SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer บังกลาเทศแสดงน้ำใจ รับผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่เจอภัยสงครามในเมียนมา ให้ย้ายไปพักพิงชั่วคราว แต่ปัญหาก็คือ ชาวโรฮิงญาไม่ยอมกลับ และปักหลัก “อยู่ยาว” จนล่าสุดชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว

การเป็นคนดี มีมนุษยธรรมของบังกลาเทศ จนได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ ต้องแลกมากับปัญหาให้ต้องจัดการอย่างมหาศาล นี่คือบทสรุป 16 ข้อ ที่เกิดขึ้นกับบังกลาเทศ ณ เวลานี้

1) โรฮิงญา คือ กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่นับถืออิสลาม ส่วนใหญ่อาศัยในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา โดยรัฐนี้มีพรมแดนในทิศตะวันตก ติดกับประเทศบังกลาเทศ

2) ในขณะที่โรฮิงญาอ้างว่า พวกเขาอาศัยในประเทศเมียนมา มาหลายชั่วอายุคน แต่รัฐบาลเมียนมาจะตอบโต้เสมอว่าจริงๆแล้ว โรฮิงญาเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมือง นั่นทำให้ชาวโรฮิงญาไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ทั้งการรักษาพยาบาล และการศึกษา ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวโรฮิงญาตกต่ำลงเรื่อยๆ

3) ชาวโรฮิงญา จะมีความขัดแย้งกับรัฐบาลเมียนมาอยู่เสมอ เพราะรู้สึกว่าชาติพันธุ์ของตัวเองโดนรัฐบาลกดขี่ ในเดือนตุลาคม ปี 2016 กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีฐานทัพตำรวจทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ จนทำให้ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้กองทัพเมียนมา เดินหน้าปราบปราม โดยมีการเผาทำลายบ้านเรือนและชุมชน นั่นทำให้ชาวบ้านโรฮิงญาต้องหนีตาย ออกจากเขตยะไข่ เพื่อเอาชีวิตรอด

4) ด้วยความเห็นแก่มนุษยธรรม ประเทศเพื่อนบ้าน บังกลาเทศ จึงจัดสถานที่เพื่อรองรับชาวโรฮิงญาเอาไว้ โดยรายงานเผยว่า ชาวโรฮิงญามากกว่า 7.4 แสนคน หลั่งไหลเข้าไปในศูนย์อพยพจุดต่างๆ โดยเฉพาะเขต ค็อกซ์บาซาร์ ที่มีชาวโรฮิงญารวมตัวกันเยอะมากที่สุด

5) สิ่งที่รัฐบาลบังกลาเทศได้รับ คือเงินสนับสนุนจากนานาชาติ โดยสหประชาชาติ มอบเงินสนับสนุน 238.8 ล้านดอลลาร์ (7,460 ล้านบาท) ตามด้วยสหรัฐอเมริกา ก็บริจาคเงินเพื่อมนุษยธรรมอีก 200 ล้านดอลลาร์ (6,248 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ตัวเงินในระดับหมื่นล้านบาท ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบริหารจัดการ ประชากรชาวโรฮิงญาหลายแสนคนแบบนี้

6) โมฮาหมัด อาบูล คาลัม หัวหน้าศูนย์อพยพที่ค็อกซ์บาซาร์เผยว่า ด้วยปริมาณผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาล ทำให้สาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งประปา ไฟฟ้า รวมถึงการแพทย์ ถูกใช้งานอย่างหนักมาก จนเกินลิมิตไปแล้ว ขณะที่ถนนหนทาง ก็เสื่อมสภาพหมดแล้ว เพราะมีประชากรโรฮิงญาใช้งานอย่างหนักหน่วงทุกวัน

7) นอกจากนั้น คาลัมก็ยอมรับว่า เขาไม่สบายใจนัก เพราะชาวโรฮิงญา ไม่มีจิตของการอนุรักษ์ กล่าวคือชอบตัดต้นไม้รอบๆป่า เพื่อเอาไปทำแคมป์ไฟ และบางทีก็ไปสร้างเพิงสำหรับนอนพักในพื้นที่ป่าเขา ส่งผลให้ธรรมชาติในเขตศูนย์อพยพทรุดโทรมอย่างรวดเร็วมาก

“การมีจำนวนชาวโรฮิงญาเยอะขนาดนี้ เป็นเรื่องยากสำหรับเรา เพราะบังกลาเทศเป็นประเทศที่มีประชากรล้นอยู่แล้ว เรามีประชากร 160 ล้านคน แออัดในพื้นที่ไม่เยอะ แล้วเราต้องเปิดรับคนผู้ลี้ภัยอีกนับล้านเข้ามา มันทำให้ทุกอย่างยากมากๆ”

8) ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างที่บังกลาเทศต้องเผชิญคือ เรื่องปริมาณประชากรของโรฮิงญาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเพราะชาวโรฮิงญาไม่ต้องการจะคุมกำเนิดทุกรูปแบบ ทั้งการทำหมัน รวมถึงการใส่ถุงยางอนามัย
ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์ แพทย์ต้องทำงานอย่างหนักมาก เพราะต้องทำคลอดทารกเฉลี่ยวันละ 69 คน โดยในช่วง 3 ปี ระหว่างปี 2017-2020 มีเด็กเกิดใหม่มากถึง 75,971 คน จนสุดท้ายยอดรวมของชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ ก็ทะลุ 1 ล้านคนไปเรียบร้อย

สำนักข่าว AFP ไปสัมภาษณ์ ซาบุร่า ชาวโรฮิงญาเพศหญิงที่มีลูกมาแล้ว 7 คน โดยถามว่าทำไมไม่คุมกำเนิด ซึ่งเธอตอบว่า “ฉันไปคุยกับสามีมาแล้วเรื่องการคุมกำเนิดวิธีต่างๆ แต่เขาไม่สนใจ เขาได้รับแจกถุงยางมา 2 อัน แต่เขาไม่เคยใช้มัน สามีฉันพูดว่า เราต้องมีลูกเยอะๆ ส่วนเรื่องจะหาอะไรให้พวกเขากินนั้น เราไม่กังวล”

อิสลาม คาตุน ผู้อพยพอีกรายหนึ่งที่เป็นคุณพ่อลูก 5 มีทัศนคติคล้ายๆกัน โดยกล่าวว่า “เด็กของเราคือของขวัญจากองค์อัลเลาะห์ และเราจะยินดีต้อนรับเขาทุกเมื่อ ตราบที่ท่านประทานให้เรา สุดท้ายองค์อัลเลาะห์จะคุ้มครองทุกคนเอง”

9) ระบบการศึกษาในแคมป์ผู้อพยพ เน้นเรียน 2 วิชาคือ เรื่องอัลกุรอ่าน กับศาสนาอิสลาม และ วิชาภาษาอังกฤษ โดยโมฮาเหม็ด ฮาร์ฟาน หนึ่งในผู้อพยพให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “มันสำคัญที่เราจะเรียนเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม เพราะว่าเราอาจจะตายได้ในวันใดวันหนึ่ง ส่วนภาษาอังกฤษเราจะเรียนเพื่อจะได้สื่อสารกับคนต่างชาติได้ ถ้าหากต้องไปทำธุรกิจอะไรในอนาคต”

การเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว บวกกับปัญหาการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ ชาวโรฮิงญาจึงไม่มีทักษะความรู้ในสาขาต่างๆ พวกเขาทำได้แค่อาชีพทั่วๆไป เช่นใช้แรงงานเท่านั้น ส่งผลให้การเพิ่มของประชากรโรฮิงญา มีแต่จะดูดกลืนทรัพยากรไปเรื่อยๆ

10) แม้ชาวโรฮิงญาจะไม่คุมกำเนิด และไม่มีทักษะความรู้ แต่ถ้าหากมาอยู่ในบังกลาเทศแค่ระยะสั้นๆ คนท้องถิ่นก็พอรับได้ แต่ปัญหาคือชาวโรฮิงญากลายมายึดพื้นที่ และปักหลักอยู่ในระยะยาว ด้วยปริมาณคนหลักล้าน ฝั่งบังกลาเทศก็ไม่สามารถใช้กำลังบังคับได้ โดย ชาฮิดูล ฮาเก้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของบังกลาเทศกล่าวว่า “เราขอให้พวกเขาส่งคนกลับไปเมียนมา สัปดาห์ละ 15,000 คน แต่พวกเขาทำไม่ได้ พวกเขาบอกว่าจะกลับไปเมียนมา แค่สัปดาห์ละ 1,500 คนเท่านั้น”

11) รัฐบาลบังกลาเทศ เคยพยายามกดดันผู้อพยพ ให้กลับไปเมียนมา เพราะรองรับคนไม่ไหวอีกแล้ว แต่ผู้อพยพจัดชุมนุม และตอบโต้กลับมาว่า “เราจะไม่กลับไปเมียนมา ตราบใดที่ยังไม่ได้สัญชาติ และสิทธิ์ที่เราควรจะได้”

