SHARE

คัดลอกแล้ว

หนึ่งในพรรคใหม่ที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้น “พรรคพลังประชารัฐ“ แม้จะถูกคาดการณ์ว่าจะไม่ใช่พรรคที่ได้เก้าอี้ส.ส.มากที่สุด แต่ก็เป็นหนึ่งในพรรคที่มีโอกาสลุ้นจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุดพรรคหนึ่ง

ในการสัมภาษณ์กับบรรจง ชีวมงคลกานต์แห่งทีมข่าวเวิร์คพอยท์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ในรายการเวิร์คพอยท์ ลุยศึกเลือกตั้ง 62 นายอุตตม สาวนายน ซึ่งในขณะนั้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัวและยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐพร้อมเล่นการเมืองเต็มตัวไม่ว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/802047983465859/

 

เป้าหมายคือจัดตั้งรัฐบาล-เชื่อประยุทธ์เหมาะสมเป็นนายกฯที่สุด

 

– พูดถึงพรรคพลังประชารัฐ เวลาเจอคำถามว่าตั้งพรรคมาเป็นพรรคเฉพาะกิจ เอาไว้สืบทอดอำนาจคสช. คุณอุตตมตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร? –

 

ให้กลับไปดูประเด็นแรกเลยว่าพรรคพลังประชารัฐเกิดมาอย่างไร เมื่อ 3 เดือนกว่าที่แล้วพรรคเราเกิดเพราะพวกเราที่อุดมการณ์ตรงกัน ต้องการที่จะเข้ามาทำงานในจุดหักเหสำคัญของประเทศไทย คนไทยกำลังต้องการเลือกอนาคต ผมคิดว่าถ้าเรารวมพลังกันจากคนหลายภาคส่วนเข้ามาอาสาทำงานตรงนี้ก็จะเป็นเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างยิ่ง ดูคนในพรรคก่อนว่ามีใครส่อการสืบทอดรัฐบาลนี้ต่อไป ไม่มีนะครับ จะสีอะไรก็ตาม แนวทางการทำงานของเราเป็นอย่างไร เรื่องของแนวนโยบายเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรเลยที่สะท้อนเรื่องการสืบอำนาจของคสช.อย่างที่เขาพูดกัน ลองชี้ชัด ๆ ดูสิครับว่าคืออะไร

 

– ไม่ได้มานั่งหัวหน้าพรรคเป็นหุ่นเชิด? –

 

ไม่ใช่แน่นอน ผมได้รับความไว้วางใจจากผู้ร่วมอุดมการณ์ให้เป็นหัวหน้าพรรค ผมก็เรียนเลยกับสังคมว่าเราตั้งใจให้พรรคพลังประชารัฐเป็นสถาบันทางการเมืองถาวรแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะกิจในรูปแบบใดทั้งนั้น

 

– สามแคนดิเดตชื่อก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แล้วก็คุณอุตตมเอง เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อคุณประยุทธ์นี่ยังขายได้ไหม –

 

พรรคเรามีแนวทางอยู่แล้วโดยเราอาสาเข้ามาทำงานแก้ปัญหาสั่งสมที่พี่น้องประชาชนเผชิญอยู่นานแล้ว แต่ไม่ได้แก้เสียที ส่งผลออกมาเยอะ  ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยกทางการเมือง และปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมั่นใจได้ว่าคนไทยจะก้าวทันโลกในสมัยที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลก จากโจทย์นี้พรรคพลังประชารัฐจึงมาดู 3 เรื่อง หนึ่งนโยบาย สองตัวบุคคล ได้แก่ผู้สมัครของเราทั้งหลาย องคาพยพที่เรามีทั้งหมดจะเอามาผสมผสานเพื่อตอบโจทย์สองโจทย์นี้ได้อย่างไรและ สามก็คือผู้นำ เราต้องการผู้นำแบบไหนที่นำเสนอต่อประชาชน คำตอบก็คือท่านพลเอกประยุทธ์ เราเชื่อว่าเป็นผู้นำที่ท่านพร้อมและท่านเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันที่บ้านเมืองกำลังต้องก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง แก้ไขปัญหาที่หมักหมมอยู่ ประชาชนคนไทยต้องมีความสงบ มีความสุขอย่างแท้จริง เราเชื่อว่าท่านเหมาะ เหมาะด้วยภาวะผู้นำ ประสบการณ์ และเวลา

 

– คิดว่ากระแสลบต่อคุณประยุทธ์จะเป็นผลให้พลังประชารัฐเพลี่ยงพล้ำเพราะชูชื่อพลเอกประยุทธ์ไหม? –

 

กระแสบวกผมคิดว่าของพลเอกประยุทธ์ก็มีเยอะ อันนี้เป็นเรื่องของความเห็น แต่เราเชื่อว่าสังคมตอบรับพลเอกประยุทธ์ ในพื้นที่ด้วย เราไม่ได้พูดแต่ในเฉพาะกรุงเทพมหานคร แล้วก็ประกอบกับ 3 องค์ประกอบ ผู้นำ องคาพยพบุคลากร นโยบายของเรา เรามองว่าต้องครบเครื่อง 3  องค์ประกอบเลย

 

– ทำไมไม่เสนอชื่อคุณอุตตมคนเดียวไปเลย –

 

เขาให้เสนอได้ 3 ชื่อก่อน พรรคก็ดูว่าใครที่อยู่ในข่ายที่เหมาะสมบ้าง

 

