SHARE

คัดลอกแล้ว

รัฐบาลจะออกกฎหมาย ห้ามสตรีมเกมเกิน 2 ชั่วโมงจริงหรือไม่ และถ้าจริง จะทำไปเพื่อเหตุผลอะไร ได้ประโยชน์อะไรแก่สังคม แล้วประเด็นนี้ไปมีดราม่ากับเอก Heartrocker แคสเตอร์เกมคนดังได้อย่างไร workpointTODAY อธิบายแบบโพสต์เดียวจบให้เข้าใจใน 21 ข้อ

1) ในปัจจุบันอาชีพ “สตรีมเมอร์” หรือนักเล่นเกมมืออาชีพ นับว่าได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย โดยวิธีการของสตรีมเมอร์ก็คือ Live สด การเล่นเกมของตัวเองให้คนอื่นดู ซึ่งยิ่งมีคนดูเยอะเท่าไร สตรีมเมอร์คนดังกล่าวก็จะมีชื่อเสียง และสามารถสร้างรายได้มากขึ้นเท่านั้น

แนวทางการสตรีมเกม ถือเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งของชาวเน็ต คือแม้จะไม่ได้เล่นเอง แต่การได้ดูคนอื่นเล่น ก็สามารถสนุกไปกับเกมได้

2) ถ้าเป็นสตรีมเมอร์ที่มีชื่อเสียงแล้ว และมีฐานแฟนคลับติดตามในระดับหนึ่ง จะมีโฆษณาเข้าหามากมาย และได้รับเงินบริจาคจากแฟนๆ ยิ่งไปกว่านั้นจะถูกทาบทามไปสังกัดอยู่กับแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Twitch หรือ นีโม่ ทีวี เป็นต้น โดยเงินเดือนที่ได้รับ มีตั้งแต่ระดับหมื่นต้นๆ ไปจนถึงหลักแสนต่อเดือน

สตรีมเมอร์คนไทยที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น Edwin ที่สตรีมผ่านแพลตฟอร์ม นีโม่ ทีวี โดยมีรายงานว่า ได้รับรายได้เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ราวเกือบ 1 ล้านบาทต่อเดือน

ดังนั้น สำหรับเกมเมอร์คนที่ชอบเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ การเป็นสตรีมเมอร์คืองานในฝัน เพราะได้ใช้เวลาเล่นเกมที่ตัวเองชอบ แถมยังหาเงินเลี้ยงตัวเองได้สบายๆไปพร้อมกัน

3) ส่วนเกมที่สตรีมเมอร์แต่ละคนจะเลือกไลฟ์ คือเกมอะไรนั้นก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
– มีทั้งเกมสายกีฬา เช่น Fifa Online หรือ PES
– สาย Shooting ที่จะแบ่งย่อยเป็นแนวเซอร์ไวเวอร์เอาชีวิตรอด เช่น pubg หรือ free fire และแนว FPS เช่น CS:GO เป็นต้น
– สาย Battle Arena เช่น Dota หรือ ROV

สตรีมเมอร์แต่ละคน เพื่อการยืนหยัดในวงการ จำเป็นต้องหาจุดเด่นของตัวเอง บางคนก็เล่นเกมเก่งมาก จนทำให้คนดูทางบ้านทึ่ง บางคนก็มาสายฮาเน้นขำขัน หรือสตรีมเมอร์บางคนเป็นผู้หญิงน่ารักเสียงหวาน ก็ใช้จุดเด่นตรงนี้สร้างความนิยมให้ตัวเองได้เช่นกัน

4) อุตสาหกรรมสตรีมมิ่งเกม ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจาก Twitch และ นีโม่ ทีวีแล้ว บรรดาแพลตฟอร์มใหญ่ทั้ง facebook และ YouTube ก็ร่วมวงด้วยเช่นกัน อย่างกรณีของ facebook ถ้าสตรีมเมอร์ สร้าง Minute Watched มีคนดูถึง 800,000 วิว ต่อเดือนก็จะได้รับเงินก้อน 25,000 บาท เป็นต้น

