั่นก็ไม่ใช่คำตอบความเจริญของประเทศ หัวใจคือให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ที่จะสร้างชีวิตที่ดีได้ พัฒนาตัวเองหาโอกาสในชีวิตได้ นโยบายหลัก คือเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง คำเดียวคือคำว่า “ทันสมัย” ไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยี แต่หมายถึงทุกมิติ ทั้งแนวคิด กฎระเบียบ ความสัมพันธ์ระหว่างคน

 

  • เลือกตั้ง 2562 ไม่เครียด อยากเห็นให้โปร่งใส ยุติธรรม

ประชาธิปไตยที่รอคอย และความคาดหวังในการเลือกตั้ง 2562 นักการเมืองโปรไฟล์ดีคนนี้ อยากเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ โปร่งใส เขายกประโยคของ โทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์คนสำคัญของโลกที่บอกว่า “To have a good choice  you need many choices” ถ้าจะได้ตัวเลือกที่ดี คุณต้องมีตัวเลือกเยอะๆ  การมีทั้งตัวเลือกจำนวนมาก จากหลายพรรค เป็นเรื่องที่ดี แต่การแข่งขันคือว่ามันต้องให้โปร่งใส ยุติธรรม แค่นี้เองละ ให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจจริงๆ ถ้าเอามาแล้วมัน้องโปร่งใส ทุกอย่างไปได้ แล้วความเชื่อมั่นจะกลับมา ไม่ว่าพรรคไหนจะได้รับชัยชนะก็ตาม ให้เป็นอำนาจประชนตัดสินใจ

“ผมว่าเราจะสบายๆน่ะ ผมว่าอยู่ตรงไหนก็ช่วยได้ ก็ทำดีที่สุด สุดท้ายก็ไม่ต้องไปเครียดมาก แต่ว่าหัวใจคือเรื่องความโปร่งใสยุติธรรม ไม่เอาเปรียบ นี่ละหัวใจ แต่ผมว่าโลกสมัยนี้ข้อมูลมันไปเร็วนะ ประชาชนไม่ได้โง่นะ มันไปในวินาทีเลยนะผมว่าคนเห็นชัดเจนขึ้น ประชาชนฉลาดขึ้น เพราะฉะนั้นก็อย่าไปดูถูกประชาชน

เมื่อพูดถึงนักการเมืองแถวหน้า รวมถึงคนมีสีที่ทำงานการเมือง มีไม่กี่ชื่อ ที่กระแสตอบรับจะยังคงเป็นบวกอยู่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ยังคงเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งต้องจับตาว่า ท้ายสุดแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 นี้ “ชัชชาติ” จะถูกจับวางอยู่ที่ตำแหน่งใด ทั้งในบริบทของพรรคเพื่อไทย และประเทศชาติ หากไม่ถูกสกัดดาวรุ่งเสียก่อน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า