SHARE

คัดลอกแล้ว

การว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงของโตโน่ ในโปรเจ็กต์ “หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” มีทั้งคำสรรเสริญ และคำวิจารณ์ แบ่งเสียงคนไทยเป็นสองฝ่าย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา มีเงินบริจาคหลั่งไหลมาถึง 63 ล้านบาท

ก่อนที่จะมาว่ายข้ามโขง โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้องที่โด่งดังจากรายการ The Star เขาเริ่มโครงการ “One Man and The Sea” ในเดือนมีนาคม 2563 โดยทำการว่ายน้ำตัวเปล่า ข้าม 12 เกาะในอ่าวไทย เพื่อรับบริจาคเงิน ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ทะเลหายากทั้งอ่าวไทย และอันดามัน โดยในครั้งนั้น ได้เงินบริจาคไปถึง 20 ล้านบาท

โตโน่ อธิบายว่า เขาอยากทำเพื่อสังคมมาตลอด จึงทำกิจกรรมเพื่อขอรับการบริจาคอยู่เสมอ แต่หลังจากลองทำหลายอย่างแล้ว กิจกรรมที่ได้รับเงินบริจาคมากที่สุด คือการ “ว่ายน้ำ” ดังนั้น ในปี 2565 เมื่อเขาต้องการระดุมทุนเพื่อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลนครพนม (ฝั่งไทย) และ โรงพยาบาลแขวงคำม่วน (ฝั่งลาว) โตโน่จึงคิดโปรเจ็กต์ใหม่ขึ้นมาคือ One Man and The River ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง

โปรเจ็กต์ One Man and The River โตโน่จะว่ายน้ำตามกระแสน้ำ 15 กิโลเมตร ในวันที่ 22 ตุลาคม 2565 เริ่มจากลานพญาศรีสัตตนาคราช ฝั่งไทย ในเวลา 10.09 น. ไปขึ้นบก ที่วัดพระศรีโคตะบองฝั่งลาว ในเวลาประมาณ 12.00 น. จากนั้นจะหยุดพักเหนื่อย ก่อนจะว่ายกลับจากฝั่งลาวมาฝั่งไทย

โดยโตโน่ทำกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อให้เขาเป็น “ตัวกลาง” เป็นจุดเริ่มต้น ให้คนบริจาคเงินเข้ามาให้มากที่สุด โดยตอนแรกตั้งเป้าไว้ที่ 16 ล้านบาท

ลักษณะที่โตโน่ทำ คล้ายๆ กับที่ตูน-บอดี้สแลม วิ่งจากใต้สุด ถึงเหนือสุด ของประเทศไทย ในโครงการก้าวคนละก้าว เมื่อได้เงินบริจาคก็เอาไปซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ แต่โตโน่เปลี่ยนจากการวิ่ง เป็นการว่ายน้ำ ที่เขาถนัดนั่นเอง

ท่ามกลางกระแสดราม่าทั้งมวล โตโน่เดินหน้าจัดกิจกรรมต่อ และสามารถว่ายน้ำไป-กลับ เป็นไปตามเป้าหมายได้สำเร็จ ขณะที่ยอดบริจาคนับจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2565 ก็พุ่งสูงถึง 63 ล้านบาท ไปไกลเกินกว่าเป้าหมายมาก และมีโอกาสจะพุ่งสูงกว่านี้อีกด้วย

เมื่อยอดทะลุเป้า ก็แปลว่าสามารถซื้ออุปกรณ์การแพทย์ได้หลายอย่าง เพื่อ 2 โรงพยาบาลฝั่งไทย-ลาว โดยตอนนี้กิจกรรมจบไปแล้วก็จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เราสามารถแยกย่อยออกเป็น 2 มุม คือมุมที่ควรชื่นชม และ มุมที่ควรเก็บคำวิจารณ์ไปคิดต่อ

[ คำชื่นชม 1 – การรับบริจาคเป็นการสร้างประโยชน์ได้ทันที ]

การแก้ปัญหาโครงสร้างเป็นสิ่งควรกระทำ แต่การรับบริจาคก็มีประโยชน์ของมัน คือสามารถนำเงินไปใช้ได้ทันที ไม่ต้องรองบประมาณจากทางรัฐ ที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่

