SHARE

คัดลอกแล้ว

คุยกับผู้บริหาร Levi’s การเจาะตลาดกรุงเทพเมืองแห่งแสงสี และความท้าทายให้คนไทยใส่ยีนแม้อากาศร้อน

“Classic never dies” คิดถึงยีนที่ใส่ได้ตลอดทุกยุคสมัย ก็ต้องคิดถึง Levi’s โดยเฉพาะคนในยุค ‘90s-2000s เรียกได้ว่าเติบโตมากับกางเกงยีนของ Levi’s เลยด้วยซ้ำ ยีนรุ่นยอดนิยมอย่าง Levi’s 501 เป็นแฟชั่นไอเท็มที่ครองตำแหน่งกางเกงยีนยอดนิยมมาตั้งแต่ปี 1873 ผ่านมาร่วม 170 ปี Levi’s ยังครองส่วนแบ่งการตลาดแฟชั่นเดนิมได้อย่างสวยงาม และยังเติบโตอย่างมั่นคงเรื่อยๆ

TODAY มีโอกาสได้สัมภาษณ์สองผู้บริหาร Michelle Gass ตำแหน่ง President & Chief Executive Officer และ Nuholt Huisamen ตำแหน่ง Managing Director & Senior Vice President, East Asia Pacific ของ Levi Strauss & Co เพื่อพูดคุยถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ ที่ทำให้สินค้าของ Levi’s เข้าถึงคนได้มากขึ้น ตอบโจทย์คนกรุงเทพที่ Levi’s มองว่าเป็นเมืองแห่งสีสัน รวมถึงนวัตกรรมของเสื้อผ้าที่คิดค้นโดย Levi’s ที่เอาชนะความท้าทายในโจทย์ “ทำอย่างไรให้คนไทยใส่ยีนแม้อากาศร้อน”

Michelle Gass ตำแหน่ง President & Chief Executive Officer ของ Levi Strauss & Co

Levi’s เสริมความแข็งแกร่งด้วย CEO คนใหม่

Michelle Gass เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น President & Chief Executive Officer ของ Levi’s ตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 ก่อนที่เธอจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ เธอผ่านประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารให้กับแบรนด์ดังๆ ในธุรกิจค้าปลีกมากว่า 30 ปี ตั้งแต่ Procter & Gamble, ทำงานที่ Starbucks กว่า 17 ปี และเป็น CEO ที่ Kohl’s อีก 10 ปี แน่นอนว่าเธอพร้อมที่จะใช้ประสบการณ์เหล่านี้มาปรับใช้กับ Levi’s ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมากกว่า 170 ปี สานต่อมรดกของแบรนด์อันทรงค่า และตอบรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวต่อไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน

DTC (Direct-to-customer) หมัดเด็ดที่ใช้เพื่อครองส่วนแบ่งการตลาดในเอเชีย

Michelle Gass เล่าว่า หลายๆ บริษัทในตอนนี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กันอยู่ Levi’s เองก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน โดยเริ่มจากการดำเนินงานในรูปแบบของ DTC (Direct-to-customer ธุรกิจที่ผู้ผลิตสามารถส่งสินค้าตรงไปยังลูกค้าโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง) อย่างเต็มรูปแบบ

Nuholt Huisamen ตำแหน่ง Managing Director & Senior Vice President, East Asia Pacific ของ Levi Strauss & Co

Nuholt Huisamen เล่าว่า สำหรับกลยุทธ์การตลาดแบบ DTC (Direct-to-customer) กว่า 95% หรือเกือบ 100% ในประเทศไทยเป็นแบบนี้อยู่แล้ว โดยที่ในประเทศอื่นๆ Levi’s จะทำธุรกิจร่วมกับพาร์ทเนอร์ เช่น ในมาเลเซีย และ ออสเตรเลีย

