SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer “เราต้องไม่มองย้อนกลับไปในอดีต แต่ต้องมองไปข้างหน้าด้วยคนรุ่นใหม่” นี่คือคำกล่าวของ แองเจล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ที่กำลังจะอำลาตำแหน่ง พร้อมส่งต่อหน้าที่ ให้คนหนุ่มสาวได้พัฒนาประเทศต่อไป

ในวัย 67 ปี แมร์เคิลอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มายาวนานถึง 16 ปี และสุดท้ายเธอประกาศว่า “พอแล้ว” ก่อนจะอำลาตำแหน่งการเมืองหลังหมดวาระนายกฯ สมัยที่ 4 ทำไมแมร์เคิล ถึงเป็นหนึ่งในนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ในหน้าประวัติศาสตร์ของเยอรมนี workpointTODAY จะอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 21 ข้อ

1) ประเทศเยอรมนี มีประธานาธิบดี (President) ทำหน้าที่เป็น Head of State หรือผู้นำรัฐ แต่ตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดในเชิงปฏิบัติการจริงๆ คือ Federal Chancellor หรือนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ซึ่งแมร์เคิลอยู่ในตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี 2005

2) ก่อนจะมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แมร์เคิลเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยไลป์ซิกในสาขาวิชาฟิสิกส์ โดยมีทักษะพูดรัสเซียและอังกฤษ ได้อย่างคล่องแคล่ว จากนั้นเรียนจบปริญญาโท ตามด้วยปริญญาเอกในสาขาเคมีควอนตัม เมื่อมีวุฒิดร. แล้ว ก็ทำงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย ณ เวลานั้น เธอเป็นสัญลักษณ์ที่น่าทึ่งของผู้หญิงที่ฉลาด และรอบรู้
แมร์เคิลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและเยาวชนตั้งแต่อายุ 37 ปี จากนั้น ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและพลังงานนิวเคลียร์ในวัย 41 ปี ถือเป็นนักการเมืองที่ก้าวกระโดดเร็วมาก

2) ในปี 2002 ด้วยวัย 48 ปี แมร์เคิล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคคริสเตียน เดโมแครต ยูเนียน (CDU) โดยเธอทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน จากนั้นในปี 2005 ตอนที่แมร์เคิลอายุ 51 ปี พรรค CDU ชนะการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้แมร์เคิล ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ และเป็นผู้นำหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของเยอรมนีอีกด้วย แต่ ณ เวลานั้น ยังไม่มีใครคาดคิดว่า เธอจะยืนหยัดในตำแหน่งได้ยาวนัก

3) แต่กลายเป็นว่า แมร์เคิล ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งปี 2005 พรรค CDU ได้คะแนนเสียงมากกว่าอันดับ 2 แค่ 4 เสียงเท่านั้น แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มา ช่องว่างทิ้งห่างกันเกือบหนึ่งร้อยเสียง เป็นชัยชนะที่ขาดลอย และไม่มีใคร ที่ใกล้เคียงจะโค่นบัลลังก์จากเธอได้เลย

4) ในช่วง 16 ปีที่เป็นนายกรัฐมนตรี ผลงานเด่นที่สร้างความนิยมให้เธอ มีหลายอย่าง อย่างแรกคือนโยบายแข็งกร้าว ไม่อ่อนข้อให้กับกรีซ ที่ติดหนี้สินชาติอื่นมากมาย จนโดนขนานนามว่า “ประเทศตัวถ่วงแห่งทวีปยุโรป”

กรีซเป็นประเทศขาดดุลการค้ามาตลอดหลายปี ประชาชนตกงานจำนวนมาก สุดท้ายเมื่อไม่มีเงิน ทำให้ต้องไปกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาหมุนเวียน สุดท้ายในปี 2012 ก็เริ่มผิดนัดชำระหนี้ โดยมีการขอร้องให้หลายชาติ ช่วยลดหนี้ให้ เพราะถ้ากรีซล้มละลาย ชาติอื่นๆ ในสหภาพยุโรปก็จะได้ผลกระทบตามไปด้วย
แต่แองเจล่า แมร์เคิล เป็นคนที่หนักแน่นว่า จะไม่มีการลด หรือล้างหนี้ให้กรีซทั้งสิ้น กรีซสร้างปัญหาเอง ก็ต้องแก้ไขเอง ถ้าหากมีการช่วยหนึ่งครั้ง ประเทศอื่นๆ ก็จะไม่มีวินัยทางการเงิน เพราะรู้ว่าจะมีคนคอยอุ้มให้ เวลาสร้างปัญหา