โรงพยาบาลนครพนม เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รองรับคนไข้หลายพันคนต่อวัน แต่อุปกรณ์ยังคงเป็นรุ่นเก่า อย่างในช่วงโควิด-19 ก็ไม่มีเครื่องผลิตออกซิเจนเพียงพอ ถ้าหากต้องรองบประมาณ ในการซื้อทุกอย่างอาจทำให้การรักษาติดขัดมีปัญหา ดังนั้นการรับบริจาคได้เงินหลายสิบล้าน ก็เป็นการระดมทุนอย่างรวดเร็วมาก

การว่ายน้ำของโตโน่ครั้งนี้ แยกย่อยซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ขั้นต่ำ 47 ชิ้น รวมถึงชิ้นที่ราคาแพงมากๆ เช่น “เครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กชนิดความถี่สูง” ที่มีราคาเครื่องละ 1.8 ล้านบาท ก็สามารถหาซื้อได้ในทันที

ในต่างประเทศ แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้ว การบริจาค (Donation) หรือ ระดมทุน (Fundraising) ก็ยังเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ในช่วงโควิด-19 จอร์แดน เฮนเดอร์สัน กัปตันทีมลิเวอร์พูล สร้างโปรเจ็กต์ #PlayersTogether ระดมทุนจากนักฟุตบอลทั่วประเทศ เพื่อเอาเงินไปบริจาคให้สาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (NHS)

การแก้ไขโครงสร้างก็ทำกันไป แต่การรับบริจาคนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อเป้าหมายอะไรสักอย่างที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโดยทันที

[ คำชื่นชม 2 – โตโน่ ระมัดระวังทุกอย่างก่อนเริ่มปฏิบัติการ ]

ในโปรเจ็กต์นี้ โตโน่วางแผนอย่างรอบคอบ ก่อนงานจริงจะเริ่ม เขาโดนตำหนิว่า ว่ายน้ำคนเดียวก็ว่ายไปสิ แต่นี่ทำให้กู้ภัยต้องมาเหนื่อยคอยตาม โตโน่อธิบายในเรื่องนี้ว่า เขาเป็นคนว่ายหลักก็จริง แต่ก็มีทีมงาน ซึ่งมีดีกรีนักว่ายน้ำทีมชาติคอยประกบอยู่ดังนั้น จึงวางใจได้ว่าจะไม่โดนกลืนไปกับแม่น้ำโขงแน่นอน

ขณะที่ทีมงานกู้ภัย ก็เป็นคนของโตโน่เอง ใช้งบประมาณตัวเองที่ได้รับการสปอนเซอร์จากแบรนด์ยามาฮ่า คือรบกวนภาครัฐให้น้อยที่สุด เช่นเดียวกับรถพยาบาลที่ได้รับการอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลนครพนม ซึ่งจะได้ประโยชน์จากเงินบริจาคในครั้งนี้อยู่แล้ว

สิ่งที่น่าชื่นชมของโตโน่ในครั้งนี้ คือเขาปิดจุดอ่อนทุกอย่าง ใช้งบประมาณของตัวเองเป็นหลักในการทำภารกิจ และไม่ได้บังคับให้ใครมาบริจาค ใครอยากให้ก็ให้ ไม่อยากให้ก็ไม่ต้องให้

[ คำชื่นชม 3 – สร้างความสนใจให้จังหวัดนครพนม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-ลาว ]

ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องการว่ายน้ำข้ามโขงของโตโน่ เป็นข่าวอันดับหนึ่งของประเทศ นั่นทำให้ชื่อของจังหวัดนครพนม อยู่ในความสนใจอีกครั้ง สื่อมวลชนนำเสนอทุกแง่มุมเกี่ยวกับนครพนม ระหว่างการว่ายจริง มีการ Live จากสำนักข่าว ประชาชนได้เห็นความงดงามของจังหวัด เห็นความสวยงามของริมแม่น้ำโขง และ ได้เห็นน้ำจิตน้ำใจของคนในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนมได้อย่างเห็นผลมากๆ
นอกจากนั้น โปรเจ็กต์นี้ ยังร่วมบริจาคให้โรงพยาบาลแขวงคำม่วนที่ลาวด้วย เป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีของสองประชาชนในฝั่งแม่น้ำโขง เพิ่มบรรยากาศบวกระหว่างกัน เราจะสังเกตได้ว่า ตอนที่โตโน่ขึ้นบก ในเวลา 12.09 น. มีคนลาวไปรอรับแน่นขนัดเลยทีเดียว พร้อมส่งเสียงตะโกน “โตโน่ โตโน่ โตโน่” อย่างกึกก้อง ความรู้สึกที่ดีของมิตรภาพ ไทย-ลาว ที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้ มันมีคุณค่ามาก จนประเมินเป็นเงินไม่ได้

