Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer อะไรคือ #SAVEบางกลอย และ #SAVEแก่งกระจาน เรื่องราวการต่อสู้ระหว่าง อำนาจรัฐกับชาวกะเหรี่ยง จะมีทางออกแบบไหน workpointTODAY สรุปทุกอย่างให้เข้าใจ โพสต์เดียวจบใน 22 ข้อ

1) ในจังหวัดเพชรบุรี เขตผืนป่าแก่งกระจาน ลึกสุดทางทิศตะวันตกที่อยู่ใกล้กับชายแดนพม่า มีชุมชนเล็กๆ ชื่อ “ใจแผ่นดิน” ผู้อาศัยคือชาวกะเหรี่ยง ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติมาอย่างยาวนาน โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า หมู่บ้านใจแผ่นดินมีอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 แต่เชื่อว่า จริงๆชาวกะเหรี่ยงอยู่มานานก่อนหน้าปี 2455 เสียอีก

2) จากนั้น ในปี พ.ศ.2484 ประเทศไทย มีพ.ร.บ.ป่าไม้ ฉบับแรก ตามด้วยปี 2504 จะมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ก่อนที่ในปี พ.ศ.2524 จะมีการประกาศตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้น โดยคำนิยามของอุทยานแห่งชาตินั้น คือพื้นที่ ที่สงวนให้รักษาไว้อยู่ในสภาพเดิม เมื่อเป็นป่า ก็ต้องอยู่ในสภาพของป่า ห้ามใครมาตั้งรกรากและใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งนี้
ชาวกะเหรี่ยงนั้น อยู่อาศัยในป่า ก่อนที่ประเทศไทยจะใช้คำว่า “อุทยานแห่งชาติ” เสียอีก อย่างไรก็ตาม เมื่อแก่งกระจานถูกตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว ทำให้กลุ่มกะเหรี่ยงที่เคยอาศัยในที่ของตัวเอง กลายเป็นผู้บุกรุกป่าไปโดยปริยาย

3) ทางฝั่งรัฐ นำโดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เจรจาขอให้ชาวบ้านย้ายถิ่นฐานจาก “ใจแผ่นดิน” และ “บางกลอยบน” ที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เช่นกัน ลงมาพื้นที่ด้านล่างที่บริเวณ บางกลอยล่าง และบ้านโป่งลึก ซึ่งรัฐจัดเตรียมที่อยู่อาศัยและที่ดินสำหรับการเกษตรไว้ให้ ตอนแรกชาวกะเหรี่ยงก็ไม่ยอม เพราะอยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติมายาวนานชั่วชีวิต แต่สุดท้ายการเจรจาสำเร็จในปี 2539

4) นายประยงค์ ดอกลำใย คณะทำงานแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยเล่าว่า “ชาวบ้านยอมลงมาจากอุทยานถึง 57 ครอบครัว โดยรัฐให้ข้อตกลงว่าจะมอบที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ แต่ปรากฏว่าบางครอบครัวได้แค่ 3 ไร่, 5 ไร่, 6 ไร่ แม้แต่ 1 ไร่ก็ยังมี ยิ่งไปกว่านั้น บางครอบครัวไม่ได้ที่ดินทำกินเลยด้วย”
“ยิ่งไปกว่านั้น เราพบว่าที่ดินที่ได้จัดสรร มีถึง 16 แปลง ที่เป็นที่ดิน ที่ไม่สามารถปลูกอะไรได้ ปลูกข้าวก็ตาย ปลูกกล้วยก็ไม่รอด เพราะสภาพดินไม่มีอินทรีย์วัตถุเลย ซึ่งพออยู่ไม่ได้ ชาวกะเหรี่ยงก็เลย ย้ายกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน และบางกลอยบนตามเดิม”

5) ชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่ในเขตอุทยานฯ แต่ในมุมของรัฐไม่ต้องการให้มีชุมชนใดๆ อาศัยอยู่อีกต่อไป โดยอธิบายว่า ถ้าหากปล่อยให้มีคนอยู่อาศัยได้ อนาคตอาจมีชนกลุ่มน้อยจากพม่า บุกมาตั้งรกรากถิ่นฐานอีก และอาจเป็นจุดซ่องสุมกำลัง ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าผิดกฎหมายได้ รวมถึงไม่มีอะไรการันตีว่า คนที่อาศัยอยู่ในป่า จะอยู่กับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เพราะอาจจะบุกรุกทำลายป่า และทำไร่เลื่อนลอยได้ทุกเมื่อ ดังนั้นฝั่งรัฐจึงมีแผนที่จะไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอยู่ตลอด

