SHARE

คัดลอกแล้ว

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดตัว ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับเด็กและผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย เปิดลงทะเบียนจอง 6 ส.ค. นี้

วันที่ 5 ส.ค. 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ชี้แจงข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือด้านการพัฒนาและคิดค้นสูตร “ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ดตำรับแรกในประเทศไทย

โดยมี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และพล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย รศ.เภสัชกร ดร. วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. บดินทร์ ติวสุวรรณ และเภสัชกรหญิง พร้อมพร จำนงธนาโชติ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด พร้อมทั้งรับฟังแนวทางการใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ต้านไวรัสในผู้ป่วยเด็ก พร้อมด้วย พญ.รัยอร ธงอินเนตร แลพญ.ครองขวัญ เนียมสอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมชี้แจงข้อมูล

ศ.นพ.นิธิ  กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากขึ้น โดยผู้ติดเชื้อในเด็กมีปริมาณค่อนข้างสูง ในขณะที่วัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อในเด็กยังไม่ได้รับการรับรองเป็นที่ชัดเจนและกว้างขวาง ทำให้เด็กได้รับเชื้อค่อนข้างเยอะ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ถึงแม้ว่าเราจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระยะหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่จะป้องกันไม่ให้คนที่ได้รับเชื้อมีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลและหรือเข้าหออภิบาลผู้ป่วยหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต คือ การได้รับยารักษาโดยเร็ว ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ได้การรับรองและพิสูจน์แล้วว่ามีการใช้ได้ผลในการรักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นมีการใช้กันมานานแล้ว และในตอนที่มีการระบาดของเชื้ออีโบล่าก็ได้มีการนำไปใช้เช่นเดียวกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และในขณะนี้การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีรายงานเบื้องต้นว่า ถ้าได้ยาเร็วภายใน 4 วันหลังเริ่มมีอาการ ก็จะสามารถลดอาการหนักของผู้ป่วยในการเข้าโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิตได้ด้วย

ด้านศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวาควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมีความห่วงใยและทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดโดยตลอดมา พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะสามารถเข้าถึงยารักษาโรคฟาวิพิราเวียร์ได้อย่างรวดเร็ว โดยทรงเป็นห่วงประชาชนและเด็กเล็ก เพื่อสนองพระนโยบายดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาและคิดค้นสูตร“ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) เพื่อต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย

สำหรับตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างงานเภสัชกรรมฯ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ที่ได้ร่วมกันพัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ซึ่งถือเป็นตำรับยาน้ำเชื่อมต้านไวรัสตำรับแรกของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส โดยปกติตัวยานี้มีไว้สำหรับการรักษาไข้หวัดใหญ่แต่มีการรายงานเบื้องต้นว่าสามารถช่วยลดอาการป่วยรุนแรงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้ยาเร็วในระยะเริ่มต้นของอาการ

ยาชนิดน้ำเชื่อมนี้ทำไว้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก รวมถึงผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการกลืนยาเม็ด โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือประเทศไทยให้สามารถผลิตยาให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้และพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตำรับยานี้ได้มีการพัฒนาคัดเลือกและควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบตัวยาสำคัญ ตลอดจนมีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาตามมาตรฐานสากล ด้วยวิธีการที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและการศึกษาความคงสภาพ เพื่อยืนยันคุณภาพตลอดช่วงอายุการใช้งาน

ผศ.เภสัชกร ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ ภญ.พร้อมพร จำนงธนาโชติ และ รศ.เภสัชกร ดร.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ทีมจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด กล่าวถึงรายละเอียดในการพัฒนาตำรับยานี้ว่า ยาสูตรน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กเล็กและผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านการกลืน หรือผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยางเพื่อให้เข้าถึงตัวยานี้ได้ โดยการพัฒนาตำรับยานี้มีกระบวนการค่อนข้างท้าทายในระดับหนึ่ง เนื่องจากด้วยตัวยาสำคัญและองค์ประกอบต่างๆ ค่อนข้างมีความยากลำบากในการพัฒนาเป็นสูตรน้ำเชื่อมเพราะยามีการละลายที่ไม่ค่อยดี จึงเห็นได้ว่าการรับประทานยาครั้งหนึ่งในการรักษาต้องใช้ยาในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย

โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ ด้านการผลิตทีมงานได้คัดเลือกและควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ ตลอดจนควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาตามมาตรฐานสากล รวมถึงมีการตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตยาในโรงพยาบาล (Hospital preparation) ทั้งนี้ตัวยาสามารถใช้งานตามระยะเวลา 30 วัน เก็บไว้ในอุณหภูมิ 30 องศา(หรืออุณหภูมิห้อง) โดยถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในสภาวะฉุกเฉิน

พญ.ศรัยอร ธงอินเนตร และพญ.ครองขวัญ เนียมสอน ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลแนวทางการใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ต้านไวรัสในผู้ป่วยเด็ก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาต้านไวรัสว่าเป็นหัวใจสำคัญในการลดการแพร่กระจายและลดความรุนแรงของโรค

