SHARE

คัดลอกแล้ว

เรื่องราวที่หนองบัวลำภู คือหนึ่งในเหตุการณ์อันเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย และสร้างแผลในใจให้กับผู้คนไปตลอดกาล แต่แม้จะเจ็บปวดแค่ไหน เราก็ไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้ ผ่านไปอย่างสูญเปล่า สังคมไทยได้เรียนรู้อะไร จากโศกนาฏกรรมครั้งนี้บ้าง workpointTODAY จะสรุปทุกอย่างใน 10 ข้อ

1) ทำไมคนที่เสพยามาตลอดตั้งแต่มัธยมถึงเป็นตำรวจได้?

ผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นอดีตตำรวจ เปิดเผยว่า เขาเสพยาบ้ามาตลอดตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว จากนั้นพอได้เป็นตำรวจก็ยังเสพยาต่อ เขากล่าวว่า “สูบยาบ้ามาตั้งนานแล้ว เมื่อก่อนมียาบ้าเป็นร้อยๆ เม็ด ไม่เห็นมีใครมาจับกุม” คำถามคือ คนที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดขนาดนี้ มาเป็นตำรวจได้อย่างไรตั้งแต่แรก เกิดอะไรขึ้นกับระบบการคัดกรองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ถ้าคนที่ติดยา มาอยู่ใกล้อาวุธ ใกล้อำนาจรัฐได้ง่ายขนาดนี้ ก็มีโอกาสที่จะใช้อำนาจในทางที่ผิด และสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ระหว่างการเป็นตำรวจมากว่า 10 ปี ของคนร้าย เขาเสพยามาเรื่อยๆ แต่ไม่ถูกตรวจจับอะไรเลย ไม่มีการเช็กกันเลยหรือ ก็ปล่อยให้ดูดยาบ้าแบบนั้น ทั้งๆ ที่เป็นตำรวจน่ะหรือ
ถ้าคนร้ายที่หนองบัวลำภู เป็นตำรวจได้นานขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ยังเสพยา ก็แปลว่าตำรวจที่อยู่ในระบบปัจจุบัน อาจจะมีคนเสพยาเป็นปกติ แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ พกปืนได้ แบบนั้นใช่หรือไม่ แล้วความปลอดภัยของประชาชนอยู่ตรงไหน?

2) ทำไมคนก่อเหตุกราดยิง จึงมีแต่ทหาร-ตำรวจ

จากคดีกราดยิงที่โคราช (8 กุมภาพันธ์ 2563) จนมีผู้เสียชีวิต 31 คน ผู้ก่อเหตุคือทหาร เช่นเดียวกับ การกราดยิงโรงพยาบาลสนาม (25 มิถุนายน 2564) และ กราดยิงในกรมยุทธศึกษาทหารบก (14 กันยายน 2565) ก็เป็นทหารทั้งหมด คราวนี้ล่าสุด ก็เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก จึงชวนให้คิดว่า ทำไมคนก่อเหตุใหญ่ๆ จึงมีแต่เจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้น
สถิติเผยว่า อัตราการฆ่าตัวตาย ของตำรวจ มีสูงกว่าคนอาชีพอื่นๆ ถึง 3 เท่า เพราะเมื่อมีความเครียดสั่งสม แล้วมีอาวุธอยู่ใกล้มือ ทำให้ก่อการได้ง่าย ถ้าหากตายไปคนเดียวก็กรณีหนึ่ง แต่เหตุแบบที่หนองบัวลำภู ที่สังหารผู้บริสุทธิ์ไปพร้อมกันด้วยก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

อาชีพที่ควรปกป้องประชาชน แต่กลับเป็นคนทำร้ายประชาชนเสียเอง มันเกิดอะไรขึ้นกับวิธีคิดของคนเหล่านี้ ทั้งทหาร และตำรวจ มีระบบตรวจสอบเรื่องสุขภาพจิตของคนทำงานมากแค่ไหน

3) การตอบสนอง และถึงพื้นที่เกิดเหตุของตำรวจช้ามากๆ

ในคดีที่หนองบัวลำภู คนร้ายเริ่มก่อเหตุ เวลา 12.10 น. แต่ตำรวจยังไม่เข้าถึงจุดเกิดเหตุ จนคนร้ายหลบหนีไปได้เรื่อยๆ ฆ่าคนระหว่างทาง สุดท้ายมาฆ่าตัวตายเอง ในเวลา 14.50 น. มีช่วงเวลาก่อเหตุมากกว่า 2 ชั่วโมง คำถามคือตำรวจไปไหน ถ้าเกิดวิกฤติร้ายแรง แล้วชาวบ้านแจ้งตำรวจ สามารถมาถึงจุดเกิดเหตุได้ทันท่วงทีหรือไม่