6) ในปี พ.ศ.2553 คณะรัฐมนตรีได้ผลักดัน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากทางยูเนสโก โดยไทยให้เหตุผลว่า แก่งกระจานเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน มีสัตว์ที่หายากมากมาย รวมแล้วมากกว่า 490 ชนิด ถ้าหากป่าแก่งกระจานกลายเป็นมรดกโลกได้สำเร็จ ก็จะนำมาซึ่งชื่อเสียงและรายได้จากการท่องเที่ยว ดังนั้นเหตุการณ์กับกะเหรี่ยงที่ยื้อกันมาหลายปี ก็จำเป็นต้องมีความชัดเจนเสียที

7) ดังนั้นในช่วงปี 2553-2554 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมมือกับทหาร บุกเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ทั้งเขตใจแผ่นดิน และบางกลอยบน รวมทั้งหมด 6 ครั้ง โดยมีจุดประสงค์บังคับให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งหมดออกจากป่า โดยปฏิบัติการนี้ใช้ชื่อว่า “ยุทธการตะนาวศรี” ซึ่งยุทธการนี้ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องถอยลงมาใช้ชีวิตกันที่เขตบางกลอยล่าง และบ้านโป่งลึก

8) กรกฎาคม 2554 ปู่คออี้ หรือนายโคอี้ มิมิ ชาวกะเหรี่ยงอาวุโสอายุ 100 ปี พร้อมกับชาวบ้านอีก 5 คน รวมตัวกันฟ้องร้องกรมอุทยานฯ โดยอธิบายว่า ในยุทธการตะนาวศรีไม่ใช่แค่ผลักดันเฉยๆ แต่ทำการเผาไล่ทั้งบ้าน ทั้งยุ้งข้าว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยมีชาวบ้านถึง 98 ครอบครัวที่ต้องเดือดร้อน และนอกจากค่าเสียหายแล้ว ปู่คออี้ ยังขออำนาจศาลให้ชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่ในเขตอุทยานได้ตามเดิม

9) นี่เป็นคดีใหญ่ เพราะถ้าศาลตัดสินว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ผิดจริง นอกจากจะชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ยังอาจต้องติดคุกอีกหลายคน ซึ่งฝั่งชาวกะเหรี่ยงมั่นใจว่ามีโอกาสจะชนะคดีได้ เพราะมีพยานปากเอก นั่นคือ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีอาชีพเป็นสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง เป็นคนที่สื่อสารภาษาไทยได้ชัดเจน และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเองด้วย ดังนั้นย่อมได้รับความน่าเชื่อถือมากเป็นพิเศษ
แต่ก่อนที่บิลลี่จะไปขึ้นให้การกับศาลแค่ 1 เดือน เขาถูกนายชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จับตัวไว้ แล้วสุดท้ายบิลลี่ก็หายสาบสูญไปเลย โดยภรรยาของนายบิลลี่ ได้แจ้งความโดยชี้ว่านายชัยวัฒน์เป็นลักพาตัวไป และอาจทำการฆาตกรรมไปแล้ว แต่สุดท้ายศาลเพชรบุรียกฟ้องนายชัยวัฒน์เนื่องจากมีหลักฐานไม่เพียงพอ
ท้ายที่สุดมีค้นพบเจอ กระดูกที่มี DNA ตรงกับแม่ของบิลลี่อยู่ในเขตป่าแก่งกระจาน ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า บิลลี่อาจโดนอุ้มฆ่าไปแล้ว แต่ก็ไม่มีหลักฐานมากพอที่จะสาวถึงใครได้ และ DSI ก็ไม่เคยสรุปว่ากระดูกดังกล่าวเป็นตัวบิลลี่จริงๆ ดังนั้นบิลลี่จึงหายตัวไปอย่างเป็นปริศนา และหาคนร้ายไม่เจอจนถึงวันนี้

