Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer เป็นอีกครั้งที่การเมืองไทย ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ เมื่อการโหวตขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องล่มกลางทาง ทั้งๆ ที่ ส.ส. เห็นชอบให้แก้ไขแล้ว แต่กลับถูก ส.ว. หรือวุฒิสมาชิกปัดตกไป 12 จาก 13 ร่าง

เรื่องราวเป็นอย่างไร ทำไม ส.ว.จึงโดนโลกออนไลน์โจมตีอย่างรุนแรง workpointTODAY จะอธิบายเรื่องราวทั้งหมด แบบเข้าใจง่ายใน 13 ข้อ

1) ในปี พ.ศ. 2557 คสช.ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้ง โดยในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เมื่อมีการยึดอำนาจโดยทหาร เกือบทุกครั้งจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อ “เขียนกฎใหม่” ให้ฝั่งทหารสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปให้ได้นานที่สุด แต่ในมุมของคนยึดอำนาจจะอ้างว่า ต้องเขียนกฎใหม่เพื่อไม่ให้ประเทศเกิดปัญหาซ้ำรอยก่อนจะมีการรัฐประหาร

2) คำว่า “รัฐธรรมนูญ” มีความหมายคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยในรัฐธรรมนูญจะมีรายละเอียดหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “วิธีการเลือกตั้ง” กล่าวคือ การเลือกผู้นำประเทศเข้ามาต้องใช้วิธีไหน ดังนั้นเมื่อมีการรัฐประหารแทบทุกครั้ง ฝั่งทหารก็จะสรรหาสูตรใหม่ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ว่าถ้ากลับมาเลือกตั้งอีกครั้ง อำนาจจะตกอยู่กับฝั่งทหารตามเดิม

3) เมื่อเกิดรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้ว ประเทศย่อมไม่สามารถมีการเลือกตั้งได้ ต้องถูกปกครองด้วย คสช. เมื่อเวลาผ่านไปประชาชนจึงเริ่มกดดัน คสช.ให้รีบร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ และจัดทำกฎหมายลูกเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เสียที เพราะคสช.เข้ามาด้วยสโลแกนว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ในประเทศปกติแล้ว ก็ควรรีบคืนอำนาจให้ประชาชน และมีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

4) คสช. แต่งตั้งมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นหัวหน้าทีมร่างรัฐธรรมนูญ และได้ร่างกฎใหม่ๆ เพื่อให้คสช.ยึดอำนาจต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด มีการใส่เงื่อนไขต่างๆ มากมาย และหนึ่งในนั้นคือ การให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่คนที่คัดเลือกว่าใครจะได้เป็น ส.ว. บ้าง นั่นคือคสช.

รวมถึง มีการเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.อีกด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 (84 คน) คือต่อให้ ส.ส. ที่ประชาชนเลือกมา 500 คน จะเห็นชอบหมด แต่ถ้า ส.ว. 1 ใน 3 ไม่เห็นชอบด้วย ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไร

5) แม้จะมีเงื่อนไขที่ฟังดูแปลก แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะถูกใช้จริงไม่ได้ ถ้าหากประชาชนทั่วประเทศไม่โหวตรับร่าง ณ เวลานั้น มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกถึงความผิดปกติ แต่ปัญหาคือ ถ้า “ไม่ยอมรับร่าง” จากมีชัย ฤชุพันธุ์ ประเทศก็จะไม่มีเลือกตั้ง และคสช. ก็จะกุมอำนาจไปเรื่อยๆ แต่ถ้าตัดสินใจ “รับร่าง” ก็จะได้เลือกตั้ง แต่ทุกอย่างจะตกอยู่ในเงื่อนไขที่คสช. กำหนดไว้

6) ผลการลงประชามติออกมา ฝ่ายรับร่างได้คะแนน 16.8 ล้านเสียง (61.35%) ส่วน ฝ่ายไม่รับร่างได้คะแนน 10.5 ล้านเสียง (38.65%) เมื่อประชาชนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากกว่า ประเทศจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

7) คสช. ต้องการยึดอำนาจต่อไปให้นานที่สุด ดังนั้นตราบใดก็ตามที่ยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ของมีชัย พวกเขาจะถืออำนาจในมือต่อไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เสียงจากประชาชนก็เริ่มเรียกร้องให้มีการแก้ไขรายละเอียดในบางส่วน โดยเรื่องอำนาจของส.ว. ที่มีพลังมากเกินไป คือไม่ว่าฝ่าย ส.ส.คิดจะทำอะไร แต่ถ้าส.ว. ไม่เห็นชอบด้วยก็จบ

8) ความซับซ้อนของระบบ ส.ว.ในประเทศไทยคือ กลุ่ม ส.ว. 250 คน ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลย ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือก ส.ว.ได้ด้วยตัวเอง

ส.ว. 6 คน – จะเป็น ส.ว.อัตโนมัติโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ปลัดกลาโหม

ส.ว. 194 คน – จะมาจาก คณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 400 คน แล้วคสช. จะคัดเลือกให้เหลือ 194 คน

ส.ว. 50 คน – กกต. รับสมัครทั่วประเทศเหลือ 200 คน ก่อนที่คสช. จะคัดเหลือ 50 คน

เท่ากับว่า ใน ส.ว. 250 คน จะมีผู้นำเหล่าทัพ 6 คน ส่วนอีก 244 คน จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคสช. เสียก่อน จึงจะได้รับตำแหน่ง