ก่อน 1 เม.ย. 2022 Levi’s ในไทยบริหารโดย DKSH ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับ Levi’s มานานกว่า 20 ปี จนกระทั่ง Levi’s ตัดสินใจเพิ่มความหนักแน่นในการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดของ Levi’s ให้มากขึ้น ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบ DTC ซึ่ง Levi’s ก็สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้อย่างราบรื่น โดยมีสาขาค้าปลีกกว่า 150 สาขาในประเทศไทย รวมถึงสาขาใหญ่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ที่นำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างชัดเจนมาก จึงทำให้ผู้บริโภคชาวไทยได้สัมผัสถึงความเป็น Levi’s ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และเป็นการประกาศและยืนยันอย่างเต็มตัวว่า Levi’s เข้ามาดูแลธุรกิจในไทยด้วยตัวเองอย่างแท้จริง

เสริมการตลาดด้วย 4 หลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ Levi’s

Michelle Gass ระบุถึงหลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ Levi’s ที่ยึดถือมาตลอดหลายปี ได้แก่

1) Originality (ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์) – นวัตกรรมใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นเอง เช่น กางเกงยีนสีฟ้า เดนิมผ้าบาง ยีนที่ระบายความร้อนได้ดี

2) Integrity (ความซื่อตรง) – ทำสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง

3) Empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) – ทำความเข้าใจผู้บริโภคและลูกค้าอยู่เสมอ และเห็นอกเห็นใจทุกคนในบริษัทด้วย

4) Courage (ความกล้าหาญ) – กล้าที่จะลุกขึ้นสร้างสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้ามาบอกว่าต้องการอะไร

ล่าสุด ทีมผู้บริหารได้เพิ่มหลักสำคัญในการทำธุรกิจของ Levi’s ขึ้นมาอีกข้อ คือ

5) Performance – มีความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ โฟกัสที่ผลลัพธ์ และมีความรับผิดชอบในสิ่งนั้นๆ

นอกจากนี้เธอยังพูดถึงการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ที่เป็นอีกเรื่องที่ Levi’s ให้ความสำคัญ ในฐานะที่เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มูลค่าทางธุรกิจเติบโตจาก 6 ล้านเป็น 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจาก Levi’s อยากจะสนับสนุนลูกค้า และพนักงานในบริษัทแล้ว บริษัทยังมีภารกิจที่อยากจะใช้อิทธิพลของแบรนด์ที่มีอยู่ในการช่วยเหลือคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

รักษาสมดุลระหว่างความคลาสสิกของแบรนด์ กับนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการแฟชั่น เพื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่

Levi’s ทำได้ดีมาโดยตลอดในการรักษาความเป็นผู้นำในโลกของแฟชั่นเดนิม แต่การรักษาสมดุลระหว่างความคลาสสิก กับความแปลกใหม่เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องรักษาสมดุลของทั้งสองอย่างนี้ให้ดี

“เราต้องทำควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง สำหรับ Levi’s ที่มีความเป็นมาอันยาวนาน เราต้องทำให้ทั้งสองสิ่งนี้มันเกี่ยวเนื่องต่อกัน ทำให้แบรนด์ Levi’s ที่ก่อร่างสร้างตัวและมีภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เด่นชัดมาตลอดกว่า 10 ปี มาอยู่ในใจกลางของวัฒนธรรมปัจจุบัน โดยการก้าวข้ามผ่านกำแพง ออกนอกกรอบ ให้แบรนด์ Levi’s เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภควัย 20-30 ปีให้ได้ เราต้องฟังผู้บริโภคกลุ่มนี้ว่าพวกเขาต้องการอะไร จะเชื่อมต่อกับพวกเขาได้อย่างไร”

ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ ตอนที่ Beyoncé ปล่อยเพลงชื่อ “Levii’s Jeans” ออกมา แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนของแบรนด์ที่ทำให้ Beyoncé เป็นแฟนของแบรนด์จนนำไปใส่ในเพลง ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนเลยว่าทุกอย่างที่แบรนด์สร้างและพยายามเชื่อมต่อกับแฟนๆ ของแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดียมาโดยตลอดมันได้ผล แบรนด์ Levi’s ได้เชื่อมต่อไปถึงวัฒนธรรม การใช้ชีวิต ไปถึงโลกของเสียงดนตรี ที่ Levi’s ก็มีส่วนร่วมในการจัดเทศกาลดนตรีต่างๆ อยู่เสมอ