จะเห็นว่ายาฟาวิฟิราเวียร์มีการเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2014 ในญี่ปุ่นเพื่อรักษาโรคไข้หวัดใหญ่และประกาศในองค์การอนามัยโรคในการรักษาโรคอีโบล่า และในปี 2020 ได้มีการใช้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยในการรักษาโรคโควิด-19 ในปัจจุบันมีเด็กติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และมีอัตราการเกิดปอดติดเชื้อหรือเชื้อโควิด-19 ลงปอดเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 50% เพิ่มขึ้นเป็น 80 -90% จากการติดตามการรักษา

อย่างไรก็ตามในเด็กจะมีอาการเบากว่าผู้ใหญ่ คือ ยังมีสุขภาวะที่ดีและยังไม่ต้องการออกซิเจน ด้วยยังคงระดับออกซิเจนในเลือดได้เกิน 95-96% ในส่วนใหญ่ ทั้งนี้ยาทุกตัวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับยาเม็ดบดละลายน้ำ จะมีข้อดีคือสามารถบดละลายน้ำในปริมาณน้อยได้ แต่มีข้อเสีย คือ ยามีตะกอน อาจได้ปริมาณยาไม่แน่นอน และมีรสชาติขม ส่วนยาน้ำมีข้อดีคือ พร้อมใช้งานและมีปริมาณยาคงที่ ส่วนข้อเสียคือ มีปริมาตรยามากกว่ายาน้ำทั่วไป

สำหรับคุณลักษณะ ขนาดและวิธีการใช้ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์ ต้านเชื้อไวรัสของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาล ลักษณะเป็นยาน้ำใส สีส้ม รสราสเบอรี่ มี 2 ขนาด คือ ขนาด 800 มิลลิกรัมใน 60 มิลลิลิตร และขนาด 1,800 มิลลิกรัมใน 135 มิลลิลิตร โดยให้รับประทานยาขณะท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง

ขนาดและวิธีการใช้ยาในเด็ก วันแรกรับประทานขนาด 70 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมา ขนาด 35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง แนะนำการให้ยาในเด็ก 5 วัน ทั้งนี้ ความปลอดภัยในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็กเล็ก สามารถใช้ในเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 10 ปี ทั้งนี้ได้มีการใช้จริงในคนไข้เด็กจำนวนหนึ่งในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และมีการติดตามสังเกตอย่างใกล้ชิดเปรียบเทียบกับการใช้ยาเม็ดบดละลายน้ำ โดยได้ให้กับเด็กอายุช่วง 8 เดือน ถึง 5 ปี จำนวน 12 ราย ติดตามการรักษาพบว่าการตอบสนองต่อการรักษาเป็นไปได้ด้วยดีไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง โดยเด็กสามารถกินยาได้ดี

ขนาดและวิธีการใช้ยาในผู้ใหญ่ วันแรกรับประทาน ขนาด 1,800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมาขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง กรณีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กก/ตรม. วันแรก รับประทาน ขนาด 2,400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมา ขนาด 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงแนวทางขอรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์ว่า กรณีที่แพทย์มีความประสงค์จะใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก หรือผู้สูงอายุที่ให้อาหารทางสาย หรือมีความลำบากในการกลืนยาเม็ดที่มีผลการตรวจ RT- PCR ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 หรือในรายผู้ที่แพทย์เห็นสมควรจากประวัติสัมผัสและผลตรวจ Rapid Antigen Test เป็นบวก สามารถส่งข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อขอรับยาได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้นตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของอาการอย่างรวดเร็ว และสามารถช่วยลดอาการป่วยรุนแรงของโรคติดเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้เพื่อก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน ร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อต้านภัยโควิดกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ที่ บัญชีธนาคารทหารไทยธนชาติ ชื่อบัญชี มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เลขที่บัญชี 236-1-00491-0

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ย้ำถึงความสำคัญของตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์นี้ว่า ยานี้เป็นยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์เท่านั้น และแพทย์จะต้องติดตามผลอย่างเป็นระบบ ด้วยตัวยามีอายุจำกัดเพียง 30 วัน การเก็บยาให้เก็บในอุณหภูมิ 30 องศา (อุณหภูมิห้อง) ปริมาตรของการใช้ยาซึ่งใช้ในปริมาตรที่มากโดยเฉพาะการใช้ยาในวันแรก และด้วยข้อจำกัดด้านการผลิตที่ยังไม่มากพอ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาภรณ์สามารถผลิตยาน้ำได้จำกัดเพียง 300 รายต่อสัปดาห์ หากโรงพยาบาลที่สนใจจะนำตำรับยาไปผลิตในโรงพยาบาล ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีความยินดีและพร้อมเข้าไปช่วยควบคุมดูแลมาตรฐานด้วย เนื่องจากเราต้องการผลิตยาให้ได้อย่างรวดเร็ว และมีการกระจายอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/chulabhornhospital/?ref=page_internal

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า