ที่สหรัฐอเมริกา เวลามีคดีใดๆ ก็ตาม เมื่อประชาชนโทรแจ้ง 911 ตำรวจจะมาถึงจุดเกิดเหตุเร็วมาก คดีกราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดี้ฮุค ในรัฐคอนเน็คติคัท เมื่อปี 2012 ประชาชนแจ้ง 911 เวลา 9.35 น. ตำรวจมาถึงจุดเกิดเหตุ 9.39 น. ทำให้คนร้ายตัดสินใจฆ่าตัวตาย เวลา 9.40 น. ลดความสูญเสียที่อาจจะรุนแรงมากกว่านี้ได้

ระบบสายด่วนของไทย หรือ Dispatcher ที่ไม่ตอบสนองต่อความเป็นความตายของประชาชน ผู้คนยังสับสนว่าควรโทรไป 191 หรือเบอร์ของสถานีตำรวจท้องถิ่นมากกว่ากัน นอกจากนั้นแม้จะโทรติด แต่ตำรวจไม่สามารถมาถึงที่เกิดเหตุได้อย่างทันควัน ถ้าเกิดวิกฤติกำลังจะเป็นจะตาย แล้วจะทำอย่างไร

4) ประเทศไทยมีอัตราการครองปืนที่สูงมาก

เว็บไซต์ gunpolicy ระบุข้อมูลว่าประเทศไทยนั้น ประชาชนอย่างน้อย 10.3 ล้านคน มีปืนในครอบครอง หรือเฉลี่ย ทุกๆ 100 คน จะมีปืน 15 กระบอก แน่นอน หากเทียบกับสหรัฐอเมริกา (100 คน จะมีปืน 120 กระบอก) อาจเทียบกันไม่ได้ แต่สำหรับในทวีปเอเชีย ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจแล้ว

ที่ไทย มีปืนที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้อง 6.2 ล้านกระบอก ส่วนอีก 4.1 ล้านเป็นปืนเถื่อน ที่ไม่มีทะเบียน ทำให้ไทย เป็นชาติในอาเซียนที่มีอาวุธปืนมากที่สุด และเป็นประเทศที่เหตุฆาตกรรมจากอาวุธปืนสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์แค่ชาติเดียวเท่านั้น

คำถามคือ ทำไมประเทศไทยถึงเข้าหาอาวุธปืนได้ง่ายขนาดนั้น โอเคว่า เหตุการณ์กราดยิง 4 คดีที่ผ่านมาในรอบ 2 ปี เกิดขึ้นจากทหาร-ตำรวจ อาชีพที่ครอบครองอาวุธด้วยอาชีพอยู่แล้ว แต่ไม่มีอะไรการันตีว่า อนาคตคนทั่วไป ที่ครอบครองอาวุธปืนจะไม่ก่อเหตุแบบนี้ขึ้นมา

5) คนมีอำนาจตอบคำถามแบบไร้สามัญสำนึก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถูกนักข่าวถามว่า รู้หรือไม่คนก่อเหตุเป็นตำรวจ พล.อ.ประวิตรตอบกลับว่า “จะให้ทำยังไง ก็คนมันติดยา” เป็นคำตอบที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่มีความคิดที่จะแก้ไขปัญหา ไม่แม้แต่จะเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่ประชาชนคาดหวังคือคำตอบต่างหาก ว่าแล้วคุณรับตำรวจคนนี้เข้ามาทำงานได้ยังไง ในเมื่อเป็นคนเสพยา
หรือ ตอนที่นักข่าวจากช่อง Thai PBS ถาม พล.ต.ต. ไพศาล ลือสมบูรณ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ว่ามีคนเสียชีวิต 32 คนแล้ว พล.ต.ต.ไพศาล ก็หัวเราะร่วนขึ้นมา บอกว่า “เออ ไม่รู้เหมือนกันว่า 32 คน รวมคนก่อเหตุแล้วหรือยัง เมื่อกี้ก็ลืมถามไป” ถามว่าเรื่องคนตาย มันมีอะไรน่าตลกงั้นหรือ คิดว่าเรื่องชีวิตมันเป็นเรื่องโจ๊กอย่างนั้นหรือ

อีกหนึ่งกรณี พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล เปิดเผยว่า “โดยส่วนตัวเชื่อว่าพฤติกรรมของตำรวจผู้ก่อเหตุ เป็นพฤติกรรมเลียนแบบจากหนังอเมริกัน ที่ไปกราดยิงเด็กในรัฐชิคาโก้” คือเป็นการคาดเดา โทษหนัง โทษซีรีส์ ทั้งๆ ที่ ยังไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องคืออะไรกันแน่ ทำให้ประชาชนสับสนไปโทษเกม โทษหนังอีก นี่คือคำพูดที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน
คนมีอำนาจ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ควรเลือกใช้คำพูดอย่างระวัง ให้ข้อมูลที่สำคัญ ให้ความรู้ และถ้าไม่มีความรู้อย่างน้อย แสดงความเข้าอกเข้าใจ เห็นใจผู้เสียหายบ้างก็ยังดี ไม่ใช่คิดจะทำอะไรก็ได้

