SHARE

คัดลอกแล้ว

ในการพิจารณาญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมาจบลงด้วยการ “เลื่อนโหวต 1 เดือน” ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้ฝ่ายค้าน และผู้ประท้วงจำนวนมาก

เรื่องราวมันเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์นี้ และคำอธิบายของฝั่งรัฐบาลคืออะไร workpointTODAY จะสรุปสถานการณ์ที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 31 ข้อ

1) ในปี 2557 คสช.รัฐประหารยึดอำนาจ และฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้ง โดยในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เมื่อมีการยึดอำนาจโดยทหาร เกือบทุกครั้งจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อ “เขียนกฎใหม่” ให้ฝั่งทหารสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปให้ได้นานที่สุด แต่ในมุมของคนยึดอำนาจจะอ้างว่า ต้องเขียนกฎใหม่เพื่อไม่ให้ประเทศเกิดปัญหาซ้ำรอยก่อนจะมีการรัฐประหาร

2) คำว่า “รัฐธรรมนูญ” มีความหมายคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยในรัฐธรรมนูญจะมีรายละเอียดหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “วิธีการเลือกตั้ง” กล่าวคือ การเลือกผู้นำประเทศเข้ามา ต้องใช้วิธีไหน? ดังนั้นเมื่อมีการรัฐประหารแทบทุกครั้ง ฝั่งทหารก็จะสรรหาสูตรใหม่ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ว่าถ้ากลับมาเลือกตั้งอีกครั้ง อำนาจจะตกอยู่กับฝั่งทหารตามเดิม

3) ในปี พ.ศ.2549 ตอน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจได้มีการฉีกร่างรัฐธรรมนูญเดิมทิ้ง ก่อนจะเขียนฉบับใหม่ขึ้นมาในปี 2550 ดังนั้นเมื่อ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 พวกเขาได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเช่นกัน

4) เมื่อเกิดรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้ว ประเทศย่อมไม่สามารถมีการเลือกตั้งได้ ต้องถูกปกครองด้วย คสช. ดังนั้นประชาชนจึงเริ่มกดดัน คสช.ให้รีบร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ และจัดทำกฎหมายลูกเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เสียที เพราะคสช.เข้ามาด้วยสโลแกนว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ในประเทศปกติแล้ว ก็ควรรีบคืนอำนาจให้ประชาชน และมีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

5) คสช.แต่งตั้ง ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขึ้นเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับขึ้นมา โดย ดร.บวรศักดิ์เขียนเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 แต่สุดท้าย ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนั้นทิ้ง เชื่อกันว่า คสช.เป็นผู้ส่งสัญญาณให้คว่ำโดย ดร.บวรศักดิ์ อธิบายในเวลาต่อมาว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

6) เมื่อฝั่ง คสช.ไม่พอใจรัฐธรรมนูญ ฉบับของ ดร.บวรศักดิ์ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ คราวนี้ คสช. แต่งตั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยเขียนเสร็จต้องไปผ่านประชามติของคนทั้งประเทศ เพื่อป้องกันข้อครหา ว่า คสช. เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาเอง

7) ร่างฉบับมีชัย มีการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ จากเดิมใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เปลี่ยนมาเป็นกาใบเดียว ได้คะแนนทั้งแบบแบ่งเขต และแบบปาร์ตี้ลิสต์ รวมถึงเรื่องของวุฒิสมาชิก (ส.ว) จากเดิมมีคละกันระหว่างเลือกตั้งโดยตรงกับคัดเลือก มีชัยก็แก้ใหม่ ให้ส.ว. ทั้งหมดเป็นการคัดเลือกกันเองภายใน โดยไม่มีการเลือกตั้งเหมือนในอดีต

8) นอกจากนี้ คสช. ยังได้ส่งข้อแนะนำไปให้มีชัยด้วยว่า ส.ว.ชุดแรก ควรเพิ่มจาก 200 คน เป็น 250 คน นอกจากนั้น ขอให้คสช. เป็นคนเลือก ส.ว.ในขั้นตอนสุดท้ายทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยในประเทศ

9) มีชัย เขียนรัฐธรรมนูญเสร็จ จากนั้นในขั้นตอนสุดท้ายต้องทำ “ประชามติ” จากคนทั้งประเทศว่า “รับร่าง” ฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งก่อนการโหวตก็มีกลุ่มคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย คละกันไป