สำหรับสตรีมเมอร์ นี่คือการหาเงินเข้าสู่ประเทศไทย เพราะแพลตฟอร์มทั้งหมด มีเจ้าของเป็นชาวต่างประเทศ และสตรีมเมอร์คนไหนที่ถูกจ้าง ก็เท่ากับว่าสร้างรายได้จากบริษัทต่างชาติ และประเทศไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย จากการเสียภาษีรายปี ของเหล่าสตรีมเมอร์เหล่านี้

5) ขณะที่ระยะเวลาในการสตรีมแต่ละครั้งนั้น ไม่ตายตัว ส่วนใหญ่จะไลฟ์ราว 2-4 ชั่วโมง แต่บางคนก็เล่นไปเรื่อยๆ จนถึง 10 ชั่วโมงก็มี ตัวอย่างเช่น ไทเลอร์ เบิลวินส์ เจ้าของฉายา “นินจา” สตรีมเมอร์ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก สตรีมอย่างสม่ำเสมอวันละ 12 ชั่วโมง

โดยที่สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ไม่มีการออกกฎหมายควบคุมว่า เหล่าสตรีมเมอร์ มีสิทธิจะสตรีมเกมได้วันละกี่นาที เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนที่จะรับผิดชอบในชีวิตของตัวเอง แต่ก็มีบางประเทศ เช่น จีน ได้ออกร่างกฎหมาย ป้องกันไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมออนไลน์ได้ในช่วงเวลา 22.00 -08.00 ในแต่ละวัน และจำกัดในวันจันทร์ถึงศุกร์ ห้ามเล่นเกมออนไลน์เกิน 90 นาที

6) สำหรับประเทศไทย เคยมีความพยายามจะร่างกฎหมายเกี่ยวกับเกมออนไลน์ตั้งแต่ปี 2561 โดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นตัวตั้งตัวตี แต่กระบวนการไม่มีความคืบหน้า โดยทางภาครัฐ มีความตั้งใจจะออกมาตรการเพื่อควบคุมประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ร่างกฎหมายอีสปอร์ต ก็เงียบลงไป

7) อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ผลักดันพ.ร.บ. e-Service ที่เก็บเงินภาษีจากแพลตฟอร์มของต่างชาติ เช่น Netflix, Paypal, Line, Amazon และ eBay เป็นต้น รวมถึงแพลตฟอร์มเกี่ยวกับเกม เช่น PS Store หรือ Steam ก็จะโดนเก็บภาษีเช่นเดียวกัน จากเดิมถ้าเราโหลดเกมออนไลน์ ก็จะเป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ใช้บริการชาวไทย กับเจ้าของแพลตฟอร์มชาวต่างประเทศ โดยที่รัฐไม่ได้ส่วนแบ่งอะไรเลย แต่เมื่อมี กฎหมาย e-Service ขึ้นมา ภาครัฐก็จะได้ภาษีตามไปด้วย

หลังจากออกกฎหมาย e-Service แล้ว และรัฐได้เข้าไป “แตะ” เกี่ยวกับเกมไปบ้าง นั่นทำให้ภาครัฐ จึงเดินหน้าต่อ ด้วยการเตรียมออกกฎหมายอีกฉบับ ในชื่อ ร่างกฎหมายอีสปอร์ต

8) ที่ผ่านมา ไม่มีกฎหมายที่ควบคุมเรื่องเกมออนไลน์อย่างจริงจัง กระทรวงวัฒนธรรมรับผิดชอบในเรื่องเกม (วิดีทัศน์) แต่เรื่องเกมกับเยาวชนก็เป็นฝั่งกระทรวงศึกษาธิการควรรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นในแง่สุขภาพก็ควรเป็นกระทรวงสาธารณสุข หรือถ้ามองในแง่ว่าเกมออนไลน์ เป็นโครงข่ายในอินเตอร์เน็ต ก็น่าจะเป็นกระทรวงดิจิทัลเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง คือเมื่อไม่มีกฎหมายที่คอนโทรลโดยตรง เรื่องเกมออนไลน์จึงกั๊กๆมาตลอด ว่าใครควรเป็นผู้ดูแลกันแน่ ดังนั้นทุกกระทรวงจึงมีมติร่วมกัน ว่าควรจะมี “กฎหมาย” ออกมาอย่างชัดเจนได้แล้ว

