SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการเอาผิดแกนนำม็อบว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้นศาลที่ควรจะเป็นกลางก็ยังเข้าข้างรัฐบาลอีก นี่คือเหตุการณ์จริง ที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ The Trial of the Chicago 7 มีชื่อเข้าชิงออสการ์ในปีนี้

เรื่องราวทั้งหมดในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร workpointTODAY จะเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างเข้าใจง่ายที่สุดใน 27 ข้อ

1) ที่สหรัฐอเมริกาในยุค 60 ถือเป็นช่วงที่ประเทศมีความอ่อนไหวทางการเมืองอย่างมาก เริ่มจากปี 1963 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ โดนลอบสังหารที่เท็กซัส จากนั้นในปี 1968 ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้เรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมก็โดนลอบสังหารไปอีกคน

ขณะที่นโยบายทางการเมืองขณะนั้น อยู่ในยุคสงครามเย็น ทำให้สหรัฐฯ เข้าไปร่วมในสงครามเวียดนามเต็มตัว รัฐทุ่มงบประมาณมหาศาลไปลงกับสงคราม จนทำให้เศรษฐกิจในประเทศเกิดความฝืดเคืองอย่างมาก ประชาชนจำนวนมาก ตั้งคำถามกับรัฐ ว่าจะไปยุ่งในสงครามของประเทศอื่นเพื่ออะไร ทำไมต้องเกณฑ์ทหารไปรบปีละเป็นแสนๆคน เอาจริงๆ อเมริกาควรถอนกำลังกลับมาได้แล้ว

2) ความไม่พอใจของประชาชน ทำให้มีการตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อทำการประท้วงรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักเรียนเพื่อประชาธิปไตย (SDS), กลุ่มพลพรรคเยาวชน (Yippies) และ กลุ่มรวมใจหยุดสงครามเวียดนาม (MOBE) ทั้งสามกลุ่มมีจุดยืนเดียวกัน คือรัฐบาลควรยุติสงครามเวียดนามได้แล้ว และเอางบประมาณกลับมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

3) ในปี 1968 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ที่ประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน จะทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศ เขายืนยันว่าจะไม่ลงสมัครในสมัย 2 นั่นทำให้พรรคเดโมแครต ต้องคัดเลือกหาตัวแทนคนใหม่ ไปชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีกับ ริชาร์ด นิกสัน ของพรรครีพับลิกัน

4) ตัวเต็งที่พรรคเดโมแครต คาดว่าจะเลือกคือ ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ ที่ไม่มีนโยบายเอาทหารออกจากเวียดนาม นั่นทำให้กลุ่มนักศึกษาจำนวนมากไม่พอใจ ต้องการไปกดดันให้สมาชิกพรรคเดโมแครต ให้เลือกแคนดิเดทอีกคน คือยูจีน แม็คคาร์ธีย์ ดีกว่า เพราะแม็คคาร์ธีย์ประกาศชัดเจนว่า ถ้าเขาเป็นประธานาธิบดี จะเอาทหารออกจากเวียดนามแน่นอน

5) งานประชุมพรรคเดโมแครต (DNC) จัดขึ้นวันที่ 26 สิงหาคม 1968 เพื่อหาบทสรุปว่าจะเลือกใครเป็นตัวแทนพรรค ดังนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม จึงรวมใจกัน และประกาศว่าจะไปเดินทางไปชิคาโก้ สถานที่จัดงาน DNC ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ เพื่อประท้วงสงครามเวียดนาม และร่วมกดดันพรรคเดโมแครต

6) อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไม่ต้องการให้มีม็อบ หรือชุมนุมทางการเมืองใดๆเกิดขึ้นในชิคาโก้ ดังนั้นเมื่อกลุ่ม SDS, กลุ่ม Yippies และกลุ่ม Mobe ไปขอใช้สถานที่ปักหลักชุมนุม ที่สวนสาธารณะแกรนต์พาร์ก จึงถูกปฏิเสธจากสภาเมืองชิคาโก้ไม่ให้ใช้สถานที่

7) แม้จะโดนปฏิเสธ แต่เมื่อประกาศไปแล้วว่าจะมีม็อบ คนก็หลั่งไหลมาอยู่ดี ภายในงานชุมนุมมีกิจกรรมต่างๆมากมาย รวมถึงการเล่นดนตรีด้วย เหตุการณ์ลากยาวไปจนถึง วันที่ 28 สิงหาคม 1968 ที่ม็อบมีคนหลั่งไหลมามากขึ้นเรื่อยๆ มันกลายเป็นขบวนประท้วงสงครามเวียดนามเต็มรูปแบบ นั่นทำให้ริชาร์ด เดลีย์ นายกเทศมนตรีชิคาโก้ สั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 10,000 นาย เข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา และฟาดด้วยกระบอง

