SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังภาพยนตร์ Fast and Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ ออกฉายได้หนึ่งวันเราก็ได้มาพูดคุยกับนักแสดงนำทั้งสามที่ตื่นเต้นกับการรอฟีดแบคจากผู้ชม ตั้งแต่เรื่องที่มาก่อนได้รับบท การค้นหาตัวละคร และชีวิตจริงของพวกเขาทั้งเรื่องการก้าวข้ามผ่านวัยไปจนถึงชีวิตประจำวันว่ามันมีโมเมนท์ชวนตื่นเต้นเหมือนในภาพยนตร์หรือไม่

อะไรที่ดึงดูดคุณให้มาแคสติ้งหรือรับเล่นเรื่องนี้ นอกจากเสน่ห์และความเป็นภาพยนตร์ของคุณเต๋อ นวพล

ปริมมี่: จริง ๆ ไม่รู้เรื่องอะไรเลยค่ะ รู้เรื่องมั้ย (หันไปถาม)

นัท: จริง ๆ  มันเหมือน…เขาเลือกเรามากกว่า

ปริมมี่: คือเขาชวนไปเล่นแต่เขาไม่ได้อธิบาย ว่าคืออะไร คอนเซปต์ของหนังคืออะไร หรือไม่ได้ส่งสคริปต์มาให้ดู ส่งแค่เป็นซีนยาวหนึ่งหน้า แล้วก็เรียกไปแคสต์ ไม่ได้มีเรื่องย่อด้วยซ้ำ

โปเต้: ใช่ บทเหมือนแบบบหนึ่ง ซีนสั้น ๆ ให้เราลองเล่น

นัท: คือผมก็ได้เป็นซีน ซีนที่ผมแคสต์เป็นซีนซื้อปั๊มน้ำอินเวอร์เตอร์ แล้วตอนนั้นไม่เข้าใจบริบทเลย แต่เหมือนพี่เต๋อเขาเคยพูดไว้ว่า เขามองหาคนที่…ถ้าให้แค่นี้คุณตีความไปได้ถึงตรงไหน

โปเต้: แต่ตอนแคสจำได้ว่า เขาจะบรีฟเราว่า อ่ะ พี่เต๋อสนใจว่าถ้าลองเล่นแบบนี้ มันจะออกมาเป็นประมาณไหน แล้วเราก็ลองเล่นหลายๆแบบให้เขาดูในตอนนั้น 

คุณนัทเป็นคนที่รับบทที่มีความหลากหลายทางด้านอาชีพมากก่อน แล้วเรื่องนี้มีความยากกว่าเรื่องอื่นอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องกีฬา cup stack และ การสร้างความเป็นตัวละคร

นัท: มันมีบางอย่างที่จะโดนกำหนดมาแล้ว เช่น เรื่องอาชีพของต้องเป็นนักกีฬา sport stacking  ต้องมีความคิดความอ่านประมาณนี้ แบคกราวน์ตัวละครคืออะไร แต่มันก็จะมีบ้างที่เว้นว่างอยู่อย่างเช่น ลุคของตัวเกา อย่างตัวไฟนอลลุค ก็ยังไม่ได้มีการคุยกัน วิธีการที่พี่เต๋อให้ก็คือ โอเค…คุณมีเวลาประมาณสี่เดือน ไปซ้อมแก้วทุกวันมา แล้วดูว่าการที่มนุษย์คนนึงหมกมุ่นอยู่กับแค่การซ้อมแก้ว มันจะนำไปจนถึงลุคแบบไหน

ตอนนั้นที่ผมเริ่มโปรเจต์นี้ก็ไว้ทรงผมปกติ เล่นกีฬาเล่นอะไรปกติ จนถึงช่วงที่ถ่ายทำก็เลิกทำทุกอย่างเพื่อเล่นแก้วอย่างเดียว แล้วพอเข้าเดือนที่สี่ มันก็กลายเป็นลุคที่เห็นในหนังเลย ย้วย ๆ เหี่ยว ๆ ผมลุง ๆ เหมือนลุงแก่ ๆ ที่วัน ๆ ไม่ทำอะไร ผมรู้สึกว่ามันสนุก ตรงที่ว่า เขามีเรื่องที่กำหนดมาแล้ว แล้วก็มีเรื่องที่ “ลองมาดูกันซิว่ามันจะพาไปไหน” มันเป็นสองมิติ ที่ผมว่าผมเพิ่งเคยได้สร้างตัวละครที่บิลด์ขึ้นมาเอง ประมาณนี้