– กลับมาที่เรื่องอนาคตของพรรคพลังประชารัฐ ตอนนี้ในใจเป้าหมายส.ส. คิดว่าจะได้กี่ที่นั่ง –

 

เราทำเต็มที่  อันนี้ทุกคนในพรรคมุ่งหวังผลเต็มที่ ได้เท่าไหร่ออกมาเดี๋ยวก็ปรากฎออกมา แต่วัตถุประสงค์เราอยากมีจำนวนมากพอที่จะมีโอกาสได้จัดตั้งเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลแล้วก็ได้ทำงานร่วมกับพรรค ยังไม่ได้เคาะเป็นตัวเลขออกมาแต่ก็เปลี่ยนได้เสมอ

 

– เห็นบอกว่าในกรุงเทพได้ 10 ที่นั่ง –

 

นั่นเฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งประเทศเป็นพื้นที่ใหญ่เราก็จะทำให้ได้เต็มที่เลย

 

– คิดว่าจะได้เกินร้อยไหม? –

 

เกินร้อย ในความคิดผมนะ

– ถ้าพลังประชารัฐไม่ได้มีที่นั่งส.ส.เป็นที่หนึ่ง สมมติว่าได้เป็นที่สองที่สาม จะเปิดโอกาสให้พรรคอื่นไปจัดตั้งรัฐบาลก่อนหรือไม่ –

 

ก็ต้องมาดูว่าใครได้ที่ 2 แล้วก็ใครได้ที่ 3 ใครได้ที่ 1 อันนี้ต้องมาดูเมื่อผลออกมาแล้วก่อนไปสู่การเจรจาว่าใครจะอยู่กับใครได้ไหมอย่างไร ใครเหมาะสมที่จะเป็นแกนนำ ผลมันจะชี้เอง

– ส่วนกรณีที่มีหลายพรรคออกมาประกาศว่าจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี –

 

ก็เป็นสิทธิของพรรคนั้น ไม่ว่าอะไรเลย เรามีจุดยืนของเราชัดเจน เรามีเหตุผลที่มาที่ไปชัดเจนว่าทำไมเราเสนอบุคคลต่าง ๆ ที่เราได้เสนอไป ก็ไม่ว่าอะไรกัน มีพรรคอื่นที่อาจจะพร้อมร่วมกับเรา ผมเชื่อว่ามีแน่นอน

 

– หมายความว่าถ้าพลังประชารัฐไม่ได้มีคะแนนสส.มาเป็นที่หนึ่งก็ยังตอบไม่ชัดใช่ไหมว่าจะให้พรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาลก่อนหรือไม่ –

 

มันตอบไม่ได้หรอกครับ แล้วก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะคำว่าต้องไปดูก่อนว่าใครมาที่ 1 ที่ 2 ที่ 3

– หากเพื่อไทยได้ที่ 1 จะจับมือไหม? –

 

ก็ต้องดูว่าเขาได้ที่ 1 จริงหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม หรือถ้าเรามามากพอ เป็นเราจัดตั้ง เผลอๆที่ 1แต่ว่ามีที่ 2 ที่ 3 หรือที่อะไรก็ตามแล้วรวมกันได้ มันก็เป็นสูตรนั้นได้เหมือนกัน

– ถ้าจับมือกันแล้วอยู่ในเงื่อนไขว่าพรรค 1 สมมติว่าจับมือกับประชาธิปัตย์ แต่ประชาธิปัตย์บอกขอเสนอชื่อคุณอภิสิทธิ์เป็นนายก ไม่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ อย่างนี้จะจับไหม? –

 

ยังไม่ถึงเวลาพูดเลยครับ ก็ต้องรอดูจริง ๆ ว่าคะแนนออกมาเป็นยังไง เงื่อนไขเป็นยังไง ต้องดูตั้งแต่ต้นเลยว่าอุดมการณ์ไปด้วยกันได้ไหม นโยบายรับกันได้ไหม เพราะเราเสนออะไรเราก็ต้องยืนสิ่งที่เราเสนอ ไม่ใช่ว่าเขามีนโยบายที่เราไม่เห็นด้วยแล้วต้องกล้ำกลืน นั่นไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ

ส่วนตัวบุคคลสำคัญแน่นอน ต้องมาคุยกันว่าถ้าทำงานร่วมกันแล้วใครจะอยู่ตำแหน่งไหน รอให้ถึงเวลานั้น ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองจะมีแนวทางที่คุยกัน คงไม่มีใครอยากจำกัดชัดเจนในเวลานี้เพราะมันเป็นไปไม่ได้

– จริงไหมที่บอกว่าพลังประชารัฐได้เปรียบอยู่แล้วเพราะมีส.ว.ในมืออยู่แล้ว 250 เสียง –

 

ไม่ครับ อันนี้ต้องแยกให้ชัดเจนเพราะว่าพรรคพลังประชารัฐคือพรรคพลังประชารัฐ เราลงสนามภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันกับทุกพรรค รัฐธรรมนูญ.ออกมาก็ไม่ได้ออกมาลอย ๆ มีการทำประชามติ คนไทยเห็นชอบกันแล้วว่าองค์ประกอบจะมีเช่นนี้ ส.ว. ส.ส. การเลือกตั้งจะเป็นเช่นนี้ คนไทยได้ออกเสียงแสดงความเห็นแล้วว่าจะเอาอย่างนี้ พรรคพลังประชารัฐและทุกพรรคก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้

 

