SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดอำนาจ ส.ว. ที่มีมหาศาล ต้องกลับไปนับ 1 ใหม่ตั้งแต่แรกอีกครั้ง เมื่อรัฐสภามีคะแนนเห็นชอบไม่พอในการโหวตวาระ 3

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้แน่ๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครองอำนาจไปอีกนานหลายปี เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร workpointTODAY จะอธิบายสถานการณ์แบบโพสต์เดียวจบ ใน 19 ข้อ

1) ในปี 2557 คสช.ยึดอำนาจ และฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้ง โดยในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เมื่อมีการยึดอำนาจโดยทหาร เกือบทุกครั้งจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อ “เขียนกฎใหม่” ให้ฝั่งทหารสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปให้ได้นานที่สุด แต่ในมุมของคนยึดอำนาจจะอ้างว่า ต้องเขียนกฎใหม่เพื่อไม่ให้ประเทศเกิดปัญหาซ้ำรอยก่อนจะมีการรัฐประหาร

2) คำว่า “รัฐธรรมนูญ” มีความหมายคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยในรัฐธรรมนูญจะมีรายละเอียดหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “วิธีการเลือกตั้ง” กล่าวคือ การเลือกผู้นำประเทศเข้ามาต้องใช้วิธีไหน ดังนั้นเมื่อมีการรัฐประหารแทบทุกครั้ง ฝั่งทหารก็จะสรรหาสูตรใหม่ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ว่าถ้ากลับมาเลือกตั้งอีกครั้ง อำนาจจะตกอยู่กับฝั่งทหารตามเดิม

3) เมื่อเกิดรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้ว ประเทศย่อมไม่สามารถมีการเลือกตั้งได้ ต้องถูกปกครองด้วย คสช. ดังนั้นประชาชนจึงเริ่มกดดัน คสช.ให้รีบร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ และจัดทำกฎหมายลูกเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เสียที เพราะคสช.เข้ามาด้วยสโลแกนว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ในประเทศปกติแล้ว ก็ควรรีบคืนอำนาจให้ประชาชน และมีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

4) คสช. แต่งตั้งมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นหัวหน้าทีมร่างรัฐธรรมนูญ และได้ “ร่างกฎ” เพื่อให้คสช.ยึดอำนาจต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด มีการใส่เงื่อนไขต่างๆมากมาย และหนึ่งในนั้นคือ การให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่คนที่คัดเลือกว่าใครจะได้เป็น ส.ว. บ้าง นั่นคือคสช.

ประชาชน ณ ตอนนั้นจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ถ้าหากไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ก็จะไม่ได้เลือกตั้ง คสช.ก็จะกุมอำนาจไปเรื่อยๆ แต่ถ้ายอมรับก็จะได้เลือกตั้ง แต่ก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขของคสช.

5) ผลการโหวตออกมา ฝ่ายรับร่างได้คะแนน 16.8 ล้านเสียง (61.35%) ส่วน ฝ่ายไม่รับร่างได้คะแนน 10.5 ล้านเสียง (38.65%) เมื่อประชาชนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แต่เลือกในเงื่อนไขที่คสช. วางแผนไว้หมดแล้ว

6) คสช. ต้องการยึดอำนาจต่อไปให้นานที่สุด ดังนั้นตราบใดก็ตาม ที่ยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ของมีชัย พวกเขาจะไม่มีวันพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่แน่นอนประชาชนทั่วไปไม่ยอม ที่จะให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตลอดไป

7) กระแสสังคมรวมถึงม็อบ ต่างเห็นตรงกันว่า สภาควรผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุดเพื่อลดทอนอำนาจของ ส.ว. ไม่ใช่ให้คน 250 คน ที่คสช.เลือกมา มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศแบบนี้

8) อย่างไรก็ตาม คสช. นั้นรู้แต่แรก ว่าจุดหนึ่งประชาชนก็ต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกเขายอมไม่ได้ จึงให้มีชัย ฤชุพันธ์ ใส่ “ระบบล็อก” เอาไว้ ในรัฐธรรมนูญที่ออกแบบในปี 2560 ในชื่อ “มาตรา 256”
มาตรา 256 ระบุว่า ถ้าคุณคิดจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องผ่าน 3 วาระดังนี้
วาระที่ 1 – รับหลักการ ( ส.ส.+ ส.ว. รวมกันเห็นชอบเกินครึ่ง และ ต้องมี ส.ว. เห็นชอบ 1 ใน 3)
วาระที่ 2 – พิจารณาเรียงรายมาตรา (ส.ส. + ส.ว. รวมกันเห็นชอบเกินครึ่ง)
วาระที่ 3 – ขั้นสุดท้ายรัฐสภาโหวตรับรอง (ส.ส.+ส.ว. รวมกันเห็นชอบเกินครึ่ง และ ส.ว. ต้องเห็นชอบเกิน 1 ใน 3)