10) นอกจากบิลลี่แล้ว ยังมีประเด็นของนายทัศน์กมล โอบอ้อม หรือชื่อเล่นคืออาจารย์ป๊อด เคยลงสมัครส.ส.ในจังหวัดเพชรบุรี โดยนายทัศน์กมลเป็นผู้ประสานงานของกลุ่มกะเหรี่ยงในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ปรากฏว่านายทัศน์กมล โดนยิงตาย ระหว่างขับรถ และตามหาคนกระทำผิดไม่ได้เช่นกัน กลายเป็นว่าสองคนที่คำพูดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือของฝั่งกะเหรี่ยง โดนสังหารไปแล้วเรียบร้อย

11) คดียืดเยื้อกันมายาวนานถึง 7 ปี ในที่สุด 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินคดีว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ โดยการเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สิน เป็นเหตุทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียปัจจัยในการดำรงชีวิต รวมแล้วกรมอุทยานฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้น 300,987 บาท
ขณะที่ในมุมของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานฯ กล่าวว่า เรื่องจ่ายเงินชดเชยก็น้อมรับคำตัดสินของศาล แต่จะไม่ขอโทษเด็ดขาด “ขอโทษคงไม่ขอโทษ คิดว่าเรื่องนี้ใครก็รู้ว่าใครบุกรุกป่า คำพิพากษาวันนี้ผมภูมิใจที่ต่อไปจะไม่มีใครสามารถบุกรุกป่าแก่งกระจานได้อีกแล้ว โดยเฉพาะ 6 คนนี้ ส่วนที่ผมทำ ก็ทำอย่างเต็มความสามารถที่สุดแล้ว”

12) แม้จะได้เงินก้อน แต่ศาลยืนยันว่า ไม่อนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่ในป่า เพราะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแล้ว นั่นเท่ากับว่า ชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด ต้องมาใช้ชีวิตที่บ้านโป่งลึก และบางกลอยล่าง อย่างไม่มีทางเลือก

13) ปัญหาที่ทำให้ทุกอย่างแก้ไม่ตกก็คือ เมื่อรัฐเอากะเหรี่ยงลงมาอยู่ในพื้นราบแล้ว แต่กลับไม่ได้จัดสรรที่ดินให้ชาวกะเหรี่ยงเอาไปทำการเกษตร ซึ่งเมื่อไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ชาวบ้าน ต้องเปลี่ยนอาชีพไปรับจ้างจิปาถะในเมืองแทน ซึ่งตอนแรกๆก็พอทำได้ แต่พอมีวิกฤติโควิด-19 ก็ไม่มีใครจ้างงานใดๆอีก จากเดิมปลูกข้าวกินเองได้ คราวนี้ไร่นาของตัวเองก็ไม่มี รับจ้างใครก็ไม่ได้ กลายเป็นว่าคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงจึงเต็มไปด้วยความแร้นแค้น

14) ต้นปี 2564 ชาวกะเหรี่ยงตัดสินใจเข้าไปที่อุทยานแห่งชาติอีกครั้ง โดยเริ่มถางป่าเตรียมทำการเกษตร ในเรื่องนี้นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร เยาวชนบางกลอยให้สัมภาษณ์ว่า “ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านรอการแก้ไขเรื่องที่ดินมานานมาก จึงมีความเห็นว่าควรจะต้องกลับไปอยู่ที่เดิม” โดยในมุมของชาวกะเหรี่ยงก็อ้างสิทธิ์อันชอบธรรม เพราะพวกเขาอยู่ในแผ่นดินตรงนั้นมาก่อนที่จะรัฐจะประกาศว่าแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติเสียอีก ดังนั้นพวกเขามองว่า ตัวเองมีสิทธิ์ที่จะกลับไปใช้ชีวิตในเขตใจแผ่นดินและบางกลอยบนได้

