SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer เมียนมากำลังมีประชาธิปไตย แต่แล้วก็ถูกทหารรัฐประหารยึดอำนาจกลับไปวงจรเผด็จการอีกครั้ง ท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชนในประเทศ เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร workpointTODAY จะสรุปสถานการณ์ทุกอย่างให้เข้าใจภายใน 17 ข้อ

1) นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร พม่าถูกปกครองด้วยทหารมาโดยตลอด ในปี 1962 นายพลเน วิน ก้าวไปยึดอำนาจและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองทั้งหมด และจากนั้นมาหลายทศวรรษ พม่าก็ปกครองด้วยเผด็จการทหารมาโดยตลอด

2) ในปี 1990 พม่าโดนแรงกดดันหนักจากประชาคมโลกที่ไม่ยอมรับเผด็จการทหาร มีการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหลายอย่าง จนพม่ากลายเป็นประเทศที่พัฒนาช้าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นทำให้ทหาร ตัดสินใจให้มีการเลือกตั้ง โดยมีพรรคที่ทหารหนุนหลังชื่อ NUP คาดหมายว่าจะได้รับชัยชนะ

3) อย่างไรก็ตาม พอผลเลือกตั้งออกมาจริงๆ กลายเป็นพรรคประชาชนของนางอองซานซูจี ในชื่อ NLD ชนะไปอย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนนเสียง 72.6%  ของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งตามหลัก นางอองซาน ซูจี ก็ควรได้เป็นผู้นำประเทศ แต่สุดท้ายรัฐบาลทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้ง และปกครองด้วยเผด็จการต่อไปอีก 21 ปี จนถึงปี 2011

4) ในปี 2011 เข้าสู่ยุคออนไลน์ ประชาชนพม่าเห็นความเคลื่อนไหว การปฏิวัติที่ประเทศอื่นๆ เช่น “อาหรับสปริง” จึงมีข่าวว่าเตรียมทำการลุกฮือขึ้นเพื่อเรียกร้องขอประชาธิปไตยเช่นกัน นั่นทำให้ทหารที่กุมอำนาจอยู่ประกาศว่าในปี 2015 จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ให้สิทธิ์ประชาชนในการเลือกคนเข้าสภา

5) ก่อนจะถึงการเลือกตั้งในปี 2015 ฝั่งทหารได้แก้รัฐธรรมนูญโดยระบุว่า  25% ของ ส.ส. และ ส.ว. จะต้องเป็นคนที่มาจากการแต่งตั้งของทหาร  นอกจากนั้นยังมีการใส่เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญอีกด้วยว่า “ผู้ที่มีสามี หรือภรรยาเป็นชาวต่างชาติ ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้” เพื่อเป็นการขวางทางอองซาน ซูจี ที่มีสามีเป็นชาวอังกฤษนั่นเอง

6) การเลือกตั้ง 2015 มาถึง พรรค NLD ของอองซาน ซูจีลงสู้ ส่วนฝั่งทหารมีพรรคที่เป็นตัวแทนคือ USDP โดยฝั่งทหารมั่นใจว่า ด้วยข้อได้เปรียบที่มีเสียงสนับสนุนอยู่แล้ว 25% (166 เสียง)

สองสภารวมกัน มีทั้งหมด 664 คน และมีคะแนนเสียงของทหารจองไว้แล้ว 166 คน เท่ากับว่าพรรค USDP ที่คุมสื่อในมือ ขออีกแค่ 167 เสียง ก็จะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง สามารถออกกฎหมายได้

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรค NLD ได้ที่นั่ง 2 สภารวม 364 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง ทำให้พวกเขาชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใสสะอาด และเป็นรัฐบาลของประชาชนเป็นครั้งแรกในรอบ 54 ปี

7) อองซาน ซูจี ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญที่ทหารใส่ไว้ ที่ห้ามให้เธอเป็นประธานาธิบดี แต่เธอแก้เกมด้วยการแต่งตั้งถิ่นจ่อ แกนนำอีกคนของพรรค NLD ให้เป็นประธานาธิบดีของประเทศ ก่อนจะทำการ “สร้าง” ตำแหน่งใหม่ขึ้นมา นั่นคือ “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” (State Counsellor) โดยมีศักดิ์เทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีนั่นเอง โดยแม้ประธานาธิบดีจะเป็นประมุขในหน้ากระดาษ แต่เป็นที่รู้กันว่า อองซาน ซูจี คือคนกุมอำนาจสูงสุด

