SHARE

คัดลอกแล้ว

ข่าวในวงการธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ คือเรื่องการถอนตัวจากการซื้อหุ้น Bitkub ของไทยพาณิชย์ ทำให้ความฝันการเป็นยูนิคอร์นของ Bitkub สูญสลายทันที มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ workpointTODAY จะอธิบายทุกอย่าง ให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 19 ข้อ

1) Bitkub (บิทคับ) คือบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่สร้าง “กระดาน” ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่ โดยบริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2018 ในยุคที่คนไทยจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจเรื่องคริปโตฯ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือช่วงต้นปี 2021 เมื่อเหรียญบิตคอยน์ ทะยานพุ่งขึ้นไปถึง 1 ล้านบาทต่อเหรียญ ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจศึกษา และทำการเทรดมากกว่าเดิมหลายเท่า

Bitkub ได้อานิสงส์จากกระแสความนิยมนี้ ทำให้บริษัทเติบโตขึ้น 1000% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 Bitkub มียอดเทรดในแต่ละวันสูงถึง 4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลข 10% ของการเทรดในตลาดหุ้น ซึ่งสำหรับธุรกิจกระดานซื้อขายคริปโตฯ นั้น ยิ่งมีการเทรดมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะกินรายได้ส่วนแบ่งมากขึ้นเท่านั้น

2) ความฝันของ Bitkub คือการได้เป็น”ยูนิคอร์น” หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 35,000 ล้านบาท) โดยท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอของ Bitkub กล่าวว่า “เราเป็นที่เดียวในอาเซียน ที่ยังไม่มีธุรกิจที่เป็นยูนิคอร์นได้ เราหวังว่า Bitkub จะเป็นบริษัททางเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จ ทำไมเราต้องยอมให้เมืองไทยเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นด้วย”

3) สำหรับการยกระดับสตาร์ทอัพ ให้กลายเป็นยูนิคอร์นได้นั้น มีสองแบบคือ แบบแรกคือไปทางปกติ ทำธุรกิจของตัวเองให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้บริโภคในระบบ Ecosystem มากขึ้น กับอีกวิธีหนึ่งคือทางลัด นั่นคือ ขายหุ้นบางส่วนให้ผู้ลงทุน แต่แน่นอนว่า การจะสร้างมูลค่าให้ขายได้สูงถึง 35,830 ล้านบาท ธุรกิจต้องได้รับความเชื่อมั่นจากสังคมเป็นอย่างมาก

4) สำหรับในประเทศไทยนั้น บริษัทไหนก็ตามที่อยากทำธุรกิจซื้อขายคริปโตฯ อย่างถูกกฎหมาย จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจที่ลงนามจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียก่อน จากนั้นเมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว บริษัทดังกล่าว จะเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์)

ก.ล.ต. จะทำหน้าที่ตรวจเช็ก ว่าบริษัทนั้น มีเงินทุนเพียงพอจะรองรับความเสี่ยงหรือไม่ มีการเก็บข้อมูลของลูกค้าดีแค่ไหน ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้มาตรฐานหรือเปล่า ซึ่งก.ล.ต. จะทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้โดนบริษัทที่เกี่ยวกับคริปโตฯ หลอกลวงจนทำให้เงินลงทุนสูญหายได้

5) ในช่วงแรก Bitkub และ TDAX เป็นสองบริษัทสัญชาติไทย ที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นกระดานซื้อขายคริปโตฯ อย่างถูกกฎหมาย โดย ณ เวลานั้น ธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารกรุงเทพ ยังไม่ได้กระโดดลงมาเล่นในธุรกิจนี้ด้วย ทำให้ Bitkub กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด และทำกำไรไปมหาศาล จนบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก

6) Bitkub แสดงความทะเยอทะยานมากขึ้นเรื่อยๆ จากตอนแรกเป็นเพียงกระดานซื้อขายคริปโตฯ พวกเขาเริ่มสร้างเหรียญของตัวเอง ชื่อ Bitkub Coin (KUB) ลงมาสู่ตลาดด้วย ท่ามกลางคำครหาว่า มันอาจมี Conflict of Interest ก็ได้ อธิบายคือ คุณเป็นกระดานซื้อขายเอง แต่ดันมีเหรียญของตัวเองแบบนี้ ก็มีโอกาสที่คุณจะใช้กระดานซื้อขาย โปรโมทเหรียญ KUB มากกว่าเหรียญอื่นๆ

7) ด้วยทิศทางของบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในไทยมี Ecosystem ของคนเล่นคริปโตฯ เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ Bitkub ในฐานะแพลตฟอร์มซื้อขายเบอร์หนึ่งของตลาดในไทย จึงมีความแข็งแกร่งอย่างมาก นั่นทำให้ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีความสนใจอยากจะ “ซื้อหุ้น” ของ Bitkub