9) นั่นทำให้ 84 องค์กรของรัฐ ได้รวมตัวกัน เพื่อช่วยกัน “ร่าง” กฎหมายอีสปอร์ตขึ้นมา โดยขั้นตอนการร่าง คือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูล เพื่อจะได้รู้ว่ากฎหมายฉบับนี้ ควรมีรายละเอียดอะไรบ้าง

10) หนึ่งในผู้ที่เข้าไปให้ข้อมูลกับคนของภาครัฐ คือ “พี่แว่น” นายชนิกนันท์ ทิพย์ไพโรจน์ ผู้ก่อตั้งทีมอีสปอร์ต MiTH และเจ้าของเว็บไซต์ FPSThailand.com ออกมาเปิดเผยว่า ในห้องประชุมองค์กรของรัฐจำนวนมาก ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับเกมออนไลน์ และหนึ่งในข้อกฎหมายที่ห้องประชุมต้องการให้เกิดขึ้นนั้นระบุว่า สตรีมเมอร์ จากปกติสามารถสตรีมเกมได้อย่างอิสระ แต่ถ้าร่างกฎหมายผ่านสตรีมเมอร์จะไลฟ์สดได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

11) คนเสนอแนะ คือฝั่งสาธารณสุข ซึ่งแสดงความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของสตรีมเมอร์ โดยระบุว่าการสตรีมนั่งอยู่กับที่ติดต่อกันนานจนเกินไป ส่งผลเสียต่อตัวสตรีมเมอร์เอง และส่งผลเสียต่อผู้ติดตามที่ดูการสตรีมด้วย ซึ่งหลังจากมีการเสนอข้อกฎหมายนี้ขึ้นมา ฝั่งคนทำธุรกิจเกมออนไลน์ ก็ไม่เห็นด้วยนัก เพราะเหล่าสตรีมเมอร์จะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะจากที่เคยสตรีมได้อย่างอิสระ ถ้าลดเหลือแค่ 2 ชั่วโมง ก็จะทำให้รายได้ลดลงโดยตรง

12) ล่าสุดในการประชุมรอบแรก เกี่ยวกับเรื่องสตรีมเมอร์ ยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้น 84 องค์กรที่เกี่ยวข้อง จะคุยเพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปในวันพุธที่ 13 กรกฎาคมนี้ ซึ่งพี่แว่น ก็จะเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นเดิม

13) ในมุมของภาครัฐนั้นมองว่าเกมออนไลน์ ต้องได้รับการควบคุม นั่นเพราะ การปล่อยให้เล่นได้อย่างอิสระ มีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเยาวชนอาจใช้เวลาว่างแทบทั้งหมด อยู่กับหน้าจอมอนิเตอร์ หรืออาจใช้เวลากับการดูสตรีมเมอร์ไปเรื่อยๆ สตรีมเมอร์จัดรายการนานเท่าไหร่ แฟนคลับก็ดูไลฟ์ไปจนจบ ซึ่งในมุมของสตรีมเมอร์มันอาจเป็นการสร้างรายได้ แต่ในมุมของเยาวชน มันเป็นการแบ่งเวลา ในช่วงที่ควรจะพัฒนาตัวเองในด้านอื่น เอาไปลงกับเกมออนไลน์หมด

14) ขณะที่ สันติ โหลทอง นายกสมาคมอีสปอร์ตอธิบายว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนกอะไรเกินไป คือความคิดจะร่างกฎหมายมีจริง แต่ยังไม่ได้เป็นรูปธรรมอะไรขนาดนั้น คือที่ผ่านมา มีหน่วยงานรัฐ พยายามผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมเกมตลอดอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ซึ่งทางผู้เกี่ยวข้อง ก็จะคุยกับรัฐเองว่า อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ และ สำหรับการพูดคุยเรื่องร่างกฎหมายเกมออนไลน์นั้น ไม่ได้คุยเพียงแค่เรื่องสตรีมเมอร์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆด้วย เช่น เรื่องสถานศึกษาห้ามจัดแข่งเกมออนไลน์ประเภท Shooting ที่มีความรุนแรงใช้กำลัง รวมถึง การจำกัดเวลาเล่นเกมออนไลน์ของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น

