SHARE

คัดลอกแล้ว

ที่สหรัฐอเมริกาไม่มีประเด็นอะไรจะร้อนแรงเท่าเหตุการณ์กลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าไปยังรัฐสภา นี่เป็นภาพที่เหลือเชื่อมาก และสื่อหลายฉบับใช้คำว่า “วันอันมืดมิดในประวัติศาสตร์ประเทศ”

จากนั้นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันคือทรัมป์โดนแบนทางเฟซบุ๊ก และถูกลบบัญชีทวิตเตอร์ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 88 ล้านคนทิ้งในพริบตา ซึ่งในประวัติศาสตร์ของทวิตเตอร์ ไม่เคยลบแอคเคาน์ไหนที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน

เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร เชื่อมโยงกันในทิศทางไหน workpointTODAY จะสรุปตั้งแต่ต้นจนจบใน 21 ข้อ โพสต์เดียวเข้าใจเลย

1) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ที่สหรัฐฯ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ปรากฎว่าผู้ชนะมีการเปลี่ยนมือเป็นโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน ด้วยคะแนนเสียงอีเลคโทรัล โหวต 306 ต่อ 232 คะแนน โดยไบเดน มีกำหนดเข้ารับการสาบานตน ในวันที่ 20 มกราคม 2021

2) อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ ทรัมป์ ชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ไบเดนชนะอย่างไม่บริสุทธิ์ เพราะในหลายๆรัฐ ทรัมป์ทำคะแนนนำอยู่ดีๆ แต่พอรวมคะแนนที่ได้มาจากการโหวตทางไปรษณีย์กลายเป็นไบเดนที่พลิกชนะไปได้ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่า “การเลือกตั้งทางไปรษณีย์เปิดช่องให้โกงขนานใหญ่” โดยกองเชียร์ของทรัมป์ได้ไปฟ้องศาลในแต่ละรัฐให้ยกเลิกการนับคะแนนโหวตครั้งนี้ แต่สุดท้ายศาลทุกรัฐปฏิเสธหมด และให้ยึดผลการโหวตของประชาชนต่อไป

3) สาเหตุที่ศาลไม่รับพิจารณา เพราะไม่มีหลักฐานว่าโจ ไบเดน โกงการเลือกตั้งอย่างไร บางรัฐนับคะแนนใหม่ถึง 3 รอบ รวมถึงตรวจเช็กทุกบัตรเลือกตั้งที่มีลายเซ็น ยิ่งไปกว่านั้นฝั่งไบเดน ไม่ได้มีอำนาจรัฐบาล หรืออำนาจในศูนย์อำนวยการเลือกตั้งอยู่ในมือ ดังนั้นการที่ทรัมป์ที่เป็นรัฐบาลเองอ้างว่าโดนฝ่ายค้านโกง จึงฟังไม่ขึ้น

4) แต่ทรัมป์ยังไม่หยุดแค่นั้น 15 พฤศจิกายน 2020 เขาทวีตข้อความว่า “ไบเดนเอาชนะเลือกตั้งได้เพราะโกง โหวตทางไปรษณีย์ มันเป็นการโหวตที่ไม่มีคนจับตาดูใดๆทั้งสิ้น แบบนี้ถ้าไปโกงผ่านบริษัทขนส่งก็เรียบร้อยแล้ว” ตามด้วยทวีตว่า “การรับรองผลการเลือกตั้งถือเป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกลงโทษ” ซึ่งการที่ทรัมป์ชูประเด็นการโกงของไบเดน ทำให้กลุ่มกองเชียร์รีพับลิกันส่วนหนึ่ง เกิดความเดือดดาล ที่ต้องแพ้การเลือกตั้ง เพราะถูกโกง

แต่ก็มีเสียงโจมตีจากฝั่งเดโมแครตว่า ถ้าคิดว่าโจ ไบเดนโกง หาหลักฐานมาคุยกัน แต่ที่ทรัมป์หาหลักฐานไม่ได้ เพราะมันไม่เคยเกิดการโกงขึ้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และถ้าหากคุณเป็นประธานาธิบดีของประเทศ มีอำนาจมากมายในมือ แต่ยังหาหลักฐานไม่ได้ แล้วใครในโลกจะไปหาได้อีก