“ในกรณีของ Beyoncé จริงๆ แล้วเรามีความสัมพันธ์อันดีกับเธอตั้งแต่ตอนที่เธอเป็นสมาชิกวง Destiny’s Child ในยุค ‘90s ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีแบรนด์ไหนเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย เราได้เห็นเธอสวมยีนของ Levi’s ระหว่างโปรโมตเพลง ซึ่งมันเจ๋งมากๆ แล้วเราก็มีรูปนี้เก็บเอาไว้ในพอร์ตของเราด้วย”

“จนมาถึงล่าสุดที่ Beyoncé ปล่อยเพลง ‘Levii’s Jeans’ มันยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการที่เราอยู่ในศูนย์กลางของวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราได้อยู่ในจุดที่ศิลปินแต่งเพลงแล้วมีชื่อแบรนด์ของเรา แล้วเราก็ตามกระแสไปด้วยอย่างเต็มที่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้เราได้อิมเพรสชั่นมากกว่า 3 พันล้านเลยทีเดียว นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ โฟกัสที่คนหนุ่มสาว สังคม ทั้งในระดับโลก และในท้องถิ่น เราต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไขว่คว้าโอกาสที่ได้มาให้เต็มที่” Michelle Gass กล่าว

นอกจากการให้แบรนด์เข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้นผ่านวัฒนธรรมและเสียงดนตรีแล้ว ในด้านของสินค้า Levi’s ก็พยายามที่จะนำหน้ากระแสอยู่เสมอ เป็นผู้นำเทรนด์ สร้างกระแสในโลกแฟชั่น เช่น กางเกงทรงยีนทรง baggy (ทรงใหญ่ๆ โคร่งๆ) Levi’s ก็เป็นผู้นำของเทรนด์นี้ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิงมาโดยตลอด

Nuholt Huisamen เสริมว่า “อีกตัวอย่างหนึ่งของการให้แบรนด์เข้าไปมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมและชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้นคือเรื่องของดนตรี นอกจากเพลงของ Beyoncé แล้ว Levi’s ยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเทศกาลดนตรีชื่อดังอย่าง Rolling Loud ที่จัดขึ้นที่พัทยา และเป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากแฟนๆ ชาวไทยและต่างประเทศอย่างล้นหลาม เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรามาถูกทางแล้ว”

วิธีรักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 170 ปี แต่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามกาลเวลา โดยไม่เสียตัวตนของแบรนด์ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนานไป

ในปี 2023 Levi’s เปิดตัวแคมเปญ 501 เพื่อฉลองครบรอบ 150 ปีของยีนรุ่นนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว Levi’s เลือกที่จะเล่าความเป็นมาอันยาวนานในรูปแบบที่ร่วมสมัย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในปัจจุบันได้ ดังนั้นการรักษาสมดุลในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และสิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจเลยคือ ไม่ควรเสียตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ไป ซึ่งยืนยันได้จากแคมเปญ 501 ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความคลาสสิกเหนือกาลเวลาของแบรนด์ Levi’s

การเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีของแบรนด์กับคอลเล็กชั่น 501 ในสาขาที่เซ็นทรัลเวิลด์จะเห็นประวัติความเป็นมาอันยาวนานของคอลเล็กชั่นวินเทจ (Levi’s Vintage Clothing) ตั้งแต่ปี 1936 มาจนถึงปี 1947, 1955 เรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบันที่เป็นหลักฐานว่ายีนรุ่น 501 ยังคงเป็นที่ถูกอกถูกใจของหนุ่มสาวสมัยนี้อยู่ หรืออย่างการมาของแจ็กเก็ต 1953 Type II ที่ Levi’s ต่อยอดจากมรดกอันล้ำค่าเดิมที่มีอยู่แล้วอย่าง 1936 Type I ปรับใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยและถูกใจผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีจากคนยุคใหม่ แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่มีราคาสูงก็ตาม

