SHARE

คัดลอกแล้ว

ความปลอดภัยในเมียนมา เพิ่มดีกรีเลวร้ายขั้นสุด เมื่อมีการสั่งประหารชีวิต 4 นักกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยหนึ่งในนั้น คืออดีตแรปเปอร์ชื่อดัง ที่ผันตัวมาเป็น ส.ส. เรื่องนี้ทำให้เมียนมาถูกนานาชาติประณามอย่างรุนแรงมากๆ เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นอย่างไร workpointTODAY จะสรุปสถานการณ์ทุกอย่างให้เข้าใจภายใน 19 ข้อ

1) เมียนมา ในชื่อเดิมคือ พม่า เป็นประเทศที่ปกครองด้วยทหารมาตลอดหลายสิบปี แต่ในปี 1990 ประชาคมโลกไม่ยอมรับเผด็จการทหาร จึงตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหลายอย่าง ทำให้รัฐบาลทหาร ตัดสินใจจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยพรรคชื่อ NUP ที่มีทหารหนุนหลัง คาดหมายว่าจะได้รับชัยชนะ

แต่ผลการเลือกตั้งออกมาจริงๆ กลายเป็นพรรคประชาชนของ นางอองซาน ซูจี ในชื่อ NLD เป็นฝ่ายเอาชนะไปอย่างถล่มทลายแบบแลนสไลด์อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้ง แล้วปกครองด้วยระบอบเผด็จการต่อไปอีก 25 ปี จนถึงปี 2015

2) ในปี 2015 ฝั่งทหารโดนกดดันจากนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอมจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยระบุว่า 25% ของ ส.ส. และ ส.ว. จะต้องเป็นคนที่มาจากการแต่งตั้งของทหาร เพื่อช่วยให้ชนะเลือกตั้งง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังมีการใส่เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญอีกด้วยว่า “ผู้ที่มีสามี หรือภรรยาเป็นชาวต่างชาติ ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้” เพื่อเป็นการขวางทางนาง อองซาน ซูจี ที่มีสามีเป็นชาวอังกฤษนั่นเอง

3) ผลการเลือกตั้งปี 2015 แม้ทหารจะมีเสียง 25% ในมือ แต่พรรค NLD สามารถคว้าที่นั่งใน 2 สภาได้รวมกัน 54.8% ทำให้พวกเขาชนะการเลือกตั้ง และได้อยู่จนครบวาระ 5 ปี

หลังหมดสมัยแรก เข้าสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป ในปี 2020 พรรค NLD ก็ชนะเลือกตั้งเช่นเคย แม้ทหารจะมีเสียงอยู่ในมือ 25% ก็ตาม โดยคราวนี้พรรค NLD ได้คะแนนมากถึง 59.4% เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีก่อนเสียอีก นั่นแปลว่าฝั่งทหาร พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง 2 รอบติดต่อกัน

4) เมื่อทหารไม่ได้ปกครองประเทศเสียที แม้จะมีเสียง 25% ช่วยแล้วก็ตาม ทำให้พวกเขา “ล้มกระดาน” ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 โดยอ้างว่า ฝั่งพรรค NLD โกงผลเลือกตั้ง แม้จะยังไม่มีหลักฐานอะไรก็ตาม โดยทหารส่งรถถังบุกมายึดวิทยุ โทรทัศน์ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ แล้วจับกุมนาง อองซาน ซูจี, ประธานาธิบดีวิน มินต์ และ โฆษกพรรค NLD ชื่อ เมียว ยุนต์ เอาไว้ นี่คือการทำรัฐประหารโดยสมบูรณ์ ซึ่งคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแทน คือ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำสูงสุดของฝั่งกองทัพ

5) พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ให้คำสัญญาว่า จะจัดการเลือกตั้งใหม่ในอนาคตที่ยุติธรรมมากกว่านี้ และไม่ปล่อยให้พรรค NLD ได้โกงการเลือกตั้งอีก อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการโกงเลือกตั้งจริงๆ

6) หลังการรัฐประหาร ประชาชนลงถนนเพื่อต่อต้านเผด็จการ ขณะที่ชาวเมียนมาที่อยู่ต่างประเทศ ก็แสดงจุดยืนด้วยการไปรวมตัวกันหน้าสถานทูต แนวทางของประชาชนไม่ต้องการให้เมียนมา กลับไปอยู่วังวนเดิม นั่นคือการปกครองด้วยทหารอีก

อย่างไรก็ตาม ทหารไม่ยอมลงจากอำนาจ มีการไล่เช็กบิล คนที่ต่อต้านด้วยความรุนแรง โดยหน่วยงานสิทธิมนุษยชน AAPP ระบุว่า ตั้งแต่ทหารยึดอำนาจ มีการสังหารกลุ่มคนต่อต้านไปแล้ว มากกว่า 2,100 คน นอกจากนั้นยังตั้งข้อหา ใส่นาง อองซาน ซูจี เกี่ยวกับการทุจริต จำนวน 11 คดี ซึ่งถ้าศาลสั่งว่าผิดจริง นาง อองซาน ซูจี จะโดนจำคุกเป็นระยะเวลารวม 190 ปี