แสดงว่าลุคซาโตชิที่อยู่ในหนังมาทีหลัง…

นัท: ลุคซาโตชิมาจากการที่ แค่ซ้อมแก้วแล้วไม่สนใจเรื่องอื่นเลย กินดึกได้ นอนดึกได้ กิน junk food ได้ แล้วจริง ๆ การเล่นแก้วมันไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อทั้งหมด มันแค่ต้อง posture ถูก มือถูกมันก็โอเค เพราะมันไม่เหมือนกับกีฬาอีกหลาย ๆ ชนิดที่เขาต้องมีบอดี้ที่แข็งแรง

ถ้าอย่างนั้นการที่จะเล่น cup stack ได้ดีมันมีจุดสำคัญตรงไหนบ้าง

นัท: ผมว่ามันคือการซ้อมเรื่อย ๆ จากครั้งแรกที่เล่นจนถึงเพดานของเรามันจะไวมาก บางคนอาจจะสองอาทิตย์ บางคนอาจจะแค่เดือนเดียว แต่พอแตะเพดานแล้ว หลังจากนั้นการพัฒนาที่จะเร็วขึ้น มันจะน้อยลงเรื่อย ๆ ผมจำได้ว่าผมไปแตะจุดผมเข้าใจว่าเป็นเพดานของผมที่ประมาณ 15-16 วินาที ตอนสัปดาห์ที่สองหรือสามเอง แต่หลังจากนั้นเวลาก็แทบไม่ลงแล้ว ทำยังไงก็ไม่ลง จนที่มันมีความคล้ายกับในหนังว่ามันต้องเริ่มสร้างสภาพแวดล้อมที่เราหวังว่าจะช่วยทำมันให้ได้เร็วขึ้น เช่น ผมจะเริ่มรู้แล้วว่าตื่นมาตอนเช้าส่วนมากจะเล่นได้ดี ถ้าสมมุติวันหนึ่งจะต้องเล่น 100 เซ็ต ผมก็จะแบ่ง 60 ไว้ตอนเช้า มันจะเริ่มบริหารได้เองแล้ว มันแค่รู้สึกว่ามันต้องทำเพราะนักกีฬาที่เขาเป็นนักกีฬาจริง ๆ เขาเก่งมากแต่ละคนคือยอดมนุษย์ เราไม่มีวันทำอย่างนั้นได้

ปริมมี่ – วิพาวีร์ที่ไม่ได้มีผลงานการแสดงมานานถึง 7 ปี ตั้งแต่ ‘มาลี เพื่อนรัก…พลังพิศดาร’ ออกอากาศในปี 2015 เพราะไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศทั้งเรียนต่อและทำงานอยู่หลายปี ในฐานะนางแบบและนักแสดง เผยว่าการหวนกลับมาแสดงภาพยนตร์ในครั้งนี้เป็นเรื่องง ๆ

ปริมมี่: ไม่รู้เหมือนกันค่ะว่ามาได้ยังไง (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วก็ตกใจเหมือนกันนะคะ ปริมชอบการแสดงมาตลอด ตอนอยู่อังกฤษก็มีแสดงโน่นแสดงนี่ อย่างมิวสิควิดีโอหรือหนังสั้น แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่เป็นทางการขนาดนั้น ในตอนแรกตั้งใจจะอยู่ที่ต่างประเทศไปเลย แต่กลับมาแบบไม่มีทางเลือกเพราะไม่อยากติดอยู่ที่โน่นคนเดียวช่วงล็อคดาวน์ เลยกลับมาพร้อมกระเป๋าเดินทางใบเดียว ของส่วนใหญ่ยังอยู่ที่โน่นหมดเลย

พอกลับมาก็มีพี่แคสติ้งเขาเรียกไปแคสต์ แล้วก็ไปแบบไม่คิดว่าจะได้ เพราะตอนที่ไปแคสต์งงมาก เพราะไม่ได้เข้าใจบทขนาดนั้น แล้วก็ไม่ได้เข้าใจว่าคาแรกเตอร์ที่เขาต้องการคืออะไรเพราะเขาไม่ได้บรีฟ เขาแค่บอกว่าเป็นตัวละครที่เป็นเพื่อนสนิทซึ่งคอยสนับสนุนเกา เราก็ลองเล่นไป แล้วพี่เต๋อเขาคงชอบมั้ง

แล้วตอนที่มาแสดงจริง ๆ คาแรกเตอร์ของปอที่พูดไทยคำอังกฤษคำมาจากบทหรือมาในภายหลัง

ปริมมี่: ปริมว่ามันมาจากตัวปริมนะ ตอนแรกพี่เต๋ออยากให้พูดอังกฤษยกชุดเลย แต่สุดท้ายก็เอาออกเพราะว่ามันเยอะไปนิดนึง แต่พี่เต๋อเขาก็เล่าให้ฟังนะว่าพอเขามาเจอปริมในแคสติ้งวิดีโอ มันก็เหมือนมีองค์ประกอบในตัวปริมที่เขาใส่เพิ่มเข้าไปคาแรกเตอร์ปอ