– มีอดีตส.ส.และรัฐมนตรีมาจากหลากหลายพรรค ถ้าได้จัดตั้งรัฐบาลจะคุมมุ้งการเมืองได้หรือไม่? –

 

เราคุมกันเองอยู่ เพราะตั้งแต่มารวมตัวกัน มาจากหลายมุ้งก็จริงแต่หลายมุ้งมาเป็นมุ้งใหญ่มุ้งเดียว เป็นมุ้งที่มีระบบอันนี้คุยตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่มาเป็นมุ้งนู้นมุ้งนี้แยกกันอยู่ เพราะว่าพรรคพลังประชารัฐต้องการให้มีสมาชิกมาจากหลายกลุ่ม หลายวิถี พรรคเราไม่ใช่มีใครชี้ได้คนเดียว การพูดคุยก็ต้องมีแน่นอนถ้ามีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลแต่ความเข้าใจมี

– แล้วคุณอุตตมจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าจะไม่มีการตอบแทนผลประโยชน์การเมืองให้กลุ่มมุ้งต่าง ๆ –

 

เรามีระบบในการพิจารณาอยู่แล้วว่าตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบใครเป็นอย่างไร พี่น้องคนไทยจะเห็นได้เลยว่ามันเหมาะสมไหม เราคงไม่นำเสนออะไรที่คนบอกไม่ใช่เลยตั้งแต่วันแรก สิ่งที่เราจะนำเสนอจะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องคนไทย

– พรรคไหนน่ากลัวที่สุดสำหรับพปชร. –

 

ทุกพรรคเราแข่งหมด ไม่ใช่เรื่องของน่ากลัวเลย เป็นเรื่องของการแข่งขัน ถามว่ากลัวใครไหม ไม่ได้กลัวใคร กลัวการแข่งขันไหม ไม่กลัว เราลงสนามต้องแข่งกันทุกคนพื้นที่ตั้งเยอะ เราต้องยอมรับว่าเราเด็กใหม่ 3 เดือน ต้องทำการบ้านมาก ๆ ซึ่งเราทำมาและทำอย่างเข้มข้นต่อไป แต่เราไม่กลัวหรอกครับที่จะทำหรือที่จะแข่ง

– ถ้าแพ้เลือกตั้งพร้อมเป็นฝ่ายค้านไหม –

 

พร้อม เพราะเราเป็นพรรคถาวร ก็ต้องรับเสียงของประชาชนที่ลงคะแนน

– หมายความว่าคุณอุตตมจะเป็นนักการเมืองอาชีพต่อจากนี้แล้วถ้าเกิดว่าแพ้เลือกตั้งก็จะเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ไม่กลับไปทำหน้าที่บริหารธุรกิจหรือทำงานภาคเอกชน –

 

นั่นเรื่องของอนาคตไม่มีใครตอบได้ แต่ความตั้งใจตอนนี้คือรับได้เลยถ้าเป็นฝ่ายค้าน ถ้าพรรคให้ทำงานต่อ ผมก็ทำงานต่อ

– ถ้าได้ตั้งรัฐบาลคิดว่าอนาคตของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะอยู่ครบ 4  ปีไหม –

 

ตอบไม่ได้ ต้องอยู่ที่ประชาชน ว่ารัฐบาลปฏิบัติหน้าที่แล้วประชาชนยอมรับไหม ชื่นชมไหม

 


 

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 หลังการสัมภาษณ์นี้หนึ่งวัน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายอุตตม สาวนายนต์ประกาศถอนตัวออกจากรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ปัจจุบันรายชื่อบุคคลที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคฯเหลือเพียงพลเอกประยุทธ์ ​จันทร์โอชา

อ่านเพิ่มเติม: “อุตตม”ถอนตัวแคนดิเดตนายกฯ พลังประชารัฐ รอ “พล.อ.ประยุทธ์” คนเดียว

 


ชูนโยบายขยายสิทธิบัตรคนจน – แก้หนี้นอกระบบ – ปรับที่ดินส.ป.ก – มารดาประชารัฐ

– นโยบายเด็ดของพลังประชารัฐ ที่จะเสนอต่อประชาชนครั้งนี้ ให้เลือกเพื่อที่จะทำหน้าที่รัฐบาล ซึ่งในตอนนี้มีนโยบายที่คล้ายกันกับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน มีอะไรที่เป็นทีเด็ดกว่าเดิมหรือไม่ –

 

เรื่องของนโยบายไปคล้ายนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันในบางเรื่อง ก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเลยในความเห็นของผมและพรรคพลังประชารัฐ การที่เรามาในครั้งนี้เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักก่อนการเมืองด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นอะไรดี ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ทำอยู่ เราก็พร้อมจะทำต่อ

 

– อะไรดีที่ว่านี้ ยกตัวอย่างเช่นอะไร? –

 

อย่างแรกเลยเรื่องของสวัสดิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แก้ความเลื่อมล้ำ เราจะทำต่อ และผมก็ประกาศไปแล้วว่าไม่ใช่ทำต่อเฉย ๆ แต่จะเพิ่มคนเพิ่มสิทธิ์ด้วย เป็นสองทอด

1.ตอนนี้มีคนได้สิทธิ์อยู่แล้วประมาณ 14.5 ล้านคน แต่จากการสำรวจทั้งหลายของพรรคเอง เสียงสะท้อนกลับมา ยังมีคนกลุ่มหนึ่ง 2 – 3 ล้านคนอย่างน้อยที่ตกสำรวจไปตอนนั้น หรือยังไม่พร้อมเรื่องคุณสมบัติ แต่มันปรับปรุงกันได้ เราจะเพิ่มตรงนี้ให้ทั่วถึง นั่นคือประเด็นแรกและเพิ่มคน

