Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

EXPLAINER พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดนกล่าวหาเรื่อง “บ้านพักหลวง” ซึ่งถ้ามีความผิดจริง ต้องลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที แต่บทสรุปแล้วศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความผิด

เรื่องราวทั้งหมดแต่แรกเป็นอย่างไร workpointTODAY จะอธิบายอย่างเข้าใจง่ายที่สุด โพสต์เดียวจบ ใน 17 ข้อ

1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 2 กันยายน 2553 แทนที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หลังจากนั้น 1 เดือน พล.อ.ประยุทธ์และครอบครัวย้ายไปอยู่อาศัยที่บ้านพัก ในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ที่ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นบ้านพักทหารที่จัดเตรียมไว้สำหรับผู้นำกองทัพ

2) พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ที่บ้านพักหลังนี้เรื่อยมา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 และแม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2557 แต่ก็ยังอาศัยในบ้านหลังนี้ต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วเป็นระยะเวลา 10 ปีเต็ม

3) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ฝ่ายค้าน นำโดยสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องในสภา ตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถใช้ทรัพยากรของราชการได้หรือไม่ ทั้งๆที่เกษียณอายุมาหลายปีแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่เสียค่าเช่าใดๆให้ราชการ และไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วย

ฝ่ายค้านโจมตีโดยอ้างอิงกฎหมายว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากองค์กรใดๆเกิน 3,000 บาท ดังนั้นการที่พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บ้านพักหลวงตั้งแต่เกษียณ โดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมแล้วเป็นเวลา 6 ปีจึงสมควรมีความผิด โทษฐานเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ใช้ช่องว่างรับประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ

4) ในโลกออนไลน์มีการยกคดีของพล.อ.ประยุทธ์ ไปเทียบเคียงกับอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ที่เป็นพิธีกรจัดรายการโทรทัศน์ชิมไปบ่นไป และได้รับเงินค่าจ้างจัดรายการ ซึ่งสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ ก็มองว่าเป็นการรับประโยชน์จากองค์กรอื่นใด ในฐานะนายกฯ และตัดสินให้สมัคร สุนทรเวชมีความผิด และถูกปลดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

5) หลังจากฝ่ายค้านส่งเรื่องเข้าสภา วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญรับไต่สวน และเริ่มต้นกระบวนการวินิจฉัยคดีนี้ โดยระบุว่าจะใช้เวลาพิจารณาราวๆ 1 เดือน และจะมีการประกาศผล ให้คู่กรณีฟัง ในวันที่ 12 ธันวาคม

6) ในขณะที่ฝ่ายค้านโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ แต่ฝั่งกองทัพบก นำโดยพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ออกมาอธิบายว่า อดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพ ที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศเช่น องคมนตรี, รัฐมนตรี , ส.ส. หรือ ส.ว. จะมีการจัดบ้านพักรับรองในพื้นที่ของกองทัพบกให้ เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย และช่วยให้อดีตผู้นำกองทัพ มีสถานะทางสังคมที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

“ผู้มีสิทธิ์เข้าพักอาศัย ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูง หรืออดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งยังคงทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ และพล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ และเป็นอดีตผู้นำกองทัพบก หากพักอยู่นอกเขตทหาร จะทำให้เกิดความยากลำบากในการรักษาความปลอดภัย จึงอนุมัติให้เข้าพักอาศัย และให้การสนับสนุนอื่นๆ”

7) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำอธิบายจากกองทัพบกมาแล้ว แต่สื่อมวลชนได้วิเคราะห์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องลำบากใจแน่นอน เพราะถ้าตีความตามระเบียบกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ “อยู่ได้” ในฐานะอดีตผู้บังคับบัญชา แต่ถ้าตีความตามรัฐธรรมนูญแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่สามารถอยู่ได้” เพราะเจ้าตัวสวมหมวกนายกรัฐมนตรีอยู่ จึงไม่สามารถเข้าไปอยู่ในบ้านพักสวัสดิการรัฐ เพราะถือเป็นการรับผลประโยชน์อื่น

8) ร้อยโทหญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวโจมตีนายกรัฐมนตรีว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องมีจิตสำนึกด้วยตัวเองว่าควรออกจากบ้านหลวงได้แล้ว โดยไม่ต้องรอให้ใครมาไล่ ไม่ใช่ทำหน้ามึนๆ อยู่บ้านหลวงฟรีไปเรื่อยๆ อย่าปล่อยให้ใครตำหนิได้ว่า ใจคอพล.อ.ประยุทธ์และครอบครัว จะอยู่บ้านหลวงไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่เลยหรืออย่างไร”

9) สำหรับการตัดสินในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องตีความว่า ระหว่าง “ระเบียบกองทัพ” กับ “รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ” เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกันโดยตรง ควรจะมีผลการตัดสินเป็นรูปแบบใด ซึ่งคดีนี้อยู่ในการจับตามองของประชาชนทั่วประเทศ

10) ขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองพยายามหลีกเลี่ยงในการพูดคุยถึงประเด็นนี้ โดยกล่าวไว้ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น ผมปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายว่าอย่างไร ก็ว่าอย่างนั้น ไม่เคยฝ่าฝืนกฎหมาย ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก”

11) สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นศาลที่วินิจฉัยในประเด็นใดๆที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยศาลประกอบด้วยผู้พิพากษา 9 คน ช่วยการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้น ในคดีใดๆ ถ้าฝั่งไหนได้ 5 คะแนนเสียงขึ้นไป (จากทั้งหมด 9 เสียง) ก็จะเป็นฝ่ายชนะ

สำหรับที่มาของตุลาการทั้ง 9 ท่านนั้น 5 ท่านแรก ถูกแต่งตั้งจาก คสช. และได้รับการรับรองจาก สว.
1- จิรนิติ หะวานนท์
2- วิรุฬห์ แสงเทียน
3- อุดม สิทธิวิรัชธรรม
4- บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
5- นภดล เทพพิทักษ์

อีก 2 ท่าน ถูกแต่งตั้งโดยคสช.เช่นกัน แต่เป็น สนช. ที่ให้การรับรอง
6- ปัญญา อุดชาชน
7- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

และอีก 2 ท่าน มาจากกระบวนการคัดสรรตามปกติ ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
8- วรวิทย์ กังศศิเทียม
9- ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ

12) ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่าพล.อ.ประยุทธ์ผิดจริง จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที และคณะรัฐมนตรีทั้งหมดก็จะเด้งไปด้วยยกคณะ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

13) เวลา 15.00 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญอ่านผลวินิจฉัย ปรากฎว่า ลงมติเป็นเอกฉันท์ นายกรัฐมนตรี “ไม่มีความผิด” โดยให้คำอธิบายคล้อยตามกับ เหตุผลของกองทัพบก ที่กล่าวว่า นายกฯ เคยดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.มาแล้ว ดังนั้นมีสิทธิ์ใช้บ้านพักรับรอง โดยได้รับเงินสนับสนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า และพล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นนายกฯได้ต่อไป โดยไม่ได้กระทำความผิดทางจริยธรรมใดๆ

ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้สิทธิ์อยู่ในบ้านพักจากคุณงามความดีที่เคยทำไว้ให้กองทัพบก ไม่ใช่อาศัยในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว ดังนั้นคำร้องขอไต่สวนของฝ่ายค้าน ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วและสรุปว่า “ไม่มีความผิด” ด้วยคะแนน 9-0 เสียง

14) ในรอบปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี ที่เกี่ยวพันกับนักการเมืองไทยรวมแล้ว 4 คดี โดยก่อนหน้าเคสของพล.อ.ประยุทธ์ ประกอบไปด้วย

มีนาคม 2563 – กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ผลลัพธ์คือ พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

กรกฎาคม 2563 – ประธานสภาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พลังประชารัฐ ว่าพ้นสภาพสมาชิกหรือไม่ ผลลัพธ์คือ นายสิระสามารถเป็น ส.ส.ได้ต่อไป

กันยายน 2563 – ประธานสภาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย นส.ปารีณา ไกรคุปต์ จากพรรคพลังประชารัฐ พ้นสภาพจากคดีบุกรุกป่า และ นส.ศรีนวล บุญลือ จากพรรคภูมิใจไทย พ้นสภาพสส.จากคดี แทรกแซงงบประมาณรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์คือ ทั้ง 2 คน สามารถเป็น ส.ส.ได้ตามปกติ

15) สำหรับในคดีของพล.อ.ประยุทธ์นั้น เมื่อผลการตัดสินออกมา สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายค้าน และกลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาล โดยอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ทวีตข้อความว่า “รัฐธรรมนูญต้องใหญ่กว่าระเบียบกองทัพบก” โดยอธิบายว่า ส.ส. ส.ว. รวมถึงนายกฯ และรัฐมนตรี ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด จากหน่วยราชการ หรือหน่วยงานรัฐ

16) ขณะที่ในเพจเยาวชนปลดแอก ก็แสดงท่าทีไม่พอใจเช่นกัน โดยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า “การต่อสู้ในครั้งนี้ยังไม่จบ ในเมื่อทำอะไรก็ไม่ผิด ประเทศนี้ก็กำลังจะเดินไปสู่จุดแตกหัก!”

17) สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถูกตัดสินคดีจากศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้งตลอดการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 เมื่อฝ่ายค้านขอให้ศาลพิจารณาว่า การที่นายกฯเป็นหัวหน้าคสช. มีสิทธิ์จะรับตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ เนื่องจากตามกฎหมายระบุว่า พนักงานหน่วยงานรัฐ จะไม่มีสิทธิ์เป็นนายกฯได้

แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วระบุว่า คสช.เป็นหน่วยงานที่ยึดอำนาจมาปกครองประเทศ ดังนั้น ไม่นับว่าเป็นหน่วยงานราชการแบบปกติทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์ จึงสามารถเป็นนายกฯต่อไปได้ โดยไม่ขัดกฎหมาย

และล่าสุดก็คดีบ้านพักหลวงครั้งนี้ แม้จะถูกโจมตีจากฝ่ายค้านอย่างหนัก แต่ก็เป็นพล.อ.ประยุทธ์ ที่รอดพ้นจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า