Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หน้าใหม่ในแวดวงการเมือง แต่แข็งแกร่งจากสายวิชาการ ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์  กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ทีมร่างนโยบายสำคัญ อย่าง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จนมาถึง มารดาประชารัฐ ที่ทิ้งตำแหน่ง ส.ส. เดินเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลกับบทบาท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เลือกเองกับมือ “ต้องคนนี้”

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ เข้าไปที่ตึกบัญชาการ 2 ภายในทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดบทสนทนากับ โฆษกรัฐบาลคนใหม่ ที่ชอบให้สื่อเรียกตัวเองว่า “อาจารย์แหม่ม” เหมือนสมัยสอนอยู่คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เกือบ 16 ปี

อาจารย์แหม่ม เริ่มเล่าว่า ความจริงอายุราชการคือ 23 ปี เพราะตั้งแต่สอบชิงทุนขณะเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ก็ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการประจำทันที ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศประมาณ 7 ปี เมื่อกลับมาแล้วจึงมาเป็นอาจารย์ตามเงื่อนไขของสำนักงาน ก.พ.

จากอาจารย์ผันตัวสู่เส้นทางการเมือง

ศ.นฤมล: ช่วง 15 ปีกว่าๆ ที่อยู่ที่นิด้า นอกจากสอนหนังสือทำงานวิชาการ ขอตำแหน่งวิชาการจนเป็นศาสตราจารย์แล้ว ก็ได้มีโอกาสไปทำงานด้านสังคม โดยอาจารย์สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ชวนให้ไปร่วมก่อตั้ง มูลนิธิสัมมาชีพและร่วมทำสถาบันอนาคตไทยศึกษา นอกจากเป็นอาจารย์สอนหนังสือแล้วก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ในสมัย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รัฐบาลคสช.) ที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ได้ติดต่อมาให้ไปช่วยงานที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพซึ่งตอนนั้นมีเม็ดเงินอยู่ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ตำแหน่ง ประธานอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ของกองทุนประกันสังคม จากนั้นก็เป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงาน เตรียมความพร้อมแรงงานไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ทำเรื่อง Up skill, Re skill อยู่ที่กระทรวงแรงงาน 2 ปี

หลัง พล.อ.ศิริชัย ลาออก อาจารย์สมคิด จึงมาชวนให้ไปพบกับ อดีตรัฐมนตรีอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลคสช.) แล้วได้เข้าไปช่วยหลายโครงการในกระทรวงการคลัง อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, การปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเพย์เมนท์, ระบบพิสูจน์ตัวตนแบบดิจิทัล (ดิจิทัลไอดี), ตราสารทางการเงินใหม่ๆ, วิธีการระดมเงินทุน โดยในเดือนเมษายน 2561 ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเต็มตัวครั้งแรก และเมื่อปลายปี 2562 รัฐมนตรีอุตตม สาวนายน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนปัจจุบัน) มาชักชวนให้ช่วยร่างนโยบายพรรค

“ต้องเรียนว่านโยบายของพรรคที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ได้มาจากตัวอาจารย์นะ บางทีสื่อเอาไปลงว่า นฤมลเป็นคนคิด นฤมลคิดไม่ออกหรอก เพราะเราไม่ได้ลงพื้นที่เองทั้งหมด เราจะเห็นปัญหาในพื้นที่เฉพาะส่วนที่เราไปสัมผัส อย่างบัตรสวัสดิการ ปัญหาความยากจนในต่างจังหวัดพอทราบ แต่ถ้าเป็นปัญหาที่ลึกลงไป เช่นภาคเกษตร สิทธิที่ทำกิน ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เราอาจจะไม่ได้รู้เยอะเท่า ส.ส. หรือนักการเมืองในพื้นที่ ทุกท่านให้ข้อมูลพอเจอเราว่า อาจารย์จะเป็นคนเขียนนโยบาบใช่ไหม ก็เอาข้อมูล ไอเดียมาให้ หน้าที่เราคือทำงานกับทีมข้อมูลนโยบาย ในการจะไปข้อมูลความเป็นจริงมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้ออกมาเป็นเนื้อนโยบาย และได้เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ประสบการณ์ทางการเมืองถือว่าเป็นมือใหม่จริงๆ ที่เข้ามาช่วยงานด้วยความตั้งใจจริง มาด้วยใจบริสุทธ์และตั้งใจมาทำให้กับส่วนรวม”

คิดว่าเป็นนักการเมืองจะได้ทำเพื่อส่วนรวมมากกว่านักวิชาการ

ศ.นฤมล: เป็นคำถามที่ถามตัวเองมาตลอด พอได้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์ กลับมาถามตัวเอง ต่อว่าจากนี้ไปทำอะไร เพราะจริงๆ การอยู่แวดวงวิชาการมันก็ช่วยสังคม เป็นการทำงานให้ส่วนรวมเหมือนกันทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรของประเทศ แต่ก็ถามตัวเองตลอดว่า เราจะทำอะไรที่เกิดประโยชน์นอกจากตรงนี้ได้ไหม ไม่ใช่ตรงนั้นไม่มีประโยชน์ อย่างงานวิจัยหลายเรื่องที่ตัวเองทำไว้ อยู่ใน Passion ที่เรารู้สึกอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เช่น งานวิจัยที่เขียนตอนกลับจากต่างประเทศใหม่ เรื่อง กับดักความยากจน (Poverty Trap)

เขียนวิจัยเสร็จมันก็อยู่ในวารสาร มันไม่ไปสู่การปฏิบัติ เราไม่สามารถเอาไปขับเคลื่อนตรงไหนได้ หลังๆ ก็มาสนใจเรื่อง Bio economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) ได้คุยกับอาจารย์คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะได้จัดรายการโทรทัศน์ด้วยกัน จึงไปบอกว่า อยากให้เกิด Bio economy มาก เพราะประเทศอื่นๆ มีหมดแล้ว ซึ่งท่านก็ได้บรรจุ Bio economy เข้าไปในเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย (New S-Curve) ด้วย เพราะท่านสนใจอยู่แล้วและเราได้ไปพบนำเสนอตลอด ทำให้เห็นว่า ขับเคลื่อนและเกิดได้ ถ้าเรามีส่วนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานแผ่นดิน หรือเราอาจจะเป็นท่อกลางในนำงานวิจัยของนักวิชาการทั้งหลายที่อยากผลักดันให้เป็นนโยบาย เชื่อมต่อผ่านเราได้และทำให้ไปสู่การปฏิบัติได้ ไม่เป็นวิจัยที่อยู่บนหิ้ง

“วันนี้เราได้มามากแล้วเหลือเกินจากประเทศนี้ ตัวเองเป็นนักเรียนทุน เมื่อตอนไปเรียนต่อทุกๆวัน ไม่ได้พูดแบบนางเอกนะ เรานึกเสมอว่า ตอนที่เราเข้าจุฬาฯ เราก็นึกว่าอันนี้สุดยอดแล้วเพราะบ้านเรากว่าจะหาเงิน ส่งเสียให้ลูกเรียนได้แต่ละคนคุณพ่อคุณแม่ก็ลำบาก เป้าหมายชีวิตตอนเด็กๆ ก็คือขอให้ฉันเอ็นฯติด พอเอ็นฯติดปั๊บเราก็มาเจอเพื่อนๆ ที่สักปีสอง เขาเตรียมไปเรียนต่อต่างประเทศ เขาก็ไปเรียน TOEFL, GMAT อะไรกัน ไอ้เราไม่ได้ไปแน่ต่างประเทศ เราก็คิดไม่ออกว่าภาพนั้นจะเกิดขึ้นกับเราได้ยังไง เราก็ไปดูทุนการศึกษา พอเราสอบชิงทุนได้แล้วได้ไปเรียนต่อ เลยรู้สึกเหมือนเป็นหนี้บุญคุณประเทศนี้

คนที่จ่ายภาษีให้กับเราเสมอ ได้เงินจากคนทั้งประเทศซึ่งเป็นเงินภาษี แล้วไม่ใช่เฉพาะคนรวยจ่าย ภาษีส่วนใหญ่ของประเทศมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ซึ่งคนทุกระดับชั้นจ่ายหมดจากการซื้อสินค้า ทุกเดือนที่ได้เงินจาก ก.พ. จะรู้สึกว่า มีคนส่งเสียเราเรียนคือผู้มีพระคุณของเราทั้งหมดแล้วเราต้องกลับไปชดใช้ให้เขา ตอนที่กลับมาเงื่อนไขคือเราต้องเป็นอาจารย์ แต่วันนี้โอกาสเกิดขึ้นมาที่เราสามารถทำประโยชน์กลับไปให้พวกเขาได้ ถ้าเป็นอาจารย์คือสอนหนังสือโอกาสที่จะได้ไปช่วยชาวบ้านที่เขายังต้องการความช่วยเหลือมันน้อยมาก เว้นแต่ว่าต้องหาทางทำโครงการไปช่วย แต่ถ้าโอกาสทางการเมืองตรงนี้เปิดแล้วเราสามารถผลักดันเป็นนโยบายแล้วลงไปช่วยเขาได้มันก็น่าจะตอบโจทย์ของชีวิตเราที่เราคิดว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร”