5) ถึงนาทีนี้ แม้แต่คนของฝั่งรีพับลิกันเองก็แนะนำให้ทรัมป์ยอมรับความพ่ายแพ้ดีกว่า เพื่อไม่ให้เสียเกียรติภูมิของนักการเมือง โดยจอห์น คอร์นิน วุฒิสมาชิกจากรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นคนของรีพับลิกันกล่าวว่าความพยายามดิ้นรนของทรัมป์ มีแต่จะเป็นความผิดพลาด เพราะการเลือกตั้งต้องมีใครสักคนที่เป็นผู้ชนะ และมีใครสักคนที่ต้องเป็นผู้แพ้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังยื้ออยู่ เขายังเดินหน้าโจมตีระบบการเลือกตั้งว่ามีการโกงต่อไป โดยกล่าวหาว่ามีบัตรเขย่ง เป็นคะแนนเสียงที่เดโมแครตได้มาเฉยๆ โดยคนโหวตไม่มีตัวตน

6) สภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีการกำหนดวันที่จะ “รับรอง” คะแนนเสียงในการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งประเทศ ให้ไบเดนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันที่ 6 มกราคม 2021 ซึ่งคนที่จะเป็นประธานในการประชุมสภาคือไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี ในฐานะประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นคนสนิทของทรัมป์ โดยตามจริงไมค์ เพนซ์ สามารถแทรกแซง และระงับผลการเลือกตั้งได้ โดยตีกลับผลโหวตไปสู่ที่ศาลของแต่ละรัฐ เพื่อให้ตีความอีกรอบ อย่างไรก็ตาม เพนซ์มองว่าวิธีนั้นมันไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการทรยศเสียงของประชาชน และผิดหลักการของประชาธิปไตย นั่นทำให้เพนซ์ ประกาศว่าการรับรองจะมีขึ้นแน่นอนในวันที่ 6 มกราคมตามกำหนดการ และเขายังย้ำอีกว่า เรื่องการเลือกตั้งต้องจบเสียที ประเทศต้องเดินต่อ และทุกๆคน ต้องกลับไปทำงานของตัวเองได้แล้ว

7) วันที่ 5 มกราคม หนึ่งวันก่อนรัฐสภาจะทำการรับรองไบเดน ฝั่งโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะจัดงานปราศรัยที่สวน เดอะ อีลิปส์ (The Elipse) ที่ตั้งอยู่หน้าทำเนียบขาว เพื่อปราศรัยครั้งใหญ่ ในชื่อ “Save America Rally” (การเดินขบวนเพื่อหยุดการขโมยผลเลือกตั้ง) ในวันที่ 6 มกราคม เวลา 7 โมงเช้า ซึ่งเมื่อทรัมป์ประกาศดังนั้น ส่งผลให้กองเชียร์ทรัมป์มากกว่า 1 หมื่นคน จึงมารวมตัวกันที่ลานฟรีดอมพลาซ่า ในช่วงกลางคืนวันที่ 5 มกราคม จากนั้นเดินขบวนไปพร้อมๆกัน สู่สวนเดอะ อีลิปส์ ในช่วงเช้า

เข้าสู่ วันที่ 6 มกราคม เวลา 07.00 น. ที่งานปราศรัย ทรัมป์เริ่มต้นด้วยการกล่าวโจมตีผลการเลือกตั้ง และไม่ยอมรับคำตัดสิน นอกจากนั้นยังโจมตีไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีของตัวเอง ว่าเป็นพวกขี้ขลาดตาขาว

นอกจากกล่าวบนเวทีแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ยังทวีตด้วยว่า “ไมค์ เพนซ์ ไม่มีความกล้าหาญที่จะปกป้องประเทศของเรา และรัฐธรรมนูญของเรา เราควรทำให้การเลือกตั้งของสหรัฐฯ บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ใช่ผ่านการโกงแบบนี้ สหรัฐอเมริกาต้องการความจริง!”

ทรัมป์ทิ้งท้ายด้วยการจุดไฟให้ผู้ชุมนุม จงสู้สุดชีวิต (Fight like hell) และบอกให้ร่วมใจกันเดินขบวนไปแสดงพลังที่ อาคารรัฐสภา (THe Capitol) ซึ่งสาวกของทรัมป์จำนวนมาก เดินทางไปจริงๆ