แมร์เคิล ถูกเรียกว่าเป็น The de-facto leader of Europe หรือผู้นำเสมือนแห่งทวีปยุโรป เธออาจจะเป็นนายกฯ ของเยอรมันก็จริง แต่คำพูดของเธอนั้น ชาติอื่นต้องฟัง ซึ่งเมื่อแมร์เคิล ยืนยันว่าสหภาพยุโรปจะไม่ช่วยเหลือ กรีซต้องช่วยตัวเอง และสุดท้ายพวกขเาทำได้ ภาคธุรกิจกลับมาแข็งแรง หุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลับมามีเงินชำระหนี้ให้ชาติอื่นๆ พ้นจากโคม่าได้สำเร็จ

5) ขณะที่ผลงานในประเทศ แมร์เคิล ทำให้เศรษฐกิจที่ถดถอยของเยอรมัน กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง GDP ของเยอรมัน ในปัจจุบัน เทียบกับในปี 2005 ที่แมร์เคิลรับตำแหน่ง เพิ่มขึ้นถึง 34% ผู้คนอยู่ดีกินดีกันมากขึ้น หากเทียบกับในประเทศอื่นๆของยุโรป ฝรั่งเศสเติบโต 19%, สเปนเติบโต 11%, สหราชอาณาจักรเติบโต 7% ไม่มีชาติไหน ที่เศรษฐกิจจะไปได้สวยเท่าเยอรมันอีกแล้ว

6) ในปี 2011 แมร์เคิล ประกาศยกเลิกกฎหมายการเกณฑ์ทหาร และลดขนาดของกองทัพ จากเคยมีทหาร 240,000 นาย ให้เหลือเพียงแค่นายทหารมืออาชีพ จำนวน 170,000 นายเท่านั้น เพราะในยุคปัจจุบัน กองกำลังทหาร ไม่ได้เอื้อต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การลดจำนวนแล้วให้ประชาชนไปทำสิ่งอื่น ย่อมมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า

7) ในอดีตเยอรมันมีปัญหาเรื่องอัตราการเกิดที่ต่ำมาก แมร์เคิลจึงแก้ปัญหาด้วยการกฎหมายชื่อ Elterngeld หรือ สิทธิประโยชน์สำหรับการมีบุตร โดยสามีภรรยาคู่ไหนที่มีลูก สามารถผลัดกันลางานได้ตามกฎหมายรวมกัน 14 เดือน และยังได้รับค่าจ้าง 67% จากบริษัทอยู่ ซึ่งนโยบายนี้ ทำให้ผู้หญิงในเยอรมัน ได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะเมื่อคลอดลูกแล้ว ก็ยังไม่ต้องเร่งรีบไปทำงานทันที แต่สามารถพักฟื้นร่างกาย และอยู่กับลูกในช่วงแรกเกิดได้

8 ) ปัญหาอีกอย่างที่แมร์เคิลแก้ไขคือเรื่องรายได้ขั้นพื้นฐาน กล่าวคือเยอรมัน เป็น 1 ใน 7 ประเทศของสหภาพยุโรป ที่ไม่มีค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นนายจ้าง สามารถให้เงินกับลูกน้องเท่าไหร่ก็ได้ ตามแต่ความพอใจที่ตกลงกัน แต่ในปี 2015 แมร์เคิลออกกฎหมาย “ค่าจ้างขั้นต่ำ” บังคับให้บริษัท ต้องจ่ายเงินให้พนักงานต่ำสุด ชั่วโมงละ 8.50 ยูโร โดยนโยบายนี้ มีขึ้นเพื่อให้คนตัวเล็กๆ ในสังคม อย่างน้อยมีรายได้มากพอที่จะหายใจ แทนที่จะโดนนายจ้างกดไว้อย่างไม่เป็นธรรม

