SHARE

คัดลอกแล้ว

บ่ายวันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2562 เราลัดเลาะตามคลองลาดพร้าวไปยังหมู่อาคารขนาดกะทัดรัดใจกลางชุมชนพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “มูลนิธิบ้านพระพร” มูลนิธิคริสเตียนซึ่งตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือนักโทษโดยเฉพาะ

เราไม่ได้ไปถึงที่นั่นคนเดียว แต่ไปถึงพร้อมกับกลุ่มเด็กน้อยชั้นประถมที่นั่งรถกลับมาจากโรงเรียนกัน พวกเขาและเธออยู่ในชุดนักเรียนสีสดใส มองๆดูแล้วไม่ต่างอะไรกับนักเรียนทั่วไป กระตือรือร้นที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้า

“ผมอยากเป็นนักบิน” น้องเบนเท็น อายุ 8 ขวบ หนึ่งในแก๊งเด็กน้อยบอกกับเรา แม้ตอนนี้จะอยู่ชั้นป. 3 แต่เขาคิดไว้แล้วว่าอยากเรียนต่อไปเรื่อย ๆ จนจบมหาวิทยาลัย  ความฝันนี้อาจเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปหากได้ยินจากเด็กคนอื่น แต่สำหรับเบ็นเท็นและเพื่อนๆที่เป็น “ลูกนักโทษ” ด้วยกันแล้ว อนาคตของเขาเปราะบางยิ่งนัก

https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/433370973915869/

 

เมื่อนักโทษก็เป็น “แม่คน” 

จากข้อมูลของ World Female Imprisonment List ที่สำรวจเมื่อปี 2560 ระบุว่าไทยมีนักโทษหญิงสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ในจำนวนนั้นมีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องทอดทิ้งบุตรของตนไว้เบื้องหลัง และบางรายถูกจับขณะตั้งครรภ์จนจำเป็นต้องคลอดลูกในเรือนจำ

พลอย (นามสมมติ) อดีตนักโทษหญิงทัณฑสถานหญิงกลางที่เพิ่งพ้นโทษมาไม่ถึงปีบอกเราว่าตลอดระยะเวลาที่เธอถูกจำคุก เพื่อนร่วมเรือนจำมากกว่าร้อยละ 70 ล้วนแต่มีลูกรออยู่ข้างนอกทั้งสิ้น ส่วนนักโทษหญิงที่ตั้งครรภ์มีมาประมาณเดือนละ 5 คน

“การคลอดในเรือนจำมีสองอย่างคือคลอดข้างในเลย กับเรือนจำส่งออกมาคลอดข้างนอก” เธออธิบายว่าในกรณีปกติผู้ต้องขังจะถูกส่งออกมานอกเรือนจำ แต่ในกรณีเร่งด่วนที่ช่องคลอดเปิดออกมามาก หรือไม่สามารถส่งออกภายนอกได้ทันเวลาก็จะทำการคลอดในเรือนจำโดยมีพยาบาลทำคลอด และมีนักโทษที่เป็นผู้ช่วยงานคอยช่วยเหลือ

หลังสัมภาษณ์พลอยเรียบร้อยเราได้ขอถ่ายรูป แต่เธอไม่พร้อมจะเปิดเผยหน้า เราบอกว่าจะถ่ายมือเธอแทน เธอจึงยื่นมือมาให้เรา

การคลอดในเรือนจำเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ของนักโทษ เนื่องจากเด็กน้อยที่คลอดออกมาจะถูกระบุในใบเกิดว่าคลอดที่ 33/3 ทัณสถานหญิงกลาง และด้วยความที่เป็นเอกสารราชการ หมายความว่าสถานที่เกิดจะติดตัวเด็กคนหนึ่งไปตลอดชีวิต

“อย่างเพื่อนที่นี่คลอดลูกในเรือนจำ เพื่อนพี่จะนึกถึงใบเกิดของลูกก่อนเป็นอันดับแรกเลย” พลอยบอก

หลังจากคลอดแล้ว นักโทษแม่ลูกอ่อนจะสามารถเลี้ยงลูกในเรือนจำได้ โดยทารกจะถูกแยกไปไว้ที่สถานพยาบาลในเรือนจำซึ่งจัดไว้สำหรับเด็กอ่อนเป็นพิเศษขณะที่แม่ทำภารกิจต่าง ๆ ของนักโทษและอาศัยเวลาพักแวะมาให้นมเป็นระยะ ตกเย็นจึงรับลูกไปนอนในห้องเดียวกัน แม่ลูกอ่อนในโลกภายนอกต้องตื่นยามดึกอย่างไร แม่ลูกอ่อนในเรือนจำก็ไม่ต่างกัน โดยพลอยบอกว่าการเลี้ยงลูกในเรือนจำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ความสบาย แม้จะมีนมเด็กและอาหารเสริมให้แต่ก็มีให้อย่างจำกัด