ส่วนการเพิ่มสิทธิเราจะดูรายกลุ่มนะครับ ในสังคมไทย เพราะว่าสวัสดิการบางทีความต้องการไม่เหมือนกัน แต่ละกลุ่มถูกไหมครับ ? เราก็จะพยายามจัดให้ตรงมากที่สุด เช่น กลุ่มผู้สูงอายุนี่ชัดเจนมาก ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นต้องดูแลผู้สูงอายุด้วยสวัสดิการให้เหมาะสม ผู้พิการ แม้กระทั่งเด็ก เยาวชนเราก็ต้องดูแล และอีกกลุ่มนึงที่มีความสำคัญเหมือนกัน ก็คือสตรีมีครรภ์

 

– ต้องใช้เงินมากขึ้นอีกหรือไม่? –

 

ต้องถือว่าเป็นการลงทุน เราตั้งโจทย์มาชัดเจนว่าจะมาแก้ไขปัญหาสะสม เดินหน้าอย่างยั่งยืนมั่นคง ประเทศไทยก้าวทันโลก  ถ้าเป็นแบบนี้นโยบายของเรา มันจะยึดโยงกันเรื่องแรกก็อย่างที่เราเห็น ที่เราพูดกันนี่แหละว่า คนไทยต้องมีสวัสดิการที่จำเป็นต้องมี ที่สมควรมี และทั่วถึง ซึ่งไม่เคยมีโอกาสได้มี คนจนผมไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนดูแลแบบนี้จริง ๆ จัง ๆ แต่เรายังมีคนอีกหลายกลุ่ม เมื่อก่อนคนสูงวัยไม่ใช่ปัญหา แต่วันนี้ถ้าไม่ดูแลก็ไม่ถูกต้องแล้ว ต้องดูแล ผู้พิการก็เช่นกัน สตรีมีครรภ์ผมคิดว่าเราต้องขยาย

 

– แต่คนกลุ่มนี้ก็มีผู้ช่วยเหลืออยู่แล้วอย่างเช่นผู้สูงอายุก็มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์นี่ก็มีสำนักงานประกันสังคมช่วยเหลือ –

 

เราดูแล้วนี่มันไม่น่าจะเพียงพอนะ เพราะวันนี้หลาย ๆ อย่างกำลังเปลี่ยนแปลง สภาพแวดล้อมแล้วก็โอกาส หมายถึงว่าถ้าเราทำเรื่องตรงนี้ให้เหมาะสมปุ๊บนี่ มันเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กลุ่มผู้พิการ ดูแลแล้วเขาไปทำอย่างอื่นได้

 

– ทั้งหลายทั้งปวงจะมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ –

 

พรรคเรียกว่าบัตรประชารัฐ นี่คือพรรคประชารัฐ นโยบายของเราคือบัตรประชารัฐ นั่นก็คือครอบคลุมทั้งหมด ไม่ใช่บัตรคนจน ไม่ใช่บัตรนู้นนี่นั่น เป็นบัตรประชารัฐ

 

– มีไปเพิ่มเงินอีกไหม จากเดิมที่เคยได้ไป 200 – 300 บาท –

 

ตรงนั้นเรายังไม่ได้ไปปรับดูตามอนาคตข้างหน้า อะไรเหมาะสม อะไรอยู่ในกรอบ สมควรทำและทำได้ นี่ไม่ต้องห่วงเพราะเราดูแลแน่นอน พวกผมพื้นฐานทางวิชาการเยอะ เพราะฉะนั้นดีดตัวเลขเป็นประจำ

 

– ถ้าไปเพิ่มเหล่านี้รายจ่ายมันเยอะขึ้น แล้วจะไปหาเงินทางไหน? –

 

ก็ไปดูเรื่องรายได้ด้วย นี้ก็ไปโยงมาจากที่ผมพูดเรื่อง 3 พันธกิจนะครับ สวัสดิการประชารัฐนี่คือแก้ไขความล้มเหลื่อมล้ำก่อนเลยครับ ยังมีอย่างอื่นอีกนะครับ เรื่องหนี้นอกระบบ ยกตัวอย่าง เรื่องของหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย มีการประมาณการไว้ว่าหนี้นอกระบบทั้งหมดนี่ไม่ต่ำกว่า 360,000 ล้านบาท หนี้นอกระบบก็รู้อยู่แล้วดอกเบี้ยสูงขนาดไหน อันนี้ทำร้ายครอบครัวอย่างมาก พ่อแม่มีปัญหา ลูกก็มีปัญหาไปด้วยบ บั่นทอนกำลังของเศรษฐกิจ แต่นี่ก็เป็นข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นพรรคพลังประชารัฐนโยบายคือเราจะกำจัดหนี้นอกระบบ อันแรกเลย แต่ว่านี่ต่อยอดรัฐบาลปัจจุบันไหม ใช่ และถามว่ามีใครที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหนี้นอกระบบวันนี้ไหม เราก็อยากให้ฟังว่านโยบายคืออะไร

– ก็คือเอาหนี้นอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ ? –

 

แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ เอาเข้านะครับ นี่คือท่อนแรกเท่านั้น เมื่อกี้คุณบรรจงถามว่าแล้วรายได้ได้มายังไง วันนี้คนที่เขามีหนี้นอกระบบเยอะ ๆ เช่น เกษตรกร มันไปถ่วงการทำรายได้เขา กู้เงินจนดอกเบี้ยหมุนพอกตัวเอง คนทำงานอยู่ในโรงงานใช้แรงงานชักหน้าไม่ถึงหลัง กู้หนี้นอกระบบเหมือนกัน เงินเดือนหมื่นกว่าบาทต้น ๆ นี่จริง ๆ อยู่ไม่ได้นะ เราไปศึกษามาหมดแล้ว อยู่ได้ แต่การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ โอกาสใหม่ ๆ ไม่มี รายได้ใหม่ ๆ ก็จำกัด เพราะฉะนั้นอย่างแรกสวัสดิการมีเพื่อปลดภาระส่วนนี้ออกไป

สอง สวัสดิการประชารัฐโยงกับเศรษฐกิจประชารัฐ ซึ่งก็คือการเพิ่มรายได้ เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ แล้วก็สร้างโอกาสที่เท่าเทียม นี่แหละครับมันถึงต้องมายึดโยงกัน มันจะไปสู่ขาที่ 3 ของพันธกิจนโยบายเราก็คือ สังคมประชารัฐ ถ้าสวัสดิการดี โอกาสดี สังคมจะเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นทุกมาตรการ ขอพูดเฉพาะเรื่องแก้หนี้นอกระบบ

คราวนี้แก้ไขเรื่องของหนี้นอกระบบ ผมเจาะจงไปเลยครับที่กองทุนหมู่บ้าน มีมานานแล้ว เงินหมุนเวียนอยู่ในระบบกองทุนหมู่บ้านหลายแสนล้าน กองทุนหมู่บ้านที่ตั้งมาก็เป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้ไปอะไรตรงนั้น แต่เมื่อสถานการณ์มาเรื่อย ๆ มันก็มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะการกู้ยืม การนำดอกเบี้ยมาคืนนี่เป็นการไปกู้หนี้นอกระบบมาซะเยอะ เพราะฉะนั้นคืนทางบัญชีแต่ที่จริงหนี้สินพอก นั่นเป็นปัญหา

 

– นี่คือพรรคพลังประชารัฐจะเข้าไปทำอะไรที่มีอยู่เดิม ตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณทักษิณ? –

 

ในที่นี้นี่เราจะไปปรับกองทุนหมู่บ้านทั้งระบบ สืบเนื่องจากเรื่องของหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นกองทุนหมู่บ้าน เรากำลังพูดถึงการที่เราจะเดินหน้าพักหนี้ พักหนี้เฉย ๆ ไม่พอ ให้ผู้กู้มีฟื้นฟู เติมทุนให้ ให้โอกาสใหม่ เดี๋ยวนะครับ มันอยู่ในวงจรที่ผมเรียนอยู่เสมอ พรรคนี้ให้ 3 ปี ดอกเบี้ยนะ 3 ปีนะ แต่ในขณะเดียวกันเรามีมาตรการเข้าไปฟื้นฟูท่านด้วย ในอาชีพที่ท่านทำ แล้วก็ดูถ้าท่านไปได้ให้กู้เพิ่ม ด้วยเทอมที่เหมาะสม นี่คือการให้โอกาสใหม่ แทนที่จะวนแบบอย่างเดิม กู้ไปเรื่อยแบบนี้แล้วมันก็พอกไปเรื่อย ๆ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เดินหน้า

 

– เห็นบอกว่าอีกข้อหนึ่งที่จะเป็นจุดขายก็คือที่ดินทำกิน สปก  4-01 จะเปลี่ยนเป็น สปก 4.0 อันนี้คือจะทำอย่างไร คือมีคนวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ ว่าจะเอาที่ดินที่ทำการเกษตรไปทำการเชิงพาณิชย์หรือ ? มีการขายกรรมสิทธิ์มีการโอนกันได้หรือ ? –

 

อันนี้เป็นเรื่องของความยั่งยืนนะ เป็นการดูแลความเป็นอยู่ สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยหรือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งปัญหาปัจจุบันคือเรื่องของการดูแลสิทธิในที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยด้วย ซึ่งมันก็เป็นประเด็นอยู่ ว่าราษฎรในหลายกรณีก็ควรจะมีสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เขาอยู่ก็ยังไม่มี หรือว่าที่ทำกิน พื้นที่ปัจจุบัน จริง ๆ แล้วมันไม่เหมาะสมที่จะทำเป็นที่ดินทำกินที่เกษตรแล้ว แล้วยังจะทำอยู่อย่างนั้นไหม ?

มันก็เกิดการบิดเบือนว่าที่ไหนไม่ใช่ อย่าง ส.ป.ก. นี่พูดตรง ๆ ก็คือมีการเอาไปให้นายทุน ขายนายทุน ขายข้างหลัง ชื่อยังเป็นข้างหน้า ยังเป็นเกษตรกรคนเดิมแต่ที่เอาไปทำอย่างอื่นแล้ว แต่เกษตรกรได้ประโยชน์จริงไหม ? ไม่ได้เท่าไหร่หรอกครับ ทำไมไม่ทำปัญหาเหล่านี้ให้มันหมดไป ให้โปร่งใสแล้วขนาดเดียวกันเพิ่มโอกาส เพิ่มมูลค่าในสิทธิ์นั้น ๆ ให้ผู้ที่มีสิทธิครอบครองสิทธิ์นี่ใช้ ส.ป.ก 4.0 เรากำลังพูดถึงว่าในเรื่องของระบบ ส.ป.ก. วันนี้จัดสรรไปแล้วประมาณ 36 ล้านไร่ทั่วประเทศ

