Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในขณะที่ชาติในอาเซียนได้วัคซีนโมเดอร์นากันไปเยอะแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีโมเดอร์นาเข้ามาเลยสักโดส คำถามคือ มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วที่หลายคนสั่งจองกับเอกชนไว้ ทำไมถึงโดนเลื่อนออกไป สุดท้ายจะได้ฉีดหรือไม่ workpointTODAY จะสรุปสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับวัคซีนโมเดอร์นาไว้ แบบเข้าใจง่ายใน 17 ข้อ

1) วันที่ 30 ตุลาคม 2563 บริษัท โมเดอร์นา จากประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าวัคซีน mRNA ที่ตัวเองผลิต ผ่านการทดสอบเฟส 3 เรียบร้อยแล้ว และเริ่มต้นลงนามข้อตกลงจัดซื้อรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

2) จุดเด่นของโมเดอร์นา คือการจัดเก็บทำได้ง่าย สามารถเก็บในตู้เย็น อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 30 วัน และเก็บในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสได้ 6 เดือน ในขณะที่คู่แข่งอย่างไฟเซอร์ ณ เวลานั้น ต้องจัดเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส

3) วันที่ 18 ธันวาคม 2563 องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติฉุกเฉินให้วัคซีนของโมเดอร์นาสามารถใช้งานที่สหรัฐฯ ได้ โดยว่าที่รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส เป็นคนเข้ารับการฉีด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าโมเดอร์นาสามารถใช้การได้แน่ไม่มีปัญหา

4) ความเคลื่อนไหวของโมเดอร์นา ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกวันที่ 19 มกราคม 2564 เมื่อ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช กล่าวว่า ประเทศไทยจะนำเข้าวัคซีนสองตัว ได้แก่ โมเดอร์นา วัคซีน mRNA จากสหรัฐฯ และ ซิโนแวค วัคซีนเชื้อตายจากจีน

จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ องค์การเภสัชกรรม เริ่มติดต่อกับบริษัท โมเดอร์นาผ่านทางอีเมล์ คุยความเป็นไปได้ก่อนว่าสามารถนำเข้าวัคซีนมาที่ประเทศไทยได้หรือไม่

จะเห็นได้ว่า โมเดอร์นา เป็นยี่ห้อแรก คู่กับซิโนแวค ที่มีข่าวว่าจะเข้าไทยก่อนไฟเซอร์, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และ ซิโนฟาร์มเสียอีก

5) วันที่ 30 เมษายน 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โมเดอร์นา เป็นวัคซีนที่ใช้การได้ในภาวะฉุกเฉินเป็นยี่ห้อที่ 5 ต่อจากไฟเซอร์, แอสตร้าเซเนก้า, โควิชิลด์ และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งเมื่อ WHO ให้การยอมรับแล้ว โมเดอร์นาจึงเริ่มกระบวนการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

6) เมื่อ WHO ประกาศยอมรับ ทำให้วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการอาหารและยาของไทย (อย.) จึงประกาศอนุมัติตามไปติดๆ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ให้โมเดอร์นาสามารถใช้การได้ในประเทศไทย เป็นแบรนด์ที่ 4 ต่อจาก แอสตร้าเซเนก้า, ซิโนแวค และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

7) ณ เวลานี้ ภาครัฐและเอกชนเห็นภาพตรงกันแล้วว่า ลำพังวัคซีน 2 ยี่ห้อหลัก คือแอสตร้าเซเนก้า และ ซิโนแวค ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอแผนให้ ศบค.ว่า จากนี้ไปภาครัฐกับภาคเอกชน จะไปเดินหน้าเจรจากับยี่ห้อต่างๆ เพื่อนำเข้ามาฉีดเพิ่มจากเดิมที่มี

โดยภาครัฐจะไปดีลกับไฟเซอร์, สปุตนิค และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนภาคเอกชนจะไปจัดซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “วัคซีนทางเลือกที่โรงพยาบาลเอกชนจะนำเข้าควรมียี่ห้อแตกต่างจากวัคซีนที่รัฐบาลจะนำเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับภาครัฐ”