เมื่อผ่าน 3 วาระ ก็จะเข้าไปสู่กระบวนการประชามติ ให้คนทั้งประเทศร่วมกันโหวตต่อไป เราจะเห็นว่ามาตรา 256 นั้น คนคิดจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องได้ความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 ซึ่งในโลกของความเป็นจริง ไม่มีวันทำได้เลย เพราะ ส.ว. คือคนที่คสช.แต่งตั้งมา เป็นไปไม่ได้ ที่จะโหวตอะไร แล้วทำให้ฝั่ง คสช.เสียเปรียบ

เหมือนอย่างกรณีการเลือกนายกฯ ระหว่างพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในปี 2562 ส.ว. 250 คน ก็รวมใจโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ 249 คน ส่วนอีก 1 คน โนโหวต เพราะเป็นรองประธานสภา เป็นต้น ส.ว. แสดงจุดยืนชัดเจนว่ายืนอยู่ข้างไหนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

9) ดังนั้นก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอื่นใด ขั้นแรกสุดต้องกำจัดมาตรา 256 ทิ้งไปก่อน โดยไม่ปล่อยให้ ส.ว. สามารถขัดขวางและเบรกทุกอย่างได้แบบนี้

10) ในช่วงปีที่แล้ว หลังจากมีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศ และผู้ชุมนุม ประกาศจุดยืนเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1- พล.อ. ประยุทธ์ต้องลาออก 2- แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3- ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
รัฐบาลยืนยันว่ายังไงก็ไม่แตะเรื่องสถาบันกษัตริย์ และนายกยืนยันว่ายังไงก็ไม่ลาออก ดังนั้นจึงเปิดช่องว่างให้เจรจาในเงื่อนไขแค่ข้อเดียวเท่านั้น คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมุมนี้รัฐบาลเองก็รู้กระแสสังคมดี ว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง เหตุการณ์อาจจะลุกลามบานปลายได้

11) ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ในวาระที่ 1 การโหวตในรอบแรกผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยกระแสสังคมจากม็อบ ทำให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน รวมถึงส.ว. เห็นควรว่า ควรมีการแก้ไข มาตรา 256 และ มีการเลือก ส.ส.ร. ขึ้นมา

ส.ส.ร. คืออะไร? ถ้าจำกันได้ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับที่มีชัย ฤชุพันธ์เป็นคนออกแบบ โดยมีชัยก็อยู่ภายใต้คำสั่งของคสช.อีกที และสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือกฎที่มีชัยร่างขึ้นมา เป็นประโยชน์ให้ คสช.โดยตรง
ดังนั้น ถ้าหากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง ต้องหาคนกลางที่มีความยุติธรรมในการออกแบบกฎขึ้นมา ซึ่งคนที่ว่านั้น ก็คือ “ส.ส.ร.” หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวคือให้ประชาชนเลือกตั้งคน 200 คนเข้ามา แล้วให้ 200 คนนี้ (ซึ่งจะถูกเรียกว่า ส.ส.ร.) ช่วยกันออกแบบรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นแบบนี้ ประชาชนส่วนใหญ่จะรับได้ เพราะไม่ใช่คนที่คสช.แต่งตั้งเอง เพื่อมาสร้างกฎให้ตัวเอง

12) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 การโหวตวาระที่ 2 ผ่านต่อเนื่อง เข้าสู่วาระที่ 3 ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 ถ้าหากโหวตผ่านอีกครั้ง ก็จะเข้าสู่กระบวนประชามติ และคราวนี้ ส.ว. จากที่มีอำนาจสามารถ “บล็อก” การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกอย่าง ก็จะโดนลดทอนอำนาจดังกล่าวลงไป

13) ก่อนจะโหวตวาระ 3 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยชี้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร. ไม่สามารถทำได้ เพราะจะเป็นที่มาของการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า “รัฐสภา จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนลงมติก่อนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ซึ่งฝ่ายค้านบอกว่าถ้าโหวตวาระ 3 ผ่าน ยังไงก็ต้องเข้าสู่การลงประชามติอยู่แล้ว และอีกอย่าง การมี ส.ส.ร. ไม่ใช่การทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะไม่แตะหมวด 1 และ 2
แต่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลชี้ว่า สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกอาจจะหมายถึง ทำประชามติตั้งแต่แรก ก่อนจะมีการโหวตวาระที่ 1 ดังนั้นขอส่งเรื่องกลับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใหม่อีกรอบ

14) วันที่ 17 มีนาคมมาถึง พรรคพลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ต้องการให้ “เลื่อนลงมติ แล้วรอการตีความอีกรอบจากศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าจะให้ประชามติตอนไหนกันแน่ ระหว่างก่อนวาระ 1 หรือ หลังวาระ 3