8) จากนั้น 13.00 น. ที่อาคารรัฐสภา จะเป็นการประชุมร่วมของ ส.ส. กับ ส.ว. โดยคนสำคัญทุกคนมาครบแล้ว ทั้งรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ รวมถึง แนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม กระบวนการเริ่มไปได้แค่ 2 รัฐ คือ อลาบาม่า และ อลาสก้า ทุกอย่างก็ต้องหยุดลง เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นสาวกของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็บุกมาถึงอาคารรัฐสภา และไม่ใช่แค่ยืนอยู่ด้านหน้าเท่านั้น แต่บุกเข้าไป “ด้านใน” แน่นอนว่ามีตำรวจอยู่ที่สภาพอสมควร แต่ไม่มีใครสามารถยับยั้งคลื่นมนุษย์นับพันคนได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องยิงสกัดกั้นผู้ชุมนุมที่ทะลวงเข้ามาหา ส.ส. และ ส.ว. สุดท้ายตำรวจยิงหนึ่งในกองเชียร์ของทรัมป์ ชื่อ แอชลี่ แบบบิตต์ ขณะที่พยายามพังประตูเข้ามา นี่เป็นคนแรกที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ และในเวลาต่อมา มีผู้ชุมนุมเพิ่มอีก 3 คน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 1 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 5 ศพ
เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยความที่มีจำนวนคนน้อยกว่า จึงถอยร่นลงไปเรื่อยๆ แล้วเอาเฟอร์นิเจอร์มาขวางกั้นประตูเอาไว้ ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนตะลุยเข้ามา พร้อมตะโกนเป็นระยะๆว่า “เราต้องการทรัมป์” ,”แขวนคอ ไมค์ เพนซ์” และ “พวกเขาอยู่ไหน” โดยเป้าหมายคือการจับตัวส.ส. และ ส.ว. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับรองโจ ไบเดน
โดยมีการบันทึกภาพชัดเจนว่า ผู้ชุมนุมบางคน เอากุญแจมือแบบพลาสติกเข้ามาด้วย เพื่อจุดประสงค์คือการจับกุมตัว ส.ส. และ ส.ว. เป็นตัวประกัน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ นำ ส.ส. และ ส.ว. ไปที่ปลอดภัยแล้ว ทำให้ผู้ชุมนุมหาไม่เจอ และระบายอารมณ์ด้วยการทำลายข้าวของในรัฐสภา

การที่ตำรวจกระจายตัวไปเพื่ออารักขานักการเมือง ทำให้ผู้ชุมนุมบุกมาถึง The Gallery หรือห้องประชุมหลักสำหรับการโหวต เราจึงเห็นภาพที่น่าตกใจคือผู้สนับสนุนทรัมป์ ขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ของประธานในที่ประชุม ซึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ไม่เคยเกิดเรื่องแบบนี้มาก่อนเลย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ชุมนุมยังเดินเข้าเดินออก ออฟฟิศของ ส.ส. และ ส.ว. อย่างสนุกสนาน

9) โดยตามหน้าที่แล้ว ทรัมป์ ยังคงเป็นประธานาธิบดีอยู่ จนกว่าจะมีการสาบานตนอย่างเป็นทางการของโจ ไบเดน ดังนั้นหน้าที่ของเขา คือต้องไปคุยกับเพนตากอน เพื่อส่งกองกำลังทหาร (National Guard) เข้ามาควบคุมความสงบ เพราะกำลังตำรวจที่มี ไม่เพียงพอต่อการควบคุมฝูงชน แต่ทรัมป์ไม่ยอมทำ นั่นทำให้ ไมค์ เพนซ์ ต้องต่อสายคุยกับ มาร์ค มิลลีย์ ผู้บัญชาการทหารบก ด้วยตัวเอง และสุดท้าย ทหารส่งกองกำลัง 1,100 นายเข้ามาควบคุมสถานการณ์ที่ตึกรัฐสภา

10) สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ในเวลา 15.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเคลียร์ผู้ชุมนุมที่บุกรุกสภาได้หมด และนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปี ของสหรัฐฯ ที่มีผู้บุกรุกอาคารรัฐสภา โดยครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปในปี 1814 โดยคราวนั้นเป็นทหารอังกฤษที่เข้ามาโจมตี แต่นี่เป็นครั้งแรกจริงๆ ที่การบุกรุกรัฐสภา เกิดขึ้นจากคนชาติเดียวกัน

ด้วยกำลังทหาร และตำรวจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ชุมนุมถูกดันถอยร่นออกไปนอกรัฐสภา คราวนี้พวกเขาเริ่มอารมณ์เสียหนักขึ้น และมีการทำร้ายร่างกายนักข่าว โดยโจมตีว่า สำนักข่าวเหล่านั้นพยายามป้อน “เฟคนิวส์” ให้ประชาชน เพื่อมีเป้าหมายคือการเกลียดโดนัลด์ ทรัมป์