LEVI’S® 1953 TYPE II JACKET

Michelle Gass เสริมว่า “อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งของ Levi’s ด้วยซ้ำที่เราได้เฉลิมฉลองมรดกที่มีมาอย่างยาวนานของเราไปพร้อมๆ กับการนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์พร้อมทั้งสินค้าใหม่ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก เราสามารถตอบรับความต้องการทั้งคนที่ชื่นชอบแบบดั้งเดิม และแบบปรับปรุงใหม่ เราทำงานร่วมกับทีมออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ในทุกด้าน”

บุกตลาดไทยอย่างเต็มตัว ด้วย Levi’s สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เซ็นทรัลเวิลด์

Nuholt Huisamen อธิบายว่า “เรามีสาขา Levi’s ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 500 สาขา แต่สำหรับการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ DTC ของเราจะไม่ได้เน้นที่จำนวนสาขา แต่เน้นที่คุณภาพของสาขามากกว่า ก่อนหน้านี้เราจะเปิดแต่สาขาเล็กๆ ตอนนี้เราเลยตัดสินใจเปิดสาขาที่ใหญ่ยิ่งขึ้น”

“เราเริ่มเปิดสาขาใหญ่ที่สิงคโปร์ ตามมาด้วยจาการ์ต้า (อินโดนีเซีย) และสาขาล่าสุดคือที่เซ็นทรัลเวิลด์ที่เราเพิ่มขนาดของสาขาให้ใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งเป็นโอกาสที่เราได้รับมากกว่าที่เราได้พื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งประเทศอื่นๆ ในเอเชียอย่างในญี่ปุ่น และอินเดียเราก็มีสาขาขนาดใหญ่เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นการต่อยอดกลยุทธ์ DTC ของเราที่เน้นคุณภาพมากกว่าจำนวนสาขาในทุกๆ ประเทศ เพื่อนำเสนอสินค้าหลากหลายคอลเล็กชั่น ทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย ให้ผู้บริโภคได้เลือกสรรได้ง่ายมากยิ่งขึ้น”

นอกจากเรื่องขนาดของสาขา ยังมีกลยุทธ์อื่นๆ อีก 3 ข้อที่ Levi’s กำลังเน้นอยู่ในตอนนี้ ได้แก่

1) อยู่ในศูนย์กลางของวัฒนธรรมตลอดเวลา มองหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดโลก และตลอดท้องถิ่นอยู่เสมอ

2) เป็นแบรนด์ยีนที่ดีที่สุดในโลก เหมือนอย่างที่ตอนนี้เทรนด์ head-to-toe denim (ใส่ยีนตั้งแต่หัวจรดเท้า) กำลังมาแรง Levi’s เองก็พร้อมที่จะผลักดันเทรนด์นี้อย่างเต็มที่

3) ครองตลาดยีนสำหรับผู้หญิง Levi’s ยังไม่มีไลน์สินค้าของผู้หญิงแบบเต็มรูปแบบ แม้ว่า Levi’s จะมีกระโปรงเดนิม แต่ก็ยังเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของไลน์สินค้าเท่านั้น ในอนาคต Levi’s ยังเห็นโอกาสในการเติบโตของไลน์สินค้าเดนิมสำหรับผู้หญิงอีกมาก และเชื่อว่า Levi’s จะเป็นผู้นำในสินค้าทุกอย่างที่เป็นเดนิมได้ในระยะยาว

Nuholt Huisamen เสริมว่า สินค้าขายดีตลอดกาลในไทย ก็หนีไม่พ้นกางเกงยีน Made in Japan 502 Taper และแจ็กเก็ตคอลเล็กชั่น LVC (Levi’s Vintage Clothing) ยิ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า Levi’s มาถูกทางที่ตัดสินใจเข้ามาบริหารธุรกิจของแบรนด์ในไทยด้วยตัวเอง

LEVI’S® MEN’S MADE IN JAPAN 502™ JEANS

นอกจากในไทยแล้ว ตลาดในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย มีแผนจะขยายธุรกิจยังไงบ้าง