การต่อสู้กันของตำรวจกับม็อบ มีชื่อเรียกกันว่า “แบทเทิ้ล ออฟ มิชิแกน อเวนิว” ทั้งสองฝ่ายสู้กัน 17 นาทีเต็ม โดยศึกนี้มีช่องข่าวถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ด้วย จนคนเห็นทั้งประเทศ โดยสรุป เหตุการณ์นี้มีคนบาดเจ็บมากกว่า 200 คน และฝั่งม็อบโดนจับกุมมากกว่า 600 คน

8) ณ ตรงนี้ผู้ชุมนุมตะโกนด้วยประโยคพร้อมเพรียงกันว่า “คนทั้งโลกกำลังจับตาดูอยู่” (The whole world is watching) เพราะการสลายม็อบครั้งนี้ ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เป็นการปรามไม่ให้ตำรวจใช้ความรุนแรง แต่สุดท้ายก็ยังมีคนบาดเจ็บ เลือดตกยางออกอยู่ดี

9) เหตุการณ์ในวันนั้นจบลงไป พรรคเดโมแครตเลือกฮัมฟรีย์ไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่สุดท้ายพ่ายแพ้ริชาร์ด นิกสัน จากพรรครีพับลิกัน ในขณะที่สงครามเวียดนาม นโยบายก็คือ ทหารอเมริกายังต้องสู้ต่อไปตามเดิม

10) รัฐบาลของนิกสัน นำโดยกระทรวงยุติธรรม ต้องการ “ลงโทษ” กลุ่มผู้นำม็อบ เพื่อเชือดไก่ให้ลิงดู ว่าถ้าทำการชุมนุมต่อต้านรัฐจะโดนอะไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ม็อบกลุ่มอื่นทำตาม ดังนั้น จอห์น มิตเชลล์ อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ จึงเดินหน้าสั่งฟ้องแกนนำม็อบจำนวน 7 คน ในข้อหาร่วมกันทำอาชญากรรม และเดินทางข้ามรัฐเพื่อจงใจปลุกระดมให้เกิดการจลาจล

11) วันที่ 24 กันยายน 1969 แกนนำม็อบ 7 คนประกอบไปด้วย ทอม เฮย์เดน และ เรนนี่ เดวิส (จาก SDS) ,เจอร์รี่ รูบิน และ แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน (จาก Yippies), เดวิด เดลลิงเกอร์ (จาก Mobe) และ อาจารย์มหาวิทยาลัย 2 คน คือจอห์น ฟรอยน์ และ ลี ไวเนอร์ เข้าสู่กระบวนการศาล โดยผู้พิพากษาในคดีนี้คือ จูเลียส ฮอฟแมนน์ (นามสกุลเดียวกับแอ็บบี้ แต่ไม่ได้เป็นญาติกัน) ซึ่งจูเลียส ฮอฟแมนน์ เป็นพวกอนุรักษ์นิยมอย่างมาก และแสดงจุดยืนแต่แรก ว่าต้องการลงโทษแกนนำม็อบให้ได้

12) ที่สหรัฐฯ อำนาจตุลาการ จะแยกกับอำนาจบริหารอย่างเด็ดขาด กล่าวคือ ต่อให้รัฐอยากโจมตีอีกฝ่ายแค่ไหน ก็ไม่สามารถใช้ศาลเป็นเครื่องมือได้ เพราะสององค์กรต่างทำงานอิสระแยกจากกัน แต่ในคดีนี้ ศาลโน้มเอียงไปทางฝั่งรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด จนผู้ชุมนุมทั้ง 7 เกิดการเสียเปรียบในการพิจารณาคดีหลายต่อหลายหน

13) ตัวอย่างเช่น ศาลจับเอา บ๊อบบี้ ซีล ชายผิวดำจากกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ส ที่มีคดีความสังหารตำรวจ เอามาพิจารณาคดีรวมกับ 7 แกนนำม็อบด้วย ทั้งๆที่ตัวซีล แค่ขึ้นมาร่วมบนเวทีเพื่อปราศรัยเฉยๆ แต่ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดการชุมนุมแต่อย่างใด โดยในการพิจารณาคดีช่วงแรก 7 แกนนำม็อบรวมกับบ๊อบบี้ ซีล ถูกเรียกว่า “ชิคาโก้ 8” ซึ่งเชื่อกันว่าเจตนาของผู้พิพากษาที่จับซีลมารวม เพื่อทำให้ลูกขุนเกิดอาการหวาดกลัวทั้งกลุ่ม และจะได้ตัดสินว่าแกนนำม็อบผิดได้ง่ายๆ ทั้งๆที่ตำรวจหาหลักฐานเชื่อมโยงของบ็อบบี้ ซีล กับการจัดม็อบไม่เจอเลย