8 ) ในปัจจุบันนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน มีหลากหลายมาก ไม่ใช่แค่รับฝากถอนหน้าเคาน์เตอร์อีกแล้ว แต่ยังมี การกู้ยืมเงินดิจิทัล, ฟู้ดเดลิเวอรี่, สินเชื่อรถหรู ฯลฯ ดังนั้น ไทยพาณิชย์ จึงปรับโครงสร้างองค์กร โดยมีบริษัทใหญ่สุดชื่อ SCBX หรือในชื่อเล่นว่า “ยานแม่” ที่รวมเอาธุรกิจทุกอย่างไว้ด้วยกัน (ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ก็เป็นหนึ่งยูนิตในนั้น) โดยหนึ่งในธุรกิจที่ SCBX อยากจะทำ คือ ดิจิทัลแพลทฟอร์ม หรือกระดานซื้อขายคริปโตฯ โทเค่น นั่นเอง เนื่องจากเห็นช่องทางทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

9) SCBX ก็มีทางเลือกอยู่ ทางแรกคือ พัฒนากระดานซื้อขายของตัวเองขึ้นมา นับหนึ่งกันตั้งแต่แรก เพื่อเอามาสู้กับ Bitkub แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่ง่ายกว่านั้น นั่นคือจ่ายเงินก้อนโตไปซื้อหุ้น Bitkub มาเลย เพราะปกติ Bitkub ก็ครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยมากกว่า 90% อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าได้ Bitkub เข้ามาเป็นหนึ่งในยูนิตของ SCBX ก็เป็นอะไรที่เร็วกว่ากันมาก

วันที่ 2 พฤศจิกายน SCBX ประกาศเข้าลงทุนใน Bitkub โดยพร้อมซื้อหุ้น 51% ด้วยราคา 17,850 ล้านบาท แปลว่า ราคาหุ้นของ Bitkub ถ้าซื้อขายกัน 100% จะอยู่ที่ 35,000 ล้านบาท (หรือ 1,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ) ดังนั้นถ้าหากการซื้อขายหุ้น เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการ Bitkub จะกลายเป็นสตาร์ทอัพแห่งแรกในไทย ที่กลายเป็นยูนิคอร์นทันที

10) ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี ดูจะ WIN-WIN Situation หลังมีข่าวว่าดีลกัน หุ้นของ SCB ก็พุ่งทะยานขึ้น เพราะการจับมือกับธุรกิจหน้าใหม่มาแรง ถือเป็นข่าวในเชิงบวก เช่นเดียวกับเหรียญ KUB Coin ที่เริ่มจาก 30 บาท ก็ทะยานไปไกลถึง 580 บาท พร้อมทั้งไปอยู่ในลิสต์ซื้อขายของกระดานคริปโตฯ ในต่างประเทศด้วย

11) มุมของ SCB ถ้าหากคริปโตฯ ยังบูมแบบนี้ต่อไปอีก Bitkub จะกลายเป็นยูนิตขององค์กรที่ทำเงินได้อย่างมหาศาลต่อปี อย่างไรก็ตาม สัญญาณอันตรายก็เกิดขึ้นที่ทำให้ SCB มีความไม่แน่ใจ เมื่อปริมาณการซื้อขายคริปโตฯ ในไทย ลดลงอย่างชัดเจน จากเหตุผลหลายๆ ข้อรวมกัน เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน, การล่มสลายของเหรียญ Luna แม้แต่เหรียญที่ใหญ่ที่สุดอย่างบิตคอยน์ ก็มีราคาต่ำลงที่สุดเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ผู้คนเริ่มวิตกกังวลกับความผันผวน และกลัวว่าถ้าเอาเงินไปลงในคริปโตฯ แล้วอาจสูญสลายไปได้ในพริบตา
12) น

อกจากนั้นตัว Bitkub เองยังมีชนักติดหลัง เพราะไปมีปัญหากับ ก.ล.ต. ในฐานะคนดูแลการลงทุน โดย ก.ล.ต. พบเหตุสงสัยว่า พนักงานของ Bitkub จงใจทำการซื้อขายเทียม ปั่นเหรียญบางตัวให้มีโวลุ่มการซื้อขายจำนวนมาก จนนักลงทุนไขว้เขว เข้ามาเล่นเหรียญนั้นๆ ที่ปั่นเอาไว้ รวมถึงอีกกรณีหนึ่ง คือมีการเชิดชูเหรียญ Kub Coin ของตัวเอง แบบผิดปกติ
13) วั

