SHARE

คัดลอกแล้ว

นี่คือครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใกล้เคียงกับการโดนเด้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุด แต่เรื่องทั้งหมดไม่ได้เกิดจากฝ่ายค้าน แต่เกิดจากคณะรัฐมนตรีด้วยกัน อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

เรื่องราวเป็นอย่างไร workpointTODAY สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย ใน 28 ข้อ

1) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 จากนั้นเรียนต่อโรงเรียนนายร้อย จปร. หลังจากเรียนจบ เข้ารับราชการอยู่หลายสังกัด จึงสร้างคอนเน็กชั่นในแวดวงทหารมาตั้งแต่ยังหนุ่ม

2) หลังลาออกจากทหาร ร.อ.ธรรมนัส ทำธุรกิจหลายอย่าง เช่นเป็นยี่ปั๊วขายสลากกินแบ่ง, ทำบริษัทรักษาความปลอดภัย และ มีข่าวเชื่อมโยงกับธุรกิจสีเทาอยู่ตลอด ก่อนจะตัดสินใจกระโดดมาเล่นการเมือง โดยทำหน้าที่เป็นเบื้องหลังคอยสนับสนุนพรรคไทยรักไทย ของทักษิณ ชินวัตร ทำหน้าที่เป็นทีมยุทธศาสตร์ในพื้นที่กรุงเทพ จากนั้นลงเลือกตั้ง เป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยด้วย

3) หลังจาก พล.ประยุทธ์ ทำรัฐประหารในปี 2557 คสช.เรียก ร.อ.ธรรมนัสไปรายงานตัว เนื่องจากมองว่าเป็นมาเฟียกรุงเทพ และมีสายสัมพันธ์กับขั้วอำนาจเก่า ส่งผลให้ในช่วงรัฐประหารแรกๆ ร.อ.ธรรมนัสเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่พักใหญ่ทีเดียว

4) แต่ในช่วงก่อนการเลือกทั่วไปในเดือนมีนาคมปี 2562 ร.อ.ธรรมนัส ประกาศ “เปลี่ยนฝั่ง” จากเดิมอยู่กับเพื่อไทย ย้ายข้ามไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ และลงสมัคร สส.เขต 1 จังหวัดพะเยา พร้อมทั้งดำรงตำแหน่ง ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งในโซนภาคเหนือ 16 จังหวัด ให้พรรคพลังประชารัฐด้วย

5) การเลือกตั้งในครั้งนั้น ร.อ.ธรรมนัสได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น คว้าตำแหน่ง สส.พะเยาไปครอง นอกจากนั้นยังช่วยพรรคพลังประชารัฐคว้า สส.เขต ได้ถึง 25 ที่นั่ง ในโซนภาคเหนือ ทั้งๆที่เป็นฐานที่มั่นของเพื่อไทยมาโดยตลอด

6) จุดเด่นของ ร.อ.ธรรมนัสนอกจากจะหาเงินเก่ง และมีเครือข่ายที่กว้างขวางแล้ว เขายังเป็นคน “เคลียร์ความขัดแย้ง” ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง หากย้อนกลับไปในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ตอนที่พรรคพลังประชารัฐจะมีรอยร้าว เมื่อ 10 พรรคเล็ก แสดงท่าทีไม่พอใจ พยายามเรียกร้องขอตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส ไปเคลียร์ปัญหาดังกล่าว และปรากฏว่าทุกอย่างเคลียร์หมด ทุกฝ่ายทุกกลุ่มไม่มีใครแข็งข้ออีกเลย

7) หรืออย่างในกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เหมือนจะลังเลไม่สนับสนุนพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส ก็เดินทางไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อคุยกับ เจ๊ก้อย ล็อบบี้ยิสต์ชื่อดัง ข่าวระบุว่าเพื่อพยายามเกลี้ยกล่อมให้ พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน พรรคพลังประชารัฐต่อไป ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ ยกมือโหวตให้พรรคพลังประชารัฐจริงๆ
รวมไปถึงความสามารถในการดีลกับฝ่ายอื่นๆ เช่นกรณีที่ม็อบบางกลอยมาอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ธรรมนัสเป็นคนไปเกลี้ยกล่อม จนม็อบบางกลายยอมรับฟังแล้วถอยไปในที่สุด ซึ่งนักการเมืองน้อยคนนักที่จะมีความสามารถในแง่การเจรจาที่เด่นขนาดนี้