หลายคนอาจจะไม่เคยคุ้นหน้า ‘โปเต้-อนุสรา กอสัมพันธ์’ สักเท่าไหร่นักเพราะก่อนที่เธอจะมารับบทเมทัล แม่บ้านมืออาชีพ เธอมักอยู่หลังกล้องในฐานะผู้กำกับ และไม่เคยคิดว่าจะได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นนักแสดง เราเลยถามเธอว่าได้นำเอาความรู้หรือมุมมองอะไรมาปรับใช้หรือไม่

โปเต้: ก็มีบ้างค่ะ มันคือความเข้าใจว่าหลังจากเราเล่นไปแล้วเขาจะเอามันไปใช้ต่อยังไง เหมือนเห็นคัตติ้งในหัว แต่ในตอนแรกเริ่ม จริง ๆ ไม่เข้าใจอะไรเลยนะ

ปริมมี่: (หัวเราะ) ไม่มีใครเข้าใจอะไรเลย

นัท: เหมือนโดนหลอกเลย…

โปเต้: ใช่ ๆ ในตอนแรกที่เรามาแคสเราจะรู้สึกว่าหนังพี่เต๋อเป็นหนัง mood and tone แบบหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ลึก ๆ หน่อย แต่พอมาอ่านบท มันก็จะ เอ๊ะ… แล้วเราต้องเล่นแบบไหน เราก็ไม่เข้าใจ แล้วตอนที่ก่อนพี่เต๋อจะอธิบาย ได้บทมานั่งอ่าน ก็ยังไม่เห็นภาพทั้งหมด จนตอนที่มา workshop ทุกวันมันก็เห็นภาพมากขึ้น พี่เต๋อก็จะเปิดเพลงแล้วก็บอกว่า “เนี่ยซีนคุณเล่นอยู่มันจะเป็นเพลงแบบนี้” แล้ววินาทีนั้นน่ะเราถึงได้เก็ตว่าจังหวะมันเป็นแบบไหน เพราะก่อนหน้านั้นจะเข้าใจแบบ 50/50 ไม่แน่ใจว่าถูกหรือเปล่าแล้วลองเล่นไปก่อน จนจังหวะที่เขาเปิดเพลงถึงได้แบบ “กูเข้าใจแล้ว” มันคือแบบนี้นี่เอง แล้วตอนที่เปิดเพลงเล่นพี่เต๋อก็ถามว่า “นี่คุณเข้าใจแล้วใช่ไหม มันคือแบบนั้นเลยโปเต้” มันคงมีอะไรบางอย่างที่เขาสัมผัสได้ว่าจังหวะแบบนี้มันถูกต้อง

นัท: ใน workshop เขาจะถือไอโฟนตัวหนึ่ง แล้วเขาจะเดินเคลื่อนกล้องแบบซ้อมถ่าย

ปริมมี่: แต่เขาก็บอกนะคะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เขาลองใช้วิธีแบบนี้ อาจจะเป็นเพราะหนังมันมีความ Dream-like นิดนึง ไม่ได้เหมือนชีวิตคนปรกติขนาดนั้น

เชื่อมเข้าคำถามต่อไปของเราพอดีว่าในภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตประจำวันที่ถูกนำมาขยายให้ใหญ่จนกลายเป็นหนังแอคชั่นแบบนี้ นักแสดงหาจุดกึ่งกลางระหว่าความสมจริงกับเหนือจริงอย่างไรบ้าง

นัท: มันเป็นความกังวลเรื่องหลัก ๆ เลย เพราะโปรเจกต์ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ ผมก็จะอ้างอิงจากสัญชาตญาณของตัวเอง ว่าเราทำการบ้านมาประมาณนี้ อยู่ในซีนก็คืออยู่แค่ตรงนั้น แต่ยังไม่เคยต้องทำงานร่วมกับช็อตเทคนิค ไม่ต้องกังวลเรื่องกล้อง บล็อกกิ้ง เรื่องระยะ ไม่เคยเลย ครั้งนี้ครั้งแรกแล้วมันก็เลยเป็นความไม่รู้จะยึดกับอะไรว่าอะไรถูก ปกติจะยึดกับตัวเอง

ปริมมี่: คือปริมมีปัญหานี้เหมือนกัน แล้วปริมก็ถามพี่เต๋อบ่อยมากว่ามันโอเคไหม จนเขาหันกลับมาถามว่าคุณ “ไม่เชื่อใจผมหรอ?” โดนเหมือนกันไหม

นัท: ประโยคนี้ออกบ่อยมาก (หัวเราะ)

ปริมมี่: (หัวเราะ) แล้วเราก็บอก ไม่ใช่พี่ไม่ใช่ไม่เชื่อใจ แต่ไม่แน่ใจว่าเราเล่นถูกไหม คือเพราะตัวเขา เองก็เหมือนกำลัง explore เหมือนกัน หนังเรื่องนี้ของเขาก็ใหม่ สำหรับเขาเหมือนกัน