“เด็กในเรือนจำเหมือนสิ่งมหัศจรรย์นะ” พลอยบอก “คนที่เขาเคยมีลูกแล้วเข้ามาอยู่ข้างในจะชอบมาเล่นกับเด็ก เหมือนเป็นลูกของเขา”

ตามกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ “เด็กติดผู้ต้องขัง” จะอาศัยอยู่กับแม่ได้จนกระทั่งอายุ 3 ขวบ แต่หลายครั้งทัณฑสถานก็มักจะประสานให้ญาติของเด็กมารับหรือให้มีผู้มาอุปการะภายนอกทัณฑสถานตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เนื่องจากเกรงว่าหากเด็กเติบโตในพื้นที่จำกัดมากจะไม่สามารถมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ได้

จากปากคำของพลอยที่เคยเป็นแม่ลูกอ่อนอยู่ในเรือนจำ เธอบอกเราว่าส่วนใหญ่แล้วทั้งเจ้าหน้าที่และตัวแม่เองมักอยากให้ติดต่อญาติก่อน แต่ก็มีหลายครั้งที่เกิดกรณีครอบครัวไม่พร้อมรับเลี้ยงบุตรหลานที่ตัวเองไม่เคยเจอ สุดท้ายหากไม่มีใครรับเลี้ยงดูแทนจริง ๆ มูลนิธิต่าง ๆ คือที่สุดท้ายที่จะหวังพึ่งพิง

พลอยให้คำตอบเรื่องแม่ลูกอ่อนได้ดี แต่ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ยังสงสัยกรณีของแม่ที่มีลูกอยู่นอกเรือนจำ เราจึงได้ติดต่อเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์เพื่อสอบถามถึงกระบวนการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คนหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศบอกกับเราว่า เธอคิดว่าระบบการติดตามเด็กที่แม่ต้องเข้าเรือนจำยังไม่ราบรื่นนัก

“ส่วนหนึ่งที่จะรู้มาจากตำรวจเอง แต่ว่าอาจจะไม่ได้ครบถ้วน” เจ้าหน้าที่อธิบาย “ถ้ามีคดีความอะไรเกิดขึ้นมาแล้ว ตำรวจก็จะแจ้งเรามาว่าบ้านนี้มีเด็กต้องได้รับการคุ้มครองหรือช่วยเหลือ แต่ก็ส่วนน้อยนะคะ ไม่ใช่ส่วนมาก”

เธอเล่าให้ฟังว่าบางครั้งที่แม่เชื่อว่าฝากลูกไว้ในที่ปลอดภัยแล้วก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป มีอยู่ครั้งหนึ่งนักสังคมสงเคราะห์ได้รับแจ้งจากชุมชนว่าพบเด็กโดนคนที่อาศัยอยู่ด้วยทำร้าย สืบทราบทีหลังว่าผู้ทำร้ายไม่ใช่ญาติ แต่แม่ฝากให้เลี้ยงลูกให้เพราะตนต้องเข้าเรือนจำ เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานส่งมูลนิธิแห่งหนึ่งในพื้นที่และพาเด็กไปหาแม่ในเรือนจำเป็นระยะ

สุดท้ายเจ้าหน้าที่ท่านนี้บอกเล่ากับเราว่า เธอเชื่อว่าหากมีการวางระบบประสานข้อมูลจากเรือนจำประสานไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ว่ามีลูกนักโทษรอความช่วยเหลืออยู่กี่คนจะช่วยเด็กได้มากกกว่านี้

บ้านพระพร – ผู้โอบอุ้มลูกนักโทษชั่วคราว

ปกติแล้วสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าส่วนใหญ่จะไม่รับเลี้ยงลูกของนักโทษเป็นการชั่วคราว หากจะมีการส่งตัวไปมูลนิธิ แม่ต้องเซ็นมอบสิทธิในตัวบุตรให้มูลนิธิอย่างเด็ดขาดเพื่อให้มีการจัดหาครอบครัวในการอุปการะไป แต่ก็มีมูลนิธิอย่าง “บ้านพระพร” ที่รับเลี้ยงดูเด็กจนกว่าแม่จะพ้นโทษ