15) เช่นเดียวกับ ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ สังคม เด็ก-เยาวชนฯ ในวุฒิสภา ที่อยากให้ทุกคนใจเย็นๆก่อน โดยครูหยุยเปิดเผยว่า การออกกฎหมายมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ขั้นตอนในสภาปกติ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี คือต้องมีการร่างกฎหมายกันก่อน พอร่างเสร็จก็นำเข้าคณะรัฐมนตรี ก่อนจะเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วส่งร่างเข้าสภาล่าง ให้ส.ส. พิจารณา ก่อนจะมาถึง วุฒิสภาอีกที ซึ่งในเคสของกฎหมายออนไลน์ อยู่ในขั้นตอนแรกสุด คือร่างกฎหมายเท่านั้น ยังไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรมากกว่านี้

16) สรุปสถานการณ์ของกฎหมายเกมออนไลน์ คือทางภาครัฐต้องการผลักดันจริง ให้เกิดกฎหมายขึ้นให้ได้ เพราะเกมออนไลน์ในปัจจุบันมีความเกี่ยวพันหลายอย่างโดยเฉพาะกับเยาวชน แต่ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการ “ร่าง” คือถ้ามีกฎหมายขึ้นมาจริงๆ จะมีข้อห้ามอะไรบ้าง ซึ่งก็มีคนเสนอความเห็นต่างๆมากมาย ความเห็นใดที่เป็นประโยชน์ก็จะเก็บไว้ ส่วนความเห็นใดที่ไม่สามารถทำได้จริง ก็จะถูกปัดตกไป สำหรับประเด็นของสตรีมเมอร์นั้นที่ห้ามสตรีมเกินวันละ 2 ชั่วโมง เป็นข้อเสนอแนะของฝั่งสาธารณสุข ซึ่งเมื่อมีการเสนอแนะขึ้นมา ถ้ามุมของคนทำงานโดยตรงมองว่ามันไม่สามารถทำได้จริง ก็ต้องให้ข้อมูลในที่ประชุมต่อไป ว่าเหตุผลที่ข้อเสนอแนะนี้ “ทำไม่ได้” เพราะอะไร

17) นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมอีสปอร์ตกล่าวสรุปว่า “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันยังไม่มีข้อสรุปอะไร เราก็แค่ตระหนักไว้เฉยๆ ว่าในมุมของฝ่ายรัฐ มันมีความเคลื่อนไหวแบบนี้นะ เราก็ทำมาหากินโดยสุจริตของเราไป ถ้าภาครัฐเรียกให้ไปประชุมเราก็ไปประชุม ถ้าเขาพูดผิด เราก็อธิบาย บอกว่ามันไม่ใช่แค่นั้นเอง”

“ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับอะไร ก็ออกมาแสดงจุดยืน และชี้แจงว่าเราไม่เห็นด้วยเพราะอะไร พูดกันด้วยเหตุผล ผมเชื่อว่าถ้าคุยกันดีๆ ทุกฝ่ายก็พร้อมเข้าใจกันอยู่แล้ว”

18) ในเรื่องของการสตรีมเกมไม่เกิน 2 ชั่วโมง ได้คลี่คลายลงแล้ว เพราะทุกคนจะรอการประชุมครั้งต่อไปที่สภา ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่าฝั่งสตรีมเมอร์จะอธิบายเหตุผลเต็มรูปแบบแน่นอน ว่าทำไมแค่ 2 ชั่วโมงไม่พอ อย่างไรก็ตามในโลกออนไลน์ได้พลิกผันมาสู่ดราม่า เรื่องใหม่นั่นคือประเด็นของเอก Heartrocker

เอก Heartrocker คือ สตรีมเมอร์ และแคสเตอร์เกม ที่ดังที่สุดในประเทศไทย เขามีผู้ติดตามในยูทูบมากกว่า 6 ล้านซับสไครบ์ มีคนติดตามใน facebook มากกว่า 1 ล้านคน และมีฟอลโลเวอร์ในทวิตเตอร์มากกว่า 1.8 ล้านคน

ทุกคลิปการเล่นเกมของเขาที่ลงในโลกออนไลน์ มีคนดูหลักหลายแสนเสมอ ถือเป็นคนที่มีพาวเวอร์อย่างมากต่อวงการเกม โดยจุดเด่นของเขาคือการเล่นเกมที่สนุก ใช้คำที่เข้าใจง่าย พูดชัดเจนเสียงเพราะน่าฟัง และที่สำคัญคือ เอก Heartrocker ใส่หน้ากากตลอดเวลา ปิดบังตัวตนไม่ให้ใครเห็นหน้าว่าเขาคือใคร ซึ่งทำให้ดูมีปริศนามีความลึกลับมากขึ้นไปอีก