[ คำชื่นชม 4 – สร้างความรู้ในประเด็นอื่นๆ ]

เมื่อเรื่องโตโน่เป็นข่าวใหญ่ สื่อมวลชนเจาะประเด็นต่างๆ มากมาย เช่น การว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง สามารถทำได้จริงหรือไม่ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง คนคิดจะว่าย ต้องเตรียมตัวมากแค่ไหน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ เรื่องปัญหาสาธารณสุขว่า ที่โรงพยาบาลท้องถิ่นทุกวันนี้ งบประมาณไม่เพียงพอ

และการที่ประเด็นเรื่องโรงพยาบาลท้องถิ่นอยู่ในสื่อ ก็ทำให้คนรู้ว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน มีการหยิบมาพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ดีกว่าปล่อยให้ผ่านไปเงียบๆ โดยไม่เคยถูกนึกถึงอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม นอกจากคำชื่นชมแล้ว เสียงวิจารณ์ที่มีต่อโตโน่ ก็ไม่ควรถูกเพิกเฉยเช่นกัน สามารถรับฟังแล้วนำไปขบคิดและแก้ปัญหาในระดับต่อไปได้

[ เรื่องที่ต้องคิดต่อ 1 – ทำไมรัฐบาลต้องให้ศิลปินมาระดมทุนบ่อยขนาดนี้ ]

นพ.เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือหมอริท รุ่นน้องของโตโน่จากเวที The Star โพสต์ว่า “พี่บอกว่าหมอพยาบาลเสี่ยง คำถามคือ แล้วใครปล่อยให้หมอพยาบาลทำงานภายใต้ความเสี่ยง? ถ้ารู้ว่าเค้าทำงานแบบเสี่ยงอยู่ ทำไมผู้มีอำนาจโดยตรงถึงมองไม่เห็น และไม่สามารถจัดการปัญหานั้นโดยเร่งด่วนได้ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ แล้วถ้างบไม่พอจริงๆ ทำไมไม่รายงานขึ้นไป ทำไมต้องรอเงินบริจาค?”

เรารู้ว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐ มีอุปกรณ์ไม่เพียงพอ จนต้องเกิดโปรเจ็กต์แล้ว โปรเจ็กต์เล่าในการะดมทุน เช่น ก้าวคนละก้าว ของตูน-บอดี้สแลม เพื่อ 11 โรงพยาบาลรัฐ หรือ โปรเจ็กต์วิ่งการกุศลของก้อง ห้วยไร่ หาเงินช่วยโรงพยาบาลท่าอุเทน ที่นครพนม และ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ มาจนล่าสุดก็เป็น One Man and The River ของโตโน่-ภาคิน ยังไม่นับรวมการบริจาคส่วนตัวของนักธุรกิจต่าง ๆ เช่น ผู้ก่อตั้งฮาตาริบริจาคเงินช่วยมูลนิธิรามาธิบดี เป็นต้น

คำถามคือ ทำไมภาครัฐถึงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จนนักแสดง ศิลปิน ต้องมาช่วยระดมทุนกันในลักษณะนี้ ทำไมประชาชนต้องมาแก้ปัญหาอย่างไร ภาครัฐจัดสรรงบประมาณอย่างไร ถึงไม่เคยเพียงพอ เอาเงินภาษีไปใช้ตรงจุดไหนหมด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเห็นนักแสดง ศิลปิน มาทำการหาทุนรับบริจาคเพื่อโรงพยาบาลแบบนี้ แทนที่จะยิ้มหน้าชื่นตาบาน รอรับเงินบริจาค แล้วคารวะโตโน่ว่าเป็นวีรบุรุษ ควรจะสำนึกและรู้สึกอาย ว่าที่ทุกคนต้องอุทิศตนขนาดนี้ เพราะรัฐบาลจัดสรรงบประมาณได้ไม่ดีพอต่างหาก