10) คนที่เห็นด้วย มองว่าอยากให้เลือกตั้งเสียที เพราะถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็เลือกตั้งไม่ได้ คสช.ก็จะยึดอำนาจแบบนี้ไปเรื่อยๆ จึงมีคำกล่าวในยุคนั้นว่า “รับๆไปก่อน แล้วจะได้เลือกตั้ง” แต่ก็มีคนบางส่วนที่รณรงค์ให้ Vote No เพราะมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเปลี่ยน คสช. ให้กลายมาเป็นรัฐบาลที่เข้ามาโดยชอบธรรม และยังวางกลไก ให้ยึดอำนาจต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

11) อย่างไรก็ตามมีขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นำโดยรังสิมันต์ โรม ออกไปประท้วง และแจกใบปลิวให้ประชาชนได้เข้าใจว่าถ้าโหวตรับรัฐธรรมนูญ จะเป็นเครื่องมือให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อ ปรากฏว่ากลุ่มของโรม รังสิมันต์ทั้งหมดโดนจับเข้าคุก ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

12) วันที่ 7 สิงหาคม 2559 การโหวตเกิดขึ้น และฝ่าย “รับร่าง” เป็นผู้ชนะ ด้วยคะแนน 16.8 ล้านเสียง ส่วนฝ่าย “ไม่รับร่าง” เป็นผู้แพ้ ด้วยคะแนน 10.5 ล้านเสียง คิดเป็น 61.35% – 38.65%

13) จุดที่น่าสนใจคือ ในการโหวตเรื่องรับร่าง นายวันชัย สอนศิริ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้ใส่ “คำถามพ่วง” ลงไปในบัตรลงประชามติด้วยว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

คำถามที่ทั้งยาวและเข้าใจยากนี้ ความหมายจริงๆ ก็คือ เห็นด้วยไหมให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ในช่วง 5 ปีแรก แต่เชื่อว่าน้อยคนที่จะอ่านเข้าใจ หรือมองออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ซึ่งในการประชามติ ในส่วนของคำถามพ่วง ประชาชนเห็นชอบให้ ส.ว. มีสิทธิ์เลือกนายกฯ 58% ไม่เห็นชอบ 42%

14) เมื่อประชาชนส่วนใหญ่รับร่าง ทำให้รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ และ คสช. จึงแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปหา ส.ส. ทั้ง 500 คน เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 และด้วยผลโหวตของคำถามพ่วง ทำให้ ส.ว. จึงมีพลังในการเลือกนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกันด้วย

15) การที่ ส.ว. มาจากการเลือกของคสช. ทั้ง 250 คน ทำให้ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ มีความได้เปรียบในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ส.ส.500 คน และ ส.ว. 250 คน ได้โหวตว่าจะเลือกนายกฯ คนใด ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

โดยคะแนนเสียงของ ส.ส.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ 251 คะแนน ส่วนธนาธรได้ 244 คะแนน ถือว่าสูสีมาก แต่พอนับของ ส.ว.ด้วย ปรากฎว่า ส.ว.ทั้ง 250 คน เทโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ 249 คน และงดออกเสียง 1 คน ในฐานะที่ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภาต้องวางตัวเป็นกลาง

กลายเป็นว่าจากคะแนนเสียงตอนแรก 251 : 244 สูสีกันอยู่ดีๆ คะแนนรวมกลับจบที่ 500 : 244 พล.อ.ประยุทธ์ชนะอย่างขาดลอย ได้เป็นนายกฯ คนใหม่

16) ซึ่งเมื่อส.ว. รุมเลือกคนเดียวแบบนี้ ทำให้มีการวิจารณ์เรื่องส.ว. ไม่มีความเป็นกลาง เพราะจะเป็นไปได้หรือ ที่คน 250 คน เทโหวตให้ฝั่งพล.อ.ประยุทธ์เกือบ 100%

17) กฎกติกาที่มีชัยร่างขึ้นมา รวมทั้งปัจจัยทางการเมืองหลายเรื่องที่ปะทุพร้อมกัน เช่นเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่ง เช่น กลุ่มเยาวชนปลดแอก เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เพราะเป็นการเลือกตั้งที่มีอีกฝ่ายได้เปรียบจนเกินไป คือต่อให้เลือกตั้งออกมาอย่างไร แต่สุดท้ายด้วยคะแนนของ ส.ว.ในมือ ก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับโหวตเป็นนายกฯ อยู่ดี

18) ดังนั้นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และเยาวชนจำนวนมาก จึงมีการเรียกร้องและกดดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเสียที เพื่อให้มีการเขียนกติกาใหม่ที่เป็นธรรม และปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ให้มีส่วนร่วมกับการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างที่เป็นอยู่ คือถ้าไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ วงจรทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นแบบเดิม ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะ ส.ว.ชุดแรกมีวาระ 5 ปี ส่วนสภาอยู่เต็มที่ก็ 4 ปี ถ้าไม่แก้กติกันก่อน การเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าลงสมัครนายกฯ ต่อ ก็จะมีคะแนนเสียงจากส.ว. 250 คะแนน เป็นแต้มต่อตามเดิม

19) 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่มีต่อรัฐบาลคือ 1-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2-หยุดคุกคามประชาชน และ 3-ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ โดยแนวคิดของกลุ่มเยาวชนปลดแอก คือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อทำลายกติกาที่ไม่เป็นธรรมทิ้งไป แล้วเลือกตั้งใหม่ เพื่อหาผู้นำที่แท้จริง โดยไม่มี ส.ว. 250 เสียงเข้ามาเป็นแบ็กอัพอีก

20) ความต้องการของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ตรงกับความต้องการของฝ่ายค้านที่มองว่าประเทศควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่คราวนี้ รัฐธรรมนูญไม่ควรถูกร่างโดยคนที่ คสช.แต่งตั้งอย่างมีชัย ฤชุพันธ์ แต่ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการร่างมากที่สุด

21) ดังนั้นฝ่ายค้านจึงต้องการให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา โดย ส.ส.ร.เหล่านี้ จะมีจำนวน 200 คน ซึ่งฝ่ายค้านต้องการให้ ส.ส.ร.ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง โดยฝ่ายค้านมองว่า ถ้าได้ 200 คนที่มาจากประชาชนช่วยกันออกแบบรัฐธรรมนูญ น่าจะได้กฎหมายฉบับที่ยุติธรรมต่อทุกฝ่ายมากที่สุด

22) วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติไป 5 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือขอแก้มาตรา 256 ซึ่งถ้าแก้สำเร็จจะนำมาสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็เสนอขอแก้มาตรา 256 แต่ที่มาของ ส.ส.ร. จะต่างกันออกไป

23) สำหรับมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญระบุว่า ในการแก้มาตราใดๆ หรือจะเพิ่มอะไรเข้าไป ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 เสียก่อน (84 คน) ดังนั้นถ้าไม่แก้มาตรานี้ กฎหมายใดๆ ก็ตามที่รัฐบาลไม่ให้ผ่าน ก็คือจะไม่ผ่าน เนื่องจากส.ว. เป็นคนที่ คสช.เลือกมา และพร้อมจะเทคะแนนช่วยเหลือฝั่งรัฐบาลอยู่แล้ว ดังนั้นการขอแก้มาตรา 256 ซึ่งร่างของฝ่ายค้านระบุให้ตัดเงื่อนไข ส.ว. 84 คนออกไปด้วยก็เพื่อลดอำนาจส.ว.ลง ไม่ให้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอื่นๆ ในอนาคตด้วย

24) สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญนั้นจะมี 4 ขั้นตอน คือ

1-รับหลักการว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ
2-ตั้งคณะกรรมมาธิการเพื่อลงรายละเอียดรายมาตรา แล้วมาให้สภาพิจารณา
3-ให้รัฐสภาโหวตว่าจะรับรองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
และ 4-เข้าสู่กระบวนการประชามติของคนทั้งประเทศ

ในวันที่ 24 กันยายนนี้ คือขั้นตอนที่ 1 นั่นคือถามเบื้องต้นว่าทุกคนเห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ จะรับหลักการไว้แล้วเอาไปพิจารณาต่อหรือเปล่า

25) เวลา 18.00 น. ของวันที่ 24 ก.ย. การอภิปรายในสภากำลังจะจบลง ในขณะที่ฝ่ายค้านพร้อมโหวต และมีประชาชนจำนวนมากไปยืนรอลุ้นผลที่หน้ารัฐสภา บริเวณย่านเกียกกาย ปรากฏว่า ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคพลังประชารัฐ ได้ขอเสนอให้เลื่อนการโหวตไป 1 เดือน โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาศึกษาข้อมูลทั้งหมดก่อนจะลงมติ ปรากฎว่า ส.ส. และส.ว. รวม 716 คน มีถึง 432 คนที่เห็นชอบให้ เลื่อนโหวตไปเป็นเดือนหน้า

26) นายไพบูลย์อ้างว่า เพิ่งได้ข้อมูลมา 8 วัน จะให้ตัดสินใจทันทีว่าจะรับหลักการเลย เป็นไปไม่ได้ และขอเวลาไปศึกษาอีก 1 เดือน แต่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.จากเพื่อไทย ตอบโต้ว่า นี่คือขั้นตอนรับหลักการเท่านั้น ไม่ใช่ขั้นศึกษารายละเอียด ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษานานขนาดนั้น

27) ความซับซ้อนของการเลื่อนไป 1 เดือนนั้นมีนัยยะอยู่ กล่าวคือในการประชุมรัฐสภานั้น จะมีช่วงระยะเวลาในการทำงานอยู่ โดยจะใช้คำว่า “สมัยประชุมสามัญ” เทียบกับโรงเรียนก็เหมือนการเปิดเทอม โดยใน 1 เทอม จะมีเงื่อนไขคือถ้ามีการโหวตตัดสินใจแล้ว ห้ามยื่นญัตติเรื่องเดิมซ้ำ

เทอมหรือสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา จะเรียงลำดับตามนี้คือ

เทอม 1 : 22 พฤษภาคม 2563 – 24 กันยายน 2563

เทอม 2 : 1 พฤศจิกายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564

เทอม 3 : 22 พฤษภาคม 2564 – 18 กันยายน 2564

การเลื่อนการโหวตออกไป 1 เดือน แปลว่าแทนที่จะได้โหวตมาตรา 256 ในเทอมที่ 1 แต่จะถูกโยกไปโหวตในเทอมที่ 2 แทน

28) คือถ้าหากการโหวตโดนตีตกในวันที่ 24 กันยายน ฝ่ายค้านจะมีเวลากลับไปเขียนญัตติใหม่ แล้วนำเข้าสภาเพื่อพิจารณาใหม่ในเทอมที่ 2 คือเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่นี่กลายเป็นว่า สภาจะได้โหวตแค่รอบเดียวเท่านั้น ถ้าหากไม่ผ่านขั้นตอนรับหลักการ ก็ต้องรอไปนานถึงเทอมที่ 3 คือวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 กว่าจะได้หยิบเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาคุยกันอีกครั้ง

29) และหากญัตติที่ฝ่ายค้านของโหวตแล้วแพ้ จะส่งผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของ iLaw ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนมากกว่า 1 แสนชื่อ จะไม่ถูกพิจารณาไปพร้อมกัน เนื่องจากมีหลักการเหมือนกัน แปลว่า การรวบรวมรายชื่อของประชาชน 1 แสนคน จะเสียเปล่าทันที ต้องรวบรวมอีกรอบ และไปเริ่มกระบวนการทุกอย่างใหม่ในเทอม 3

30) การเลื่อนออกไป สร้างความไม่พอใจให้ผู้ชุมนุมอย่างมาก เพราะตอนแรกเหมือนส.ส.ฝั่งรัฐบาล ก็ดูจะเห็นด้วยที่ควรจะแก้มาตรา 256 แล้วแต่งตั้ง ส.ส.ร. แต่การที่เลื่อนแบบนี้ แสดงให้เห็นว่า กำลังกลับไปคิดแผนการบางอย่าง และดูจะไม่ต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ทำให้มีรายงานว่า ม็อบเตรียมจะนัดชุมนุมใหญ่ ในเดือนตุลาคมนี้

31) สำหรับในเวลานี้กระแสสังคมพูดถึงอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ บทบาทของ ส.ว. ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ในระบบการเมืองไทย เพราะในอดีตส.ว.เชื่อว่า มีไว้คานอำนาจ ส.ส. แต่ถ้าหากดูจากปัจจุบัน ส.ว. ไม่ได้ทำหน้าที่คานอำนาจอีกแล้ว แต่เทอำนาจไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง

เรื่องที่ 2 คือ การเสนอแก้รัฐธรรมนูญจะสามารถโหวตได้เมื่อไหร่ หรือรัฐบาลจะยื้อเวลาต่อไปเรื่อยๆ

และเรื่องที่ 3 ถ้าการโหวตเกิดขึ้นได้จริง ฝั่งฝ่ายค้าน หรือเสียงของประชาชนจาก iLaw จะมีโอกาสชนะได้อย่างไร ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่ในสภาเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล และเสียงจากส.ว. ทั้ง 250 คน ก็ยังซัพพอร์ทฝั่งรัฐบาลอย่างเหนียวแน่นแบบนั้น

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า