โปเต้: เหมือนเขาก็ทดลองไปด้วย

ปริมมี่: ใช่ เหมือนเขาก็ทดลองไปด้วย เราก็ทดลองไปด้วย

นัท: ใช่ ประโยคนี้ออกบ่อยมาก “นี่คุณไม่เชื่อใจผมหรอ?” เชื่อครับ แต่ผมก็ไม่รู้ว่า ผมทำอะไรลงไป

โปเต้: เอ๊ย แต่เราไม่เคยถามพี่เต๋อเลยนะ

นัท: เฮ้ยยย

โปเต้: ไม่ ๆ คือในมุมเรา เรารู้สึกว่าผู้กำกับเขาจะมีอะไรในหัวอยู่แล้ว แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าเราเล่นไม่ดี แต่เราต้องเชื่อเขาว่าเขาคิดแล้วว่ามันโอเค ไม่แน่เขาอาจจะคิดผิดก็ได้ใครจะรู้ แต่ว่านั่นคือสิ่งที่เขาคิด คือเราค่อนข้างเคารพความคิดผู้กำกับ

อาจจะเป็นเพราะคุณเคยเป็นผู้กำกับมาเลยทำให้เข้าใจมุมนี้ด้วยหรือเปล่า

โปเต้: ใช่ คิดว่าใช่

ปริมมี่: แต่ของปริมตอนนั้นที่เล่นมาลีฯ มันเป็นแบบโอเวอร์แอคติ้งมาก แล้วนั่นคือการแสดงครั้งสุดท้ายของปริม ก่อนที่จะมาเล่นหนัง ปริมเลยกลัวว่าเราจะแสดงเยอะไปไหม อาจจะเป็นเพราะมาแสดงกับพี่เต๋อด้วย แล้วหนังก่อน ๆ ของเขามันจะค่อนข้างเรียล  มันเลยจะมีความกังวลนิดหน่อยว่าเราทำถูกหรือเปล่า

โปเต้: เรารู้สึกว่าที่เรากังวล มันเกิดจากที่ เราไม่รู้ว่าซีนนั้นเขาจะเอาไปใช้ยังไง คือเราไม่มีภาพในหัวเฉย ๆ ว่าที่เราเล่นไปเขาจะไปตัดยังไง เพราะเราก็เป็นนะที่วินาทีที่เล่น แล้วมันผ่านแต่ก็คิดว่ามันได้แล้วหรอวะ คือก็มีความกังวลในใจ แต่พอมันออกมาโอเค ก็ต้องเชื่อเขา

มีซีนไหนไหมที่พอมาดูก็ถึงเข้าใจว่ามันทำงานอย่างนี้แต่ตอนถ่ายไม่เข้าใจอะไรเลย

นัท: จริง ๆ ของผมก็มีเยอะ สมมุติถ้ามองภาพใหญ่ ๆ อย่างตอนที่เล่นฝั่งที่เป็นดราม่า มันเล่นไว้หลายระดับมาก แต่เราจะมองไม่เหมือนโปเต้ เราจะมองแคบกว่า เราอาจจะมองแค่ว่า เราเป็นนักแสดง…มันมีความฟินบางอย่างเวลาที่ได้แตะอารมณ์ที่พีค แล้วช่วงที่แบบไปแก้เสียง เริ่มเห็นว่า อุ๊ย เขาไม่ได้เลือกเทคที่เอ็กซ์ตรีมนี่หว่า เขาเลือกแทบจะเทคแรก ๆ เลย ซึ่งตอนนั้น ผมแอบรู้สึกว่า…เสียดายจัง เพราะมันมีหลาย ๆ อันที่ผมชอบ แต่พอไปดูหนังจริง ๆ ก็รู้สึกแค่นี้พอแล้ว เกามันอาจจะไม่ใช่คนที่บรรลุแล้วปล่อยตัวเองไปกับอารมณ์ บาลานซ์แบบนี้ผมว่ามันทำให้โลกฝั่งที่เรียลและฝั่งที่เป็นคอมมิคมันกระโดดข้ามไปข้ามมายังพอได้อยู่ อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่ตอนถ่ายอยากได้แบบนั้น แต่พอเห็นตัวสุดท้ายก็โอเค