นอกจากประเทศไทย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว Levi’s ก็โฟกัสธุรกิจที่เกาหลี และญี่ปุ่นด้วย ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดใหญ่ของ Levi’s เพราะคนญี่ปุ่นชอบใส่เดนิม และชอบคอลเล็กชั่น Made in Japan กันมากๆ ทำให้ Levi’s รักษายอดขายได้ดีเยี่ยมมาโดยตลอด ทางแบรนด์จึงมีแผนที่จะเพิ่มสาขาในญี่ปุ่น หลังจากที่เพิ่งเปิดสาขาใหม่อันสวยงามที่เกียวโต แต่การเปิดสาขาใหม่ไม่ได้เน้นจำนวน และเน้นคุณภาพของสาขามากกว่า

Levi’s สาขาเกียวโต

Michelle Gass เพิ่มเติมว่า “เราเห็นโอกาสที่มากขึ้นในตลาดเอเชีย ก่อนหน้านี้เราครองตลาดอเมริกา เรามีสาขามากพอที่จะรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ได้อย่างมั่นคง จึงทำให้ตลาดอเมริกาเริ่มเติบโตช้าลง แต่กลับกันสำหรับตลาดในเอเชีย เรายังมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ได้อีกมาก โดยเริ่มจากการขยายสาขาให้มีมากขึ้น กระจายตัวอยู่ทั่วโลกภายใน 5 ปีข้างหน้า ในแต่ละพื้นที่ในสาขาสร้างรายได้จากการขายได้มากขึ้น และ e-commerce ที่เติบโตมากในตลาดเอเชีย”

ตลาดที่สำคัญของ Levi’s ที่พูดถึงคือ โตเกียว และกรุงเทพ คิดว่าจุดเด่นของตลาด Levi’s ในกรุงเทพคืออะไร

Nuholt Huisamen เล่าว่า ที่ญี่ปุ่นสินค้าประเภทพรีเมียมจะเป็นที่นิยมที่สุด แต่สำหรับกรุงเทพจะชอบความสดใส โดดเด่น และดูวัยรุ่นกว่า อย่างที่ได้เห็นจากการตกแต่งสาขาที่เซ็นทรัลเวิลด์ที่จะเป็นสไตล์สดใสมากกว่า นั่นเป็นข้อแตกต่างระหว่างสองตลาด ตอนที่ตัวเขาได้ไปดูสาขาที่โตเกียว คนที่นั่นก็มองตลาดกรุงเทพเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาเหมือนกัน เขาเลยคิดว่ากรุงเทพเต็มไปด้วยสีสัน เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น และมีวัฒนธรรมทางดนตรีที่ชัดเจน เห็นได้จากความสำเร็จจากเทศกาลดนตรี Rolling Loud ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนทั่วเอเชีย

สำหรับ Levi’s แล้ว ทำอย่างไรให้คนไทยใส่ยีน ที่อาจดูเหมือนเป็นเสื้อผ้าที่ใส่แล้วร้อน

Levi’s ยืนยันว่า ในประเทศไทย ถึงแม้จะอากาศร้อน แต่ผู้คนก็ยังสวมยีนมากมายจนเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น Levi’s จึงใส่ใจกับการออกแบบสินค้า โดยทำให้ยีนสวมใส่ในพื้นที่เขตร้อนได้สบายที่สุด ระบายอากาศได้ดี และบางเบาสวมใส่สบายมากที่สุด จนได้มาเป็นไลน์สินค้า Performance Cool ซึ่งนวัตกรรมนี้ก็จะได้ใช้ในการผลิตสินค้าในประเทศที่มีอากาศร้อนได้อีกเช่นกัน

“ทั้งในไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้มีฤดูหนาว ฤดูร้อน แต่มีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี ไลน์สินค้า Performance Cool จึงถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงเรื่องอากาศร้อนแบบนี้ เมื่อเข้ามาในสาขาของประเทศไทย จะเห็นว่าเราโปรโมตไลน์สินค้า Performance Cool เป็นสินค้าหลัก และวางขายตลอดทั้งปี ไม่เหมือนในประเทศอื่นที่อาจวางจำหน่ายแค่ในช่วงฤดูร้อน” Nuholt Huisamen กล่าว