[ เรื่องที่ต้องคิดต่อ 2 – ความโด่งดังจากแคมเปญปรากฏการณ์นักบุญ จะทำให้เรื่องโครงสร้างไม่ถูกแตะหรือไม่? ]

ทุกครั้งที่มีการทำโปรเจ็กต์หาทุนรับบริจาค คนที่ทำจะได้รับภาพลักษณ์ความเป็นนักบุญหรือฮีโร่เสมอ ทั้งกรณีของตูน-บอดี้แสลม และ โตโน่ในครั้งนี้ ต่อให้ศิลปินมีเจตนาบริสุทธิ์แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันตอบแทนกลับมาด้วยชื่อเสียง ไม่แปลกถ้าในอนาคต จะมีเซเลบริตี้ เดินหน้าลุยหาทุนรับบริจาคอีกเรื่อยๆ

การได้เงินเร็วๆ มันก็ดี แต่ถ้าทุกคนเอาแต่ระดมทุนบริจาค ปัญหาโครงสร้าง ก็จะไม่ถูกแตะต้องเสียที ถ้าแก้ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ ก็จะมีการบริจาคไม่รู้จบ และมีนักบุญคนใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา

วันนี้โรงพยาบาลนครพนม มีอุปกรณ์เพิ่ม แต่หลายร้อยโรงพยาบาลทั่วประเทศแห่งอื่นที่ไม่มีการรับบริจาคล่ะ จะทำอย่างไร ถ้าปัญหาโครงสร้างที่แท้จริงไม่ถูกแก้เสียที ปัญหาก็จะเกิดขึ้นไม่มีวันจบสิ้น และเราอาจได้เห็นปรากฏการณ์นักบุญแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา โดยคนส่วนใหญ่ไม่เห็นถึงปัญหาต้นตอของเรื่อง

ในภาพรวม การว่ายน้ำของโตโน่ครั้งนี้ ได้ผลอย่างรวดเร็ว ในการหาเงินก้อนมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้ 2 โรงพยาบาล ไทย-ลาว

หากคิดว่าเขาเป็นแค่บุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอำนาจอะไร การระดมทุนได้มากถึง 63 ล้านบาทขนาดนี้ ภายในระยะเวลาสั้นๆ ถือเป็นความมหัศจรรย์แล้ว และคนนครพนม ย่อมรู้สึกขอบคุณในการเป็นตัวตั้งตัวตี จนจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง เพื่อให้แพทย์-พยาบาล ทำงานได้ง่ายขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในพื้นที่

แต่ในโอกาสนี้ เราก็ลืมไม่ได้ว่า ประเทศนี้มีรัฐบาลอยู่ และภาครัฐต้องมีหน้าที่จัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสมให้โรงพยาบาล วันนี้โตโน่ว่ายข้ามโขง แล้ววันหน้า ก็อาจมีโตโน่คนที่ 2 3 4 5 6 ไปเรื่อยๆ เพื่อหาอุปกรณ์ใหม่ๆ ให้โรงพยาบาลอื่นๆ อย่างไม่จบไม่สิ้น แล้วปัญหามันจะแก้ได้ไหม

คำถามที่ควรเจาะลึกลงไปอีก คืองบกระทรวงสาธารณสุขแท้จริงแล้ว มันมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่พอ เงินของประเทศไปอยู่ที่ไหนกันหมด ทำไมรัฐบาลต้องผลักภาระให้คนธรรมดา มาทำแคมเปญหาเงินซื้ออุปกรณ์การแพทย์

บทสรุปในโปรเจ็กต์ One Man and The River ของโตโน่ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ได้ประโยชน์หลายอย่าง ได้เงินซื้อเครื่องมือแพทย์, ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวนครพนม และ ได้สร้างมิตรภาพที่ดีกับเพื่อนบ้านฝั่งลาว
แต่คำถามก็คือ สิ่งดีๆ เหล่านี้ คนที่ควรเป็นตัวตั้งตัวตีทำให้เกิดขึ้นแต่แรก ควรเป็นนักร้องจาก The Star หรือควรเป็นรัฐบาลของประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกันแน่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า