หลังจากโต้เถียงกันมา 11 ชั่วโมง ว่าจะส่งเรื่องกลับให้ศาลตีความก่อนดีหรือไม่ สุดท้ายนายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอญัตติให้โหวตกันไปเลยว่าให้จบในวันนี้ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วย ยกเว้นแต่พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ที่ต้องการให้เลื่อนไปก่อน

15) สุดท้ายการโหวตเกิดขึ้น นั่นทำให้ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทยวอล์กเอาต์ออกจากสภาทั้งหมด จนโดนคนในโลกออนไลน์รุมด่าอย่างหนัก ว่าพรรคภูมิใจไทยมีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญตอนหาเสียง แต่พอได้เลือกมาจริงๆ กลับเลือกวอล์กเอาต์แทน

พรรคภูมิใจไทยอธิบายว่า ในเมื่อโหวตไปก็รู้อยู่แล้วว่าต้องแพ้ เพราะยังไงก็ไม่สามารถได้คะแนนจาก ส.ว. เกินครึ่งอยู่แล้ว จึงไม่อยากฆ่าโอกาสแก้รัฐธรรมนูญให้ตายด้วยมือตัวเอง

16) บทสรุปการโหวตวาระ 3 คือ “ไม่ผ่าน” โดยนอกจากส.ว. 250 คน ต้องเห็นชอบอย่างน้อย 1 ใน 3 (84 คน) แต่ส.ว. ที่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีแค่ 2 คนเท่านั้น เช่นเดียวกับคะแนนจาก ส.ส.ที่ต้องการ 301 เสียง แต่มีคนโหวตเห็นชอบเพียง 206 เสียงเท่านั้น

ส.ส. และ ส.ว. หลายคนใช้วิธี ไม่เข้าร่วมองค์ประชุมเลย และบางคนก็เลือกงดลงคะแนนเสียง มีการวิเคราะห์ว่า ทำแบบนี้ประชาชนจะได้รู้สึกว่า “ไม่ได้คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ” เพียงแต่ไม่ลงคะแนนเห็นชอบเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ได้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน

นั่นทำให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนคาดหวัง จึงล่มไปเรียบร้อย จะไม่มีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา และ วุฒิสมาชิกจะมีอำนาจมหาศาลในมือเช่นเดิม яндекс

17) หลังจากนี้ เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญต้องนับ 1 ใหม่ตั้งแต่แรก คราวนี้อาจต้องมีการทำประชามติตั้งแต่แรกสุด ก่อนจะโหวตวาระ 1 ไปเลย เพื่อขจัดข้อขัดแย้งทั้งปวง อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุดท้ายที่ล็อกไว้ก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือเรื่อง ส.ว. ต่อให้ประชาชนทั้งประเทศทำประชามติผ่าน แต่ถ้า ส.ว.ไม่เห็นชอบเกิน 84 เสียงเสียอย่าง ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ดี

18) ขณะที่การเลือกตั้งใหม่ครั้งหน้า จะเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่ง ส.ว. 250 คน ที่มาจากคสช. ก็ยังคงอยู่ และมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปเหมือนเดิม นั่นแปลว่า นายกฯ คนต่อไปก็จะยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาตามเดิม อย่างน้อยก็ถึงปี 2570 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า เมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ รอบ 2 หมดสมัยลง

ในการเลือกตั้งปี 2570 วุฒิสมาชิกที่ คสช. แต่งตั้งมา 250 คน จะหมดวาระลงแล้ว โดยส.ว.ชุดใหม่ จะมาจากการเลือกกันเอง ของประชาชน 20 กลุ่มอาชีพ (ลดจำนวน ส.ว. เหลือ 200 คน) ซึ่งก็อาจมีช่องทางให้คสช. ล็อบบี้ได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะซับซ้อนและยากกว่า สว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกเองในปัจจุบัน

19) สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญนั้น กลุ่มผู้ชุมนุม และฝ่ายต่อต้านคสช. มองว่าจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพราะจะปล่อยให้อำนาจทหาร คุมประเทศต่อไปอีกนานแค่ไหน อย่างไรก็ตามในมุมของคนสนับสนุนรัฐบาล เช่นนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีที่สุดแล้ว โดยใช้คำว่านี่คือ “รัฐธรรมนูญปราบโกง” เพราะเขียนตัวล็อกไว้หนาแน่น จนแก้ไขอะไรไม่ได้เลย ทำให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จะบริหารต่อไปได้ โดยไม่มีการโดนขัดขวาง

ณ เวลานี้ ฝ่ายค้านกำลังวางกลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญถูกผลักดันเข้าสู่สภาอีกครั้ง แต่ระหว่างนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จะมีอำนาจในประเทศไทยต่อไปอีกหลายปี ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า