12) ปัญหาทุกอย่างจึงคาราคาซังอยู่แบบนี้ กล่าวคือรัฐบาลเมียนมา ไม่ต้องการให้โรฮิงญากลับมา ถึงกลับมาก็ไม่มีสัญชาติให้ ซึ่งเมื่อไม่ได้สัญชาติ ชาวโรฮิงญาก็เลยต้องอยู่ที่บังกลาเทศต่อไปเรื่อยๆ เพราะอย่างน้อยก็ปลอดภัย นั่นทำให้ฝั่งบังกลาเทศที่แสดงมนุษยธรรม ต้องแบกรับความแออัดจนเกินขีดจำกัดแล้ว เงินทองที่ได้รับบริจาคมาจากนานาชาติ ถูกประชาชนในประเทศตั้งคำถามว่า คุ้มหรือไม่ ที่ต้องเอาปัญหามาผูกคอตัวเองแบบนี้

13) บังกลาเทศพยายามแก้ไขปัญหาความแออัดในค่ายผู้ลี้ภัย ด้วยการเกณฑ์ชาวโรฮิงญาไปอยู่ที่เกาะขนาด 40 ตารางกิโลเมตร ชื่อบาซานชาร์ ที่ตั้งอยู่บนอ่าวเบงกอล ขนาดเทียบเป็น 3 เท่าของเกาะเสม็ด โดยรัฐบาลใช้งบประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ สร้างบ้านพัก และกำแพงขนาดใหญ่ที่ป้องกันคลื่นทะเลได้ โดยหัวหน้าศูนย์อพยพค็อกซ์บาซาร์ กล่าวว่า “บังกลาเทศสร้างที่พักอย่างดี และสาธารณูปโภคต่างๆจะตามไปไม่ช้า รัฐบาลของเราหวังว่าชาวโรฮิงญาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นบนเกาะแห่งนั้น”

14) อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายก็มีอุปสรรคอีก เพราะกลุ่ม NGO เช่น ฮิวแมนไรท์วอตช์ ได้กล่าวว่า “มันคือเกาะคุกจำลอง” ดีๆนี่เอง เช่นเดียวกับ สหประชาชาติที่เตือนบังกลาเทศว่า ไม่ควรไปบังคับชาวโรฮิงญาแบบนั้น เพราะผู้ลี้ภัยควรมี “อิสระที่จะเลือกการตัดสินใจของตัวเอง”

นั่นทำให้ชาวโรฮิงญา จำนวนมากยังคงอาศัยในแคมป์ผู้อพยพตามเดิม โดยคนที่ย้ายมา ล่าสุดมีจำนวนเพียง 13,000 คนเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลบังกลาเทศตั้งใจไว้พอสมควร

ฮามิด ฮัสซิน ชาวอพยพวัย 30 กล่าวว่า “เราหนีตายมาจากเมียนมา ดังนั้นผมจะไม่ไปยอมตายอยู่บนเกาะร้างอย่างแน่นอน” ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลบังกลาเทศ ก็พยายามโน้มน้าวให้ชาวโรฮิงญาย้ายไปอยู่บนเกาะบาซานชาร์ให้ได้ เพื่อลดความแออัดในแผ่นดินใหญ่ลงไปบ้าง

15) สำหรับสถานการณ์ล่าสุด เมียนมายังแสดงจุดยืนชัดเจนคือไม่ต้อนรับโรฮิงญากลับมา นั่นทำให้ชาวโรฮิงญายังคงติดอยู่ที่บังกลาเทศตามเดิม โดยปริมาณล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านคนแล้ว

16) สำหรับบังกลาเทศนั้น ได้รับคำชื่นชมจากต่างชาติ ถึงความมีน้ำใจ โดยเอ็มมานูเอง มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า “รัฐบาลและประชาชนบังกลาเทศ แสดงความมีน้ำใจให้ชาวโลกได้เห็น ด้วยการต้อนรับชาวโรฮิงญาจากเมียนมาด้วยจิตใจโอบอ้อมอารี”

อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำชมนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บังกลาเทศก็มีปัญหาเรื่องโรฮิงญาให้ต้องจัดการมากมาย ทั้งเรื่องงบประมาณมหาศาลที่ต้องใช้ และธรรมชาติที่ถูกทำลาย รวมถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากการเข้ามาของผู้อพยพ เรียกได้ว่าเป็นคำชื่นชมจากต่างชาติ ที่แลกมาด้วยราคาที่แพงมากจริงๆ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า