 

– ที่ส.ป.ก. 36 ล้านไร่ มีผู้ครอบครองอยู่ 4 ล้าน 8 แสนครัวเรือน –

 

ประมาณ แต่ที่สำคัญคือ 10 ล้านไร่นี่ ภายใต้ 36 ล้านไร่ จริง ๆ แล้วไม่เหมาะกับการทำการเกษตรแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า ประมาณล้านไร่ จริง ๆ ไปเป็นชุมชนแล้วไม่ใช่เกษตร

 

เพราะฉะนั้นแนวทางของพลังประชารัฐคืออะไร ถึงขั้นจะไปเอาคืนไหม ? –

 

ไม่ วิธีทำในแนวของเรา เป็นแนวซึ่งปฏิบัติได้จริง เป็นธรรมแล้วไม่เป็นภาระกับรัฐหรือกับใครทั้งนั้น แล้วก็ไม่ถูกครอบงำโดยนายทุนหรือใครก็ตาม อย่างที่ผมเรียน 10 ล้านไร่ไม่เหมาะแล้ว เป็นชุมชน นอกจากนั้น 9 ล้านไร่เป็นถนน เป็นหน่วยงานของรัฐ ขอไปใช้สร้างที่ทำงานของหน่วยงาน เราก็มาดูตรงนี้ให้ชัดเจนว่าภาพเป็นอย่างไร พอเห็นภาพตรงนี้ชัด เราจัดระบบใหม่ เช่นถ้า คุณบรรจงครอบครองอยู่แต่ไม่ทำการเกษตรแล้ว เป็นที่ที่ไม่เหมาะสม จะเอาไปทำอะไรต่อ ผมสนใจจะเอาไปสมมติเชิงพาณิชย์ก็ได้ อย่างนี้ก็สามารถที่จะโอนสิทธิ์ได้ให้ผมทำ

 

– สมมติว่าคุณอุตตมบอกว่าอยากได้ที่ไปทำโรงแรมรีสอร์ทอย่างนี้ได้ ? –

 

ไม่ อันนี้ ประเดี๋ยวเราจะสามารถที่จะลงรายละเอียด เปลี่ยนสิทธิได้ แต่มีเงื่อนไขกำหนดโดย ส.ป.ก. ว่าเปลี่ยนไปทำอะไรได้บ้าง ต้องดูตามความเหมาะสมนั่นเป็นประเด็นแรก คราวนี้เปลี่ยนสิทธิ์ได้ ตามกฎเกณฑ์สมมติเราตกลงกันก็เดินไปส.ป.ก.เลยครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ บอกว่าจะขอเปลี่ยนสิทธิครับ สปก. มีการบันทึกว่าเปลี่ยนสิทธิ์แล้ว เอาไปไหน ทำอะไร ตรงไหม ?

 

อย่างเช่น ชื่อนายบรรจงเปลี่ยนเป็นชื่อ นายอุตตม คือเดิมทีทำไม่ได้? –

 

มันเปลี่ยนได้ แต่คุณบรรจงต้องเดินไปที่ส.ป.ก. แล้วเปลี่ยนให้ลูกได้เท่านั้น

 

– ให้เฉพาะทายาทแต่จะให้คนอื่นไม่ได้ หลังประชารัฐคือบอกว่าจะเปลี่ยนสิทธิ์ให้คนอื่นอันนี้ได้? –

 

ให้คล่องตัว แต่มีภายใต้กรอบ กำหนดชัดเจนนะว่าเปลี่ยนไปทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่อะไรก็ได้

 

– ผมซึ่งเป็นเจ้าของเดิมได้ประโยชน์อะไร ? –

 

สิทธิอันนี้พอเปลี่ยนได้ คล่อง มีความชัดเจนว่าเปลี่ยนได้อย่างไร สิทธิอันนี้มีมูลค่าทันที เช่น สามารถเอาไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมสถาบันทางการเงิน ธนาคารได้ทันที มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทันที ถามว่าอันนี้ผมถามไปก่อนเลยว่า อ้าว ถ้าอย่างนี้ประเดี๋ยวนายทุนเอาไปหมดรึเปล่า

พอเปลี่ยนสิทธิ ตกลงกันว่าไง

1.ขอบเขตกำหนดชัดเจนว่าอะไรเปลี่ยนสิทธิไปทำได้ไม่ได้

2.ผมไม่ได้พูดถึงกรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ยังอยู่ที่ส.ป.ก. ยังเป็นของรัฐอยู่ เพราะฉะนั้นก็ครอบงำไม่ได้แล้วครับ

 

– อันนี้คืออีกหนึ่งจุดขายนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เรื่องที่ดินทำกิน อีกเรื่องหนึ่งที่คุยกันเมื่อกี้ คือเรื่องของเศรษฐกิจทางภาคตะวันออกที่คุณอุตตมทำมาโดยตลอด แล้วก็ไปเขาเรียกว่าระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ซึ่งไปทำระบบโลจิสติก ระบบคมนาคม แถวภาคตะวันออกตรงนี้ทำต่อใช่ไหมครับ ? –

 

