#explainer พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสกลายเป็น นายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่ครองอำนาจติดต่อกันได้นานถึง 10 ปี 7 เดือน โดยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในช่วงแรก จากการยึดอำนาจ “ไม่ถูกนับรวม” ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกเขียนขึ้นมา
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เกิน 8 ปีได้อย่างไร workpointTODAY จะอธิบายแบบเข้าใจง่ายที่สุดใน 9 ข้อ
1) หลังจากคสช. ยึดอำนาจ ในปี 2557 คสช. ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้ง แล้วแต่งตั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา โดยในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ของมีชัย ระบุว่า “นายกรัฐมนตรี จะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”
โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีผลเริ่มบังคับใช้ วันที่ 6 เมษายน 2560
2) จุดประสงค์ของการร่างเงื่อนไขแบบนี้ขึ้นมา เพื่อป้องกันการผูกขาด ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งถืออำนาจนานเกินควร ตามหลักคิดที่ว่า ประเทศต้องเปลี่ยนแปลงหาผู้นำคนใหม่อยู่เสมอ
3) สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย 2 วาระ
วาระแรก – เกิดขึ้นหลังจากเขาทำรัฐประหารยึดอำนาจมาจาก นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกฯ ณ ขณะนั้น ที่เข้ามาแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นตำแหน่ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ ผลักดันตัวเองผ่านสนช. ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557
วาระสอง – เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 โดยพรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนสนับสนุนมหาศาลโดยเฉพาะจากวุฒิสมาชิก ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. (คะแนนโหวตของวุฒิสมาชิก 250 คน เลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ 249 คน) พล.อ.ประยุทธ์ จึงขึ้นเป็นนายกฯ สมัยสอง ในวันที่ 9 มิถุนายน 2562
การเป็นนายกฯ 2 วาระ เริ่มตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ถ้านับให้ครบ 8 ปี ก็จะสิ้นสุด ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565
4) เมื่อครบกำหนด 8 ปี พรรคร่วมฝ่ายค้าน ทำการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสามารถเป็นนายกฯ ต่อได้หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งตัดสินในวันนี้ (30 กันยายน 2565) เพื่อชี้ขาดคุณสมบัติ
5) ศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญถูกเขียนขึ้นในปี 2560 ก็จะต้องมีผลบังคับใช้ นับจากปี 2560 เป็นต้นไป ดังนั้นช่วงแรกที่พล.อ.ประยุทธ์ รัฐประหารยึดอำนาจ แล้วขึ้นเป็นนายกฯ แต่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงไม่ถูกนับรวมด้วย ในช่วง 8 ปีดังกล่าว
เท่ากับว่า ช่วงเวลาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ รอบแรก วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ถึง วันที่ 5 เมษายน 2560 จะไม่ถูกนับรวมด้วย โดยการนับระยะเวลาเป็นนายกฯ ของพล.อ. ประยุทธ์ จะเริ่มนับวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเท่ากับว่าจนถึงวันนี้ (30 กันยายน 2565) พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ เพียงแค่ 5 ปี 5 เดือน กับอีก 24 วันเท่านั้น
6) การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แตกต่างจากที่นักวิชาการคาดเดาไว้มาก โดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยอธิบายไว้ว่า “ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้านะครับ ไม่ได้มีธงว่าต้องช่วยเนี่ยะ ดูยังไงก็ต้องถือว่าครบ 8 ปีแล้วในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ก็มันเขียนว่าอย่างนั้น แล้วการตีความแบบที่บอกว่า รัฐธรรมนูญเพิ่งประกาศใช้ ปี 2560 จะไปนับย้อนหลังไม่ได้ ต้องเข้าใจก่อนว่า การห้ามนับย้อนหลังมันไม่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจ เพราะอำนาจต้องถูกควบคุม ดังนั้นผมคิดว่ามันชัดเจนนะ”
7) เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับไปเป็นนายกฯ ได้ตามเดิม โดยไม่ต้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการอีกแล้ว และสามารถลงเป็นแคนดิเดทนายกฯ ในการเลือกตั้งทั่วไป เดือนมีนาคมปีหน้าได้อีกด้วย
8) ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเลือกให้เป็นนายกฯ อีก 1 สมัย เขาสามารถ เป็นนายกฯ ต่อ ได้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2568 เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ ได้สูงสุดติดต่อกัน 10 ปี 7 เดือน 12 วัน และจะกลายเป็นคนแรก และคนเดียวของประเทศไทย ที่สามารถทำแบบนี้ได้ด้วย
9) ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย นายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งติดต่อกันยาวนานที่สุด คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ทั้งสิ้น 9 ปี 161 วัน ดังนั้น ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อจนเต็มโควต้าจริงๆ เขาจะกลายเป็นนายกฯ ที่ครองตำแหน่งยาวนานติดต่อกันที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมาเลยทีเดียว