ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ (22 ก.ย. 2565 ณ 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) อีก 0.75% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25% หลังการประชุม
ภายหลังการประกาศขึ้นดอกเบี้ย ตลาดสหรัฐสหรัฐปรับลงทันที 200 จุด ขณะที่คริปโตเคอร์เรนซี เริ่มเห็นการปรับตัวลงเช่นกัน โดยบิตคอยน์ (BTC) กลับมาร่วงลงต่ำกว่าระดับ 19,000 เหรียญอีกครั้ง
ส่วนการเคลื่อนไหวของตลาดเงิน พบว่า ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (US Dollar Index) ปรับขึ้นเกือบ 0.8% ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง แน่นอนว่ากดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงอีกที่ 37.210 บาทต่อ 1 ดอลลาร์
(ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นใน 10 นาทีแรกที่ Fed ประกาศดอกเบี้ย)
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมีโอกาสพุ่งทะลุ 4% ในช่วงสิ้นปี 2565 ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง 8.3% เดือนล่าสุด และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะยังทรงตัวสูงต่อเนื่องในปี 2566
โดยแนะนำติดตามตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ในอีกครึ่งชั่วโมงต่อจากนี้ (01.30 น. ตามเวลาประเทศไทย)
สำหรับประเทศไทย คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 28 ก.ย.นี้ จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 1.00%
[ อัพเดตการแถลงข่าวและถามตอบสื่อของ Fed ]
ในการประชุมครั้งนี้ Fed ยืนยันจะดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (Quantitative Tightening: QT) ตามแผน จากที่เศรษฐกิจสหรัฐยังสามารถเติบโตได้ การจ้างงานยังอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับตัวเลขเงินเฟ้อ
ขณะที่เครื่องชี้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) คาดว่า Fed อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึง 4.4% ภายในสิ้นปีนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของ Fed ที่ต้องการคุมเงินเฟ้อในได้ 2% ภายในปี 2024 (2567)
อย่างไรก็ตาม รายงาน Fed คาดการณ์อัตราการว่างงานของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 3.7% เป็น 4.4% ในปี 2566 ซึ่งตัวเลขระดับดังกล่าวอาจเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
นอกจากนี้ ยังปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2565 ของสหรัฐ โดยคาดว่าจะเติบโตเพียง 0.2% จากเดือน มิ.ย.ที่คาดว่าจะเติบโต 1.7%
ประธาน Fed เริ่มต้นการแถลงด้วยการย้ำถึงเป้าหมายการคุมเงินเฟ้อของสหรัฐให้ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ให้ได้ และเมื่อเจอคำถามว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ประธาน Fed ให้คำตอบที่หนักแน่นว่า
จนกว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะลงมา 2% ได้สำเร็จเช่นเดิม ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะต้องปรับขึ้นแรงเพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลดลงตามเป้าหมายที่ 2% ด้วย
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งถัดไปนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะปรับขึ้นไม่ต่ำกว่า 0.25% แต่การตัดสินใจสุดท้ายจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งถัดไป (1-2 พ.ย. 2565) ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เข้ามาด้วย
เมื่อมีนักข่าวถามถึงเหตุผลที่ Fed ไม่ขึ้นดอกเบี้ยไปเลย 1.00% แล้วค่อยๆ ทยอยขึ้นในอัตราที่ลดลง เพราะในแต่ละเดือน ข้อมูลที่เข้ามามีความแตกต่างกัน ดังนั้น Fed ไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบ Aggressive มากจนเกินไป
สำหรับประเด็น คาดการณ์ตัวเลขว่างงานที่ 4.4% ในปีหน้า ซึ่งอาจกระทบให้คนอเมริกันตกงานกันเป็นจำนวนมากนั้น ‘เจอโรม’ บอกว่า Fed ไม่ได้มีเป้าหมายลดจำนวนคนทำงานในระบบ
แต่ต้องเข้าใจว่า เงินเฟ้อที่สูงที่ทำให้ราคาของใช้ต่างๆ ปรับขึ้น ซึ่งกระทบต่อรายได้ของคนในแต่ละเดือนจริงๆ
ดังนั้น Fed จึงต้องคุมเงินเฟ้อให้ลดลง ซึ่งแน่นอนว่า การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ปรับตัวลงมานั้น ในแง่หนึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน
ส่วนคำถามที่ว่า แล้วคนอเมริกันต้องอดทนกันอีกนานแค่ไหน ‘เจอโรม’ ตอบได้เพียงว่า จนกว่าที่เงินเฟ้อจะลดลงจริงๆ ทั้งในปี 2566 และปีถัดๆ ไป