วิธีรับมือโซเชียลมีเดีย-เฟคนิวส์ พูดแทนพล.อ.ประยุทธ์ ประเดิมงานแรก “ระเบิดกรุงเทพ” 

ศ.นฤมล: ไม่ใช่โฆษกรัฐบาลคนเดียวมั้ง ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารข้อมูลที่ไหลกันในปัจจุบัน ทั้งประเทศเรากำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ภาครัฐมองมาถึงฝ่ายรัฐบาลก็เผชิญ ฝ่ายค้านก็เผชิญกับข้อมูลข่าวสารที่ไม่รู้อันไหนจริงอันไหนไม่จริง เราพยายามปรับวิธีการแก้สถานการณ์และหาวิธีจัดการให้ดีขึ้นไปด้วยกัน ในหลายกระทรวงของคณะรัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานปฏิรูปจะทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

ของคณะรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการด่วนหลังเกิดระเบิดในกรุงเทพ ให้มีการบูรณาการข้อมูลข่าวสารทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะในอดีตอาจไม่ได้บูรณาการ พอข้อมูลข่าวสารไม่ทั่วถึงกันในเวลาทันท่วงที ข่าวลวงจะออกไปเยอะมาก ตอนนี้จึงเกิดการบูรณาการข้อมูลข่าวสาร อาจารย์เองจะมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมดว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาส่งข้อมูลให้เรา เราบอกได้แค่ไหนอย่างไร อันไหนใครจะเป็นคนพูดเราจะไปในทิศทางเดียวกันหมด

ถ้าสิ่งใดที่เป็นข่าวลวงแน่ๆ แล้วอยู่ในกรอบที่เราพูดได้เราพูดก่อน ส่วนรายละเอียดเดี๋ยวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไปขยายความเพิ่มอีกที เราก็ตกลงกันเช่นนี้ เพราะฉะนั้นเราสื่อสารกันตลอดเวลาว่า ใครพูดและพูดได้แค่ไหน อย่างไร ประกอบกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) จะตั้งศูนย์ป้องกันข่าวลวงตั้งแต่ก่อนเกิดระเบิด ซึ่งต่างประเทศมีแล้วเพราะเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้ประชาชนคนไทยน่าจะตระหนักมาขึ้นว่าข้อมูลที่เราได้รับบนโซเชียลมีเดีย อาจไม่ใช่ของจริง ไประยะหนึ่งจะมีกาลามสูตร 10 ประการ อย่าเพิ่งเชื่อว่ามันใช่ คือพอโดนหลอกเยอะๆ แล้วมันจะเริ่มเรียนรู้ ว่าอันนี้ไม่ใช่ จะเริ่มหยุดคิด เช็คและค่อยแชร์ หรือไปดูที่สื่อหลักซึ่งมีความรับผิดชอบจะเช็คก่อน แต่สื่อโซเชียลมีเดียไม่มีความรับผิดชอบต่างคนต่างแชร์ไป แต่อนาคตจะต้องรับผิดชอบหรือไม่เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องว่ากันต่อไป

ข่าวลวงบางทีก็สนุกๆ บางทีก็เพื่อให้เกิดผลทางการเมือง ส่วนใหญ่ก็ทางลบทางฝ่ายรัฐบาล เราก็ต้องมาดูว่าทำไมเขาบอกแบบนี้ หน่วยงานต้นสังกัดชี้แจงได้ไหม หรือถ้าอยากให้เราชี้แจงเสริมก็บอกมา ก็ต้องช่วยกันทำงานเป็นทีมทุกกระทรวง

เปิดทวิตเตอร์ทวีตแรก รับสถานการณ์ระเบิดกรุงเทพฯ

ศ.นฤมล: สื่อสารกับท่านนายกฯ ตลอดค่ะ ทีมงานท่าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงรับสายทั้งคืน ก็คิดว่าต้องมีช่องทางหนึ่งแล้วไหม เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่างกัน ทวิตเตอร์คือสำหรับคนที่อยากติดตามข่าวสารมากกว่าจะเป็นภาพก็เลยเกิดขึ้น ฝากประชาสัมพันธ์ศูนย์ข่าวจริงอยู่ที่นฤมล อย่าไปเชื่อใครเชื่อฉัน ถ้าไม่รู้อันไหนจริงไม่จริงส่งเข้ามา นฤมลเช็คให้ ถ้าเป็นไปได้จะพยายามช่วยตอบ วันนั้นก็แจ้งในไลน์กลุ่มนักข่าวในทำเนียบฯ แต่ก็จะได้กลุ่มหนึ่ง เลยหวังว่าทวิตเตอร์จะไปถึงประชาชนคนทั่วไปให้ได้รับทราบข้อมูลความเป็นจริงได้ “เชื่อแหม่มอย่าไปเชื่อใคร”