8) สถานการณ์การเมืองของพม่า เริ่มมีสัญญาณที่ดีของประชาธิปไตยมากขึ้น จริงอยู่ว่ายังแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่เมื่อมีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนได้ดีกว่ายุคทหารอย่างชัดเจน ในปี 2019 IMF คาดการณ์ว่า GDP ของพม่า (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นเมียนมาแล้ว) ขยายตัวที่ 6.8% ขณะที่การส่งออก ขยายตัว 8.94%

ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนในหลายๆโครงการ โดยสิงคโปร์ทุ่มเงินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์เข้าไปลงทุนในสาธารณูปโภคต่างๆ คือทิศทางถือว่าเป็นไปได้ด้วยดีมาก

นอกจากนั้นมีการเปิดใช้งานสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เชื่อมระหว่างเมืองเมียวดี กับ อำเภอแม่สอดของไทย ยิ่งทำให้การค้าระหว่างสองประเทศมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

9) อองซาน ซูจี เป็นคนฉลาด เธอเล่นการเมืองเป็น และรู้ว่าสิ่งที่ชาวพม่าไม่ชอบใจอย่างมาก คือประเด็นของโรฮิงญา ชาวพม่าจำนวนมากมองว่าโรฮิงญาเป็นผู้อพยพที่มาสร้างความลำบากให้คนพม่าในรัฐยะไข่ ดังนั้นจึงต้องการผลักดันชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศ ซึ่งแม้ชาวโรฮิงญาจะตอบโต้ว่า พวกเขาอาศัยอยู่ที่รัฐยะไข่ ก่อนที่พม่าจะได้เอกสารจากอังกฤษเสียอีก แต่ฝั่งรัฐบาลก็ไม่มอบสิทธิพลเมืองให้กับชาวโรฮิงญา เพราะมองว่าเป็นตัวปัญหามากกว่า

ในปี 2017 มีเหตุการณ์สำคัญเมื่อกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญา ได้นำกำลังบุกโจมตีหลายพื้นที่ในรัฐยะไข่ ซึ่งทหารเมียนมาก็ตอบโต้อย่างรุนแรง จนมีคนเสียชีวิตมากมาย ส่งผลให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 7 แสนคนต้องอพยพหนีตายไปบังกลาเทศ

นางอองซาน ซูจี ไม่ได้ปกป้องเหตุรุนแรงนี้มากนัก ทำให้เธอโดนโกรธแค้นจากชาวมุสลิมทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ที่กระทำกับพี่น้องร่วมศาสนา จนถึงขั้นโดนประเทศแกมเบีย ซึ่งเป็นมุสลิมเหมือนกัน แจ้งข้อหากับศาลโลกว่า เธอมีส่วนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

ชื่อเสียงของ อองซาน ซูจี ถือว่าติดลบไปพอสมควรในประชาคมโลก เพราะเธอคือเครื่องหมายของสันติภาพ ครั้งหนึ่งเธอเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาแล้ว แต่ในคราวนี้พอเห็นทหารจะปราบปรามโรฮิงญา กลับไม่แสดงรีแอ็กชั่นต่อต้านใดๆ โดยคนเชื่อว่า ถ้าเธอออกตัวเยอะ ก็อาจจะเสียฐานเสียงจากคนพุทธได้เช่นกัน

การตัดสินใจไม่ออกแอ็กชั่นเรื่องโรฮิงญา ในวิถีการเมืองทำให้เธอได้ประโยชน์  เพราะเธอได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีกจากประชาชนในเมียนมาที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

10) พฤศจิกายนปี 2020 รัฐบาลของพรรค NLD อยู่ครบวาระ ได้กำหนดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งสถานการณ์ทุกอย่างยังเหมือนเดิม คือพรรคทหารมีเสียง 25% ในมือ ดังนั้นฝั่งอองซาน ซูจี ต้องชนะแบบถล่มทลาย ถึงจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

แม้จะโดนประชาคมโลกวิจารณ์ว่าตลอดช่วงที่เธอมีอำนาจ สิทธิมนุษยชนในเมียนมายังไม่ดีขึ้น แต่พอเลือกตั้งเข้าจริงๆ ปรากฏว่า พรรค NLD ของอองซาน ซูจี ชนะแบบแลนด์สไลด์เช่นเดิม เธอได้คะแนนเสียงสองสภารวมกัน 396 เสียง จากทั้งหมด 664 เสียง คิดเป็น 59.4% มีอำนาจเต็มมืออีกครั้ง และเป็นความพ่ายแพ้ติดกัน ในการเลือกตั้ง 2 รอบ ของฝั่งทหาร แม้ว่าจะมีคะแนนเสียง 25% ตุนอยู่ไว้ในมือก่อนการเลือกตั้งก็ตาม