11) ทรัมป์ออกมาทวีตปกป้องผู้ชุมนุม โดยพิมพ์ว่า “เรื่องเหล่านี้และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะชัยชนะในการเลือกตั้งที่ควรจะขาดลอย กลับถูกทำให้แพ้อย่างโหดร้าย ซึ่งผู้รักชาติของเรา เขาถูกปฏิบัติแย่ๆแบบนี้มานานมาก อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนกลับบ้านไปก่อนด้วยความรัก และความสันติ ขอให้ทุกคนจดจำวันนี้ตลอดไป” ซึ่งเมื่อทรัมป์ทวีตแบบนี้ออกมา ก็โดนคนด่ายับเช่นกัน ว่าแทนที่จะตำหนิคนกระทำผิด กลับไปให้เหตุผล ให้ท้ายที่จะสนับสนุนให้เขาทำผิดอีก

12) สถานการณ์ในช่วง 18.00 น. เคลียร์ทุกอย่าง กองทัพบกส่งทหารมาอีก 3,350 นาย พร้อมอาวุธครบมือ ซึ่งถึงตรงนี้ ก็เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกรุกเข้ามาที่รัฐสภาได้อีก และนายกเทศมนตรีของเขตดีซี มูเรียล บาวเซอร์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้มีเคอร์ฟิวทั่วเขตดีซี จนถึงวันที่ 21 มกราคม ที่งานสาบานตนของโจ ไบเดน จะลุล่วง นี่เป็นการเบรก ไม่ให้เหตุการณ์ชุมนุมจนนำมาสู่ความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอีก

13) เมื่อสถานการณ์สงบแล้ว 20.00 น. ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดียืนยันว่า การโหวตอนุมัติรับรองการเลือกตั้งต้องจบวันนี้เลย จะยืดเยื้อต่อไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงเรียกทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เข้ามาประชุมใหม่ กระบวนการโหวตรับรองจึงเริ่มอีกครั้ง และทุกอย่างก็แล้วเสร็จใน เวลา ตี 3.45 การประชุมร่วมของสองสภา ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของโจ ไบเดน ให้เอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์ 306 ต่อ 232 คะแนน

14) เมื่อสภายอมรับการเลือกตั้ง ทำให้ทรัมป์แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนและทวีตข้อความว่า เขาจะไม่ไปร่วมงานสาบานตนของโจ ไบเดน ในวันที่ 20 มกราคมนี้แน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดธรรมเนียมอย่างมาก เพราะในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ประธานาธิบดีคนเดิม จะไปร่วมงานเสมอ เพื่อส่งต่อความรับผิดชอบให้ผู้นำคนใหม่ เหมือนเป็นการแสดงออกถึงน้ำใจนักกีฬา โดยไม่สำคัญว่าผู้ชนะคนใหม่ จะอยู่พรรคเดียวกับตัวเองหรือไม่

ในปี 2009 ตอนบารัค โอบาม่าจากพรรคเดโมแครตได้ตำแหน่ง จอร์จ บุช ซึ่งเป็นคนจากรีพับลิกันก็มาร่วมแสดงความยินดีในพิธีสาบานตน หรือในปี 2017 ที่โดนัลด์ ทรัมป์จากรีพับบลิกันชนะเลือกตั้ง โอบาม่าจากเดโมแครตก็มาร่วมยินดีด้วย แต่ทรัมป์กลับตัดสินใจไม่ขอข้องเกี่ยวใดๆทั้งสิ้น ซึ่งในแวดวงการเมือง มองว่าทรัมป์สมควรแสดงสปิริตมากกว่านี้ แม้จะแพ้การเลือกตั้งก็ตาม

15) หลังเกิดเหตุความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตที่อาคารรัฐสภาถึง 5 คน ทำให้เฟซบุ๊ค (facebook) ออกมาแถลงการณ์ ในวันที่ 8 มกราคมว่า จะทำการแบน บัญชีของโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งในเฟซบุ๊ค และในอินสตาแกรม โดยมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของบริษัทได้กล่าวว่า “เราเชื่อว่า ถ้าเราปล่อยให้ประธานาธิบดีใช้บริการบัญชีของเราต่อไป จนเกิดความเสี่ยงครั้งใหญ่ ดังนั้นเราจึงจะบล็อกการใช้งานของเขาอย่างไม่มีกำหนดไปก่อน ไม่ให้เขาโพสต์อะไรได้ หรืออย่างน้อยก็บล็อค 2 สัปดาห์ จนกว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ในพิธีสาบานตนของโจ ไบเดนจะเรียบร้อย”