เล่าถึงการทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์

ศ.นฤมล: เราเข้ามาทำงานสนับสนุนท่าน ท่านเลือกเราเข้ามาทำงาน เราก็รู้สึกเป็นเกียรติและตั้งใจว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ด้วยเจตนาของเราคือมาช่วยท่าน เราไม่คิดว่าจะมีอะไรที่จะทำให้ท่านต้องโกรธ เพราะเรามาด้วยเจตนาที่ดี ท่านก็เสียงดังเฉยๆ แต่จริงๆ ท่านมีความรู้สึกที่ดูแลคนที่ทำงานเป็นห่วงเป็นใย ทักทายคนจะเป็นตำแหน่งเล็กใหญ่ ท่านทักทายและเป็นห่วงทุกคน แคร์ความรู้สึกของทุกคน

เลือกโฆษกหญิงมาลดความดุดัน

“ไม่รู้จริงหรือเปล่า ไม่เคยถาม อาจารย์ก็ไม่แน่ใจว่าท่านเลือกเพราะอะไร ส่วนตัวมาแล้วคอยส่งพลังใจให้กับท่าน เวลาท่านต้องแถลงต้องขึ้นกล่าวที่ไหนก็ดี ตัวเองเชื่อว่ามี Vibration ถ้าเรามีพลังงานบวกส่งไปให้ท่าน ท่านก็จะได้มีแรงใจ เวลาท่านหันไปหันมาพอเห็นเรา เราก็จะคอยยิ้ม ส่งพลังบวกให้กับท่านอยู่ว่าอย่างน้อยก็มีคนหนึ่งคนตรงนี้ที่คอยสนับสนุนท่าน ถ้านึกคำอะไรไม่ออกหันมาบอกได้ บางทีท่านจะลืม บางทีเราก็นึกไม่ออกเหมือนกันแต่อย่างน้อยหันมาเห็นเรายิ้มท่านก็จะได้มีกำลังใจ ถ้าข้อมูลตรงไหนขาดตกหล่นเราก็จะได้ช่วยเสริม หรือเดี๋ยวพูดขยายความให้ได้”

ไม่ต้องปรับวิธีการสื่อสารของพล.อ.ประยุทธ์แต่จะมาเป็นคนกลาง

ศ.นฤมล: คงไม่ใช่หน้าที่อาจารย์ เพราะตัวเองก็ไม่ได้เก่งกล้าสามารถที่จะไปโค้ชใครได้ ตัวเองก็เรียนรู้มาจากการเป็นอาจารย์ พูดแบบไหนนักศึกษาจะเข้าใจไม่หลับ แล้วก็คาแรคเตอร์ของแต่ละคนมีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ การที่เราไปเปลี่ยนคาแรคเตอร์ของเขาอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกด้วยซ้ำ ท่านก็เป็นตัวตนของท่านแบบนี้ แต่อยากให้เรามาเป็นคนกลางที่จะสื่อสารว่า ท่านมีอีกมุม อย่างตอนไปยะลา ท่านพูดเสร็จก็ถามว่า ผมพูดเร็วไปไหม ถ้าพูดเร็วไปก็บอกได้นะ เป็นห่วงเหมือนกันว่าคนฟังจะรู้เรื่องไหมในสิ่งที่พูด เป็นธรรมชาติของคนที่คิดเร็วก็จะพูดเร็ว อาจารย์เองก็เป็น พูดเร็วไม่น่าจะเป็นอุปสรรคมานัก

“ถ้ามีโอกาสตามท่านลงพื้นที่จะได้เห็นว่า ท่านมีใจให้คนที่มาเฝ้ารอพบท่านและใช้เวลาอยู่กับพี่น้องประชาชนเกินตารางเวลา เพราะท่านรู้สึกว่าเขามารอแล้วก็ต้องพบให้ครบทุกคน ถ่ายรูปกับเขา คุยกับเขา ทักทายเขา อย่างตอนไปยะลา ไปหลายที่เหนื่อย พักเข้าห้องรับรอง ท่านก็ถามอาจารย์ว่า สนุกไหม ชอบไหมมาแบบนี้ อาจารย์ก็บอกว่าชอบค่ะ สนุกค่ะ