6) การให้ความสำคัญกับ Crime Scene ที่ผิดเพี้ยน

จุดเกิดเหตุสำคัญในเหตุการณ์นี้คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ เหตุเกิดเวลา 12.10 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2565 แต่ยังไม่ครบ 24 ชั่วโมง ในเวลา 08.30 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม มีการเอาพรมแดงมาปูเพื่อรับรองผู้แทนพระองค์ นี่มันเป็นเรื่องบ้าบอที่สุด เท่าที่คุณจะนึกออก

นั่นเป็น “จุดเกิดเหตุฆาตกรรม” ข้างในนั้นเคยมีศพของเด็กๆ และครู มันมีคำถามอีกหลายอย่าง ที่ไม่สามารถตอบได้ มั่นใจแล้วหรือ ว่าทุกหน่วยงานเก็บข้อมูลได้ครบแล้ว แต่การจัดสถานที่เพื่อทำพิธี เอาพรมแดงมาปู เป็นการทำลายหลักฐานทุกอย่างที่เกิดขึ้นหมดเลย ถ้าเป็นต่างประเทศ เราคงเห็นว่าจะมีการเอาเทปสีเหลืองมาคาด เพื่อไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาทำลาย Crime Scene ได้ แต่ที่ไทย ใครๆ ก็มาเดินได้ มันใช่เรื่องหรือ

7) สนใจแต่พิธีรีตอง จนเหยียบย่ำความรู้สึกของคนที่เจ็บปวด

การให้กำลังใจผู้เสียหายเป็นสิ่งดี แต่ไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตองเยอะขนาดนี้ ความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตควรมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ภาพที่แม่กอดผ้าห่มลูก รอทำพิธีการอยู่ที่หน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ทำไมคุณต้องเอาผู้ปกครองมาอยู่ใกล้ๆ กับจุดที่ลูกของเขาเสียชีวิต

จะให้เงินเยียวยา ก็ให้ง่ายๆ ไม่ต้องทำป้ายใหญ่โต มีโลโก้หน่วยงาน ทำเหมือนเหยื่อเป็นผู้โชคดีรับรางวัลอะไรสักอย่าง เป็นจุดสังเวชอย่างแท้จริงของประเทศไทย ไม่เข้าใจว่าทำไมภาครัฐคิดไม่ได้ ว่าในเวลาอ่อนไหวขนาดนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมาให้ความสำคัญเรื่องพิธีรีตอง

8) คดียาเสพติด ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยังคงน่ากังวลใจ

รายงานจากตำรวจระบุเบื้องต้นว่า ยังไม่เจอสารเสพติดในร่างกายของผู้ก่อเหตุ โดยจะมีการตรวจที่แม่นยำในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ก่อเหตุมีประวัติเสพยามานานแล้ว ซึ่งคนที่มีประวัติเสพยามาติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการวิตกกังวลง่าย สมองส่วนที่ทำให้ยับยั้งชั่งใจถูกทำลาย

ปัจจุบันคดียาเสพติด เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2555 มีการจับกุม เฮโรอีนได้ 127.23 กิโลกรัม, ยาบ้า 86 ล้านเม็ด และ ยาไอซ์ 1613 กิโลกรัม แต่ในปี 2564 ผ่านมาไม่ถึงสิบปี จับกุมเฮโรอีน 3332 กิโลกรัม, ยาบ้า 515 ล้านเม็ด และ ยาไอซ์ 19266 กิโลกรัม ทุกอย่างเพิ่มขึ้นกว่าเดิมหมด ไม่มีท่าทีจะลดลงเลย

จากเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู จึงมีคำถามไปสู่ภาครัฐว่า ทำไมยาเสพติดถึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนสามารถหาได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ถูกลง มีมาตรการอะไรที่จะทำสงครามกับยาเสพติดอย่างจริงจังกว่านี้หรือไม่ ก่อนหน้านี้ คดีที่จังหวัดกระบี่ คนเมายาบ้า หลอนยาไปยิงเด็กนักเรียนตาย 3 ศพ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักอะไรกันมาก่อน
ประชาชนที่ใช้ชีวิตปกติ ต้องอยู่อย่างหวาดผวา เพราะวันดีคืนดี ไม่รู้จะโดนทำร้ายจากคนที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเมื่อไหร่ นี่เป็นคำถามที่รัฐต้องตอบให้ได้ ว่าปล่อยให้ประเทศเราเป็นแบบนี้อีกนานแค่ไหน