15) การทำไร่หมุนเวียนนั้น แน่นอนว่าต้องกินพื้นที่ป่าอุทยาน ซึ่ง ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ อธิบายว่าเคยคุยเรื่องนี้กับกลุ่มชาวกะเหรี่ยงไปแล้ว ว่าต้องใช้พื้นที่มากแค่ไหน โดยกลุ่มกะเหรี่ยงยื่นข้อเสนอขอทำไร่หมุนเวียนบนเขตอุทยาน ครอบครัวละ 10 ปี ปีละ 15 ไร่ โดยมีครอบครัวมาขอสิทธิ์จำนวน 36 ครอบครัว รวมแล้ว จำนวนพื้นที่ป่าที่ต้องใช้ คือ 5,400 ไร่ ในระยะเวลา 10 ปี
แต่ในประเด็นนี้ฝั่งชาวบ้านมาอธิบายภายหลังว่า เจ้าหน้าที่ถามชาวบ้านว่าการทำไร่หมุนเวียนต้องใช้พื้นที่กี่ไร่ ชาวกะเหรี่ยงก็มึนงงเพราะไม่ได้ใช้หน่วยวัดเป็นไร่ สรุปคือเจ้าหน้าที่คำนวณให้เองว่าเป็น 15 ไร่ ซึ่งจริงๆแล้ว การทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ใช้พื้นที่เยอะขนาดนั้น

16) อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของชาวกะเหรี่ยงไปไม่ถึงไหน เพราะประชาชนสนใจตัวเลข 5,400 ไร่มากกว่า ส่งผลให้ ชาวบ้านในเขตจังหวัดเพชรบุรี จัดตั้งกลุ่ม #SAVEแก่งกระจาน ขึ้นมา เพราะยอมไม่ได้ที่จะให้ป่าโดนบุกรุกขนาดนั้น โดยนายสุรพล นาคนคร หนึ่งในทีมงานกลุ่ม SAVE แก่งกระจานกล่าวว่า “ผมเข้าใจไอเดียการทำไร่หมุนเวียนนะ ถ้าคุณมีไร่ของตัวเอง 10 ไร่ คุณก็หมุนเวียนทำปีละ 2 ไร่ แบบนั้นก็ทำไป แต่ที่ชาวกะเหรี่ยงกำลังทำ คือเอาผืนป่ามาทำไร่หมุนเวียนของตัวเอง ป่าเป็นของประชาชนทั้งประเทศ คุณทำแบบนั้นไม่ได้”

17) แต่ในขณะที่มีกลุ่ม SAVE แก่งกระจาน ก็มีกลุ่ม #SAVEบางกลอย ด้วยเช่นกัน โดยจุดยืนของกลุ่มนี้ก็ตั้งคำถามว่า ในเมื่อชาวบ้านอยู่ในผืนป่าแห่งนี้มาตั้งแต่แรก ดังนั้นภาครัฐมีสิทธิ์หรือที่จะพรากความเป็นเจ้าของ และที่สำคัญพวกเขาทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ทำไร่เลื่อนลอย มีการวางแผนว่าจะเพาะปลูกอะไรในแต่ละปีอย่างเป็นระบบ ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีกับสภาพดินในป่าด้วย
กลุ่ม SAVE บางกลอย ตั้งคำถามว่า ในเมื่อรัฐให้ทุกคนลงมาจากเขตอุทยาน แต่ไม่มีการจัดสรรใดๆรองรับเลย แล้วแบบนี้ชาวกะเหรี่ยงจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ต้องโดนคนอื่นเอาเปรียบอย่างนั้นหรือ ต่อให้เป็นชาติพันธุ์ที่มีจำนวนคนไม่เยอะ แต่ก็ควรได้รับการปฏิบัติที่ยุติธรรมจากภาครัฐ

18) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์ดูจะเบาบางลง เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ กับกลุ่มภาคี SAVE บางกลอย ได้เซ็นข้อตกลงร่วมกัน ว่าจะหาทางแก้ปัญหาด้วยความสันติ อย่างไรก็ตามข้อตกลงอยู่ได้แค่ 3 วันเท่านั้นก็ถูกยกเลิก เพราะในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อสำรวจในเขตบางกลอยบน ปรากฎว่า พบเห็นร่องรอยของป่าที่ถูกถางออกไปจำนวน 150 ไร่ เห็นได้ชัดเจนจากทางอากาศ โดยเนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ กล่าวว่า “มันมีการเผา มีควันไฟ แล้วก็มีร่อยรอยการขยายพื้นที่เพิ่มเติม”