9) ด้วยความที่มีพื้นฐาน มาจากการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและเยาวชน ทำให้แมร์เคิล เปิดโอกาสให้เพศหญิงทำงานสำคัญเสมอ ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นของเออร์ซูล่า ฟาน เดอร์ เลเยน ซึ่งในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี ไม่เคยมีผู้หญิงได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้มาก่อน
รวมถึงออกร่างกฎหมาย Boardroom Gender Quota ว่า บริษัทไหนก็ตามที่มีบอร์ดบริหารเกิน 3 คน ต้องมีเพศหญิงอยู่ด้วย ขั้นต่ำ 1 คน เพื่อเป็นการกระจายความเท่าเทียม ไม่ให้เพศชายถืออำนาจมากเกินไปในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

10) นอกจากนั้น แมร์เคิลยังมีทัศนคติที่ท้าทายความอนุรักษ์นิยมเป็นอย่างมาก กล่าวคือ เธอผลักดันจนกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน ถูกนำมาใช้ในเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็นับว่าแปลก ถ้ามองว่าเธอมาจากพรรคคริสเตียน เดโมแครต ที่ยากจะสนับสนุนเรื่องการแต่งงานของเพศเดียวกัน แต่เมื่อทิศทางของโลกเดินไปทางนี้แล้ว เยอรมนีก็ต้องขยับตามโลกเช่นกัน

11) นับจากปี 2006 จนถึงปี 2020 แมร์เคิล ได้รับเลือกให้เป็น ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก เป็นจำนวน 14 ครั้ง จากทั้งหมด 15 ครั้ง มีพลาดอันดับครั้งเดียวในปี 2010 ให้มิเชลล์ โอบาม่า สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ณ เวลานั้น

12) ในการสำรวจประชาชน 14 ประเทศในทวีปยุโรป จำนวน 75% ให้ความเชื่อใจแมร์เคิลเป็นอันดับ 1 ในบรรดาผู้นำทั้งทวีป จากความสามารถที่พัฒนาเยอรมนีอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาที่เธอเป็นผู้นำ รวมถึงเป็นกระดูกสันหลังอันแข็งแกร่งของสหภาพยุโรปอีกด้วย

13) เคลาส์ เฮอร์เรลล์มานน์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเฮอร์ตี้สคูล กล่าวว่า “เธอทำให้คนเยอรมันรู้ว่า ‘ฉันเปรียบเสมือนแม่ของพวกเธอนะ ฉันจะดูแลพวกเธอทุกคนเอง’ นั่นทำให้เธอมีฉายาที่คนเรียกกันว่า ‘คุณแม่’ คือในประเทศของเรา ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร เธอจะอยู่ตรงนั้นเสมอ และทุกคนเชื่อมั่นว่าเธอจะจัดการวิกฤติได้ดี เธอไม่ใช่คนหวือหวา แต่เป็นคนหนักแน่นเชื่อถือได้”

14) แต่แน่นอน ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่แมร์เคิลทำ จะได้รับเสียงชื่นชมไปเสียหมด นโยบายบางอย่างสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในประเทศ ตัวอย่างเช่น การเปิดพรมแดนเยอรมัน ต้อนรับผู้ลี้ภัยราว 1 ล้านคนเข้าประเทศในปี 2015 สิ่งที่เธอต้องการคือภาพลักษณ์ที่ดี และสามารถนำผู้ลี้ภัยที่มีความสามารถมาเป็นแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศ
แต่ปัญหาคือ ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งเรื่องการใช้ความรุนแรง และแย่งชิงทรัพยากรของคนท้องถิ่น นั่นทำให้การเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2017 ประชาชนเทคะแนนให้พรรค AfD ที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ กว่าที่แมร์เคิลจะตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องใช้พลังงานพอสมควร

15) รวมถึงอีกประเด็นที่เธอโดนวิจารณ์คือ นโยบายเธอในด้านดิจิตอลยังไม่ทันสมัยมากพอ ที่เยอรมัน มีถึง 4 จาก 10 บริษัท ที่ยังใช้แฟ็กซ์อยู่ หลายคนวิจารณ์ว่าอายุที่มากขึ้นของเธอ ก็ไม่แปลกถ้าความรู้เท่าทันเทคโนโลยี จะมีไม่มากพอ ถ้าหากเทียบกับนักการเมืองรุ่นใหม่

