SHARE

คัดลอกแล้ว

EXIM BANK ประกาศลดดอกเบี้ยให้ SMEs ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเสนออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 4.25% จากปกติ 5.5-6.0%

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK เสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green Business) สามารถนำคาร์บอนที่เหลือมาลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารได้

สำหรับหลักเกณฑ์ คือ 1. ธุรกิจที่ผลิตภัณฑ์ใช้วัสดุรีไซเคิล 2. ธุรกิจที่อยากปรับเปลี่ยนพลังงานในโรงงานหรือในบริษัทให้เป็นพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) เช่น การนำขยะมาปรับเปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือการใช้โซลาร์รูฟท็อป ฯลฯ ก็สามารถมาขอสินเชื่อกับธนาคารได้

นอกจากนี้ ธุรกิจที่บรรจุภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัสดุรีไซเคิล ก็สามารถมาขอสินเชื่อกับ EXIM BANK ได้ พูดง่ายๆ คือ ขอให้มีดีเอ็นเอ หรือมีใจที่จะรีไซเคิล ธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่านให้มาเป็นธุรกิจสีเขียว (Green Business) เหล่านี้ สามารถเข้ามาขอสินเชื่อกับธนาคารได้เช่นกัน

ปัจจุบันลูกค้า SMEs ของธนาคารจะมีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5-6.0% แต่สำหรับ SMEs ที่ Go Green จะได้ส่วนลดเป็นอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.25%

เมื่อสอบถามว่า ธนาคารได้อะไรจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแก่ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ดร.รักษ์ อธิบายว่า เนื่องจาก EXIM BANK เป็นธนาคารของรัฐ ตัววัดความสำเร็จจึงไม่ได้อยู่ที่รายได้ แต่อยู่ที่การทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปเป็นประเทศเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) มากกว่า

ในวันเดียวกัน EXIM BANK จัดงาน ‘EXIM Green Wishes Market’ เพื่อส่งความสุขในโอกาสต้อนรับปีใหม่ 2567 ให้แก่ลูกค้าธนาคาร โดยเฉพาะ SMEs และกลุ่มเปราะบางในชุมชน ผ่านการออกร้านจำหน่ายสินค้าและกิจกรรมประมูลของรักของหวงของผู้บริหาร EXIM BANK และหน่วยงานพันธมิตร

เพื่อส่งมอบเงินจากการประมูลโดยไม่หักค่าใช้จ่ายให้แก่มูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การศึกษา ธุรกิจและรายได้ของชุมชนที่ยั่งยืน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566

นอกจากนี้ ได้มีการจัดเสวนา ‘Green Wishes’ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance: ESG)

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกยังทวีความรุนแรงขึ้น สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังค่อนข้างวิกฤต

ข้อมูลจากเว็บไซต์ IQAir ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 กรุงเทพฯ ติดอันดับ 12 เมืองที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก เป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 4.16 ตันต่อคนต่อปีในปี 2545 เป็น 4.66 ตันต่อคนต่อปีในปี 2565

ทุกภาคส่วนในระดับประเทศและระดับโลกจึงต้องพยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกร่วมกัน โดยการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP 28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปที่จะเปลี่ยนผ่านหรือทยอยลดการใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593

EXIM BANK ซึ่งมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Green Development Bank จึงพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และบรรลุ Net Zero Emissions ภายในปี 2608

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Banks) ทั่วโลก รวมถึง EXIM BANK มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ภาคธุรกิจมากถึง 1 ใน 3 ของมูลค่า Climate Finance โลก’

โดย EXIM BANK ได้พัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่สนับสนุนโครงการหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อน BCG Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่ง สู่ชั้นบรรยากาศโลก

ทั้งนี้ คาดว่าพอร์ตสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ EXIM BANK ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ราว 61,500 ล้านบาท หรือ 35% ของสินเชื่อคงค้างรวมของธนาคาร

นับแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปปักหมุดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศรวมแล้วกว่า 400 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังพัฒนาสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น สินเชื่อ Solar Orchestra และ EXIM Solar D-Carbon Financing ที่ไม่เพียงให้เงินทุน แต่ยังช่วยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงสินเชื่อ EXIM Green Start ดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับ SMEs หรือคนตัวเล็กที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว

และในปี 2567 EXIM BANK มีแผนจะออกพันธบัตร Blue Bond เป็นครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อน Blue Economy ดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลให้เป็นแหล่งการจ้างงานและแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก

ซึ่ง Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) คาดการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของโลกจะสูงขึ้นแตะ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 20 ปีก่อน

ขณะที่ผืนน้ำและมหาสมุทรช่วยผลิตก๊าซออกซิเจน (O2) บนโลกมากถึง 50% ช่วยดูดซับความร้อนจากกิจกรรมมนุษย์ถึง 90% ดูดซับก๊าซ CO2 กว่า 25% ทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ

แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงราว 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ายังมีช่องว่างของเงินลงทุนเหลืออยู่มากถึงเกือบ 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 1 ใน 3 ของ GDP ไทย

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ในปี 2567 EXIM BANK จะนำโมเดล ‘Green Development’ ไปใช้พัฒนาองค์กรและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการประหยัดพลังงานและเดินหน้าสู่องค์กรสีเขียว องค์กรจะสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนผ่านการดำเนินธุรกิจ

โดยคำนึงถึง ESG เร่งยกระดับธุรกิจไทยให้เข้าสู่ ESG Supply Chain ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและการจ้างงานในอุตสาหกรรมสู่อนาคต อาทิ S-Curve ธุรกิจบริการ Soft Power และเกษตรแปรรูป โดยสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์โลก

สานพลังกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนสนับสนุน SMEs ไทยสู่เวทีโลกด้วยความพร้อมด้านความรู้ โอกาส เงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนบนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งคนตัวเล็กและกลุ่มเปราะบางในชุมชนและสังคม

EXIM BANK ตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปีและ 15 ปีตามลำดับ โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571

ท่ามกลางความท้าทายของทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน การกลับทิศของนโยบายการเงิน แนวโน้มเศรษฐกิจในตลาดการค้าหลัก รวมถึงความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าเป็นระลอก

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกจะกลับมาหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ โดยมุ่งเน้นสินค้าไทยที่เกาะกระแสเทรนด์โลก เช่น สินค้าเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว สินค้าเทคโนโลยีและดิจิทัล สินค้ารักษ์โลก

‘โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว เพื่อเข้าถึงโอกาสและก้าวข้ามความท้าทาย ซึ่งปัญหาระดับโลกในวันนี้คือ การพัฒนาอย่างสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งรายได้และความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยส่วนใหญ่ รวมถึงกลุ่มเปราะบางในสังคม’

‘EXIM BANK จึงนำ Green Development Model มาปรับใช้ในกระบวนการและนอกกระบวนการ เพื่อเป็นกลไกสำคัญทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการลงทุนเพื่อการพัฒนา เดินหน้าต่อไปได้ ขับเคลื่อนเครื่องยนต์อื่น ๆ ให้ทำงานพร้อมกันได้ สร้างชุมชน สังคม และประเทศชาติที่เข็มแข็ง มั่นคง และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป’

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า