สุนทร สุนทรธาราวงศ์ ประธานมูลนิธิบ้านพระพร บอกว่า เด็กทั้งหมดที่อยู่ในการดูแลของบ้านพระพรมีทั้งหมด 60 คน มีทั้งเด็กที่คลอดในเรือนจำและเด็กที่ผู้ปกครองกำลังถูกจำคุก โดยสุนทรยืนยันว่าเด็ก ๆ ในความดูแลของมูลนิธิจะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาจนถึงชั้นม.6 หลังจากนั้นก็จะสนับสนุนให้ศึกษาต่อตามความสมัครใจ

บรรยากาศบริเวณมูลนิธิบ้านพระพร

“จริง ๆ แล้วเด็กพวกนี้ที่เกิดมาใสบริสุทธิ์ เราก็เลยเห็นว่าเด็กเหล่านี้มีค่ามาก ควรจะทะนุถนอมดูแลอย่างดี เพื่อให้เขาเติบโตมีอนาคตที่ดี ผมถือว่าอนาคตของเด็กสำคัญมาก  ถ้าเราวางแผนแล้วสร้างเขาไว้ตั้งแต่เด็ก เขาจะเป็นคนที่ดีและมีคุณภาพในสังคม”

ในขณะเดียวกัน การสนับสนุนทางจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ หลายครั้งเด็ก ๆ เกิดความสับสนว่าทำไมพ่อกับแม่จึงอยู่กับตนไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ถูกสถาปนาให้เป็นเวลาแห่งความสุขของครอบครัวอย่างวันพ่อและวันแม่

“พวกเราต้องทำตัวเป็นพ่อและแม่ เราก็ต้องมีคำตอบที่อธิบายให้เด็กไม่รู้สึกว่าเป็นปมด้อย ไม่รู้สึกว่าผิดหวังหรือก็เสียใจอะไรอย่างนี้ เราก็พยายามอธิบายให้เด็กฟังว่าแม่อยู่กับเราตอนนี้ไม่ได้”

ข้อตกลงหนึ่งของบ้านพระพรคือ หลังพ้นโทษจากเรือนจำแล้วผู้เป็นแม่จะต้องมารับลูกกลับไป แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังไม่มีอาชีพการงานหรือมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ทำให้หลายครั้งผู้เป็นแม่ยังไม่พร้อมจะเลี้ยงดูลูก

“บางรายเราก็จะรับแม่มาอยู่ด้วย แล้วก็ดูแลไปพร้อมทั้งแม่และลูกเลย พอภายหลังเขาแข็งแรงพอแล้วเขาก็จะไปประกอบอาชีพ” สุนทรกล่าว “แต่อีกกรณีหนึ่งก็มีหลายคนที่ออกมาแล้ว ไม่เอาลูกตัวเองก็มี ก็หายไปเลย ตอนนี้เด็กหลายคนที่อยู่กับเราที่ว่ากำพร้าก็มี”

“เบ็นเท็น” เป้นหนึ่งในลูกนักโทษที่อยู่บ้านพระพรมาตั้งแต่หนึ่งขวบถึงปัจจุบัน

พลอย อดีตนักโทษเชื่อว่าการที่แม่หายไป ไม่รับลูกเป็นเรื่องที่เธอเข้าใจ “เหมือนกับว่าเขายังตั้งตัวไม่ได้ ต้องปล่อยลูกไปก่อน แต่ปล่อยไปนานวันเข้าสายสัมพันธ์แม่ลูกก็เริ่มจางลง”

พลอยกล่าวว่าในความคิดของเธอแล้ว มูลนิธิควรเป็นผู้ติดต่อแม่ตั้งแต่วันพ้นโทษ เนื่องจากการให้แม่เข้าไปติดต่อบ้านพระพรเองเป็นเรื่องยาก และแม่ไม่มีความมั่นใจในตนเองที่จะเดินเข้าไปบอกว่าตนนั้นพร้อมเลี้ยงลูกแล้ว

“เราน่าจะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางด้วยการคุยกันทำนองว่า เรารู้ว่าคุณเพิ่งออกมาไม่พร้อม แต่มาวางแผนร่วมกันว่าทำอย่างไรจึงจะพร้อมมารับลูก” พลอยอธิบาย “พี่เชื่อว่าคนที่ส่งลูกไปมูลนิธิ เขาก็คือคนที่ไม่มีอะไรเลย การก้าวขาก้าวแรกไปจากคุกคือคนที่ต้องสร้างใหม่หมดเลย เขาไม่มั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงลูกได้”