16) แมร์เคิลนำพรรค CDU ชนะการเลือกตั้งในปี 2005, 2009, 2013 และ 2017 ครองอำนาจ 4 สมัยซ้อน อย่างไรก็ตาม แมร์เคิล ประกาศอย่างชัดเจนว่า เธอจะไม่ลงสมัครเพื่อเป็นตัวแทนพรรค CDU อีกต่อไปแล้ว นั่นแปลว่า เธอจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศเป็นสมัยที่ 5 โดยตั้งใจจะยุติบทบาทของตัวเองเพียงแค่สมัยสุดท้าย ในวัย 67 ปี

17) แม้จะได้รับความนิยมในระดับประเทศ แต่ปัญหาคือ ความนิยมของแมร์เคิลในพรรคตัวเองตกต่ำลง เนื่องจากนโยบายของเธอ ขัดใจกลุ่มอนุรักษ์นิยมหลายอย่าง ทั้งนโยบายผู้ลี้ภัย และ นโยบายแต่งงานเพศเดียวกัน ส่งผลให้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นของรัฐเฮสเซ่ พรรค CDU เสียที่นั่งไป 11.3% บรรดาผู้ใหญ่ในพรรคจึงมองว่า ถ้าผลักดันแมร์เคิลลงสู้ต่อในสมัย 5 คราวนี้อาจจะแพ้เลือกตั้งใหญ่เลยก็เป็นได้

18) จริงๆ ถ้าแมร์เคิลจะดื้อดึงลุยต่อ เธอก็สามารถทำได้ เธอเองก็มีอำนาจมากพอที่จะทำแบบนั้น แต่สุดท้ายเมื่อความนิยมโดยรวมลดลง ทำให้แมร์เคิล ยืนยันว่าจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค พร้อมทั้งเลิกเล่นการเมือง หลังหมดวาระนายกรัฐมนตรีในปี 2021 ให้คนรุ่นใหม่มาสานงานต่อจากเธอในอนาคต

19) ในวันสุดท้ายของตำแหน่งหัวหน้าพรรค CDU แมร์เคิลกล่าวสุนทรพจน์ว่า “มันได้เวลาแล้ว ที่เราจะเดินหน้าสู่ฉากต่อไป ในวันนี้ ชั่วโมงนี้ และวินาทีนี้ ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และรู้สึกขอบคุณ ช่วงที่ผ่านมา ดิฉันมีความสุขมาก”
“ดิฉันไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ เกิดมาเพื่อเป็นหัวหน้าพรรค แต่ดิฉันก็อยากทำงานให้ทั้งประเทศ ด้วยเกียรติ ด้วยศักดิ์ศรี และในวันหนึ่งดิฉันก็จะอำลาตำแหน่งไปด้วยศักดิ์ศรีเช่นเดียวกัน”

20) เยอรมนี จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันนี้ (26 กันยายน 2021) เพื่อหาว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแทนที่แมร์เคิล โดยยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าบทสรุปจะเป็นพรรคไหน นี่จะเป็นการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ

21) ขณะที่ตัวแมร์เคิลนั้น สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ไปถามว่า เมื่อปิดฉาก 16 ปีอันยิ่งใหญ่ในการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เธอมีแผนจะทำอะไรต่อจากนี้ แมร์เคิลให้คำตอบว่า “ดิฉันตัดสินใจเรื่องนี้ไว้แล้ว นั่นคือจะไม่ทำอะไรเลยสักอย่างเดียว ไว้คิดออกว่าจะทำอะไร ค่อยเดินหน้าต่ออีกที”

การทำงานอันยาวนานตลอดชีวิต ดูแลทั้งเยอรมนี และภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลก จนได้รับฉายาว่า World’s Crisis Manager หรือ ผู้จัดการวิกฤติโลก ในที่สุด ก็ได้เวลาที่เธอจะพักผ่อน และส่งงานต่อให้คนรุ่นหลังเสียที

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า