7) ทหารเมียนมาไม่ได้เล่นงานเฉพาะคนในสายการเมืองเท่านั้น แต่นักแสดง หรือ คนในวงการบันเทิง ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ก็จะโดนโจมตีด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไป่ ทาคน นายแบบระดับโลก ถูกยัดข้อหาปลุกปั่น และศาลทหารจำคุก 3 ปี พร้อมทั้งบังคับให้ทำงานอย่างหนักในช่วงเวลาที่เรือนจำ กว่าจะโดนปล่อยตัวออกมาก็ผ่านไปแล้ว 1 ปี

8 ) กลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาล จะถูกเรียกว่า CDM (Civil Disobedience Movement) หรือที่เรียกว่าผู้มีอารยะขัดขืน ซึ่งทหารเมียนมาเหมารวมหมด ทั้งครู แพทย์ วิศวกร คนในอาชีพไหนก็ตาม ถ้าเห็นชอบกับการขับไล่เผด็จการ ก็พร้อมจะมีบทลงโทษอย่างหนักหน่วงทันที

9) การลงโทษของฝั่งทหารมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีการวิจารณ์ว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่กล้าประท้วงอีก โดยตั้งแต่มีการรัฐประหาร มีการหยิบเอา “โทษประหาร” มาใช้ และมีคนโดนศาลสั่งประหารไปแล้ว 117 คน

พลตรี ซอว์ มิน ตุน โฆษกของกองทัพ กล่าวว่าโทษประหารไม่ใช่อะไรที่เกินเลย โดยระบุว่า “มีคนบริสุทธิ์อย่างน้อย 50 คน รวมถึงกองกำลังทหารต้องเสียชีวิตเพราะพวกปลุกปั่นเหล่านี้ ดังนั้นนี่คือความยุติธรรมแล้ว การตอบโต้แบบนี้จำเป็นต้องหยิบมาใช้ในสถานการณ์ตอนนี้”

10) ข่าวใหญ่ที่เมียนมา เกิดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม เมื่อนักกิจกรรม ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารจำนวน 4 คน ถูกยืนยันว่าโดนประหารไปแล้ว และที่น่าสนใจคือหนึ่งในนั้นได้แก่ เพียว เซยาร์ ตอ (Phyo Zeya Thaw) อดีตแรปเปอร์คนดังของประเทศเมียนมา

เพียว เซยาร์ ตอ เป็นที่รู้จักของคนเมียนมา โดยเขามีวงดนตรีฮิปฮอปของตัวเองชื่อ Acid และปล่อยอัลบั้มแรกออกมาในปี 2000 ตอนเขาอายุ 19 ปีเท่านั้น โดยเพลงที่เขาทำ ทะยานขึ้นอันดับหนึ่งในชาร์ทของเมียนมา 2 เดือนติดต่อกัน โดยเนื้อเพลงนั้น เขียนเล่าเรื่องจริงเกี่ยวกับชีวิตที่ยากลำบากในเมียนมา

11) เพียว เซยาร์ ตอร์ ไม่ได้เป็นแค่ศิลปิน แต่เขายังทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งหาเงินทุนช่วยเหลือลูกกำพร้าที่เกิดจากพ่อแม่ที่ติด HIV รวมถึงให้เงินทุนสอนภาษาอังกฤษให้เด็กกำพร้าอีกด้วย
ในเวลาต่อมา เพียว เซยาร์ ตอร์ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนเมียนมาเจเนอเรชั่นใหม่ ที่เกลียดชังรัฐบาลทหาร มีกิจกรรมต่างๆ ที่เขาทำ แล้วไปกระตุกหนวดทหารอยู่บ่อยครั้ง เช่น จัดทำสติกเกอร์เขียนคำว่า Change New Government – เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ไปแปะตามรถยนต์ เป็นต้น

12) สุดท้าย เซยาร์ ตอร์ โดนทหารจับกุมตัวไปซ้อมในเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 และถูกสั่งติดคุกเป็นเวลา 5 ปีข้อหาปลุกปั่น แต่ในเดือนพฤษภาคม 2011 หลังติดคุกจริง 2 ปีครึ่ง ก็โดนปล่อยตัวออกมา โดยเซยาร์ ตอร์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมรู้สึกเสียใจ ไม่ใช่เพราะผมโดนจำคุก แต่เสียใจกับอนาคตของประเทศเรา คำพูดที่ผมพูดมันออกมาจากใจ ผมอยากจะบอกประชาชนว่า ‘จงมีความกล้าที่จะปฏิเสธในสิ่งที่คุณไม่ชอบ และถ้าคุณไม่กล้าที่จะสนับสนุนสิ่งที่ถูกต้อง อย่างน้อยก็อย่าไปสนับสนุนสิ่งที่ผิด”