พรรคพลังประชารัฐจะทำต่อเรื่อง EEC แต่ไม่เพียงเท่านั้น เราจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นในหลักการเดียวกันแต่สภาพไม่เหมือนกันทีเดียว เอาให้สอดคล้องกับพื้นที่ เช่น ถ้าภาคเหนือ เราอาจจะเรียกว่าล้านนา 4.0 แทนที่จะเป็น EEC ภาคใต้ด้ามขวานทอง 4.0 อีสานก็มีได้เหมือนกัน หลักการเดียวกันแต่ว่ารูปแบบหน้าตาไม่เหมือนกันทีเดียวแต่ที่สำคัญคือทั้งหมดนี่จะเชื่อมโยงด้วยระบบโลจิสติกคมนาคมจะเชื่อมโยงด้วยห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม คือได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและกระจาย

 

– อันนี้นโยบายทางการเกษตร  แน่นอนชาวนากับชาวสวนยางต้องถามแน่ ถ้าเลือกพรรคพลังประชารัฐผมจะได้อะไร ข้าวมันจะราคาดีขึ้นไหม ยางราคาจะดีขึ้นไหม เพราะรัฐบาลชุดนี้ราคายางตกต่ำ 3 โลร้อย มาถึงพลังประชารัฐนี่จะไปแก้ตรงไหนอย่างไร –

 

แก่นของนโยบายเรานี่คือการทำให้ภาคเกษตรเป็นเกษตรที่ยั่งยืน ไม่ใช่ว่าไปแก้ปัญหาเฉพาะทางเฉพาะเวลาอีกเหมือนในอดีตแล้วมันก็กลับมาใหม่อีกรอบแล้ว

 

– หมายความว่าจะไม่เดินตามรอยพรรคอื่น ๆ จำนำข้าว จำนำสินค้าเกษตร หรือรายได้ประกันราคา  จะไม่ทำแบบนั้น ? –

 

ผมขอยกตัวอย่างสักตัว แล้วตัวอื่นค่อยทยอยออกมาแล้วกัน ตัวใหญ่เลยข้าว ข้าววิธีหลัก ๆ อย่างที่คุณบรรจงพึ่งพูดไป ประกันรายได้  มันมีอีกวิธีหนึ่งซึ่งพรรคพลังประชารัฐจะใช้วิธีนี้ก็คือชดเชย เราเรียกว่าข้าวได้ราคา ชาวนาได้เงินเพิ่มถ้าทำแบบนี้ ชดเชยก็หมายถึงว่าเราจะทำ ซึ่งจริง ๆ รัฐบาลทำอยู่

สิ่งที่เราทำในปัจจุบันนี้คือเราชดเชยในแง่ของค่าเก็บเกี่ยว บวกไปถึงสนับสนุนปัจจัยให้ปัจจุบันนี่ ไร่ละ 1500 บาท 12 ไร่ ต่อครัวเรือน เราจะเปลี่ยนเราจะปรับขึ้น เราไปทำการศึกษาแล้วก็ออกไป ให้ได้รับข้อมูลสะท้อนมาจากพี่น้องชาวนาจริง ๆ เราจะปรับจาก 1500 บาทต่อไร่เป็น 2000 บาทต่อไร่ จาก 12 ไร่ ต่อครัวเรือน เป็น 20 ไร่ ต่อครัวเรือน เพิ่มมาอีก 8 ไร่ต่อครัวเรือน

 

– อันนี้เหมือนกันช่วยเป็นครั้ง ๆ ไปหรือเปล่าแล้วจบ ไม่ได้ช่วยอย่างยั่งยืนหรือเปล่า? –

 

เราจะช่วยต่อเนื่อง ทุกฤดูกาลก็จะมีแนวทางเช่นนี้

 

– ชาวนาชอบแบบนี้หรือ? –

 

เราไปสำรวจมาแล้ว นี่นโยบายเปิดไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ได้เฮเหมือนกัน เพราะว่าตอนนี้ที่มีมันก็ได้ผลอยู่ ดูข้าวเท่าไหร่ แต่มันยังมีอยู่คืออย่างภาคอีสานกับภาคกลางเขาปลูกข้าวไม่เหมือนกัน การใช้พื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน เราได้ไปสำรวจหมดแล้วว่าถ้าเราใช้อันนี้ทั้งประเทศ จะช่วยแก้ปัญหาและช่วยส่งเสริมในเรื่องของรายได้ชาวนาได้ผลมากที่สุด ไม่ต้องซับซ้อน ไม่ต้องเอาความเสี่ยงเข้ามาในระบบ ไม่ต้องเสี่ยงกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอย่างที่เคยเกิดเห็น ๆ

 

– คือนโยบายพลังประชารัฐจะไม่แตะเรื่องกลไกราคาเลยใช่ไหม –

 

ไม่ เราจะไม่ใช้วิธีไปแทรกแซงราคา แต่เราจะดูแลทั้งระบบ แก่นของมันอย่างที่ผมเรียน เกษตรประชารัฐ ดูทั้งในเรื่องของรายจ่ายและรายได้ รายจ่ายการลงทุน

เรามีหลักสั้น ๆ 3 ลด 3 เพิ่ม ลดคือการลดต้นทุนของพี่น้องเกษตรกร สองลดหนี้ เพิ่มเงินออม สามลดความเสี่ยง นี่คือสามลด สามเพิ่มคือ เพิ่มรายได้ เพิ่มทางเลือก เพราะพร้อม ๆ กันเราสามารถเพิ่มเกษตรทางเลือกเข้าไป ปลูกได้มากกว่าพืชมากกว่าอย่างเดียว สุดท้ายเพิ่มนวัตกรรม เราเอาเทคโนโลยีเข้าไปในการบริหารจัดการแบบเกษตรยั่งยืน เพราะฉะนั้นข้าวเป็นเพียงพืชผลหนึ่งแต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลักการ 3 เพิ่ม 3 ลด