ขณะที่จำนวนเด็กที่บ้านพระพรต้องเลี้ยงดูมีมากขึ้นทุกวัน จำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการที่พ่อ-แม่  ต้องเข้าคุกก็เพิ่มขึ้นไม่น้อยไปกว่ากัน

แม้ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์จะไม่แน่นอนนัก แต่ก็ระบุว่ามีเด็กที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ 200-300 คนทั่วประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วนักโทษหญิงร้อยละ 82 ล้วนแต่เป็นแม่ หมายความว่าอาจมีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการขาดผู้ปกครองในสังคมมากถึงหลายหมื่นคน

ด้วยจำนวนมากมายขนาดนี้ บ้านพระพรที่เดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้ทัน

แก้ที่ต้นเหตุ – อาจต้องแก้ตั้งแต่ตอนพิพากษา

ที่ผ่านมาเราเชื่อว่าการลงโทษเป็นการลงโทษรายบุคคล ใครทำผิดก็ต้องรับโทษ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหากพ่อแม่ทำผิด ลูกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดนั้นกลับต้องได้รับผลกระทบด้วย

แม้จะมีการเสนอการแก้ปัญหากรณีเด็กได้รับผลกระทบจากการที่พ่อแม่ต้องถูกจำคุกอย่างหลากหลาย เช่น มีการเสนอให้พัฒนาระบบระบุจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบนี้เพื่อนำเข้ากระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ หรือมีการพัฒนารูปแบบการพาเด็กเยี่ยมพ่อแม่ที่เป็นนักโทษให้เป็นมิตรมากขึ้น แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ

งานวิจัยเรื่อง “เมื่อลูกตกเป็นเหยื่อที่มองไม่เห็นของความยุติธรรมทางอาญา” ของธีรวัลย์ วรรธโนทัย ชลธิช ชื่นอุระ และนภาภรณ์ หะวานนท์ ระบุว่า การแก้ไขปัญหาเด็กตกเป็นเหยื่อทางอ้อมนี้ ต้องเริ่มตั้งต้นต้นสายของความยุติธรรม  โดยระบุว่ากระบวนการศาลต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการลงโทษพ่อหรือแม่ให้มากกว่านี้ เพราะกระบวนการลงโทษทางอาญาไม่ได้เป็นการลงโทษคนเพียงคนเดียวอีกต่อไป แต่ส่งผลกระทบถึง “เหยื่อที่มองไม่เห็น” หรือลูกที่ได้รับผลกระทบต่อชีวิตด้วย

ในปี 2532 คณะกรรมาธิการองค์การสหประชาชาติมีมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วนสิทธิเด็ก (The Convention on the Rights of Child) ซึ่งมาตรา 3 ระบุจัดเจนว่า “การกระทำใดใด ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันอันเป็นสวัสดิการของรัฐก็ดี ของเอกชนก็ดี ศาลก็ดี ผู้มีอำนาจหรือองค์การทางกฎหมายก็ดี ย่อมต้องพิจารณาผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญก่อนเสมอ” เช่นนี้แล้วการจำคุกพ่อแม่จะต้องกระทำอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือไม่ ผู้ตัดสินคดีจะต้องคำนึงหรือไม่ว่าจะนำเด็กไปไว้ที่ไหน หรือเลี่ยงการลงโทษโดยจำคุกโดยใช้วิธีทางอาญาวิธีอื่นแทน

แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการว่ากระบสนการยุติธรมของไทยมีการขานรับสองแนวคิดนี้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งเพราะพ่อแม่ถูกจำคุก ยังคงมีมาให้เห็นเรื่อย ๆ

“พี่คิดว่าการที่พี่เป็นแม่แล้วต้องอยู่ในเรือนจำนี่ พี่ไม่ดีเลย รู้สึกผิดมากกว่าการทำผิดแล้วเข้าไปด้วยซ้ำ” พลอยบอกกับนักข่าวก่อนแยกย้าย “การติดคุกเป็นความตั้งใจของเรา เรารู้อยู่แล้วว่าเราทำลงไปมันผิดเราต้องติดคุก แต่สำหรับเขา เขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เขาต้องลำบาก พี่คิดความรู้สึกของความเป็นแม่มันรู้สึกผิดมากกว่าการทำผิดเสียอีก”

 

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า