8 ) เมื่อฝั่งกระทรวงสาธารณสุขเสนอมาแบบนี้ ทำให้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเล็งเป้าหมายไปที่โมเดอร์นา โดยเริ่มจาก “ถามความสนใจ” ว่าถ้ามีการจองโมเดอร์นาจริง ประชาชนจะยอมควักเงินจ่ายเองหรือไม่ ซึ่งนายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้เผยตัวเลขว่า มีประชาชนต้องการโมเดอร์นามากกว่า 9.2 ล้านโดส

9) เมื่อมีความต้องการมากขนาดนี้ ทำให้วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 องค์การเภสัชกรรม ในฐานะผู้นำเข้าวัคซีน ได้ประกาศลงนามซื้อขายวัคซีนโมเดอร์นา ผ่านบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย โดยจะซื้อวัคซีนเป็นจำนวน 5 ล้านโดส เริ่มทยอยได้รับสินค้าตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 2564 ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2565

โดยโมเดอร์นา จำนวน 5 ล้านโดส จะแบ่งเป็นของโรงพยาบาลเอกชน 3.9 ล้านโดส และอีก 1.1 ล้านโดสจะกระจายให้กับสภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี และ โรงพยาบาลศิริราช

10) เมื่อรู้จำนวนแน่ชัดแล้วว่า โรงพยาบาลเอกชนจะได้โควต้า 3.9 ล้านโดส ทำให้แต่ละโรงพยาบาลก็เริ่มกระบวนการให้ประชาชนจ่ายเงินล่วงหน้าไว้ก่อนได้เลย โดยแต่ละโรงพยาบาลก็เสนอราคาที่ต่างกัน เช่น โรงพยาบาลวิภาวดี และโรงพยาบาลธนบุรี คิดราคา 2 เข็ม รวม 3,300 บาท เป็นต้น ซึ่งประชาชนก็จ่ายเงินจองคิวกันอย่างล้นหลาม

11) ระหว่างที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน รอวัคซีนจากซิลลิค ฟาร์มาอยู่นั้น ในวันที่ 17 กันยายนก็มีข่าวสำคัญ เมื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามสัญญาซื้อโมเดอร์นาจำนวน 8 ล้านโดส โดยแบ่งส่วนหนึ่งให้ผู้ด้อยโอกาส และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปขายต่อให้เอกชน

ดังนั้น ในภาพรวม ไทยจึงมีการสั่งโมเดอร์นาทั้งหมด 2 ก้อน คือ ก้อนของโรงพยาบาลเอกชนที่สั่งก่อน จำนวน 5 ล้านโดส และ ก้อนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่สั่งที่หลังจำนวน 8 ล้านโดส

12) หากเทียบกับประเทศในอาเซียน ไทยเป็นหนึ่งในชาติที่ได้โมเดอร์นาช้าที่สุด ตัวอย่างเช่น
– สิงคโปร์ ได้ 17 กุมภาพันธ์ 2564
– ฟิลิปปินส์ ได้ 27 มิถุนายน 2564
– อินโดนีเซีย ได้ผ่านโคแว็กซ์ 11 กรกฎาคม 2564
– เวียดนาม ได้ผ่านโคแว็กซ์ 24 กรกฎาคม 2564

อย่างไรก็ตามแม้จะได้ช้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ ถึงตรงนี้ประชาชนจึงเฝ้ารอโมเดอร์นาด้วยความหวัง