แล้วท่านก็บอกว่าสำหรับผมนะ เวลาลงมาเจอประชาชน คือการพักผ่อน ได้มาอยู่กับประชาชน ได้ฟังปัญหาเขาเห็นทีไรก็สงสาร อยากจะช่วยพวกเขาให้ได้ทุกคน บางทีช่วยไม่ได้ทุกคนเราก็เครียด แต่ก็มีความสุขได้เห็นแววตาเขา ซึ่งคนอื่นอาจไม่เคยได้เห็นมุมนี้ของท่าน ท่านอยากไปเจอประชาชนและไม่ได้รู้สึกว่าการลงพื้นที่ มันเหนื่อยอยากให้มันเสร็จๆ แล้วก็กลับไม่มีตรงนั้นเลยอยากจะพบให้หมด ท่านรับรู้ได้ถึงพลังที่มอบให้กับท่าน ท่านมีความสุขเหมือนมาพักผ่อน”

กระบอกเสียงรัฐบาลไม่หนีฝ่ายค้าน

ศ.นฤมล: เลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็คงต้องเจอ แต่เราเอาความจริงใจเป็นที่ตั้ง จริงใจต่อประชาชนและผู้ร่วมงาน ใครที่ยังไม่รู้จักตัวตนของอาจารย์ยังไม่รู้ว่าเราคิดอย่างไร มาทำงานการเมืองเพราะอะไร แต่ถ้ามีโอกาสได้ร่วมงานหรือสัมผัสกันทางการเมืองก็จะรู้ว่า อาจารย์ไม่ได้มีจุดประสงค์ใดๆ เลยทางการเมืองที่จะเข้ามาเพราะอยากจะเป็นตรงนั้นตรงนี้ อยากจะยิ่งใหญ่ ใจมีแค่ว่าอยากจะทำงานให้กับส่วนรวม ประชาชน และอยากที่จะเป็นตัวเล็กๆ ที่มีส่วนช่วยรักษา 3 สถาบันหลักของประเทศให้มีความมั่นคง ยั่งยืนต่อไป

“ฉะนั้นถ้าจะต้องเจอแรงปะทะใดๆ ก็พร้อมที่จะรับได้ และจะพยายามตอบโต้ในลักษณะที่เป็นเชิงสร้างสรรค์ในทางที่ประชาชนจะได้อะไร ถ้าเราตอบไปแบบนี้ ถ้าตอบแบบเอามันส์ให้ได้คนติดตามเพิ่มขึ้น ให้ได้คนเอาไปพูดถึงว่าสะใจดี คงไม่ใช่แนวทางของตัวเองอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาในชีวิตไม่ได้อยากมีชื่อเสียงอะไร ไม่เคยเล่นโซเชียลมีเดียวด้วยซ้ำเพราะรู้สึกว่า ชีวิตค่อนข้างส่วนตัวไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่พอมาทำงานตรงนี้เลี่ยงไม่ได้เราจำเป็นต้องมีช่องทางการสื่อสารกับประชาชน

คิดว่าเราพยายามจะทำหน้าที่และหวังว่า ฝ่ายค้านก็ดี ประชาชนก็ดีไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็จะให้โอกาสกับคนที่ตั้งใจมาทำงาน ด้วยความตั้งใจจริง ด้วยความบริสุทธิ์ใจให้กับประเทศชาติ ถึงแม้ว่าเราจะยืนอยู่ฝั่งใดทางการเมืองก็ตามแต่เป้าหมายเราเหมือนกัน ท่านอยู่ฝ่ายค้านอาจารย์อยู่ฝ่ายรัฐบาลแต่เราเป้าหมายเดียวกันคือเราต้องการมาทำงานให้ประชาชน ก็หวังว่าจะให้โอกาสอาจารย์ทำงาน ก็เมตตากันนิดนึง”

รัฐบาลที่เต็มไปด้วยสถานการณ์ที่ต้องฝ่าฟันไปอีกมากมาย จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ และมือใหม่ทางการเมือง แต่ทว่า “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ก็พร้อมที่จะร่วมเดินทางไปกับเรือลำนี้ และตั้งใจทำหน้าที่  “แม่ทัพหญิง” สื่อสารของรัฐบาล

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า