ดังนั้นเมื่อถูกเลือกโดยต้องผ่านคสช. ในลักษณะนี้ ส.ว.จึงโดนสังคมครหามาตลอด ว่าการมีวุฒิสมาชิกเอาไว้ ก็เพื่อเป็นเครื่องมือของฝั่งคสช. เท่านั้น ที่ไว้ใช้ในการโหวตในทิศทางที่ตัวเองต้องการ แต่ไม่ได้สร้างคุณประโยชน์ใดๆ ให้กับประเทศอย่างแท้จริง

9) กรณีศึกษาที่ ทำให้สังคมได้เห็นว่า ส.ว. เลือกข้าง คือการเลือกนายกรัฐมนตรี ปี 2562 โดย ส.ว. 250 คน โหวตให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจำนวน 249 เสียง ส่วนอีก 1 เสียงงดออกเสียงตามมารยาทในฐานะรองประธานสภา จึงมีเสียงวิจารณ์ดังออกมาหนาหูมาก ว่าเป็นไปได้หรือ ที่ส.ว. ทั้ง 250 คน จะพร้อมใจเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ทั้งหมด โดยที่ไม่พิจารณาตัวเลือกอื่นเลย

10) สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญของประเทศไทย มีความพยายามมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีการยื่นไปถึง 7 ร่าง แต่สุดท้าย ในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดน ส.ว. ปัดตก 5 ร่าง หนึ่งในร่างที่โดนปัดทิ้งคือ ร่าง iLaw ที่มีประชาชน 1 แสนคน ช่วยสนับสนุน

ขณะที่อีก 2 ร่าง ของฝ่ายค้านหนึ่ง และฝ่ายรัฐบาลหนึ่ง ก็ไม่ผ่านการพิจารณาในท้ายที่สุดอยู่ดี ทำให้ การแก้รัฐธรรมนูญ 7 ร่างที่หลายๆ ฝ่ายนำเสนอ ไม่เป็นผล ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เกิดขึ้นเลย

11) เมื่อไม่สามารถแก้ทั้งฉบับได้ พรรคการเมืองต่างๆ จึงนำเสนอการแก้รัฐธรรมนูญแบบ “รายมาตรา” โดยยื่นข้อเสนอ แก้ไขในบางหัวข้อ

โดยมีทั้งหมด 13 ร่าง เช่น

– เพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน (ร่าง 2 จากพรรคเพื่อไทย)
– ปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี (ร่าง 4 จากพรรคเพื่อไทย)
– ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ (ร่าง 5 จากพรรคเพื่อไทย)
– ประกันรายได้พื้นฐาน (ร่าง 7 จากพรรคภูมิใจไทย)
– เพิ่มการตรวจสอบทุจริต (ร่าง 10 จากพรรคประชาธิปัตย์)
– กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (ร่าง 12 จากพรรคประชาธิปัตย์)

ล่าสุดในการโหวตเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ทั้ง 13 ร่าง ทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ส่วนใหญ่ต่าง “รับหลักการ” นั่นคือ เห็นชอบว่าควรจะมีการแก้ไข ทั้งในประเด็นที่ประชาขนควรมีเสรีภาพมากขึ้น และ ส.ว.ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกฯ อย่างไรก็ตาม ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่มีชัย ฤชุพันธ์ ดีไซน์เอาไว้ การจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญใดๆ ได้นั้น ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 เป็นอย่างน้อย (84 จาก 250 คน)

ปรากฏว่า ทั้ง 13 ร่าง ที่พรรคการเมืองเสนอมา โดนส.ว. ปัดตกทิ้งทั้งหมด เหลือผ่านแค่ร่าง 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ นั่นคือ การเปลี่ยนการเลือกตั้งจากเดิม กา 1 ใบ ได้ทั้งแบ่งเขต และปาร์ตี้ลิสต์ แต่ร่างฉบับใหม่ จะแบ่งบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ แยก ส.ส.แบ่งเขต กับ ปาร์ตี้ลิสต์กันชัดเจนไปเลย

อธิบายโดยง่ายคือ ร่างเดียวที่ส.ว.ให้ผ่าน คือร่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง แต่ในแง่ของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง เช่นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือ การประกันรายได้พื้นฐาน โดน ส.ว.ปฏิเสธทั้งหมด

12) ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ให้สิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี มี ส.ว. หลายคน ได้ย้ำในระหว่างการอภิปรายว่า เดี๋ยวพวกเขาก็ไปแล้ว ไม่ต้องพยายามมาปิดสวิตช์อะไร ตัวอย่างเช่น ส.ว. ตวง อันทไชย กล่าวว่า “ต่อให้ท่านไม่แก้ อีก 2 ปี ผมก็ไปแล้วครับ”

ท่ามกลางเสียงตอบโต้ในโลกออนไลน์ว่า กว่าจะถึงวันที่หมดวาระ ส.ว.ชุดนี้ ก็จะยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งแปลว่า ส.ว. ก็มีโอกาสสูงที่จะเทคะแนนให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นเดิม นั่นแปลว่า การที่ ส.ว. ยังไม่ปิดสวิตช์ ประเทศไทยก็จะมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปอีก 4 ปี

13) สำหรับบทสรุปของการเมืองไทย จึงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออกอยู่ ณ เวลานี้ กล่าวคือ ไม่สำคัญว่า ส.ส. หรือ ประชาชนจะเสนอให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายใด แต่ถ้า ส.ว. ไม่ต้องการ เสียงจากประชาชนก็จะหยุดอยู่ที่สภาแค่นั้น

ขณะที่ ส.ว. ก็ยังต้องตอบคำถามถึงความเชื่อมโยงของตัวเอง กับคสช. ด้วยว่า สามารถมีอิสระในการตัดสินใจเองได้แค่ไหน หรือว่าทุกการตัดสินใจ จำเป็นต้องผ่านการรับรองจาก คสช. เสมอ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า