19) รัฐจึงเปลี่ยนกลยุทธ์จากประนีประนอม มาใช้ความเด็ดขาด โดยการวางกลยุทธ์ชื่อ “ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” โดยดำเนินการระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 5 มีนาคม โดยสนธิกำลังทหาร-ตำรวจ มากกว่า 100 นาย และใช้เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ในการบุกไปจับตัวชาวกะเหรี่ยง ที่อยู่ในเขตใจแผ่นดิน และบางกลอยบน ลงมาที่ภาคพื้นด้านล่าง สุดท้ายก็ลำเลียงชาวบ้าน 85 คนลงมาได้สำเร็จ โดย 22 คนในนี้ ตำรวจแจ้งข้อหายึดครองที่ดินภายในอุทยานแห่งชาติ
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่าการจับกุมในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการตัดสินว่าผิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผืนป่าถูกแผ้วถาง และมีร่องรอยการเผาอย่างชัดเจน ถ้าหากชาวกะเหรี่ยงยืนยันว่าไม่ได้ทำ จะได้ตรวจสอบว่ามีการอพยพมาจากที่อื่นหรือไม่
สถานการณ์ล่าสุด ศาลตั้งหลักทรัพย์สำหรับประกันตัวเอาไว้ที่คนละ 60,000 หมื่นบาท ผู้ต้องหาทั้ง 22 คน รวมเป็นเงิน 1.32 ล้านบาท โดยยังไม่มีการประกันตัวออกมา ณ เวลานี้

20) ความขัดแย้งของสองแนวความคิดยืดเยื้อมาถึงจุดนี้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผลของตัวเอง ในฝั่งกลุ่ม SAVE แก่งกระจานมองว่า อุทยานก็ควรเป็นอุทยาน ควรให้ป่าได้ใช้ชีวิตไป การที่เอาคนขึ้นไปอยู่ ไม่มีทางรู้ว่าเขาจะทำอะไรกับผืนป่าบ้าง ต่อให้วันนี้บอกว่าจะอยู่ด้วยวิถีดั้งเดิม แต่ถ้าชุมชนขยายใหญ่ขึ้น จะยับยั้งไม่ถางป่าเพิ่มได้จริงๆหรือเปล่า
นอกจากนั้นเหล่า NGO ยังตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ารัฐยอมให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลับถิ่นฐานที่เดิมได้ จะมีอีกมากกว่า 2,000 ชุมชน ที่คล้ายๆกัน ก็อาจกลับไปอาศัยอยู่ในป่าได้หมด ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องแข็งกร้าวในเรื่องนี้

21) แต่ในมุมฝั่ง SAVE บางกลอย ก็มองว่าคนกะเหรี่ยงอยู่ในพื้นที่จุดนั้นก่อนจะเป็นอุทยานเสียอีก พวกเขามีวิธีที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป็นรัฐต่างหากที่เข้าไปขับไล่พวกเขาออกมา และยิ่งไปกว่าการไล่ คือการไม่มีอะไรรองรับให้ชีวิตของชาวกะเหรี่ยง เหมือนให้เผชิญดาบหน้าเอาเอง ราวกับว่าชีวิตของชาวเขาไม่มีคุณค่าที่จะให้ความสำคัญจากภาครัฐ
นิยามของรัฐ ป่าคือป่า คนไม่ควรเกี่ยวข้อง แต่มีกรณีศึกษาในประเทศอื่นมากมาย ว่ากลุ่มชาติพันธุ์สามารถอาศัยร่วมกับธรรมชาติได้ การที่ไปเอาชาวกะเหรี่ยงออกจากที่ที่เขาเคยอยู่ อาจเป็นการทำลายวิถีชีวิต และภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมกันมายาวนาน

22) จุดนี้เองทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะฝ่ายรัฐก็ไม่รู้ว่าถ้าให้ชาวกะเหรี่ยงขึ้นไปบนอุทยาน จะสามารถกำหนดลิมิตของการทำไร่หมุนเวียนอย่างที่ชาวกะเหรี่ยงพูดได้จริงหรือไม่ เช่นเดียวกัน ฝ่ายกะเหรี่ยงจะให้ลงเขามา ก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต และทางรัฐก็ไม่การันตีอีกว่าจะมอบที่ดินทำกิน ให้พวกเขาประกอบอาชีพ
สุดท้ายเรื่องก็เลยต้องลากยาวมาถึงจุดนี้ โดยที่ยังไม่รู้ว่า ประเทศไทยจะหาทางออกได้อย่างไร

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า