11) อย่างไรก็ตามคราวนี้ ฝั่งทหารไม่ปล่อยให้พรรค NLD ได้ปกครองประเทศต่อ โดยนายพลอาวุโส มิน อ่อง ลาย กล่าวว่า “ผมกล้าพอที่จะทำอะไรก็ได้ ถ้าหากสิ่งนั้นจะส่งผลกระทบต่อประเทศ ต่อประชาชน และกองทัพ” ซึ่งคำพูดลักษณะนี้ มีคนตีความว่า เขาตั้งใจจะทำรัฐประหารหรือไม่

12) ฝั่งกองทัพ ได้เรียกร้องไปที่กกต.ของเมียนมา ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส และอาจมีการโกงการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงขอเอาบัตรเลือกตั้งทั้งหมด มานับใหม่โดยใช้คนของกองทัพ โดยให้เหตุผลว่า  “ต้องทำแบบนี้เพื่อให้การเลือกตั้งปราศจากข้อสงสัย” แต่กกต.ปฏิเสธ ยืนยันว่าการเลือกตั้งมีการตรวจเช็กเป็นอย่างดีแล้ว

โฆษกกองทัพเมียนมากล่าวว่า “การล็อกผลโหวตแบบนี้ ทำให้เสียงของประชาชนไม่ถูกรับฟังอย่างแท้จริง ถ้าการเลือกตั้งแสดงผลที่ถูกต้อง แบบนั้นถึงจะเรียกว่ายุติธรรม ซึ่งถ้าไม่มีการทบทวนผลการเลือกตั้งอีกครั้ง กองทัพไม่อาจจะยอมรับผลการเลือกตั้งได้” ซึ่งฝั่งกกต.ก็ตอบโต้ไปว่า ถ้าคิดว่าทุจริตตรงไหน ให้เอาหลักฐานมาคุยกันได้เลย

13) วันที่ 29 มกราคม 2021 มีรายงานว่าทหารได้เคลื่อนรถถังจำนวนมากบนท้องถนน เป็นสัญญาณไม่ดีนัก และจากนั้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ทหารได้ทำการตัดสัญญาณโทรศัพท์ วิทยุ และโทรทัศน์ ก่อนที่ทหารจะเข้าไปจับกุมตัวคนของรัฐบาลไปถึง 3 คน ได้แก่ อองซาน ซูจี, ประธานาธิบดีวินมินต์ และ เมียว ยุนต์ โฆษกพรรค NLD

14) ก่อนที่เวลาไม่นานนัก สื่อของกองทัพจะรายงานว่า ตอนนี้ทหารได้เข้ารักษาอำนาจรัฐแล้ว โดยอ้างเหตุรัฐประหารเพราะมีความผิดปกติในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยกองทัพประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปีเต็ม แล้วแต่งตั้ง พล.อ. มินต์ ส่วย เป็นประธานาธิบดีรักษาการ แต่อำนาจในการปกครองประเทศ ในเวลานี้จะเป็นของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำสูงสุดของฝั่งกองทัพ

กองทัพอ้างว่าที่ต้องยึดอำนาจเพราะมีการโกงเลือกตั้งจริงๆ และระบุว่าถ้าหากกองทัพหวงอำนาจ ในปี 2015 ที่แพ้เลือกตั้งก็ต้องยึดอำนาจไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่ที่มาทำคราวนี้ เพราะเชื่อว่าพรรค NLD จงใจเล่นเกมตุกติกในระบอบประชาธิปไตย

15) สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ทั่วโลกออกมาต่อต้านการกระทำของทหารเมียนมา โดยทำเนียบขาว ของสหรัฐฯ รายงานว่า “สหรัฐฯ ต่อต้านความพยายามใดๆก็ตาม ที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง และขัดขวางประชาธิปไตยในเมียนมา”

ฝั่งออสเตรเลีย รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ มาริส เพย์น กล่าวว่า “กองทัพต้องเคารพกฎหมาย และแก้ไขปัญหาด้วยกรอบของกฎหมาย รวมถึงต้องปล่อยตัวผู้นำที่จับกุมตัวมาโดยทันที”  ส่วนกระทรวงต่างประเทศของอินเดียแถลงการณ์ว่า “อินเดียสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยของเมียนมามาโดยตลอด และเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นเรื่องน่ากังวลใจมาก”

16) ขณะที่ในความเห็นของประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้าน พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ไม่ขอวิจารณ์”

17) สถานการณ์ล่าสุดต้องติดตามกันต่อไปว่าด้วยแรงกดดันจากนานาชาติ จะทำให้กองทัพเมียนมามีปฏิกริยาใดๆหรือไม่ ขณะที่เรื่องความปลอดภัยของอองซาน ซูจี ตอนนี้ยังเป็นคำถามอยู่ เพราะยังไม่มีใครรู้เลยว่า เธอเป็นตายร้ายดีอย่างไรในเวลานี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า