Levi’s คอลเล็กชั่น Performance Cool ออกแบบเป็นพิเศษให้มีน้ำหนักเบา แห้งไว และระบายความร้อนได้ดีเหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นของไทย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กลยุทธ์ของ Levi’s ไม่ได้ขายแค่ยีน แต่ขายไลฟ์สไตล์เดนิมด้วย ดังนั้นนอกจาก Performance Cool ที่เป็นนวัตกรรมในการนำเสนอสินค้าแล้ว เราจะเห็นไลน์เสื้อผ้าเดนิมที่ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบา ใหญ่ๆ โคร่งๆ ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนเช่นกัน

นอกจากนี้ Levi’s ยังมองเห็นช่องทางในการส่งเสริมไลน์สินค้าที่ไม่ใช่เดนิมเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นผ้าชิโน กากี ที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่สบาย กางเกงขาสั้น เสื้อสไตล์แคมป์ปิ้ง เสื้อโปโล เสื้อยืด รวมไปถึงเสื้อผ้าผู้หญิงที่มีกระโปรง และชุดเดรสที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น Levi’s จึงมีความมั่นใจที่จะไปต่อได้อีกไกลในตลาดเอเชียด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ และเทรนด์แฟชั่นใหม่ๆ ในตลาดโลก

Levi’s สาขาเซ็นทรัลเวิลด์

Levi Strauss & Co เสริมธุรกิจด้วยแบรนด์ Dockers และ Beyond Yoga

นอกจากแบรนด์ Levi’s ที่ได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกชนิดลอยลำติดลมบนไปแล้ว Levi’s ยังเสริมธุรกิจด้วยแบรนด์อื่นอย่าง Dockers และ Beyond Yoga ที่ทางบริษัทเห็นศักยภาพของแบรนด์เหล่านี้ที่ไปต่อได้

Michelle Gass ระบุว่า Beyond Yoga ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงทดลองตลาดที่อเมริกาอยู่ และพบว่าแบรนด์นี้มีการเติบโตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีเอกลักษณ์ในสินค้าที่เป็นผ้าเนื้อนุ่มที่ลูกค้าต่างชื่นชอบ ทางแบรนด์จึงเชื่อมั่นว่าเป็นแบรนด์ที่มีความโดดเด่น

ความท้าทายของทีมในตอนนี้คือการทำการตลาดให้กับแบรนด์ให้ถูกทาง ทั้งการเปิดสาขา การวางแผนออกไลน์สินค้า ทำให้แบรนด์ Beyond Yoga มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ และเราก็เพิ่งได้ผู้บริหารคนใหม่ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารสินค้าประเภทกีฬามาช่วยเสริมทัพให้แข็งแรง ดังนั้น Beyond Yoga จึงยังอยู่ในช่วงขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มความมั่นคงของแบรนด์ในอนาคต

ส่วน Dockers Nuholt Huisamen เล่าว่า เขาเพิ่งพบทีมงานที่สิงคโปร์เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ตลาดใหญ่ของแบรนด์นี้อยู่ที่มาเลเซียที่เรามีสาขาอยู่ถึง 20 สาขา และมีสาขาที่เวียดนาม ที่บริหารงานโดยพาร์ทเนอร์ ในตอนนี้ทีม Dockers ก็กำลังมองหาโอกาสดีๆ ที่จะตีตลาดประเทศอื่นๆ ในเอเชียอยู่เหมือนกัน ทั้งประเทศไทย รวมถึงอินเดียด้วย ทั้งตัวเขาและทีมงานก็หวังว่าจะได้พบโอกาสนั้นในเร็วๆ นี้

นับว่าเป็นอีกก้าวของ Levi’s ที่ขยับขยายพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มที่ พิสูจน์ตัวเองในฐานะแบรนด์แนวหน้าด้านแฟชั่นเดนิมสุดอมตะที่ยังครองใจคนรักเดนิมมาได้เกือบสองศตวรรษ และยังคงเดินหน้ามองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับแบรนด์นี้ได้เติบโตไปอีกหลายศตวรรษ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า