แล้วจริง ๆ เรื่องภาษาอังกฤษที่ก็มีผลเหมือนกัน เพราะว่า มันจะมีตัวละครปอของปริมที่พูดไทยคำอังกฤษคำ ของพี่ญ่าที่จะพูดไทยหรืออังกฤษไปเลย แล้วก็มีไอ้เกาที่ต้องสื่อสารกับพวกนี้ได้ แต่เกาไม่มีแบคกราวน์ต่างประเทศเลย แล้วเลเวลของเกาจะอยู่ตรงไหน  พี่เต๋อละเอียดขนาดถึงคำว่า betray ที่อยู่ในตัวอย่าง เขาก็บอก “มึงเอาตัว R ออกไปเลย เอาออกให้หมดเลย พูด บี-เท โต้ง ๆ ไปเลย” แล้วมันก็จะมีความแบบแหยง ๆ ว่าแล้วทุกคนเขาจะรู้หรอว่าพี่มาคิดถึงขนาดนี้ ซึ่งผมเพิ่งไปเก็ทในนั้น เพราะแบบพอซีนมันโดนถ่างออก มันเริ่มเห็นว่าแบบ บางอันไอ้เกามันพยายามจะเล่นมุข ด้วยซ้ำ คิดอะไรไม่ออก งั้นพูดโควทหนังนี่ไปเลยแล้วกัน ดูเท่ดี ฉากนั้นคือความตั้งใจของเขาเลยครับ เขาว่า “ถ้ามึงนึกไม่ออก พูดโควทหนังไปเลย ตอนหลังมึงก็เลยปิดด้วยรายการที่มึงดูเมื่อคืนคือ “ไอจะขยี้ยูให้แหลกค์” อะไรแบบนี้

เหมือนในระหว่างการทำงานมีการ explore เยอะมาก แล้วในระหว่างถ่ายทำมีการอิมโพรไวซ์บ้างไหม ทำตามบทเป๊ะ ๆ หรือว่ามีเว้นช่องว่างในการใส่อะไรลงไปเพิ่ม

ปริม: จริง ๆ ไม่ค่อยอิมโพรไวซ์นะ

นัท: ใช่ เหมือนเราอิมโพรไวซ์จบไปตอน เวิร์คช้อปแล้ว

โปเต้: คือตอนเวิร์คช้อป พอเขาให้ลองเล่นมันก็จะมีช่วงที่เรากับพี่นัทคุยกันสองคน แล้วเราก็จะรีแอค และพี่เต๋อก็จะ “เอา ๆ จดๆ” เหมือนถ้ามีอะไรเขาก็จะเอาตั้งแต่เวิร์คช้อปไปแล้ว ซึ่งสำหรับเรา พี่เต๋อไม่ค่อยให้นักแสดงอิมโพรไวซ์หน้ากองซักเท่าไหร่ หมายถึงของตัวเรานะ พี่เต๋อเขาจะค่อนข้างเป๊ะ ค่อนข้างฟิกซ์ ว่าคำพูดนี้  คือเวลาเราเขียนบท เราก็จะพยายามปรับคำพูด ให้เข้าปากนักแสดง แต่พี่เต๋อคือบทต้องพูดแบบนี้ มันถึงจะเป็นคนนี้ มันไม่ใช่ให้บทนั้นมาปรับกับเรา เหมือนเขาเขียนมาแล้วว่า คนนี้ต้องพูดแบบนี้ เว้นจังหวะแบบนี้ พูดช้าลง เร็วขึ้นนะ เหมือนทุกอย่างเขากำกับมาตลอดแล้วตั้งแต่ต้น

ซีนไหนที่ยากที่สุด ?

ปริมมี่: น่าจะเป็นซีน ขับรถ…เพราะบทมันยาว เป็นภาษาไทย

โปเต้: ที่ยากสุดก็คงจะเป็นซีนยกเครื่องซักผ้า อันนั้นคือสำหรับเราคือมันเหนื่อยด้วย แล้วโอโห้คนไม่ออกกำลังกายต้องทำท่านั้น อยู่กี่นาที มันไม่ใช่ว่าเราถือลอย ๆ เราต้องเล่นว่าเหนื่อยด้วย แล้วด้วยความที่เราไม่เคยเล่นมาก่อน เราจะไม่รู้วิธีการทำการบ้านของนักแสดงว่า เราควรต้องออกกำลังกายนิดนึง แต่จริง ๆ ก็คือถูกต้องแล้วที่เราจะต้องเหนื่อยกับมัน เพราะนี่คือเมทัลที่อาจจะเป็นคนที่ไม่ออกกำลังกายไง ถึงเหนื่อย แต่เราก็ต้องส่งพลังนั้นออกไปด้วยว่า…เฮ้ย หนูทำได้ ก็คือต้องแอคติ้งไปด้วย ต้องทำท่าเหนื่อยไปด้วยซึ่งมันเหนื่อยจริงๆ

ปริมมี่: ขอเปลี่ยนได้มั้ย ของปริมที่ยากสุดน่าจะซีนแรกเลยที่ถ่าย แต่ว่าพี่เต๋อเขาเอาไปไว้ สุดท้ายตอนห้าทุ่มที่ทุกคนเหนื่อยอยากกลับบ้านแล้ว มันก็เป็นซีนแรกที่ปริมเล่นในเรื่อง เลยกดดันมาก