13) ในปี 2015 การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา เซยาร์ ตอร์ ลงสมัครเป็น ส.ส. สังกัดพรรค NLD ของอองซาน ซูจี ในเขตซาบูธิรี่ ทาวน์ชิพ และเอาชนะการเลือกตั้งได้สำเร็จ จากแรปเปอร์ กลายมาเป็น ส.ส. แทน โดยเซยาร์ ตอร์ จากที่เคยเป็นนักกิจกรรมอยู่นอกสภา คราวนี้เขาตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการออกกฎหมายแทน

14) แต่เซยาร์ ตอร์ ทำงานได้ไม่นานนัก ก็เกิดเหตุทหารยึดอำนาจอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 แล้วคราวนี้เซยาร์ ตอร์ ถูกกล่าวหาว่า เป็นคนวางแผนการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ด้วยกลยุทธ์กองโจร เป็นจำนวน 178 ครั้ง ในรอบ 10 เดือน จนมีทหารเสียชีวิตหลายราย สุดท้ายเดือนพฤศจิกายน 2021 ทหารจำกุมตัวเขาไว้ได้ ที่ชานเมืองย่างกุ้ง และโดนโทษประหารชีวิต

15) อีกหนึ่งคนที่โดนโทษประหารชีวิตเช่นกัน มีชื่อว่า คยอ มิน ยู หรือชื่อที่คนรู้จักกันคือ ก่อ จิมมี่ (Ko Jimmy) เขาเป็นนักเขียนฝีมือดีของเมียนมา มีผลงานเบสต์เซลเลอร์ในประเทศ รวมถึงเป็นคนแปล นวนิยายเรื่อง THe Da Vinci Code ของแดน บราวน์ อีกด้วย นอกจากนั้นในอดีต เคยเป็นนักกิจกรรมการเมือง และโดนทหารเมียนมา สั่งจำคุกถึง 15 ปีมาแล้ว

16) วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการยืนยันว่า นักกิจกรรมทั้ง 4 คน รวมถึง เซยาร์ ตอร์ และ ก่อ จิมมี่ โดนประหารไปแล้วจริงๆ ทำให้เกิดการประณามจากทั่วโลก เพราะความผิดก็ยังไม่เด่นชัด แถมระบบตุลาการก็ยังอยู่ใต้เงื้อมมือทหารอีก ไม่สามารถหาความเป็นธรรมได้เลย

แอนโทนี่ บลิงเค่น รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ทวีตว่า “เราต่อต้านการใช้ความรุนแรงของทหารพม่าที่มีต่อประชาชน และขอยืนหยัดอยู่เคียงข้าง ประชาชนพม่าอยู่กล้าหาญ” ส่วน เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า “รัฐบาลเตรียมมาตรการตอบโต้เมียนมาเพิ่มเติม และเรียกร้องให้นานาชาติเลิกขายอาวุธทางทหารให้รัฐบาลเมียนมา”

ขณะที่ ไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวว่า “การสั่งประหารชีวิตด้วยคำสั่งของเผด็จการทหารที่เมียนมา เป็นการเย้ยหยันความตั้งใจของอาเซียนที่จะรักษาความสงบสุขในภูมิภาคนี้”

17) ท่ามกลางการประณามจากนานาชาติ แต่ฝั่ง ซอว์ มิน ตุน โฆษกทหารออกมาตอบโต้ว่า “พวกเขาสมควรจะได้รับโทษประหารชีวิตอีกหลายๆ ครั้ง เพราะพวกเขาทำร้ายผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก จนเกิดความสูญเสียที่ไม่สามารถทดแทนได้”

18) บรรยากาศของชาวเมียนมาที่เรียกร้องประชาธิปไตย จึงเต็มไปด้วยความโกรธแค้น เมื่อวานนี้ (26 กรกฎาคม) ชาวเมียนมา ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมตัวกันที่หน้าสถานทูตเมียนมา ที่ถนนสาทรเหนือ เพื่อประท้วงการกระทำของรัฐบาล โดยมีการโบกธงชาติเมียนมา และ มีรูปใบหน้าของอองซาน ซูจี ปรากฏอยู่ด้วย

19) ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เมียนมาเกิดวิกฤติอย่างรุนแรงที่สุด ทั้งในเรื่องการเงิน ที่ธนาคารกลางเมียนมา ระงับการจ่ายหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม ทำให้ไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยว รวมถึงค่าเงินจ๊าด ที่อ่อนตัวอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องความมั่นคงภายใน มีการประท้วง และใช้ความรุนแรงกันอย่างต่อเนื่อง จนเมียนมาต้องเดินถอยหลังกลับไปสู่ความล้าหลังตามเดิม อย่างไรก็ตาม วิกฤติรอบด้านขนาดนี้ แต่รัฐบาลเผด็จการทหาร ก็ยังไม่มีความคิดจะลงจากตำแหน่งแต่อย่างใด และไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเลือกตั้ง ในระยะเวลาอันใกล้นี้ด้วย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า