14) ผู้พิพากษามีการยั่วยุ ฝั่งจำเลยอยู่เรื่อยๆ เช่นทนายจำเลย ชื่อไวน์กลาสส์ ก็เปลี่ยนชื่อเป็นไฟน์กลาสส์ หรือจำเลยหนึ่งคนมีนามสกุลว่า เดลลิงเกอร์ ก็ไปเรียกว่า ดิลลิงเกอร์ ซึ่งที่สหรัฐฯ จะรู้ดีว่า ดิลลิงเกอร์เป็นนามสกุลของมาเฟีย ทำให้ลูกขุนสับสนว่าจำเลยคนนี้มีความเกี่ยวพันกับมาเฟียหรือไม่

15) ตอนทนายของจำเลย ได้พยานคนสำคัญนั่นคือ แรมซีย์ คลาร์ก อดีตอัยการสูงสุด ที่พร้อมเอาความลับของรัฐบาลยุคลินดอน บี จอห์นสันมาเปิดเผย โดยคลาร์กพร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีแผนที่จะจับแกนนำม็อบเข้าคุกให้ได้จริงๆ โดยไม่สนว่าจำเลยทำผิดจริงหรือไม่ แต่เป็นคดีการเมืองที่จะเชือดไก่ให้ลิงดู แต่สุดท้ายผู้พิพากษา ไม่อนุญาตให้แรมซีย์ คลาร์กขึ้นให้การได้

16) ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมน กดดันฝั่งจำเลยหนักขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้บ๊อบบี้ ซีล ด่าผู้พิพากษาว่าเป็น “ไอ้หมูเหยียดผิว” และ “ฟาสซิสต์ขี้โกหก” กลางศาล ซึ่งทำให้ผู้พิพากษาโมโหมาก สั่งให้ตำรวจเอาผ้ามัดปากซีลเอาไว้ 3 วัน และเอาโซ่มัดมือมัดเท้า ระหว่างการไต่สวนคดี ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้ผู้คนตกใจมาก กับการเอาสั่งให้เอาผ้ามัดปากไว้แบบนี้ ไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้ในศาลยุติธรรมมาก่อน

17) การไต่สวนคดี ดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง ฝั่งอัยการขอแยกบ๊อบบี้ ซีล ไปเป็นอีกคดี ไม่มารวมกัน เพราะซีลก็ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงกับการก่อม็อบจริงๆ ทำให้จากเดิม Chicago 8 เหลือเรียกเป็น Chicago 7 เท่านั้น

18) ในการไต่สวน เกิดเหตุการณ์พูดแทรกขึ้นมาบ่อยมาก โดยเฉพาะจากฝั่งจำเลย ที่ไม่พอใจผู้พิพากษา ซึ่งทันทีที่พูดแทรกขึ้นมา ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนก็เพิ่มข้อหา “หมิ่นศาล” เข้าไป จนแม้แต่ทนายสองคน คือวิลเลียม คันส์เลอร์ และ เลียวนาร์ด ไวน์กลาสส์ โดนกันไปคนละ 20 กระทง

19) เมื่อคดีผ่านไปเรื่อยๆ กลุ่มแกนนำม็อบยิ่งมีความเสียเปรียบหลายอย่าง เพราะฝั่งรัฐก็พร้อมใช้พลังทุกอย่าง เพื่อเอาผิดให้ได้ ขณะที่ศาลก็ตั้งธงไว้ในใจแต่แรกอยู่แล้ว หลักฐานใดๆ ที่เตรียมมา ก็โดนบอกปัดตกทิ้งไป ดังนั้นแกนนำม็อบที่เป็นจำเลย จึงพยายามตอบโต้ด้วยการทำตัวบ้าบอไปเลย เพื่อให้ข่าวการพิจารณาคดี อยู่ในหน้าสื่อมากที่สุด และต้องการแรงกดดันจากสังคม บีบลูกขุนทางอ้อม

ตัวอย่างเช่น แอ็บบี้ และรูบิน จากกลุ่ม Yippies ใส่เสื้อในชุดคลุมเหมือนผู้พิพากษาเป็นการล้อเลียน และพอผู้พิพากษาสั่งให้เอาเสื้อคลุมออก ด้านในก็แอบใส่พร็อพเป็นเสื้อของตำรวจเป็นต้น

20) ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่สู้คดี กลุ่มแกนนำม็อบต้องสูญเสียหลายอย่าง ทั้งเวลา และเงินทอง บางคนโดนพักงานประจำก็มี แต่กลุ่ม Chicago 7 พร้อมต่อสู้ โดยยืนยันว่า การชุมนุมของพวกเขา ต้องการให้สงครามเวียดนามยุติ ไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่จะสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น แต่เหตุตะลุมบอน มันเป็นจังหวะต่อเนื่อง พอเห็นฝ่ายตำรวจสลายการชุมนุมก็ต้องป้องกันตัว