โปเต้: ทุกคนเป็นนะ เราก็เป็นช็อตแรกที่เราถ่าย เราแค่ทำหน้ายิ้ม แต่เรารู้สึกว่าแบบ แค่กูยิ้มเองทำไม ต้องกดดันขนาดนั้น (หัวเราะ)

ปริมมี่: เออแต่มันเกร็งเนอะ ของปริมคือพี่เต๋อเดินมา “คุณนั่งก่อนมั้ย” เพราะเหงื่อแตกเพราะเกร็งมาก

นัท: ของผมจะเป็นพวกไดอาล็อกที่มันกำกวม อันนั้นโห… ไม่รู้ว่ากี่สิบเทค เป็นวันที่รู้สึกเลยว่าแบบ…เข้าใจเขา [เต๋อ นวพล ผู้กำกับ] ด้วยนะ คือคำว่า “แล้วเอาเลยไหมล่ะ” มันโคตรจะอันตราย มึงจะดูถูกความฝันเขาหรอ มันมีเรื่องเพศหญิงด้วย มีเรื่องความเป็นแม่ด้วย มีเรื่องเซ็กส์ มันไปได้หมดเลย แล้วพี่เต๋อเขาต้องการให้มันบางที่สุด เพื่อให้มันเป็นความรู้สึกของการที่ว่า ไอ้นี่มันไม่รู้อะไรจริง ๆ แล้วผมรู้สึกว่ามันจะมีอะไรเทือก ๆ นี้อยู่กระจัดกระจาย ซึ่งผมก็จะมีปัญหากับอะไรที่มันต้องบาง ๆ ตลอดเลยและซีนแบบนี้จะยากมาก

ความสนุกของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการ cinimatise ประจำวันมาเป็นหนังแอคชั่นก่อนที่จะมาแสดงเรื่องนี้เคยมีความรู้สึกที่ทำอะไรแล้วเหมือนอยู่ในหนังไหม ถ้าไม่มีหลังจากถ่ายเรื่องนี้มีโมเมนท์ในชีวิตประจำวันอะไรที่เรามองมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงไหม

นัท: ผมไม่ค่อยนะ  เพราะถ้าเป็นไปได้ผมจะพยายามทำอะไรวันละอย่าง ผมเหนื่อย (หัวเราะ) ให้ธุระมันกระจายตัวแล้วก็รีบกลับบ้าน

ปริมมี่: ตอนอยู่อังกฤษก็เป็นแบบนี้นะชีวิตปริม ทำอะไร 5-6 อย่างต่อวันมันเหนื่อย

นัท: อย่างปริม จังหวะจะเร็วโดยพื้นฐาน อย่างผม…ผมว่าผมเป็นคนขี้เกียจ (หัวเราะ)

โปเต้: เรานึกถึงเวลาที่คุยกับเพื่อน มันจะชอบมีไดอาล็อกที่เหมือนในหนังอินดี้ คุยกันอยู่ ๆ ก็แบบ เชี่ย…อินดี้ว่ะ ทำไมอยู่ ๆ ก็อินดี้ อยู่ ๆ ก็ดีพ ทั้ง ๆ ที่เราก็พูดเรื่องธรรมดา แต่อยู่ ๆ วนมาเรื่องนี้ได้ยังไง แต่พอมาเล่นเรื่องนี้ เรารู้สึกว่ามันจะมีบางโหมดที่เราอาจจะเป็นเหมือนในเรื่อง เช่น เราจะมีโหมดการ์ตูน ๆ ของเราที่พูดคนเดียว แล้วเราก็มีเพื่อนที่พูดคนเดียวเหมือนเกา เราชอบมากเวลาที่พี่เต๋อพูดว่า หนังเรื่องนี้เหมือนหนังแอคชั่นในชีวิตประจำวัน ที่แค่ซิตนั้นซิตเดียวมันสามารถดูเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ได้ซึ่งมันก็ตลกดี แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่เราก้าวผ่านพ้นวัย หรือ comming of age ที่เรารู้สึกถึงความเป็นผู้ใหญ่ได้จากเรื่องเล็ก ๆ คุณเคยรู้สึกแบบนั้นบ้างไหม

นัท: ของผมยังอยู่ที่เรื่องเดิมนะ คือเราเคยอยู่ในจุดที่ที่รูทีนการทำงานของเราถูกกำหนดด้วยสิ่งอื่น อย่างเวลาของเพื่อนที่บริษัท หรือ เวลาของกองถ่าย เหมือนรูทีนชีวิตมันโดนเชปด้วยอย่างอื่น แล้วรู้สึกว่า coming of age ของผมจริง ๆ คือการที่ผมเห็นผมไม่เหมาะกับระบบนั้น แล้วสภาพแวดล้อมที่ผมสร้างเอง ผมรู้สึกว่ามันทำให้ผมสนุกกับการทำงานมากกว่า เช่น อย่างที่ผมทำงานวันละอย่าง ทีละโปรเจกต์ ผมจะมีเวลาเยอะขึ้น มีเวลาไปคุยเล่นหลังเลิกกอง ไปกินข้าวกับพี่เต๋อ คือผมรู้สึกว่าเวลาเอ็กซ์ตร้า พวกนั้นเป็นสิ่งที่ผมต้องการ เลยรู้สึกว่า coming of age ของผมคือจุดที่ไม่โอเคกับรูทีนเดิมที่มันแน่น มันเหนื่อย ผมเคยทำงานบริษัทสถาปัตย์ แล้วก็เคยออกมา ใช้รูปแบบเดิมในการสร้างบริษัทเอง แต่ก็ยังไม่เวิร์ค เพราะมันเป็นสองงานที่กินเวลาทั้งคู่ ตอนนี้วิธีการที่ง่ายที่สุดของผมเลยเป็นการทำทีละอย่าง ก็คือต้องบริหารเรื่องเงินให้ดีขึ้น แต่มันก็พอไปได้

โปเต้: ของเราอันนี้ไม่รู้ว่าเรียกว่า coming of age ได้ไหม แต่คือตอนเด็ก ๆ เราจะเป็นคนเงียบ ๆ แล้วก็เป็นเด็กเรียนนิดนึง ดูเป็นคนจริงจังกับชีวิต เหมือนโตกว่าวัยและก็อยากโตกว่าวัยด้วย แล้วก็รู้สึกว่าชีวิตต้องเป๊ะ เราต้องเรียนให้ได้ที่หนึ่ง แข่งให้ได้ที่หนึ่ง เราจะต้องไม่เผยด้านที่อ่อนแอให้ใคร เราเป็นคนที่ไม่เล่นตลก แล้วไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าเราจะมาเล่นหนัง เราเป็นพวกถ้าทำงานก็จะทำงานอยู่เบื้องหลังทำท่าจริงจังอะไรแบบนี้ แต่มันมีช่วงนีงที่เรารู้สึกว่า กูห่วยก็ได้นะ กูไม่ตื่นไปเรียนก็ได้ ช่างมัน คือเราสามารถหาบาลาซ์ให้ชีวิตตัวเองได้ ว่าโอเค กับเรื่องนี้เราเต็มที่ให้กับมันเท่านี้ กับเรื่องนี้เราจะแค่นี้เหมือนเป็นช่วงที่ตัวเองต้องเลือกว่าเราจะให้ความสำคัญกับด้านไหนของชีวิต คือตอนเด็ก ๆ เราก็คิดแค่ว่าต้องเรียนเก่ง แต่พอจุดหนึ่งที่เราผ่านมันมาได้แล้ว เราก็มาคิดว่าควรจะมีเพื่อนคนอื่น ๆ บ้างในชีวิต มีเพื่อนที่จะให้มุมมองด้านอื่นแก่เรา อย่างช่วงนี้ก็จะแบบ รู้สึกว่าเป็นวัย ที่อยากทำอะไรหลาย ๆ อย่างไม่อยากทำแค่งานประจำอย่างเดียว อยากมีเวลามาทำอย่างอื่นบ้าง เหมือนอย่างที่เรามาเล่นหนังพี่เต๋อ ก็เป็นชีวิตอีกด้านที่เราสามารถมีได้ หรือกล้าพูดคนอื่น ๆ ไปตรง ๆ ว่าเรามีความรักเว้ย เราสามารถพูดสิ่งนี้ออกมา โดยไม่ต้องเก็บมันอีกต่อไป ไม่ต้องมาแคร์ว่าคนอื่นจะมองว่าเราดูห่วย ดูแบบไม่เท่ เหมือนช่างมันอ่ะ

ปริมมี่: ปริมว่าโมเมนท์พวกนั้นมันก็มีมาเรื่อยๆนะคะ อย่างตอนไปเรียนเมืองนอกตอนจ่ายภาษี จ่ายค่าอพาร์ทเม้นท์ จ่ายค่าไฟของปริมเอง แต่ว่าที่ไทยในตอนนี้ coming of age ของปริมก็อาจจะเป็นตอนที่ปริมมารู้ตัวว่า การสร้างรายได้ของปริมไม่ว่าจะเป็นรายได้อะไรมันไม่ใช่การหารายได้ตามแบบแผนเหมือนคนอื่น เพราะปริมทำอะไรหลายอย่างมาก ปริมไม่อยากติดอยู่กับแนวความคิดที่ว่ามีการทำงานเพียงแบบเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เรามีความสุข และสำหรับปริม ปริมว่านี่คือการเติบโต เพราะปริมไม่ได้ยึดอยู่กับความคิดที่ว่าเงินคือความสุข ปริมอยากหาเส้นทางของตัวเอง ทำอะไรก็ตามที่ปริมอยากทำปริมว่าปริมสามรถออกแบบระบบของตัวเองได้เหมือนพี่นัท โดยไม่ต้องผูกคำว่า ฉันมีความสุขกับการที่มีเงินเยอะ เหมือนว่าปริมทำอะไรที่ตัวเองรักไปเรื่อย ๆ แล้วสุดท้ายเงินก็ตามมาเอง