 

– ยางก็จะทำในหลักการเดียวกันใน 3 เพิ่ม 3 ลด เช่น ยางก็จะไปช่วยค่ากรีด? –

ประเดี๋ยวจะออกมาตัวนี้ยังไม่ได้ประกาศ แต่เราจะทยอยประกาศออกมาในเร็ววัน  ประโยชน์ก็ต้องได้มากขึ้น แต่ในทางที่ยั่งยืน ไม่เป็นภาระกับใคร ถ้าวันนี้เขายังลำบากอยู่เราก็เติมให้เต็ม

 

– สถานะการเงินการคลังของรัฐบาลทำอย่างที่คุณอุตตมพูดมาได้ทั้งหมดไหม –

 

จากการประเมินของเรานะครับ เพราะวันนี้กกต.มีข้อกำหนดชัดเจนว่านโยบายไหนเกี่ยวข้องกับการเงิน พรรคการเมืองที่นำเสนอต้องมีวิเคราะห์และชี้แจงได้ว่าทำได้จริงนะ ไม่มีผลกระทบ อยู่ในเกณฑ์แน่นอน

 

– หลายคนเป็นห่วงว่า คนชั้นกลางในสังคมเองก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า เวลาพรรคการเมืองออกนโยบายอะไรต่าง ๆ ช่วงหาเสียงดูแล้วเป็นความจูงใจให้คนไปกาเลือก แต่พอถึงช่วงเวลาหารายได้จริง ๆ จะมารีดภาษีหรือเปล่า? –

 

ความเป็นห่วงใยเช่นนั้นผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เราคนไทยไม่ว่าอยู่กลุ่มไหนมีความห่วงใย เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ๆ ทุกอย่างที่พรรคการเมืองจะนำเสนออย่างที่กกต.ได้ชี้ ก็ต้องอยู่ในกรอบซึ่งในความเห็นของพรรคพลังประชารัฐทำได้จริง ยั่งยืนและไม่สร้างปัญหา เพราะฉะนั้นทุกนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐนำเสนอ เราดูแล้ว วิเคราะห์แล้วว่าจะไม่ไปกระทบและอยู่ในกรอบของวินัยการเงินต่าง ๆ ที่ประเทศได้รักษามาและจะรักษาต่อไป

 

– มีนโยบายหนึ่งที่คุณอุตตมบอกกับผมว่าน่าจะปังพอสมควร อย่างประชาธิปัตย์มีนโยบายเปิดตัวออกมาแล้วชื่อติดหูมากก็คือเกิดปั๊ปรับแสน พลังประชารัฐจะไปแข่งตรงนี้อย่างไร –

 

ในกรณีนี้คือดูแลเด็กและเยาวชน พรรคพลังประชารัฐดูเป็นภาพยึดโยง ตั้งแต่ต้นทางต่อไปถึงให้ครบกระบวนการไม่ใช่ว่าไปดูท่อนใดท่อนหนึ่ง เรื่องของการดูแลเด็กและเยาวชนคาบเกี่ยวกับการดูแลแม่

เราจะดูแลไม่ใช่แต่เมื่อเกิด แต่เราจะดูแลตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ เราจะเรียกว่า “มารดาประชารัฐ” เหตุผลหนึ่งไม่ใช่แค่จะเอาชนะพรรคอื่น แต่ทำไมตั้งแต่ตั้งครรภ์ เพราะว่าถ้าเราตั้งโจทย์ว่าต้องการดูแลและพัฒนาเด็กไทย ซึ่งจริง ๆ ในมุมมมงของพรรคพลังประชารัฐก็คือ เด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากของประเทศไท อนาคตขึ้นอยู่กบเด็ก ถ้าอย่างนั้นการดูแลการพัฒนาเด็ก ดูแลให้สุขภาพดี ทั้งเรื่องกายภาพจิตใจต่าง ๆ สมอง ต้องดูแลตั้งแต่ในท้อง

เราจะมีรายละเอียดว่าตั้งท้องปุ๊ป 9 เดือนนับจากนั้นจ่ายเท่าไหร่ เมื่อคลอดก็มีการช่วยเหลือ ดูแลถึงไหนนี่เราตั้งไว้ที่ 6 ปี  เพราะเราไปศึกษามา ในแง่ของการเจริญเติบโตพัฒนาสมองสำคัญมากในช่วง 1-6 ปี มีการศึกษาออกมา ถ้าดูไอคิวตอนเกิดโดยเฉลี่ยเด็กไทยจะเท่ากับต่างชาติ แต่พอ 6 ปีผ่านไปเด็กไทยจะตกมาหน่อย นั่นแสดงว่าการดูแลถึง 6 ปี เป็นช่วงที่สำคัญมาก ๆ  เดือนละเท่าไหร่เดี่ยวจะออกมาอีกที ขออุบไว้นิดหนึ่ง

 


 

ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐเปิดเผยนโยบายภายใต้ 3 หลักการ ได้แก่ สวัสดิการประชารัฐ สังคมประชารัฐ และเศรษฐกิจประชารัฐ

อ่านเต็ม ๆ ได้ที่  พปชร. ชูนโยบายต่อยอด ‘บัตรคนจน’ เฉพาะกลุ่ม-ปลดหนี้นอกระบบ 5 ปี 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า