21) ด้วยความที่หลักฐาน และการไต่สวน เอนไปทางฝั่งรัฐเป็นอย่างมาก ทำให้การตัดสินคดีวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1970 ปรากฎว่า คณะลูกขุนประกาศให้ ฟรอยน์ กับ ไวเนอร์ พ้นผิดทุกข้อกล่าวหา ส่วนอีก 5 คน คือ เดลลิงเกอร์, เฮย์เดน, เดวิส, ฮอฟฟ์แมน และ รูบิน โดนโทษจำคุกคนละ 5 ปี

22) อย่างไรก็ตาม หลังจากคดีตัดสินไปแล้ว กระแสสังคมก็เปลี่ยน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ตอนนี้ก็ไม่เอาสงครามเวียดนามกันหมดแล้ว จนทำให้รัฐบาลนิกสัน ต้องออกมายืนยันว่า จะถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามโดยเร็วที่สุด นั่นเท่ากับว่า เจตจำนงของกลุ่มแกนนำม็อบที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐ เลิกยุ่งกับสงครามเวียดนาม เป็นคำตอบที่ถูกต้องแต่แรกอยู่แล้ว

23) เมื่อกระแสสังคมเห็นว่าสิ่งที่แกนนำพูดในอดีตเป็นเรื่องที่ควรจะทำ ทำให้ในการอุทธรณ์คดี ในเดือนพฤศจิกายน 1972 ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินให้แกนนำทั้ง 5 คนที่ต้องโทษติดคุก พ้นผิดทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า “ผู้พิพากษาจูเลียส ฮฮฟฟ์แมน มีพฤติการณ์ที่เป็นอคติต่อจำเลย” จากนั้นสื่อมวลชนได้มีการสืบสวนหาข้อสรุปต่อว่าคดีนี้ ใครเริ่มก่อนกันแน่ และข้อสรุปคือ เป็นตำรวจที่เริ่มใช้ความรุนแรงก่อนจริงๆ ทั้ง 5 คน จึงเคลียร์ข้อหาได้เป็นที่เรียบร้อย

24) ความจริงแล้ว ยังมีช่องให้อัยการไปฟ้องร้องต่อที่ศาลฎีกาได้ ถ้าอยากจะเอาผิดแกนนำม็อบจริงๆ แต่ ณ เวลานั้น อัยการเองก็ไม่เอาแล้ว สุดท้าย แกนนำทั้ง 5 คน จึงพ้นผิดในที่สุด

25) หลังจากคดีความสิ้นสุดลง เมื่อเป้าหมายยุติสงครามเวียดนามสำเร็จแล้ว แต่ละคนก็แยกย้ายไปทำงานของตัวเอง ปัจจุบัน Chicago 7 เสียชีวิตเกือบหมดแล้ว เหลือเพียง จอห์น ฟรอยน์ คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่
ขณะที่ผู้พิพากษา จูเลียส ฮอฟฟ์แมน ก็เสียชีวิตแล้วเช่นกัน โดยในปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต มีนักข่าวไปถามว่า เขาเสียใจไหม ที่ตัดสินคดีออกมาในลักษณะนั้น ตัวผู้พิพากษาตอบว่า “ผมไม่คิดว่าตัวเองทำผิดอะไร ผมตัดสินคดีด้วยศักดิ์ศรี อะไรที่ผมคิดว่าต้องหนักแน่น ผมก็ต้องหนักแน่น” ในมุมของผู้พิพากษา คิดว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว

26) คดี Chicago 8 มาจนถึง Chicago 7 เป็นกรณีศึกษาว่า แม้แต่ศาลอเมริกาที่อำนาจจากฝ่ายบริหารไม่สามารถบีบบังคับได้ ก็ยังมีความเอนเอียงได้เหมือนกัน ดังนั้นกับบางประเทศที่ศาลสามารถถูกแทรกแซงได้จากอำนาจรัฐ ยิ่งมีโอกาสที่จะเอนเอียงได้ยิ่งกว่านี้อีก

27) ขณะที่อีกหนึ่งประเด็น ที่น่าสนใจก็คือ ในบางคดี ความผิดไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอะไร แต่อยู่ที่ว่ามันเป็นคดีการเมือง ที่ฝ่ายรัฐต้องการจะเอาผิดให้ได้หรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นคดีการเมืองบางทีก็อยู่เหนือหลักฐานและเหตุผลทั้งปวง และจะสังเกตได้ว่า เมื่อกระแสการเมืองเปลี่ยน ในคดีเดียวกันนั้นเอง จากคนเคยผิด ก็กลายเป็นคนไม่ผิดได้ในพริบตาเหมือนกัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า