Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

Explainer เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ และเหตุผู้เสียชีวิตที่ตากใบ เรื่องราวเป็นอย่างไร แล้วเกี่ยวข้องกับ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรในทิศทางไหน ทำไมประเด็นนี้ ถึงถูกหยิบมาถามใน Clubhouse เราจะอธิบายสถานการณ์ทุกอย่าง แบบเข้าใจง่ายที่สุด ทั้งหมดใน 14 ข้อ

1) ในปี พ.ศ.2544 เหตุการณ์ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทวีความรุนแรงเป็นอย่างมาก จากเดิมกลุ่มผู้ก่อการจะรวมเงินไปซื้ออาวุธปืนมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่พวกเขาเปลี่ยนแนวทาง โดยใช้ยุทธวิธี “ปืนของรัฐ คือปืนของเรา” จึงเริ่มปล้นอาวุธปืนจากสถานที่ราชการ รวม 5 ครั้งด้วยกัน

เหตุการณ์ใหญ่สุดที่เกิดขึ้นคือ วันที่ 4 มกราคม 2547 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เผาโรงเรียน 18 แห่ง ทั่วจังหวัดนราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร กระจายกำลังไปดูสถานการณ์ ซึ่งเมื่อกองกำลังป้องกันลดการ์ดลง ทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ บุกมาปล้นค่ายปิเหล็ง ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส คนร้ายได้ปืนไป 413 กระบอก ฆ่าทหารเสียชีวิต 4 นาย

2) สื่อมวลชนถามนายกฯ ว่าสิ่งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ต้องการคืออะไร คือ การแบ่งแยกดินแดน หรือเป็นอุดมการณ์ของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง คล้ายๆกับพวกที่ไฮแจ็คเครื่องบิน ชนตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์

นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอบว่า “ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมการณ์ มีแต่โจรกระจอก” คำพูดของทักษิณจงใจอธิบายว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่การใช้เวิร์ดว่า ‘โจรกระจอก’ เป็นคำพูดที่จุดไฟให้แรงขึ้น

3) ยิ่งไปกว่านั้น ทักษิณยังกล่าวตำหนิกองทัพอีกว่า “ถ้าคุณมีกองทหารทั้งกองพันอยู่ที่นั่น แต่คุณก็ยังไม่ระวังตัว ถ้าอย่างนั้นก็สมควรตาย” โดยในประโยคหลังนี้เอง เชื่อว่าสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับทหารที่ประจำการในพื้นที่ เพราะเพื่อนร่วมรบที่เสียชีวิตไปแล้ว ก็ควรได้รับเกียรติจากผู้นำประเทศมากกว่านี้

4) เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง จนถึงช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 เมษายน 2547 มีกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-20 ปี รุมโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จุดตรวจของตำรวจและทหาร ทั้งหมด 11 จุด ในสามจังหวัดคือปัตตานี สงขลา และยะลา

จุดที่รุนแรงที่สุดคือที่จังหวัดปัตตานี กลุ่มคนร้ายจำนวน 40 คน บุกไปยึดป้อมตำรวจที่ ตำบลตันหยงลุโละ จังหวัดปัตตานี พร้อมฆ่าตำรวจ 4 ศพ และทำร้ายให้บาดเจ็บอีก 17 นาย ก่อนที่คนร้ายจะเผามอเตอร์ไซค์ตำรวจ 5 คัน และจุดไฟเผาป้อมตำรวจ

ตำรวจที่รอดชีวิตหนีตายออกมา แจ้งขอความช่วยเหลือจากทหาร ทหารมาถึงนำอาวุธหนัก และรถหุ้มเกราะเข้ามากดดัน ทำให้คนร้ายเกือบทั้งหมด วิ่งหนีไปตั้งหลักกันที่มัสยิดกรือเซะ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับป้อมตำรวจ ซึ่งทหาร นำโดย พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. ได้นำกองกำลังไปปิดล้อมทันที

ตำรวจล้อมไว้มากกว่า 8 ชั่วโมง ตั้งแต่ 6.00 น. ถึง 14.00 น. โดยระหว่างนั้น มีการยิงตอบโต้ออกมาเป็นระยะ การคุมพื้นที่กินเวลาอยู่นาน จนในที่สุดก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อมีเสียงตามสายจากลำโพงของมัสยิมกรือเซะ เป็นภาษามลายู มีใจความว่า “ขอให้ทุกคนแบ่งอาวุธกัน และพร้อมใจกันสู้ตาย” ซึ่งถึงจุดนี้ เจ้าหน้าที่จึงใช้ปืนอาร์พีจี ระดมยิงเข้าไปในมัสยิด
บทสรุปคือมีผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะจำนวน 32 คน แต่จริงๆแล้วในวันนั้น มีผู้เสียชีวิตจากจุดอื่นอีกจำนวนมาก ประกอบด้วยที่ อำเภอแม่ลาน และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี (15 ศพ), อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา (19 ศพ) และ อำเภอเมือง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และ อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา (42 ศพ) รวมทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่ได้ปลิดชีพผู้ก่อเหตุทั้งหมดรวม 109 ศพ แต่เนื่องด้วยที่มัสยิดกรือเซะเป็นเหตุการณ์ใหญ่สุด จึงเรียกเหตุการณ์ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ว่า “เหตุการณ์กรือเซะ”

5) สำหรับเหตุการณ์นี้ ความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ผู้นำกิจการอิสลามในประเทศไทยกล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ได้พยายามยับยั้งการใช้กำลังในการจัดการกับสถานการณ์อย่างสมควรแล้ว พวกเขาต้องอดทนและรอคอยเป็นเวลายาวนานนอกมัสยิด”

แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย ที่เชื่อว่ารัฐทำเกินกว่าเหตุ โดยเว็บไซต์ฟอรัมเอเชีย วิจารณ์ว่า “ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ ใช้แค่มีดพร้าและกริชเท่านั้น ทหารที่มีอาวุธครบมือ และตำรวจที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมสามารถจัดการกับเหตุการณ์นี้ได้อย่างแน่นอน แล้วมันมีเหตุผลอะไรต้องฆ่าพวกเขา”

ขณะที่ในมุมของญาติผู้เสียชีวิต นางแสนะ บูงอตันหยง กล่าวว่า “ในมัสยิดนั้นมีทั้งเยาวชน และคนชรา ที่ไม่สามารถต่อสู้ได้ ถามว่าบุคคลเหล่านี้ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ เห็นได้ว่าหน่วยงานรัฐ ใช้วิธีวิสามัญฆาตกรรม โดยใช้อาวุธสงครามกระหน่ำอย่างหนัก ถล่มเพื่อหวังแก่ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน”

6) หลังเกิดเหตุการณ์ที่กรือเซะ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กับเจ้าหน้าที่ก็ปะทะกันวันเว้นวัน จนมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง และวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ก็เกิดเหตุครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ของตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส มาแจ้งตำรวจว่า โดนผู้ก่อความไม่สงบ ปล้นปืนลูกซองไป 6 กระบอก
กลุ่มชรบ. เป็นพลเมืองที่รัฐแต่งตั้งให้ดูแลความปลอดภัยในท้องถิ่น โดย ชรบ. 6 คนดังกล่าวประกอบไปด้วย 1-นายมาหามะลูลือลี เจ๊ะเก 2-นายอับดุลลาไม หะกือลิง 3-นายลูกิมือลี หะกือลิง 4-นายอรุณ บินมะ 5-นายรอนิง บินมะ และ 6- นายกามา อาลี

ซึ่งทั้ง 6 คนอ้างว่า มอบปืนลูกซองให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะถูกข่มขู่จะทำร้ายครอบครัว อย่างไรก็ตาม ตำรวจไม่เชื่อในคำกล่าวอ้าง โดยมองว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าที่ทั้ง 6 จะเป็นหนอนบ่อนไส้ มอบปืนให้กลุ่มผู้ก่อการเอง จึงทำการจับกุมทั้งหมดนำมาสืบสวนต่อที่ สถานีตำรวจภูธรตากใบ

7) ชาวบ้านหลายร้อยคนไม่พอใจ เนื่องจากเชื่อในความบริสุทธิ์ของชรบ.ทั้ง 6 จึงรวมตัวกันหลายร้อยคนที่หน้าสถานนีตำรวจ มีรายงานว่าผู้ชุมนุมได้ปาของใส่เจ้าหน้าที่ และพยายามเข้าไปในสถานีตำรวจเพื่อเจรจา ขณะที่ทางตำรวจได้ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่

8) เหตุรุนแรงเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ จนตำรวจต้องขอกำลังเสริมจากทหาร กองทัพภาคที่ 4 ได้ใช้ปืนฉีดน้ำสลายผู้ชุมนุม ตามด้วยแก๊สน้ำตา และจบลงด้วยการใช้กระสุนจริง ณ ที่เกิดเหตุหน้าสถานีตำรวจมีผู้เสียชีวิตทันที 7 ราย

จากนั้นทหารได้สั่งให้ผู้ชุมนุมทุกคนหมอบลง ผู้หญิงโดนกันออกไป ผู้ชายถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วจับขึ้นรถบรรทุกจำนวน 24 คัน โดยแต่ละคนมีคนซ้อนกันเป็นชั้นๆ ราว 4-5 ชั้น โดยผู้ชุมนุมทั้งหมดจำนวน 1,370 คน ที่นอนทับกัน ต้องเดินทางจากตากใบ ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีระยะทางห่างกันถึง 150 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่ขับรถจากสภ.ตากใบ กินเวลาถึง 6 ชั่วโมง กว่าจะไปถึง ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปรากฏว่ากลุ่มคนที่โดนซ้อนอยู่ชั้นล่างสุด โดนกระแทกอย่างหนักตลอดทาง สุดท้ายเมื่อถึงที่หมาย มีคนโดนทับตายอยู่บนรถจำนวน 78 คน และมีอีก 1 คนต้องกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต

เท่ากับว่าเมื่อรวมการใช้กระสุนจริงหน้าสภ.ตากใบ และ เหตุการณ์ผู้ชุมนุมโดนทับบนรถบรรทุก มีคนเสียชีวิตในครั้งนี้ทั้งสิ้น 85 คน

9) สำหรับเหตุการณ์ตากใบ เกิดในยุคของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้บัญชาการทหารบกผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์โดยตรง
ในเหตุการณ์ที่ตากใบ รัฐบาลของทักษิณ ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้ข้อสรุปว่า “เป็นการใช้ทหารที่มีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการสลายการชุมนุม และเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผน และวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล” อย่างไรก็ตามรัฐบาลกลับไม่ดำเนินคดี กับทหารผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ วิจารณ์ไทยว่า “แม้จะมีหลักฐานมากมาย แต่รัฐบาลทักษิณกลับปฏิเสธที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบและบาดเจ็บที่ตากใบ”

เรื่องนี้เป็นรอยแผลของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่สามารถใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดการหาผู้ก่อเหตุที่ตากใบมาลงโทษ ก่อนที่สุดท้ายเขาจะโดนทำรัฐประหารในปี 2549

10) ในกรณีของกรือเซะ ชาวบ้านยังอยู่ในระดับที่เข้าใจได้ เพราะคนก่อเหตุจำนวนมากเป็นคนร้ายจริงๆ แต่กับกรณีของตากใบ ผู้เสียชีวิตหลายรายไม่รู้เรื่องด้วยแค่มามุงเฉยๆ นั่นทำให้ เดือนพฤศจิกายน 2549 นายกฯ คนใหม่ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ลงไปกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากผู้นำรัฐ ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี เป็นการลดโทนบรรยากาศความรุนแรง

11) ในปี 2554 อดีตนายกฯ ทักษิณ ที่อยู่ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าว “ขอโทษ” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรือเซะและตากใบ โดยระบุว่า เขาไม่ได้เกลียดชังหรือไม่ชอบ พี่น้องชาวใต้เป็นการส่วนตัว “สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้น เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผมก็เลยใช้ความรุนแรงตอบ อันนี้ก็ต้องขออภัย แต่ว่าไม่ได้ทำเพราะความไม่ชอบ แต่มันเป็นนิสัยตำรวจ เจอใช้ความรุนแรงมา ก็เลยใช้ความรุนแรงกลับไป” ซึ่งเป็นคำขอโทษที่เกิดขึ้น 7 ปี ให้หลังจากเหตุการณ์

ก่อนที่ในปี 2555 รัฐบาลยุค นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะทำการเยียวยาให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิตทั้งเหตุการณ์ที่กรือเซะ จำนวน 302 ล้านบาท และเหตุการณ์ที่ตากใบอีกจำนวน 700 ล้านบาท

12) แม้ญาติผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่ยังมีการเรียกร้องขอความบริสุทธิ์ โดยญาติผู้เสียชีวิตนำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องต่อ เพราะต้องการรู้ว่า “ใคร” เป็นคนทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตในวันนั้น อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้ข้อสรุปแล้วว่าไม่มีหลักฐานที่จะระบุชัดเจนว่าใครเป็นคนสังหาร ดังนั้นจะไม่มีการพิจารณาคดีอีกต่อไป และคดีความก็ยุติลงในเดือนสิงหาคม 2556 จนกว่าจะมีหลักฐานชิ้นใหม่ ที่จะเปลี่ยนคดีได้

13) สำหรับคดีที่กรือเซะ และตากใบ จะหมดอายุความในปี 2567 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า โดยอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า “การเยียวยาวด้วยตัวเงินครั้งนั้น ไม่ได้นำไปสู่การเยียวยาทางกฎหมาย เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและครอบครัว จึงทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล”

14) สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อทักษิณ ชินวัตรเล่น Clubhouse แล้วถูกผู้ฟังสอบถามเกี่ยวกับกรณีตากใบ โดยทักษิณตอบว่า “ที่กรือเซะ ส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของทหาร ผมเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก็รับรายงาน แต่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้มากมาย เข้าใจอะไรได้มากมาย ก็เสียใจที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น จำไม่ค่อยได้ จำได้ว่ามีการยิงปะทะกันมากกว่า จำไม่ค่อยได้ แต่ก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

สำหรับกรณีนี้ จึงส่งผลให้มีชาวเน็ตบางคนไม่พอใจทักษิณนัก ที่ใช้คำว่า “จำไม่ค่อยได้” กับหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ ที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงกับประเทศไทยขนาดนี้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า