9) สร้างความรู้เรื่องการกราดยิง เป็นสิ่งสำคัญ

จากเหตุที่เกิดขึ้นติดต่อกัน เราจะเห็นได้เลยว่า การกราดยิงไม่ใช่สิ่งไกลตัวคนไทยอีกต่อไปแล้ว รศ.นพ.สุริยะเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น อธิบายว่าชุมชนต้องทำความเข้าใจกับเยาวชน และคนในท้องถิ่นว่าการกราดยิงคืออะไร และไปออกแบบวิธีป้องกันที่เหมาะกับชุมชนตัวเองด้วย

รศ.นพ.สุริยะเดวกล่าวว่า “โลกนี้เป็นสังคมไร้พรมแดน เหตุการณ์ที่เกิดในต่างประเทศอาจเกิดขึ้นที่ไทยก็ได้ ดังนั้นควรต้องมีการซ้อมแผน และวางปฏิบัติการเฝ้าระวัง”

การที่ครู เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนมีความรู้เรื่องกราดยิง เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะสามารถตอบสนองเหตุการณ์ได้ทันที กรณีศึกษาที่ดี คือโรงเรียนโนนสวาทหนองไพบูลย์ ที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแค่ 7 กิโลเมตร และคนร้ายได้ขับรถมาทิศทางนี้ ถือว่ามีความอันตราย คุณครูได้นำเด็กนักเรียนทั้งหมด จำนวน 60 คน หนีไปยังโรงโม่หินที่อยู่ห่างจากโรงเรียน 3 กิโลเมตร เพื่อป้องกันเหตุร้าย จนสุดท้ายเด็กๆ ก็ปลอดภัยทุกคน

เรื่องกราดยิง ไม่ใช่สิ่งที่ต้องซุกไว้ใต้พรม แต่ควรทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น สอนการเอาตัวรอดเบืองต้น หนี-ซ่อน-สู้ สร้างความรู้เป็นพื้นฐาน เพื่อให้ทุกคนมีสติ สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างเร็วที่สุด

10) สื่อมวลชน ใน พ.ศ.นี้ จริยธรรมในการนำเสนอข่าวสารต้องมี โดยไม่ต้องบอก

เรื่องพื้นฐานที่สุด ของสื่อมวลชนในการทำข่าวโศกนาฏกรรม คือ ไม่ซ้ำเติม ไม่เหยียบย่ำ ความรู้สึกของคนที่กำลังเจ็บปวด คำถามประเภท “รู้สึกอย่างไรที่ลูกเสียชีวิต” แบบนี้ไม่จำเป็นต้องถาม อย่าไปสัมภาษณ์ผู้ปกครอง และอย่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของใครเด็ดขาด

การถามย้ำขึ้นมาแบบนี้ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Re-Traumatize หรือทำให้ความทรงจำอันเจ็บปวดย้อนกลับมาอีกครั้ง หน้าที่ของสื่อมวลชนคือนำเสนอข่าว ไม่ใช่กระตุ้นความเจ็บปวดที่ลึกที่สุดของผู้สูญเสียให้กลับมาเจ็บอีกรอบ

ที่ต่างประเทศ ในคดีกราดยิง เราจะไม่เห็นศพของผู้เสียชีวิตเลย ซึ่งเรื่องนี้ ทั้งสื่อมวลชน รวมถึงกลุ่ม First Responder เช่นกู้ภัย ก็ต้องรับรู้เช่นกันว่า ไม่สามารถถ่ายรูปแล้วเอาไปเผยแพร่ได้ ที่สหรัฐฯ เคยมีคดีฟ้องร้อง ที่ตำรวจถ่ายรูปศพคนตายในจุดเกิดเหตุแล้วมาเผยแพร่ ซึ่งฝ่ายตำรวจแพ้คดี เสียเงินไปหลายล้าน

นอกจากนั้น อย่าไปให้คุณค่าใดๆ กับฆาตกร ถ้าเป็นนิวซีแลนด์ จะไม่บอกแม้แต่ชื่อของคนร้ายด้วย เพราะคนแบบนี้ ไม่มีค่าควรแก่การจดจำใดๆ

นี่คือความสูญเสียที่ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าจะเกิดกับประเทศไทย เป็นความเจ็บปวดที่แสนสาหัสอย่างที่สุด แต่อย่างน้อย มันก็ไม่ควรให้ทุกชีวิตสูญเปล่า คดีนี้ต้องนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง

ขอให้ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต ไปสู่ภพภูมิที่ดี และขอให้ผู้เจ็บปวดที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถยืนหยัดต่อไปได้โดยเร็วที่สุด

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า