ถ้าคิดในฐานะคนดูเสน่ห์ของ Fast and Feel Love คืออะไร

โปเต้: เราชอบเรื่องนี้มาก สำหรับเรา เรารู้สึกว่าเรื่องมันไปสุดทุกทาง ตลกก็คือพี่เต๋อแบบใส่ทุกมุขอ่ะ บางคนอาจจะคิดว่ามันล้นไปด้วยซ้ำ ในด้านความรักก็เป็นพาร์ทที่เรารู้สึกว่านี่มันคือความสัมพันธ์แบบขั้นสุดแล้วอ่ะ มันคือความสัมพันธ์ที่เราต้องผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกันถึงจะหาจุดที่รู้สึกว่า เราไม่ต้องบอกใคร ไม่ต้องมีสถานะความเป็นแฟนก็ได้ เพียงแค่เรารู้สึกว่า เราอยากรัก เพียงแค่อยากดูแลเขา เหมือนเจในเรื่อง เราชอบคาแรคเตอร์เจในเรื่องมาก ๆ มันทำให้เรารู้ว่านี่คือความรักในอุดมคติที่เราเองก็เป็นและอยากเป็นแบบนั้น

นัท: เกามันก็รักเจนนะ…

โปโต้: เรารู้ไง เราก็รู้…คือมันต้องเป็นเจกับเกามันถึงจะเวิร์ค ทุกครั้งที่เจออกมาเราน้ำตาคลอทุกรอบเลย ไม่รู้ว่าอินอะไรหนักหนา เราอินจริง ๆ  แต่คือเมื่อวาน [รอบรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์] ที่จริงน้ำตามาแต่หน้าเลอะไม่ได้นะ (หัวเราะ)

ปริมมี่: ปริมว่าสำหรับปริมหนังมันมีความตลกแต่มันก็มีความหมายที่ค่อนข้างจะลึก มันก็อาจจะสะท้อนชีวิตจริง ๆ ก็ได้ว่า Life is a joke ชีวิตก็เหมือนเรื่องตลก ในแบบที่มีความหมายมาก ๆ  แล้วหลายคนก็คงออกมาจากโรงหนังแล้วรู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ๆ

นัท: คือจริง ๆ ผมไม่ได้คิดไกลขนาดนั้น แต่ว่าผมสนใจคือเหมือนว่าบ้านเรา มันจะมีนอร์ม ของคำว่า แอคติ้งที่จริงไว้บางอย่างเช่น อย่างนี้เรียล อันนี้เวอร์ ผมแค่รู้สึกว่าลองมาดูการแสดง ในโลกนี้ดูบ้างมั้ย แล้วผมเสนอตัวเองเป็นช้อยส์หนึ่งคือ…ผมชอบที่โลก ในเรื่องนี้มันอนุญาตให้คนคนนึงเดินไปคุยกับกำแพงได้ อยากชวนคนมาดูโลกนี้แล้วกัน คิดว่าทุกคนน่าจะรู้สึก…ตลกดีมั้ง แล้วผมชอบที่ว่า setup โลกทุกอย่างมันอนุญาตให้ เบียวได้อย่างเต็มที่แบบ “ปั๊มน้ำมึงเจอกูแน่” ผมชอบอะไรแบบนี้

โปเต้: เราว่าแง่มุมที่พี่นัทพูดมันดีมากเลยที่บอกว่าเวลาเราดูหนังมันจะมีแค่แบบนี้ ๆ เท่านั้น แล้วนี่คือการบอกคนดูว่าหนังมีหลายแบบนะ นี่คือหนังอีกแบบหนึ่งที่กำลังเล่าถึงโลกที่เราสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้าไปในโลกนั้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่านี่คือชีวิตจริงของเรา พี่เต๋อไม่ได้กำลังบอกว่าชีวิตจริงของพวกคุณก็เป็นแบบนั้น แต่เขากำลังสร้างโลกใหม่จริง ๆ แบบที่พี่นัทพูด แล้วพอมาคิดดี ๆ หนังมันก็มีทำออกแนวนี้เยอะนะ แล้วนี่ก็คือหนังอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ซึ่งพี่เต๋อเก่งมากสร้างโลกใหม่ขึ้นมา

 มาชมโลกใหม่ของ เต๋อ – นวพล ได้ใน Fast and Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ ฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า