13) เข้าสู่เดือนตุลาคม ตามกำหนดการนั้น โมเดอร์นาล็อตแรกสำหรับโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 1.9 ล้านโดส ต้องมาถึงมือคนไทยแล้ว แต่สุดท้ายโดน “เลื่อน” ยังไม่มาถึงสักที จนทำให้คนที่สั่งจองไปทวงถามกันอย่างดุเดือด สุดท้ายบริษัทซิลลิค ฟาร์มา ต้องออกแถลงการณ์ 3 ข้อ มีใจความว่า
– ตอนนี้ความต้องการวัคซีนทั่วโลกสูงกว่าการผลิต แต่จะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้วัคซีนเร็วที่สุด
– ซิลลิค ฟาร์มา แจ้งว่าจะได้วัคซีนจริงๆ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป เรื่องการดีเลย์อยู่นอกเหนือการควบคุมของซิลลิค ฟาร์มา ที่เป็นตัวแทนนำเข้า
– แผนล่าสุดคือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จะทยอยส่งวัคซีนให้ประเทศไทย สัปดาห์ละ 1-3 แสนโดส ส่งไปเรื่อยๆ จนครบ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565

14) สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ ยังไม่มีความแน่นอนว่าโมเดอร์นาจะเข้ามาวันไหน เพราะแม้ซิลลิค ฟาร์มา บอกว่าจะได้สินค้าในเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน อาจจะเลื่อนไปอีกรอบ ลากยาวจนถึงเดือนธันวาคมก็เป็นได้

15) นอกจากนั้นอีกประเด็นในโลกออนไลน์ที่ถูกตั้งคำถามคือ เมื่อโมเดอร์นามาถึงไทยล็อตแรกแล้วนั้น วัคซีนจะเป็นของใครก่อน ระหว่างโรงพยาบาลเอกชน หรือราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
กล่าวคือแม้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะระบุว่า จะได้โมเดอร์นาในไตรมาสแรกของปี 2565 แต่คนที่สั่งจองกับโรงพยาบาลเอกชนไปนั้น ตราบใดที่วัคซีนยังไม่มาถึง ก็ยังมีความกังวลใจอยู่ ว่าจะโดนโฉบตัดหน้าไปก่อน

16) ขณะที่ประเด็นเรื่องราคานั้น ของโรงพยาบาลเอกชน จะคิดราคาเข็มละ 1,500 – 1,650 บาท โดยใน 1 เข็ม วัคซีนจะมีความแรง 100 ไมโครกรัม ขณะที่ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะคิดราคาถูกกว่าอยู่ที่เข็มละ 555 บาท แต่ก็จะมีความแรงเพียง 50 ไมโครกรัม

ในรายงานที่สหรัฐฯ ระบุว่า สำหรับคนที่ต้องการ Booster เข็ม 3 หรือ เข็ม 4 การฉีดด้วยความแรง 50 ไมโครกรัม ก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับคนที่ฉีดเข็ม 1 หรือ 2 คำแนะนำคือ ฉีดด้วยความแรง 100 ไมโครกรัมจะดีกว่า
มีบางคนที่จ่ายเงินหลักพันให้โรงพยาบาลเอกชนแล้ว แต่เมื่อเห็นราคาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ถูกกว่า จึงต้องการขอเงินคืนที่จองไว้ แล้วมาซื้อของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แทน แต่มีการยืนยันว่า เงินที่จองไว้ไม่สามารถขอคืนได้ แต่สามารถโอนสิทธิ์ให้คนอื่นแทนได้

17) สถานการณ์ล่าสุดก็สิ้นสุดลงตรงนี้ ต้องติดตามกันต่อไปว่า โมเดอร์นาจะเข้าไทยได้เมื่อไหร่ และถ้าเข้าแล้วจะกระจายวัคซีนอย่างไร จึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ในประเทศไทย มีวัคซีน 5 ยี่ห้อที่ฉีดกันไปแล้ว คือแอสตร้าเซเนก้า, ซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม, ไฟเซอร์ และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันอีกส่วนหนึ่ง

ขณะที่โมเดอร์นา ทั้งๆ ที่องค์การอนามัยโลก รับรองวัคซีนไปแล้วตั้งแต่ 30 เมษายน มาจนวันนี้จะครบ 6 เดือนเต็มแล้ว แต่คณะทำงานในไทย ยังไม่สามารถนำเข้าได้ และยังไม่เริ่มการฉีดเลยแม้แต่โดสเดียว

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า