นที่ 7 กรกฎาคม 2022 บริษัท SCBX แจ้งว่า ขอชะลอดีลการซื้อขาย Bitkub ออกไปก่อน อย่างไม่มีกำหนด เพื่อทำการตรวจสอบธุรกิจ (Due Diligence) และสุดท้าย 25 สิงหาคม 2022 ในที่สุด ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ยกเลิกดีลการซื้อ Bitkub เรียบร้อยแล้ว นั่นทำให้ความฝันจะได้กลายเป็นยูนิคอร์นของ Bitkub ก็สูญสลายไปเรียบร้อย
14) ฝั่

ง SCB อธิบายว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไรรุนแรง แต่ที่ถอนตัวออกมา เพราะฝั่ง Bitkub ยังเคลียร์กับ ก.ล.ต. ไม่จบ ส่วน ท็อป-จิรายุส ซีอีโอของ Bitkub ก็ยอมรับความจริง และโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองว่า “เป็นการตกลงร่วมกันของผู้บริหารทั้งสองฝ่าย ที่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน อย่างรอบด้าน และเห็นตรงกันว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ครับ”

15) การถอนตัวออกมาในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งแสดงความไม่พอใจว่า SCB กับ Bitkub ทำแบบนี้ เป็นการล่อคนทั่วไป ให้เข้าไปซื้อเหรียญ Kub Coin ด้วยความเชื่อใจว่าองค์กร และเหรียญ จะเติบโตไปข้างหน้า แต่สุดท้ายก็ล้มดีล แบบนี้เป็นการจงใจปั่นเพื่อเชือดแมงเม่าให้ตายหรือไม่

16) ความเคลื่อนไหวสำคัญที่น่าสนใจ อีกหนึ่งประเด็น คือหลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ถอนตัวจากการซื้อ Bitkub ในวันเดียวกันนั้นเอง เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ประกาศ ว่า SCB เริ่มประกอบธุรกิจ เปิดกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets Exchange) ของตัวเองอย่างเป็นทางการ เท่ากับว่า SCB จากที่เคยจะมาเป็นหุ้นส่วนของ Bitkub กลับแปลงร่างมาเป็นคู่แข่งโดยตรงแทน แบบพลิกความคาดหมายอย่างมาก
ในข้อเท็จจริงนั้น SCB ได้ License สิทธิ์การเปิดกระดานซื้อขาย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ แม้จะได้ License แต่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ยังใส่วงเล็บไว้ว่า “ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ” แต่เมื่อดีลกับ Bitkub ล้มไปแล้ว พอผู้คนกลับมาดูเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. อีกครั้ง วงเล็บที่เขียนว่า “ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ” ได้หายไปแล้ว

17) ในโลกออนไลน์มีการวิจารณ์กันอย่างดุเดือดว่า ในช่วงเวลาที่ดีลกันเป็นระยะเวลา 10 เดือน ช่วงนั้น SCB ที่ทำการตรวจสอบธุรกิจ ได้เรียนรู้ข้อมูลต่างๆ รวมถึงนวัตกรรมจาก Bitkub แล้วสุดท้ายแคนเซิลไม่ซื้อหุ้น ก่อนจะเอาความรู้เหล่านั้น ไปเปิดกระดานใหม่ มาแข่งกับ Bitkub เอง การกระทำแบบนี้ เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดหรือไม่

18) สำหรับสถานการณ์ต่อจากนี้ ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ถ้า SCB เปิดกระดานขึ้นมาจริงๆ จะสามารถแย่งส่วนแบ่งจาก Bitkub มาได้แค่ไหน รวมถึงเส้นทางการเป็นยูนิคอร์นของ Bitkub เมื่อไม่มีทางลัดด้วยการขายหุ้นแล้ว พวกเขาจะยังเติบโตต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ ในช่วงเวลาที่คริปโตฯ อยู่ในสภาวะขาลงแบบนี้

19) ขณะที่เหตุผลที่แท้จริงของ SCB ที่ถอนตัวจาก Bitkub นั้น มีการวิเคราะห์กันอย่างมากมาย

บางคนมองว่า SCB อาจกังวลใจที่ Bitkub มีปัญหาเคลียร์ไม่จบกับ ก.ล.ต.

บางคนมองว่าธุรกิจคริปโตฯ อยู่ในช่วงขาลง และในไทย ดูยากจะขยายให้โตไปกว่านี้ ดังนั้นให้จ่ายเงิน 17,850 ล้านบาท SCB จึงคิดว่าไม่คุ้ม

บางคนมองว่า เป็นแผนดูดเอาเทคโนโลยีของ Bitkub เพื่อเอามาใช้ในแพลตฟอร์มของตัวเองในอนาคต

แต่สุดท้ายแล้ว คำตอบที่แท้จริงคืออะไรนั้น ยังคงเป็นปริศนา และมีเพียงแค่ SCB กับ Bitkub เท่านั้นที่รู้ความจริง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า