16) ต่อจากนั้นแค่ไม่กี่ชั่วโมง ทวิตเตอร์ ออกมาแถลงการณ์ตามมาติดๆว่า “หลังจากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว การทวีตของแอคเคาน์ @realDonaldTrump มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจึงขอระงับบัญชีนี้เป็นการถาวร” ซึ่ง ณ เวลาที่โดนปิดบัญชี ทวิตเตอร์ของทรัมป์ มีคนติดตามมากถึง 88.7 ล้านคน โดยในโลกนี้ มีแค่ 5 คนเท่านั้นที่มีคนติดตามมากกว่าเขา ได้แก่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ (90.3 ล้าน), ริฮานน่า (100.4 ล้าน), เคที่ เพอร์รี่ (109.2 ล้าน), จัสติน บีเบอร์ (113.7 ล้าน) และ บารัค โอบาม่า (127.9 ล้าน)

17) เท่ากับว่า ณ เวลานี้ โดนัลด์ ทรัมป์ สูญเสียเครื่องมือในการแสดงความเห็นของตัวเองออกไปแล้ว โดยในมุมของบริษัทเทคโนโลยีทั้งเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์มองว่า คำพูดของทรัมป์ที่ใช้ในโลกออนไลน์ เป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง ดังนั้นถ้าระงับบัญชีไว้ก่อน อย่างน้อยก็จะลดทอนความรุนแรง และอาจระงับเหตุการณ์ปะทะกันได้ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังมีทวิตเตอร์อีก 1 บัญชี คือ @potus ซึ่งเป็นแอคเคาน์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าใครที่มาเป็นประธานาธิบดี ก็สามารถใช้บัญชีนี้ได้ แต่ทวิตเตอร์ ได้กำหนดการควบคุม ไม่ให้ทรัมป์ทวีตอะไรได้ตามใจชอบ

18) ความชอบธรรมของทรัมป์ถูกวิจารณ์หนักอีกครั้งเมื่อมีคลิปหลุดออกมา ว่าหลังจากที่เขาพูดจาบนเวทีในวันที่ 6 มกราคมเป็นเชิงปลุกระดมเรียบร้อยแล้ว ด้านหลังเวที ลูกชายของเขาโดนัลด์ จูเนียร์, เอริค และ ลูกสาวอีวานก้า รวมถึงสตาฟฟ์หลายๆคน ต่างรวมตัวกันอยู่ในเต็นท์ และดูข่าวผู้ชุมนุมบุกรุกรัฐสภาอย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งร้องรำทำเพลงไปด้วย ดังนั้นโลกออนไลน์จึงระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ทรัมป์พูดจาปลุกระดม แล้วจะไม่รู้ถึงสิ่งที่จะตามมา เขารู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแน่ๆ

19) สำหรับสถานการณ์ล่าสุด คนที่บุกเข้าไปในรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ราว 80 คน โดนจับกุมเพื่อดำเนินคดี ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 56 คน ได้รับบาดเจ็บ โดยเทศบาลเขตดีซี กำลังจับตาดูสถานการณ์ของผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้รวมตัวกันแล้วบุกไปสถานที่สำคัญอีกครั้ง โดยความตั้งใจคือ เมื่อเปลี่ยนผ่านอำนาจเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 20 มกราคม ทุกอย่างก็คงจบลง

20) ทรัมป์ ยืนยันว่า ยังไงก็ไม่ไปร่วมพิธีสาบานตน แต่ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีระบุว่าจะเป็นตัวแทนผู้นำจากรัฐบาลชุดเดิม ไปร่วมแสดงความยินดีกับโจ ไบเดนแน่นอน ซึ่งไบเดนได้ตอบกลับหาเพนซ์ว่า “เรายินดีต้อนรับเขาอย่างยิ่ง เป็นเกียรติอย่างมาก ถ้าได้เขามาร่วมงานด้วย” ขณะที่อดีตประธานาธิบดีที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งบิลล์ คลินตัน, จอร์จ บุช และ บารัค โอบาม่า ก็ต่างคอนเฟิร์มว่าจะไปร่วมพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคมนี้ทั้งหมด

21) ณ เวลานี้ เหลืออีกแค่ 10 วัน ที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะอยู่ในอำนาจการเป็นผู้นำสูงสุดของสหรัฐอเมริกา หลายคนจึงกังวลใจและจับตามองว่า เขาจะทำอะไรเป็นการส่งท้ายหรือเปล่า อย่างไรก็ตามด้วยสภาพที่ไม่มีแขนขาใดๆแล้ว ทีมงานก็ยอมรับสภาพกันหมดแล้ว เช่นเดียวกับช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ไม่มี ดังนั้นคงจะยากมากๆแล้ว สำหรับทรัมป์จะจุดชนวนใดๆ เป็นการทิ้งทวนตำแหน่งในตอนจบ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า