19) ในประเด็นเรื่องสตรีมเมอร์ ทางเอก Heartrocker ออกมาทวีตข้อความวิจารณ์ข้อเสนอแนะของภาครัฐว่า ลิมิตการสตรีมแค่ 2 ชม. จะทำเควสต์อะไรก็ไม่สำเร็จ เล่นเกมอะไรก็ฟาร์มไม่ได้ และการแข่งทัวร์นาเมนต์ต่างๆ อีก ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตีกรอบให้เล่นวันละ 2 ชั่วโมง ส่วนเรื่องสุขภาพนั้น โดยเอกเชื่อว่า สตรีมเมอร์แต่ละคนสามารถจัดสรรเวลาได้เอง ซึ่งทวีตนี้ มีคนรีทวีตต่อเกือบ 9 หมื่นครั้ง

20) เหตุการณ์เหมือนจะไม่มีอะไร นี่คือการแสดงความเห็นของแคสเตอร์เกมคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กระแสในโลกออนไลน์ กลับรุมโจมตีเขาอย่างรุนแรงว่า ตอนกรณีของ “วันเฉลิม” ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่หายตัวไปที่กัมพูชา ทำไม เอก Heartrocker ถึงไม่ออกมาแสดงตัวเพื่อปกป้องวันเฉลิม แต่ทีเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายรัฐ เช่นเรื่องการสตรีมเกม กลับออกมาแสดงความเห็นเฉยเลย

ความเห็นหนึ่งในทวิตเตอร์ระบุว่า “คุณเลือกที่จะเฉยๆกับเรื่องวันเฉลิม คุณยืนมองคนอื่นถูกทำร้ายโดยไม่แม้แต่ปริปากพูดอะไร และพอถึงวันที่คุณโดนเองบ้าง กลับมาขอความเห็นใจ และท้วงติงถึงผลประโยชน์ที่ตัวเองกำลังจะเสียไป #ทำไมจะด่าไม่ได้” โดยในโลกออนไลน์มีคนจำนวนมากโจมตี เอก Heartrocker ว่าเป็นพวก Ignorant ไม่สนใจเรื่องทางสังคม แล้วพอเรื่องที่ตัวเองได้รับผลกระทบ ที่อาจส่งผลต่อรายได้ กลับยืนหยัดต่อสู้กับภาครัฐซะอย่างนั้น

แต่ก็มีคนจำนวนมาก ที่ออกมาปกป้อง เอก Heartrocker โดยกล่าวว่า เรื่องเกมออนไลน์ มันเป็นสิ่งที่กระทบต่อเขาโดยตรง มันเป็นเรื่องที่เขารู้จริง เพราะคลุกคลีในวงการ แล้วทำไมจะออกมาพูดไม่ได้ แต่กับกรณีของวันเฉลิม เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เขาอาจจะไม่ได้รู้ลึกขนาดนั้น และทำไมเขาต้องโดนบังคับให้ take action ในทุกๆเรื่อง การมีชื่อเสียงไม่ได้แปลว่าต้องโดนบังคับให้พูดในทุกๆประเด็นของสังคม

21) นี่คือ 2 เรื่องคู่ขนานที่เดินไป พร้อมกันในโลกออนไลน์ เรื่องแรกคือคนในวงการเกม ที่ใกล้ชิดกับการสตรีมมิ่ง กำลังอธิบายรัฐอยู่ว่า ทำไมการสตรีมเกมแค่ 2 ชั่วโมง ถึงไม่ควรนำมาเป็นวาระทางกฎหมาย และอีกหนึ่งประเด็นคือเรื่องเอก Heartrocker กับคำถามสำคัญว่า คนที่เป็นเซเล็บในวงการใดๆก็ตาม จำเป็นต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือไม่ และอย่างกรณีของวันเฉลิม ถ้าเซเล็บที่วางตัวเฉยๆ ไม่แสดงออกใดๆ แบบนี้ถือว่า เป็นความผิดของคนมีชื่อเสียงหรือเปล่า?

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า