8) ด้วยผลงานที่โดดเด่นต่อเนื่อง ทำให้สื่อขนานนามว่า ธรรมนัสคือ “มือซ้าย” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนที่ได้รับภารกิจอะไรมา ก็จัดการให้สำเร็จได้ทุกครั้ง จนทำให้วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ธรรมนัสได้รับการตอบแทนด้วยการเสนอชื่อให้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

9) สื่อมวลชน ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่า ร.อ. ธรรมนัสควรเป็นรัฐมนตรีจริงหรือไม่ เนื่องจากในอดีต เคยมีข่าวว่า ต้องติดคุกข้อหาลักลอบขนเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม เข้าประเทศออสเตรเลียมาก่อน ซึ่งถ้ารัฐมนตรีเคยมีโทษอาญาขนาดนี้ แม้จะไม่ได้เกิดที่ในประเทศไทยก็ตาม ย่อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ที่ดีของแวดวงการเมืองแน่นอน แต่ด้วยผลงานที่โดดเด่นจนยากจะปฏิเสธ ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสได้อยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย แม้จะเป็นเพียงรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตร ที่ไม่มีบทบาทในเนื้องานมากนักก็ตาม

10) วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์ว่า “ผมคือเส้นเลือดใหญ่ เลี้ยงหัวใจรัฐบาล ผมกุมความลับดีลต่อรองทุกอย่าง หากล้มผมได้ รัฐบาลก็สั่นคลอน” เขามีความมั่นใจพาวเวอร์ของตัวเองอย่างมาก ทั้งจำนวนส.ส. ที่กุมอยู่ในมือ รวมถึงความสามารถในการเป็นตัวประสานงาน ตอนที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ ก็เป็นธรรมนัสนี่แแหละ ที่จัดสรรจนรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในสภาได้

11) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ร.อ.ธรรมนัสสามารถเป็นรัฐมนตรีต่อไปได้ เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมายในประเทศไทย ทำให้เขายิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นทางด้านการเมือง และวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ธรรมนัสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ แทนนายอนุชา นาคาศัย

12) ตำแหน่งเลขาธิการพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในยุคสมัยที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีอำนาจ และมีเครือข่ายกว้างขวางเสมอ อย่างเช่น สนั่น ขจรประศาสน์ (ประชาธิปัตย์), เสนาะ เทียนทอง (ชาติไทย) และ สุเทพ เทือกสุบรรณ (ประชาธิปัตย์) ดังนั้น การที่ ร.อ.ธรรมนัสได้รับเลือก สามารถบ่งบอกว่า เขามีพาวเวอร์มากพอ และได้รับความไว้ใจจากผู้บริหารระดับสูงของพรรค โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนปัจจุบัน

13) สัญญาณที่น่าสนใจ ว่า พล.อ.ประวิตรพร้อมดันธรรมนัสเต็มตัว มีให้เห็นหลายเหตุการณ์ เช่น วันที่ 6 กรกฎาคม ตอนเกิดเพลิงไหม้ที่โรงงานย่านกิ่งแก้ว ตามจริงพล.อ.ประยุทธ์ต้องลงไปดูพื้นที่ด้วยตัวเอง แต่ยังโดนกักตัวเพราะใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด ทำให้พล.อ.ประวิตร มอบหมายให้ธรรมนัสลงพื้นที่ไปที่โรงงาน ทั้งๆที่ตำแหน่งตามจริงคือ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์เลย

14) การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2566 เหลืออีกแค่ 1 ปีครึ่งเท่านั้น นั่นทำให้แต่ละพรรคการเมืองเริ่มจัดทัพวางแผนเตรียมตัวเลือกตั้งกันแล้ว และพรรคพลังประชารัฐ ตั้งใจให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นคนวางยุทธศาสตร์หลัก เพื่อรวมคะแนนเสียง ให้ตัวเองกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกรอบ ในสมัยต่อไป

15) ทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่นดี อย่างไรก็ตาม ดราม่าสำคัญเกิดขึ้น ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี นี่เป็นการอภิปรายครั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดนกดดันหนักที่สุดตลอด 7 ปี ตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี จากผลงานการแก้วิกฤติโควิดที่ขาดประสิทธิภาพ จึงเชื่อว่า เป็นสถานการณ์ง่อนแง่นที่สุด ที่จะดึงนายกฯ ออกจากตำแหน่งได้ เพราะกระแสสังคมก็เทไปทาง ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์อย่างชัดเจน

16) ตามรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย ระบุว่า หากในการโหวตของ ส.ส.500 คน นายกรัฐมนตรี ถูกโหวตไม่ไว้วางใจเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (ตามปกติคือ 251 เสียง) นายกฯ จะพ้นสภาพทันที และคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกัน ตามมาตรา 167 ด้วย

17) ในปัจจุบัน มี ส.ส. ที่พ้นสภาพไปจำนวนหนึ่ง ทำให้จำนวน ส.ส. เหลือ 482 คน นั่นแปลว่านายกฯ ต้องการเสียงไว้วางใจจำนวน 242 เสียง จึงจะได้เป็นนายกฯ ต่อ โดยก่อนการโหวต จำนวนพรรครัฐบาลผสม 18 พรรค ครองเสียง ส.ส. ทั้งหมด 270 เสียง ส่วนฝ่ายค้าน มีเสียงทั้งหมด 212 เสียง

18) แปลว่า ถ้าหากส.ส. ฝ่ายรัฐบาลรวมกันโหวตไว้วางใจให้พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่มีกระแสข่าวลือออกมาว่า ร.อ.ธรรมนัส จะเดินหน้า “ล็อบบี้” ดึงส.ส. จากฝ่ายรัฐบาลราวๆ 30 เสียง ให้แปรพักตร์ ไปโหวตให้ฝ่ายค้านแทน ซึ่งก็ทำให้เสียงไม่ไว้วางใจ เพิ่มจาก 212 เสียง + 30 เสียง เป็น 242 เสียง มากพอที่จะโค่นพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทั้งคณะลงจากตำแหน่ง

19) เรื่องนี้เห็นภาพได้เด่นชัดขึ้น เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส เข้าไปคุยกับกลุ่มพรรคเล็ก เช่น ประชาธิปไตยใหม่, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และ พรรคพลังท้องถิ่นไทย ในรัฐสภาอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งด้วยพาวเวอร์ของ ร.อ.ธรรมนัส มีความเป็นไปได้จริงๆ ว่าจะทำให้การโค่นล้มกลางสภาเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าทำได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่โดนโค่นลงจากตำแหน่ง เพราะโดนส.ส. ไม่ไว้วางใจ

20) สาเหตุที่ ร.อ.ธรรมนัส เดินเกมในลักษณะนี้ มีการวิเคราะห์จากสื่อมวลชนว่า เป็นเหตุผลข้อใดข้อหนึ่ง ใน 3 ข้อนี้

ข้อ 1 – ธรรมนัสต้องการกดดัน เพื่อขอโควต้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวคือในการเลือกตั้งปี 2565 ใครที่ครอบครองกระทรวงมหาดไทย ก็มีข้อได้เปรียบในการเลือกตั้ง เพราะกุมอำนาจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเอาไว้ ธรรมนัสถ้าต้องการสร้างความยิ่งใหญ่ให้ตัวเองมากกว่าเดิม การได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะช่วยส่งเสริมอำนาจของเขาเป็นอย่างมาก

ข้อ 2- ธรรมนัสต้องการบีบ ให้พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่ง และตัวเองอาจกรุยทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต

ข้อ 3 – ธรรมนัสมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทักษิณ ชินวัตร มาตั้งแต่ร่วมงานกันในยุคไทยรักไทย- พลังประชาชน- เพื่อไทย ดังนั้นอาจมีเกมการต่อรอง เพื่อให้รัฐบาลเปิดช่องดึงทักษิณกลับมาที่ไทย ซึ่งสอดคล้องกับที่ทักษิณให้สัมภาษณ์จากดูไบว่า “กลับไทยแน่ แต่เมื่อไหร่เดี๋ยวค่อยบอก”

21) จุดที่น่าสนใจคือหมากเกมนี้ของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นเกมวัดใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะถ้าพล.อ.ประวิตร เห็นชอบว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไม่ไหวแล้ว ควรจะเปลี่ยนหัวเรือ เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐ ลุ้นชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็จะปล่อยให้ส.ส. โหวตไม่ไว้วางใจตามที่ ร.อ.ธรรมนัสต้องการ

แต่ถ้า พล.อ.ประวิตร เห็นแก่ความสัมพันธ์ 3 ป. (ประวิตร-ประยุทธ์- ป็อก อนุพงษ์) ที่มีมาอย่างยาวนานมากกว่า ก็จะยับยั้งแนวทางของ ร.อ.ธรรมนัส และสนับสนุนประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อไป

22) บทสรุปของเรื่องนี้คือ พล.อ.ประวิตร เลือก พล.อ.ประยุทธ์ โดยกล่าวยืนยันว่า “ปัญหาในพรรคไม่มีอะไร นายกฯไป ผมก็ไป” ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็กล่าวว่า “ทุกคนอาจจะไม่รักเพื่อน เหมือนที่ผมรักกัน 3 คน พวกเราร่วมเป็นร่วมตายกันมา ชายแดนผมก็อยู่ ท่ามกลางสนามรบก็อยู่ด้วย กินนอนกันมา ผมมีวันนี้ได้เพราะพี่ทั้งสองคนได้สั่งสอนผมมา”

23) วันที่ 4 กันยายน 2564 ผลการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้อยู่ต่อ โดยได้คะแนนไว้วางใจ 264 เสียง และ ไม่ไว้วางใจ 208 เสียง แม้จะได้คะแนนไม่ไว้วางใจ มากที่สุดในบรรดารัฐมนตรีทั้ง 6 คน ที่โดนอภิปราย แต่ก็ยังรอดจากการโดนถอดถอนมาได้

24) การโดนกลยุทธ์เล่นงานจาก ร.อ.ธรรมนัส ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับ ร.อ.ธรรมนัส ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป วันที่ 8 กันยายน 2564 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัสเจอหน้านายกฯ และไหว้ตามมารยาท แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่รับไหว้ เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หนึ่งใน 3 ป. มาอยู่ในเหตุกาณ์ด้วยก็ไม่ได้รับไหว้ และไม่ได้คุยกับร.อ.ธรรมนัสเช่นกัน

25) ช่วงเย็นวันที่ 8 กันยายน 2564 ร.อ. ธรรมนัสทำเอกสาร ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยจะยื่นเอกสารในวันที่ 9 กันยายน แต่ยังไม่ทันได้ยื่น ก็มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศเด้ง ร.อ.ธรรมนัสออกจากตำแหน่ง โดยฝั่งนายกรัฐมนตรีไม่ปล่อยให้ธรรมนัสลาออกด้วยตัวเอง แต่เทกแอ็กชั่นชิงปลดออกก่อน เพื่อเป็นการเช็กบิลกับเรื่องที่เกิดขึ้น

26) สำหรับสถานการณ์ต่อจากนี้ จึงต้องจับตามองว่า พรรคพลังประชารัฐจะเดินเกมอย่างไรกับ ร.อ.ธรรมนัส โดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติว่า “การหักดิบไม่เอา ร.อ.ธรรมนัส จะเป็นการผลักมิตรไปเป็นศัตรู”

กล่าวคือ ร.อ.ธรรมนัส มีเสียง ส.ส. จำนวนมาก ทั้งภาคเหนือ และภาคอีสานส่วนหนึ่งในมือ ถ้าขับไล่ ร.อ.ธรรมนัสออกไป จำนวนเสียงเหล่านี้ก็จะหายไปด้วย และอาจเป็นจุดชี้ขาดที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐไม่ได้เป็นรัฐบาลสมัยหน้า ยิ่งการเลือกตั้งครั้งต่อไปใกล้เข้ามาแล้วด้วย การหาแม่ทัพลักษณะนี้ อาจทำได้ไม่ง่ายนัก

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากให้ ร.อ.ธรรมนัสอยู่ต่อ ก็ต้องจัดการกับความรู้สึกของ พล.อ.ประยุทธ์ให้ดีด้วย เพราะสองคนนี้ ไม่ไว้วางใจกันเหมือนเดิมแล้ว

27) ขณะที่ในมุมของ ร.อ.ธรรมนัส ก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะเอาอย่างไรต่อ จะอยู่พรรคพลังประชารัฐต่อไปหรือไม่ แต่มีการวิเคราะห์ว่า อาจเป็นไปได้ ที่เขาอาจจะแยกออกมาตั้งพรรคของตัวเอง ซึ่งก็อาจกุมคะแนนได้ 30-40 เสียง สามารถเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกันในอนาคต

28) สำหรับในเรื่องนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ สิ่งที่จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ หลุดจากตำแหน่งได้ ไม่ใช่ฝ่ายค้าน และไม่ใช่การโดนอภิปรายว่าบริหารประเทศล้มเหลว แต่เป็นเพราะความขัดแย้งกันภายในของฝั่งรัฐบาลเองเท่านั้น

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า